นายจรูญ เอกอินทร์ : ศึกษานิเทศก์และผู้บริหารการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริหารงานบุคคล


         นายจรูญ  เอกอินทร์  เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478  ณ บ้านหัวหาญ ตำบลมะลวน  อำเภอพุนพิน  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เป็นบุตรคนโตของนายเนียน และนางมล  เอกอินทร์ โดยบิดามารดามีอาชีพทำนาและภายหลังเปลี่ยนมาประกอบอาชีพค้าขายของเบ็ดเตล็ดในตลาดมะลวน  มีน้อง 5 คน คือ  นายทวีป  นางสดับ  เรืองเสวียด(ถึงแก่กรรม)  นางสนทนา พงศ์ศุภสมิทธิ์  นายอำนาจ  และนายทวีลาภ  เอกอินทร์
       
                              
         นายจรูญได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลตำบลมะลวน 1 (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดแหลมไผ่) โดยเป็นเด็กที่เรียนเก่ง ผลการเรียนเป็นที่ 1 ของชั้นตลอดมา รวมทั้งเป็นเด็กที่มีความประพฤติดี มีความโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนฝูง จึงเป็นที่รักของครูและเพื่อนๆเป็นอย่างยิ่ง  ช่วงเวลานั้นอยู่ในระหว่างมหาสงครามเอเซียบูรพา ต้องวิ่งหนีเครื่องบินที่มาทิ้งระเบิดที่สนามบินหัวเตยและบริเวณใกล้เคียงบ่อยๆ  หรือบางครั้งก็ไปดูเครื่องบิน B.29ที่มาทิ้งระเบิดทำลายสะพานจุลจอมเกล้ากับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำตาปี  หลังสงครามสงบแล้ว นายจรูญได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนพันธศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในตำบลมะลวน  และนายจรูญก็ยังคงรักษามาตรฐานการเรียนเป็นที่ 1 ของห้องตลอดมา 
        เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ได้สอบชิงทุนเพื่อเรียนต่อในโรงเรียนฝึกหัดครู แต่กลับสอบได้เรียนต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา เพราะจังหวัดจัดสอบเฉพาะภาควิชาการ จึงเป็นที่ขบขันในหมู่เพื่อนๆมาก เพราะนายจรูญเป็นเด็กรูปร่างอ้วน  มักจะถูกเพื่อนๆแกล้งและล้อเลียนเสมอ  แต่ในที่สุดนายจรูญก็ต้องเข้ามาเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา (ปัจจุบันคือคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูพลศึกษาเอก(พ.อ.) ในพ.ศ. 2499  ระหว่างเรียนที่กรุงเทพฯนายจรูญได้นำเงินที่ทางบ้านให้มาเป็นค่าเล่าเรียนนำมาปลูกบ้านเช่าบริเวณหลังวัดปทุมวนาราม แล้วเก็บค่าเช่าเป็นค่าเล่าเรียนของตนและส่งให้น้องๆอีก 5 คนได้เรียนหนังสือด้วย
       ต่อมาในระหว่างเข้ารับราชการนายจรูญได้ไปศึกษาต่อภาคค่ำในระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยบูรพา) สำเร็จได้รับพระราชทานปริญญาการศึกษาบัณฑิต(กศ.บ.) สาขาประถมศึกษา ใน พ.ศ.2510 และศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สำเร็จได้รับพระราชทานปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต(ค.ม.) สาขาบริหารการศึกษา ใน พ.ศ. 2517
       นายจรูญได้บรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 ในตำแหน่งครูประจำกรมชั้นตรี กรมสามัญศึกษา  พ.ศ. 2501 มาเป็นครูตรีที่โรงเรียนพญาไท  ทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ตรี ฝ่ายพลานามัย โดยถูกส่งไปปฏิบัติงานการสอนในโรงเรียนตามโครงการกรุงเทพ-ธนบุรี ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงโรงเรียนประถมศึกษา ที่มีแนวทางในการปรับปรุง 3 ประการคือ การปรับปรุงบริเวณอาคารสถานที่  การปรับปรุงด้านพลานามัย(พลศึกษาและสุขศึกษา) และการปรับปรุงอุปกรณ์การสอนและวิธีสอน  ต่อมาได้รับมอบหมายให้เป็นศึกษานิเทศก์ทำหน้าที่นิเทศทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยในส่วนภูมิภาคแบ่งการนิเทศออกเป็นสายๆ นายจรูญได้ประจำสายในภาคการศึกษา(เขตการศึกษา) 9, 10 และ11
        พ.ศ.2507 ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์โท กรมสามัญศึกษา ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และจัดฝึกอบรมศึกษานิเทศก์ใหม่แต่ละรุ่นของหน่วยศึกษานิเทศก์ตลอดมา  พ.ศ.2516 ได้เป็นศึกษานิเทศก์เอก กรมสามัญศึกษา  พ.ศ.2517 รักษาการในตำแหน่งศึกษานิเทศก์เอก ฝ่ายสามัญศึกษา จังหวัดนนทบุรี  ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2518  เป็นศึกษานิเทศก์ 6 กรมสามัญศึกษา รักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนศรีบุณยานนท์ จังหวัดนนทบุรี  พ.ศ. 2522 เป็นศึกษานิเทศก์  7 กรมสามัญศึกษา  พ.ศ.2523  เมื่อได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาได้โอนไปดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ 7 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2526 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด
        พะเยา  พ.ศ.2527 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดสมุทรปราการ  พ.ศ.2528 ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานการเจ้าหน้าที่(บุคลากร 7) สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2529 เป็นผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่  และ พ.ศ. 2535  เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ รับผิดชอบดูแลงานบุคคล จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ.2539
        ชีวิตราชการของนายจรูญ เอกอินทร์  ส่วนใหญ่จะเป็นศึกษานิเทศก์ และเป็นผู้บริหารการศึกษา ไม่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใดก็มีความขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบงานสูง  จนมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยลำดับ  ดังเช่นตอนที่เป็นศึกษานิเทศก์ก็ได้มุ่งมั่นพัฒนาวิชาชีพนี้ จนได้รับการยกย่องกันในหลายๆชื่อ  ดังที่ นางจงดี  แสงเพชร ผู้เคยเป็นศึกษานิเทศก์ระดับ 9 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้เขียนไว้ในหนังสือชีวิตและงาน จรูญ เอกอินทร์ ความตอนหนึ่งว่า
     “...27ปีอันยาวนานของการเป็นศึกษานิเทศก์ทำให้ท่านผูกพันกับวิชาชีพศึกษานิเทศก์อย่างแนบแน่น ท่านปกป้องคุ้มครองและมุ่งมั่นพัฒนาวิชาชีพนี้มาโดยตลอด จนได้รับสมญาที่ยกย่องเกียรติคุณของท่านหลายชื่อ...
   ศน.นักบุกเบิก ได้มีส่วนร่วมในการบุกเบิกและพัฒนางานวิชาชีพนี้ พยายามทุกวิถีทางที่จะต่อสู้ผลักดันให้องค์กรศึกษานิเทศก์และวิชาชีพนี้มีเกียรติมีศักดิ์ศรีจนเป็นที่ยอมรับในวงการศึกษาทั่วไป...
  ศน.นักมนุษยสัมพันธ์  มีจุดเด่น 3 อย่าง คือ การเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ทำให้ผู้อื่นยอมรับ การเป็นผู้ที่เข้าใจคน และการเป็นผู้ที่เข้าใจปัญหา...
  ศน.นักบริหาร  เป็นคนที่มีความสามารถยอดเยี่ยมทั้ง 3 ด้านคือ รู้จักงาน  รู้จักสถานการณ์ และรู้จักคน ...
  ศน.นักพัฒนา เป็นผู้ที่มีความตั้งใจที่จะขวนขวายหาความรู้จากหลายๆทาง เช่น การเข้าร่วมประชุม รับฟัง รับการอบรม ศึกษาค้นคว้า  แล้วนำความรู้มาพัฒนางานของศึกษานิเทศก์ให้เจริญก้าวหน้า...
  ศน.นักแก้ปัญหา  เป็นผู้มีความรู้อย่างกว้างขวาง และได้แสดงความสามารถในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆได้ดี...”
   รศ.บรรเทา  กิตติศักดิ์ อดีตศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษาและอดีตอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงนายจรูญในช่วงที่เป็นศึกษานิเทศก์ ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า

  “...สิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวท่านอาจารย์จรูญ เอกอินทร์ ก็คือ ท่านจำรายละเอียดได้แม่นยำ ดังนั้นเมื่อท่านรับปากกับใครก็ตามที่ท่านจะช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาให้ ท่านก็จะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาให้จนเป็นผลสำเร็จเสมอ ท่านจึงเป็นที่พึ่งของเหล่าชาวศึกษานิเทศก์ในส่วนภูมิภาค ทั้งศึกษานิเทศก์ระดับภาคการศึกษา (เขตการศึกษา)และระดับจังหวัด จึงเป็นที่รักใคร่ของศึกษานิเทศก์โดยทั่วไปและจะรู้จักท่านเป็นอย่างดี...”
 
นอกจากนี้ นายพะนอม  แก้วกำเนิด ผู้เคยทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ และอธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้เขียนถึงคุณลักษณะที่ดีของนายจรูญสมัยที่ร่วมเป็นศึกษานิเทศก์ด้วยกัน ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า
  “...ท่านรองฯจรูญ  เอกอินทร์ เป็นคนดีมีน้ำใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอาการเอางาน ขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบงานในหน้าที่สูงมาก  ได้รับมอบหมายงานใดจะต้องมุมานะบากบั่นทำงานนั้นจนลุล่วงให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของงาน โดยมิได้มุ่งหวังในเรื่องใด นอกจากผลสัมฤทธิ์ของงานนั้นๆ  ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด จนเป็นลักษณะเฉพาะของท่านรองฯจรูญ...” 
     
ช่วงเวลาที่นายจรูญเข้ามารับผิดชอบบริหารงานบุคคลของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาตินั้นเป็นระยะเวลาที่เพิ่งก่อตั้งสำนักงานใหม่ๆ ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารและงานวิชาการไปจากเดิมมีการให้อำนาจในการบริหารการประถมศึกษาไปต่างจังหวัด โดยมีกฎหมายรองรับ จึงจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่กล้าตัดสินใจในการดำเนินงาน และนายจรูญเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ดังที่ ดร.สายหยุด  จำปาทอง ผู้เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า
  “...การบริหารงานของ สปช.ในระยะเริ่มแรกนี้จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่กล้าตัดสินใจในการดำเนินงาน และคุณจรูญเป็นบุคคลหนึ่งในกลุ่มนี้  จึงกล่าวได้ว่า สปช.เป็นหนี้บุญคุณของบุคลากรกลุ่มนี้อย่างมาก...อาจกล่าวได้ว่า ในกระทรวงศึกษาธิการมีข้าราชการน้อยคนนักที่จะรอบรู้เรื่องงานประถมศึกษาทุกแง่ทุกมุมทัดเทียมคุณจรูญ...”
 
นายเฉลิม  บุญธรรมเจริญ ผู้เคยเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้วิเคราะห์คุณสมบัติที่ทำให้นายจรูญประสบความสำเร็จในการบริหารงานบุคคลไว้ 4 ประการ เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า
  “...ประการแรก เป็นผู้มีความรับผิดชอบสูง...เป็นผู้ขยันขันแข็ง จะมาถึงที่ทำงานแต่เช้าเสมอ เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ต่อการงาน  การเสนองานตรงไปตรงมา  ไม่เคยพบว่าหมกเม็ดหรือสอดไส้...
  ประการที่สอง  รอบรู้งานในหน้าที่ทั้งทางกว้างและลึก โดยเฉพาะด้านการบริหารบุคคล  จะรู้จักประวัติการทำงานของบุคคลเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งระเบียบปฏิบัติต่างๆด้วย
  ประการที่สาม  เป็นผู้สู้งานไม่ย่อท้อ  ดังจะเห็นได้ว่า กรมสั่งให้ไปปฏิบัติงานในจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาหลายครั้งหลายครา ท่านก็รับอาสาด้วยความเต็มใจทุกครั้ง และงานก็เป็นผลสำเร็จสมเจตนารมณ์ของกรมทุกครั้ง
  ประการที่สี่  เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถในการประสานงานดี เมื่อกรมสั่งให้ไปติดต่อกับบุคคลต่างๆก็สามารถปฏิบัติได้เรียบร้อย...”
        ด้วยความสามารถในการเป็นนักบริหาร นักมนุษยสัมพันธ์ นักพัฒนา และนักแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดีของนายจรูญ จึงเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ทำให้ได้รับความไว้วางใจและมอบหมายให้ไปเป็นผู้บริหารเพื่อแก้ปัญหาในหน่วยงานต่างๆหลายจังหวัดทั้งในหน่วยศึกษานิเทศก์ ในสถานศึกษา และในสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด ซึ่งนายจรูญก็สามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในทุกแห่ง  
      นายสมชัย  วุฑฒิปรีชา ผู้เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายจรูญ  เอกอินทร์ ความตอนหนึ่งว่า

  “...คุณจรูญได้ร่วมรับราชการกับผมที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีบุคลากรหลายแสนคน  คุณจรูญ เอกอินทร์ ในฐานะผู้อำนวยการกองบริหารบุคคล ซึ่งต้องรับผิดชอบในงานบริหารบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ไม่เคยทำให้ผู้บังคับบัญชาต้องหนักอกหนักใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบ กฎหมายความยุติธรรม และที่สำคัญที่สุดคือความสุจริต ของคุณจรูญได้ปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็ง ตรงไปตรงมา ไม่เคยได้ยินเสียงติฉินในทางลบจากทางใดๆทั้งสิ้น ผมอยากกล่าวว่า การที่งานบริหารบุคคลของ สปช. ในระยะที่ผมมีส่วนรับผิดชอบดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนหนึ่งเพราะความสามารถรวมทั้งความซื่อสัตย์สุจริตของอาจารย์จรูญ เอกอินทร์ ซึ่งผมขอแสดงความชื่นชม และขอบคุณด้วยความจริงใจต่ออาจารย์จรูญ เอกอินทร์ ไว้ ณ ที่นี้ ผมแน่ใจว่า ด้วยความดี ความรอบรู้และความซื่อสัตย์สุจริตของอาจารย์จรูญ เอกอินทร์ จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ สปช. ...”
      
เกียรติคุณที่นายจรูญ เอกอินทร์ได้รับคือ
  พ.ศ.2531  พ่อตัวอย่าง  จากสมาคมอาสาสมัครและช่วยการศึกษา
  พ.ศ.2534  นักบริหารงานบุคคลดีเด่น จากมูลนิธิจินดา ณ สงขลา และศิษย์เก่าดีเด่น
  จากภาควิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  พ.ศ.2537  ศิษย์เก่าดีเด่น  จากมหาวิทยาลัยบูรพา
     เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน คือ ประถมาภรณ์ช้างเผือก  ประถมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา
      นายจรูญสมรสกับ นางสาวสุธีร์ สิทธิรักษ์  เมื่อ พ.ศ. 2511 มีบุตร 3 คน คือ นางจนัสกร พงษ์ฉบับนภา  นายจโนธ และนายจิรายุส  เอกอินทร์
      หลังเกษียณอายุราชการนายจรูญได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างมีความสุข และยังคงช่วยเหลืองานด้านการศึกษามาโดยตลอด เช่น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู  เป็นที่ปรึกษาด้านการผลิตสื่อการเรียนการสอน เป็นต้น  นายจรูญมีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดันโลหิตสูงซึ่งต้องดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่อง  ต่อมาภายหลังมีอาการปวดหลัง เนื่องจากกระดูกทับเส้นประสาท  จึงต้องดูแลรักษาเพิ่มขึ้นอีก  จนกระทั่งวันที่  4 ธันวาคม  พ.ศ. 2555 มีอาการหัวใจล้มเหลวอย่างกะทันหันและถึงแก่อนิจกรรมในวันเดียวกัน  รวมสิริอายุได้ 77 ปี 9 เดือน 25 วัน 

                                                                               นายธเนศ  ขำเกิด  ผู้เรียบเรียง


ข้อมูลอ้างอิง

  1. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายจรูญ  เอกอินทร์  วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2556  
     ณ ฌาปนสถานวัดตรีทศเทพวรวิหาร
 2. ชีวิตและงาน จรูญ เอกอินทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 
    หนังสือที่ระลึกเกษียณอายุราชการ  30 กันยายน  2539
  3. นางสุธีร์  เอกอินทร์  ภรรยา ผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
     เมื่อวัน  ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2556     


หมายเลขบันทึก: 543972เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

.... ขอบคุณเรื่องเล่าดีดีนี้ค่ะ ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท