รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กับ ดร.ศิระ ชวนะวิรัช 761/ร


        

 

50 ปี ที่มุ่งหวัง   : ดร.ศิระ ชวนะวิรัช 761/ร


    จากวันวานในแผ่นดินธรรมศาสตร์ จนถึงวันนี้ก็ 50 ปีเศษแล้ว จากหนุ่มมาแก่ แล้วรอคอยวันจากไปของเพื่อนพ้องทีละคนสองคนจนหมดรุ่น (รวมทั้งตัวเราเองด้วย) สิ่งที่ผมรำลึกถึงในวัยศึกษา ณ คณะรัฐศาสตร์คือ ผมใช้เวลา 4 ปี (เกือบ 5 ปี) ค่อนข้างสิ้นเปลืองเกินไป เพราะผมเข้าฟังบรรยายน้อยมาก ผมเอาใจใส่ในวิชาการไม่เต็มที่ ขณะนั้นแม้อยากจะศึกษาอะไรก็มีปัญหาเรื่องสายตา และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทำให้ไม่ค่อยสะดวกราบรื่น อีกประการหนึ่งคือ ที่ว่าการศึกษาทำให้เกิดปัญญา มีวิชาติดตัว เดี๋ยวนี้กลับมาสงสัยอีกแล้วว่า ปัญญาเกิดจากการศึกษาในธรรมศาสตร์จริงหรือ ? เรามีปัญญาจริงหรือ ?

      ถ้าการศึกษาในธรรมศาสตร์ก่อปัญญาจริง ผมก็ควรมีวุฒิภาวะสูงมากจนสามารถทราบได้ว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันที่สูงส่งทรงคุณค่าอย่างไร ถ้าผมมีปัญญาจริง ทำไมผมจึงไม่รู้สึกรู้สาต่อการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่จะเขียนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากมลทินและความผิดใดๆ ทั้งปวง พร้อมกับยกเลิกองค์กรอิสระ เช่น คตส. ปปช. ศาลฎีกาแผนกการเมือง ทำไมผมนิ่งเฉยอยู่ ผมมีปัญญาจริงหรือ ?

      สิ่งที่เรามีร่วมกัน คือ วิชารัฐศาสตร์ ปรัชญาของอริสโตเติ้ล เพลโต ฌัง-ยากส์-รุสโซ รวมทั้งการวิวัฒนาการของระบบการเมืองการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผด็จการคอมมิวนิสต์ อนาธิปไตย และเป็นประชาธิปไตยในที่สุด พื้นฐานกฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่งฯ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์ การคลัง สังคมวิทยา ภูมิรัฐศาสตร์ ฯลฯ เป็นต้น

      แต่วิชาเหล่านั้น เป็นวิชาแท้จริงของมนุษย์แล้วหรือ ส่วนจริยธรรม คุณธรรม มันหายไปไหนหมด เพราะเมื่อทุกคนสำเร็จเรียนจบวิชาต่างๆ ได้รับปริญญาแล้ว ต่างกระเสือกกระสนจะไปต่างประเทศกันเพื่อเพิ่มคุณค่าของตนเองให้สูงขึ้น เรียนเพิ่มเติมขึ้นจะได้เป็นชั้นโท ชั้นเอก เร็วๆ ซึ่งในระหว่างนั้น  จริยธรรม คุณธรรม ก็เริ่มหลุดลอกออกไปจากจิตใจของแต่ละคน จนในที่สุดเหลือแต่ความเห็นแก่ตัว เอาตนเองเป็นศูนย์ของโลก (ซึ่งเราเรียกว่าประสบการณ์)

      ความทะยานอยาก ความมุ่งมั่นในชีวิตอนาคตของแต่ละคน แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน การเห็นแก่ตัวก็มีเพิ่มมากขึ้น จนสามารถไต่เต้าจากชั้นตรี ชั้นโทขึ้นเป็นชั้นเอก ชั้นพิเศษ กันทั่วไป บางคนเห็นว่าราชการยังอยู่ในกรอบชีวิตที่คับแคบ และรอการเกษียณอายุราชการพร้อมเงินบำเหน็จบำนาญเท่านั้น ตนเองมีความถนัดชำนาญในภาคเอกชนยิ่งกว่า และหลายคนก็ตัดสินใจว่าเอกชนมีโอกาสครอบครองทรัพย์สินเงินทองได้เป็นกอบเป็นกำ

      แต่ในที่สุดปัญหาก็ย้อนกลับมาอีกในทุกสาขาอาชีพว่าเรามีคุณสมบัติครบถ้วนตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงใด เรามีปัญญาและมีคุณธรรมอันแท้จริงหรือเปล่า ? นี่แหละชีวิตอันแท้จริงของพวกเรา ผู้มีวิชาจากสถาบันอันมีชื่อว่าธรรมศาสตร์ และจากเมืองนอกเมืองนา หรือต่างประเทศ ทุกคนพอใจกับสิ่งที่อยู่ภายใต้วงศาคณาญาติเดียวกัน พรรคพวกสถาบันเดียวกัน โดยไม่สนใจกลุ่มชนด้อยกว่าด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มากมาย เพราะฉันมีแล้ว พวกฉันมีแล้วไม่เดือดร้อน มีบ้านหลังใหญ่ รถคันงาม มีสามีภรรยามีหน้ามีตาในวงสังคม มีเวลาได้พักผ่อน ตีกอล์ฟในยามว่าง ดื่มไวน์และรับประทานในเรสโตรองต์หรูๆ มื้อละ 3,000 - 5,000 บาท แล้วเขาจะสนใจทำไมกับเด็กยากจน คนชรา พระสงฆ์องค์เจ้า ในต่างจังหวัดห่างไกล พวกเราคิดแต่ว่าจะพบปะสังสรรค์กันเดือนไหนดี หรือทานในงานวันเกิดใครสักคน แทนที่จะบริจาคร่วมทุนซื้อผ้าห่มกันหนาว บริจาคทำนุบำรุงวัดที่เสื่อมโทรมขาดการดูแล ช่วยเหลือเด็กพิการ เด็กกำพร้าที่รอความหวังจากผู้มีจิตเมตตา แทนที่จะรู้สึกห่วงใยต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของแผ่นดิน แทนที่จะห่วงใยลูกหลานคนไทยในอนาคต ที่จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากการโกงกินของนักการเมืองจอมปลอม ด้วยวิธีสกปรกโสมม การแสดงความรู้สึกเกลียดชังเหยียดหยามต่อการประท้วงทางการเมือง อันชอบธรรมและไม่ชอบธรรม การอยู่นิ่งเฉยและเป็นกลางและไม่รู้ร้อนรู้หนาวมันเป็นไปได้อย่างไร
นี่ใช่ไหมที่เรียกว่ามีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายของผู้มีปัญญา ของผู้บรรลุวิทยฐานะและวุฒิภาวะแล้วเมื่อไรผู้คนอันมีปัญญาเหล่านี้ (รวมทั้งผมด้วย) จะหันหน้าคุยกันเรื่องจริยธรรม ความชอบธรรม การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่มวลมนุษย์ การเอื้ออาทรกันในทุกกรณี

          ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องตั้งสติและใช้วิเคราะห์กันอย่างจริงๆ จัง เพื่อให้รู้ว่าเราไม่ได้มีชีวิตนี้อยู่ด้วยอุปาทานและติดอยู่กับ “ตัวกู ของกู” อย่างมืดบอดตลอดไป ขออภัยเพื่อนฝูงและพรรคพวกทุกคนที่ผมไม่รู้กาลเทศะเพราะ คุณสมหมาย ฉัตรทอง มีวัตถุประสงค์ให้ผมเขียนบทความให้ 1 ชิ้น โดยมีหัวข้อว่า “50 ปี แห่งความหลัง”และบอกผมว่าเขียนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับ 50ปี ที่ผ่านชีวิตมาด้วยกัน แต่เนื่องจากผมเป็นคนเขียนอะไรหวานๆ
ไม่เป็นและอยากจะลืมอดีตทั้งดีและชั่วให้หมด จึงทำให้บทความที่เขียนออกมาเป็นรูปแบบเนื้อหาเช่นนี้ ถ้าเพื่อนๆ เข้าใจก็ต้องขอขอบคุณมาก แต่ถ้าไม่เข้าใจในความคิดเห็นของผม ก็ขอให้รู้กันว่าคูณกับผมมีความรำลึกในภาพประวัติศาสตร์อันเดียวกัน แต่จิตนาการของเราแตกต่างกัน ขอให้ปล่อยให้มันเป็นเช่นนั้นตลอดไป อย่างไรก็ตาม เพื่อนรัฐศาสตร์ รุ่น 11 ก็คือ เพื่อนที่เรามีลิขิตชีวิตร่วมกันในสถาบันการศึกษาเดียวกันย่อมอยู่ในความรำลึกและประทับใจมิลืมเลือน แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นเพียงภาพที่ไม่อาจจะยึดมั่นได้อีกแล้ว ไม่ว่าปริญญาบัตร ความเป็นเพื่อน น้ำใจในรูปแบบต่างๆ ที่เรามีต่อกันมันเป็นภาพที่นับวันจะลืมเลือนไป จนไม่มีอะไรเหลือ ในเมื่อมันได้อุบัติขึ้น ดำรงอยู่ และมันก็จะต้องดับไป สิ่งที่ขอให้เหลือไว้ คือ ความเป็นผู้มี คุณธรรมที่พร้อมด้วยปัญญาอันแท้จริง  สวัสดีเพื่อนทุกๆ คน


                                                    ----------------------------------



 






หมายเลขบันทึก: 543519เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท