ไผ่


                                                                      ไม้ไผ่

                                                  นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)


                         

ไม้ไผ่ ที่สำคัญของไทย ปัจจุบันเท่าที่มีการสำรวจชนิดของไม้ไผ่ในประเทศไทย  พบว่ามีไม้ไผ่อยู่ประมาณ 12 สกุลซึ่งแยกออกเป็น 44 ชนิด แต่ที่พบเห็นมากที่สุดมีประมาณ 10 ชนิดส่วนที่เหลือจะมีให้เห็นในบางพื้นที่เท่านั้นเอง  ข้อน่าสังเกตอีกอย่างเกี่ยวกับไม้ไผ่ในเมืองไทยนั้น ก็ คือไผ่ส่วนมากของประเทศไทยมักจะขึ้นเป็นกอรวมกลุ่มกันเสียเป็นส่วนใหญ่  ไม้ไผ่ที่พบเห็นมากที่สุด  จำแนกออกได้ดังนี้ คือ
1.  ไผ่สีสุก ไผ่ประเภทนี้มีมากในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย  ไผ่สีสุกเป็นไผ่ที่มีลักษณะลำสูง  เนื้อแน่นหนา ลำต้นสีเขียวเข้ม  ไผ่สีสุกชอบขึ้นในที่ที่เป็นดินปนทราย หรือดินร่วน  รวมกันอยู่เป็นกอหนาแน่น  เป็นไผ่ที่ปลูกง่าย  คนไทยนิยมนำไผ่สีสุกมาใช้ในงานหัตถกรรมและการก่อสร้าง
2.  ไผ่ตง ไผ่ชนิดนี้นิยมปลูกมากทางภาคกลาง  มีมากที่สุดที่จังหวัดปราจีนบุรี  ลักษณะของไผ่ตงจะเป็นไผ่ที่ลำต้นสูงใหญ่ไผ่ตงนี้ยังแยกประเภทออกได้อีกหลายชนิด เช่น ไผ่ตงใหญ่  ไผ่ตงกลาง  ไผ่ตงแอ่น  ไผ่ตงหนู  ไผ่ตงเขียว  และไผ่ตงดำ  ประโยชน์ของไผ่ตงนั้นมีมากมาย ลำต้นใช้ในการก่อสร้าง  เป็นอาหารที่แสนอร่อย  หน่อไม้ไผ่ตงที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้ก็มาจากไผ่ตงนั่นเอง  เพราะรสชาติหวาน  กรอบ  อร่อย  ยากที่จะมีหน่อไม้อื่นๆมาเทียบได้
3.  ไผ่เหลือง เป็นไผ่ที่ปลูกง่าย  โตเร็วในดินทุกชนิด  ลำต้นมีสีเหลืองแถบเขียวปะปนกัน  ไผ่เหลืองนี้เรียกกันไปหลายชื่อเช่นไผ่งาช้าง  ไผ่บงดำ  ไผ่จันดำ  ประโยชน์ของไผ่ชนิดนี้ โดยมากจะนิยมนำไปทำเฟอร์นิเจอร์  แจกัน  ที่เขี่ยบุหรี่ และคนไทยก็นิยมปลูกไผ่ชนิดนี้ประดับไว้ตามบ้านเพราะลำต้นและใบจะสวยงามมาก
4.  ไผ่เลี้ยง ไผ่ชนิดนี้มีภาษาเรียกอย่างเป็นทางการว่า ไผ่คลาน  พบมากที่สุดในภาคกลาง  ลำต้นมีสีเขียวสด  ลำต้นเล็กเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตรเท่านั้น  ปล้องยาว 20-25 เซนติเมตร  ไผ่เลี้ยงชอบขึ้นและเจริญเติบโตในดินร่วน  อากาศร้อนชื้น  ส่วนใหญ่คนไทยนิยมปลูกไผ่ชนิดนี้เป็นไม้ประดับเสียมากกว่า เพราะลำต้นสวยงามไม่ใหญ่เกินไป  ประโยชน์ของไผ่ชนิดนี้ สามารถนำไปทำรั้วบ้าน  ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์  และคันเบ็ดที่นิยมใช้ ก็มาจากไผ่ชนิดนี้
5. ไผ่รวก ไผ่ชนิดนี้ถือว่าเป็นไผ่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย  จะพบมากบนพื้นที่ราบสูงของภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะในเขตกาญจนบุรี  ไผ่รวกชอบอากาศร้อน ไม่มีน้ำ จะขึ้นหนาแน่นในลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ลำเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-7 เซนติเมตรเท่านั้น  ประโยชน์ที่สำคัญของ ไผ่รวก คือ ใช้ทำเยื่อกระดาษ  รั้วบ้าน  วัสดุก่อสร้าง และทำไม้ปักเลี้ยงหอยในทะเล ตลอดจนใช้ทำเครื่องมือประมงก็เป็นที่นิยมกันมาก
6.  ไผ่ป่า หรือไผ่หนาม ไผ่ชนิดนี้มักพบเป็นกอหนาแน่นตามชายน้ำ หรือแหล่งน้ำต่างๆ ขึ้นมากในที่ราบลุ่มทั่วทุกภาคของประเทศไทยลำต้นมีขนาดใหญ่เนื้อหนาแข็งแรง  ประโยชน์ใช้ในการก่อสร้าง และทำเป็นพะองสำหรับชาวสวนผลไม้ทั่วประเทศใช้
7.  ไผ่ลำมะลอก เป็นไผ่ที่พบทั่วทุกภาคของประเทศ  ยกเว้นทางภาคใต้  ลักษณะการเติบโตของไผ่ชนิดนี้จะขึ้นเป็นพุ่มใหญ่ ลำต้นสีเขียวแก่ เป็นมัน  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-12 เซนติเมตร  ส่วนมากมักใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำนั่งร้าน  เสาโป๊ะฝาบ้านและไม้กวาด
8.ไผ่ไร่  เป็นไผ่ที่มีขนาดเล็กที่สุดก็ว่าได้ เพราะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำ 0.5-2.5 เซนติเมตรเท่านั้น  ลำต้นมีสีเขียวแกมเทามีขนปกคลุมทั่วลำ ขึ้นเป็นกอหนาแน่นในทั่วทุกภาคของประเทศ  ประโยชน์คือการนำไผ่ไร่มาใช้เป็นด้ามไม้กวาดและนำหน่อไม้มาทำอาหาร
9.  ไผ่ซาง หรือ ไผ่นวล เป็นไผ่ที่มีขึ้นทุกภาค  โตเร็วขยายพันธุ์ง่าย  ลำต้นสีเขียวอ่อนเย็นตา  เส้นผ่าศูนย์กลางของลำประมาณ 3-12 ซม.ประโยชน์ส่วนใหญ่ที่ได้จากไผ่ชนิดนี้ก็คือ นำไปต้มทำเยื่อกระดาษ และของใช้ในครัวเรือน

10.  ไผ่บง เป็นไผ่ที่พบเห็นทุกภาคของประเทศไทย โดยมากจะพบไผ่ชนิดนี้ตามป่าดงดิบใกล้แม่น้ำ เป็นไผ่ขนาดใหญ่  เส้นผ่าศูนย์กลาง ของลำต้นประมาณ  6 - 18 เซนติเมตร  ความยาวของปล้องประมาณ 30 เซนติเมตร  ประโยชน์ที่ได้รับจากไผ่บงคือ การนำมาทำรั้วบ้าน  เสื่อรำแพน และงานจักสานแทบทุกชนิด

ประโยชน์ของไผ่
1.ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม้ไผ่ที่นำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย คุณสมบัติพิเศษของไม้ไผ่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแปรรูปและแปรรูป และเป็นไม้ที่มีความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ดี จึงมีการนำไม้ไผ่มาสร้างเป็นบ้านเรือนที่พักอาศัยกันทั่วไป เช่นเรือนไม้ไผ่ในประเทศไทยที่เรียกว่า เรือนเครื่องผูก ที่สร้างด้วยไม้ไผ่แทบทั้งหมด ตั้งแต่ใช้เป็นโครงสร้างและส่วนประกอบของบ้านเรือน ได้แก่ ใช้ลำไม้ไผ่เป็นเสา โครงหลังคา และใช้ไม้ไผ่แปรรูปด้วยการผ่าเป็นซีกๆ เป็นพื้นและสานเป็นแผงใช้เป็นฝาเรือน ชาวชนบทที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนักมักสร้างเครื่องเรือนผูกเป็นที่อยู่อาศัย เพราะสามารถสร้างได้เองโดยใช้ไม้ไผ่และวัสดุที่มีในท้องถิ่นของตนมาประกอบกันเป็นเรือนที่พักอาศัย รูปแบบของเรือนเครื่องผูกจะแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่นโดยทั่วไปจะใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง

2.เครื่องมือเครื่องใช้ งานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนและชีวิตประจำวัน งานไม้ไผ่ประเภทนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตมนุษย์มาช้านานและอาจจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันออกนั้น มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ไผ่มาแต่โบราณ เช่น ตะเกียบไม้ไผ่ของจีน เป็นเครื่องมือการกินอาหารที่ทำอย่างง่ายๆ แต่ใช้ประโยชน์ได้อย่างดี ก่องข้าวและกระติบสำหรับใส่ข้าวเหนียวของชาวอีสานและชาวเหนือ เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นความชาญฉลาดในการนำไม้ไผ่มาแปรรูปเป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีเท่าก่องข้าวและกระติบที่สานด้วยตอก
นอกจากนี้ยังใช้ทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน เช่นตะกร้า กระจาด สาแหรก กระบอกเป่าไฟ กระชอน ตะเกียบ ชะลอม ที่เสียบมีด กระบอกเก็บสาก ทัพพี ช้อน ตะหลิว ทำพัด ตับปิ้งปลา ทำฟืน ด้ามเครื่องมืออื่นๆ เครื่องจักสาน ของที่ระลึกเครื่องเขิน ทำโครงร่ม ไม้กวาด ใช้เป็นไม้ค้ำยันในการทำการเกษตร เช่นไม้ค้ำต้นส้ม ค้ำผัก ค้างถั่ว ฯลน ไม้ไผ่ยังใช้เป็นหลักปักกองฟาง ใช้ทำเข่งบรรจุผลไม้ บรรจุใบชา ของป่าต่างๆ ทำหุ่นหรือลูกบวบหนุนเรือนแพล่องไม้ไม่ให้จม บุ้งกี๋ กระพ้อม เสียม เสื่อลำแพน ทำท่อ ทำโต๊ะ เก้าอี้ และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในบ้าน

3.เครื่องมือประกอบอาชีพและเครื่องเรือน งานไม้ไผ่ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ งานไม้ไผ่ประเภทนี้มีใช้กันอย่างกว้างขวาง ในสังคมเกษตรกรรมของชาวเอเชีย เพราะไม้ไผ่เป็นวัสดุที่หาได้ไม่ยากและชาวบ้านสามารถทำใช้สอยได้เอง เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาทำไร่จำนวนมากจึงทำมาจากไม้ไผ่ เช่นคราด คานหลาว คานกระบุง กระพ้อม ครุ (ครุหรือแอ่ว ของภาคเหนือใช้สำหรับตีหรือฟาดข้าว ให้เมล็ดข้างหลุดออกจากรวง เป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด) เลื่อน วี โพง
นอกจากนี้ยังใช้ทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน เช่นตะกร้า กระจาด สาแหรก กระบอกเป่าไฟ กระชอน ตะเกียบ ชะลอม ที่เสียบมีด กระบอกเก็บสาก ทัพพี ช้อน ตะหลิว ทำพัด ตับปิ้งปลา ทำฟืน ด้ามเครื่องมืออื่นๆ เครื่องจักสาน ของที่ระลึกเครื่องเขิน ทำโครงร่ม ไม้กวาด ใช้เป็นไม้ค้ำยันในการทำการเกษตร เช่นไม้ค้ำต้นส้ม ค้ำผัก ค้างถั่ว ฯลน ไม้ไผ่ยังใช้เป็นหลักปักกองฟาง ใช้ทำเข่งบรรจุผลไม้ บรรจุใบชา ของป่าต่างๆ ทำหุ่นหรือลูกบวบหนุนเรือนแพล่องไม้ไม่ให้จม บุ้งกี๋ กระพ้อม เสียม เสื่อลำแพน ทำท่อ ทำโต๊ะ เก้าอี้ และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในบ้านงานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง งานไม้ไผ่ประเภทนี้มีใช้ทั่วไปในหลายประเทศ เช่น ทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน แม้บางชนิดจะดูเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ไม่มีราคามากนัก แต่ใช้ประโยชน์ได้ดีเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ เช่น คนไทยใช้ไม้ไผ่ทำแคร่ ทำเปลไว้นอนเล่นในฤดูร้อน เพราะแคร่และเปลไม้ไผ่นั้นโปร่ง อากาศผ่านได้จึงไม่ร้อนกล่าวกันว่า เมื่อครั้งที่พ่อค้าชาวดัชท์ (Datch) เข้ามาค้าขายในตะวันออกไกลครั้งแรก พวกเขารู้สึกประหลาดใจมากที่เห็นคนพื้นเมืองนอนอยู่บนเตียงไม้ไผ่ที่พื้นเตียงทำด้วยไม้ไผ่เป็นซีกๆ เปิดโล่งให้ลมผ่านได้ เตียงลักษณะนี้จะช่วยคลายร้อนได้มากในคืนที่มีอากาศร้อน เตียงชนิดนี้เป็นที่มาของคำว่า bamboo princess ต่อมากลายเป็นคำว่า  Datch wife เป็นคำที่รู้กันในหมู่ชาวตะวันออก เครื่องเรือนไม้ไผ่นั้นมีความงดงามที่เรียบง่าย แฝงแนวคิดและปรัชญาแบบตะวันออกด้วยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวญี่ปุ่นใช้ไม้ไผ่เป็นเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งบ้านอย่างเห็นคุณค่ามาช้านาน เช่นไม้ไผ่ทำเป็นฝาบ้าน รั้ว ประตูหน้าต่าง มู่ลี่

4.เครื่องดนตรีและอาวุธ งานไม้ไผ่ที่ทำเป็นเครื่องดนตรี เครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้ไผ่เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่อย่างหนึ่งของชาวเอเชียเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดนตรีที่ทำจากลำไม้ไผ่อย่างง่ายๆ ประเภท ขลุ่ย นั้นมีอยู่หลายประเทศ ได้แก่ ขลุ่ยไทย ขลุ่ยญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้เครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้ไผ่ที่เก่าแก่อีกประเภทหนึ่ง คือเครื่องดนตรีที่ใช้ตีลงบนไม้ไผ่อย่าง ระนาด ของไทยนั้นมีอยู่ในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเรียกว่า kamelan เครื่องดนตรีทำจากไม้ไผ่ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ อังกะลุง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เสียงกระทบกันของไม้ไผ่ที่มีขนาดต่างกัน ทำให้เกิดเสียงต่างกัน อังกะลุง นับเป็นเครื่องดนตรีที่เกิดจากคุณสมบัติพิเศษของไม้ไผ่อย่างแท้จริง
งานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นอาวุธ งานไม้ไผ่ประเภทนี้ ทำขึ้นจากคุณสมบัติพิเศษของไม้ไผ่ ที่มีเนื้อเป็นเสี้ยนยาวตลอดลำจึงทำให้มีเนื้อเหนียวไม่หักง่ายและมีแรงดีดคืนตัว ชาวเอเชียจึงใช้ไม้ไผ่เป็นคันกระสุน คันธนู และลูกธนู ซึ่งมีทำกันในหลายประเทศ เช่น ธนู ลูกธนูของญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นอาวุธที่ทำจากไม้ไผ่ที่ใช้ความประณีตในการคัดเลือกไม้ที่มีคุณภาพและต้องใช้ช่างที่มีฝีมือสูงในการเหลาและตัดไม้ไผ่ให้เป็นคันธนูหรือคันหน้าไม้เพื่อดีดลูกธนูหรือลูกศรเช่นเดียวกัน อาวุธที่ทำจากไม้ไผ่ของไทยที่ใช้กันแพร่หลายชนิดหนึ่งคือ กระสุน ซึ่งคันกระสุนทำด้วยไม้ไผ่แก่เนื้อดี นำมาเหลาและดัดให้ได้รูปทรงและมีขนาดเหมาะตามความต้องการ กระสุนจะใช้ยิงด้วยกระสุนที่ปั้นด้วยดินเหนียวเป็นลูกกลมขนาดประมาณเท่าหัวแม่มือ กระสุนเป็นอาวุธโบราณอย่างหนึ่งที่ใช้ยิงคนและยิงสัตว์ต่างๆ ที่ใช้กันทั่วไปในขนบท นอกจากนั้นยังนำไม้ไผ่มาทำเป็นอาวุธ จำพวกลูกดอกและลำกล้องเป่าลูกดอก ใช้เป็นไม้กระบอง ไม้ตะพดจนถึงการนำไม้ไผ่มาปาดให้แหลมเป็นปากฉลามที่เรียกว่า ขวาก ใช้ดักคนหรือสัตว์ที่รุกล้ำเข้ามาในเขตหวงห้าม

5.พิธีกรรมและความเชื่อ งานไม้ไผ่ที่ใช้เกี่ยวกับพิธีกรรมและความเชื่อไม้ไผ่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อของชาวเอเชียมาช้านาน โดยเฉพาะชาวจีนและญี่ปุ่นนั้น ไผ่เป็นไม้มงคลและเป็นสัญลักษณ์ของความแหลมและเจริญงอกงามของสติปัญญาดุจเดียวกับความแหลมคมของหนามไผ่หน่อไผ่และการเติบโตอย่างรวดเร็ว
สำหรับคนไทยนั้น ไม้ไผ่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น คนไทยโบราณมักสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ เมื่อทารกคลอดออกมาจากครรภ์มารดาวินาทีแรกที่เรียกว่า ตกฟาก นั้นเพราะทารกตกลงบนพื้นเรือนที่ทำด้วยไม้ไผ่ที่สับเป็นซี่ๆที่เรียกว่าฟากนั่นเอง
หลังจากนั้น เมื่อถึงเวลาตัดสายสะดือหมอตำแยก็ใช้ไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีก แล้วรนไฟ เพื่อใช้ตัดสายสะดือทารก แทนการใช้เหล็กหรือของมีคมอื่นๆ ความเชื่อนี้มีอยู่ทั่วไปในหลายประเทศในเอเชีย หลังจากตัดสายสะดือแล้วคนไทยจะนำเด็กนอนไว้ใน กระด้ง ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่คลุมด้วยแหและเพื่อป้องกันผีร้าย สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อเกี่ยวกับไม้ไผ่ที่มีมาช้านาน  เมื่อเกิดอยู่นานร่างกายชราภาพก็ต้องใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นไม้เท้า ครั้นถึงเวลาตายก็ต้องนำศพไปวางบนแคร่ไม้ไผ่ เวลาเผาศพ ก็ต้องตัดไม้ไผ่ลำตรงๆ สดๆ สำหรับแทงศพกลับไปกลับมาเพื่อให้ไหม้ให้หมด เรียกไม้ไผ่ชนิดนี้ว่า ไม้เสียบผี ประเพณีค้ำโพธิ์ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ในตอนเช้าชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร ตอนบ่ายเล่นกีฬา และช่วยกันเอาไม้ไผ่ลำโตๆ มาค้ำกิ่งโพธิ์ตามวัดไม่ให้กิ่งโพธิ์หัก ถือว่าได้บุญแรงและเชื่อกันว่าจะมีอายุยืน ประเพณีแห่บั้งไฟของชาวอีสาน จะนำไม้ไผ่ลำโตๆไม้ไผ่ เป็นไม้ที่ขึ้นง่ายและเติบโตเร็ว ขึ้นได้ดีในทุกสภาวะอากาศดำรงอยู่ได้ในพื้นดินทุกชนิด ที่สำคัญคือ ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่อำนวยประโยชน์หลายประการ ทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม และเป็นพืชที่ลำต้นกิ่งมีลักษณะแปลกสวยงาม ไผ่เป็นไม้ที่ตายยาก ถ้าไผ่ออกดอกเมื่อใดจึงจะตาย แต่ก็ยากมากและนานมากที่ไผ่จะออกดอก ไม้ไผ่มีประโยชน์มากกับคนเราคนเราสามารถนำไม้ไผ่มาสร้างบ้านที่อยู่อาศัย  และทำเครื่องจักสานอื่นๆอีกมากมายสำหรับไม่ไผ่นั้นใช้ได้ทุกส่วนตั้งแต่ หน่อ ลำต้น ใบ ราก เยื่อไผ่ ขุยไผ่ มีประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน  ในปัจจุบันเราสามารถนำไม้ไผ่มาจักรสานทำเป็นอาชีพหารายได้ให้แก่ครอบครัว และยังเป็นงานที่เราส่งออกไปขายอยู่นอกประเทศสำหรับคนไทยเราแล้ว งานที่ใช้ฝีมือถือว่าเป็นงานที่ประณีตระเอียดและสวยงามมาก

ประโยชน์ของไม้ไผ่

1.  ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ  ป้องกันการพังทลายของดินตามริมฝั่ง  ช่วยเป็นแนวป้องกันลมพายุ  ชะลอความเร็วของกระแสน้ำป่าเมื่อฤดูน้ำหลากกันภาวะน้ำท่วมฉับพลัน  ให้ความร่มรื่น
ใช้ประดับสวนจัดแต่งเป็นมุมพักผ่อนหย่อนใจในบ้านเรือน
2.  ประโยชน์จากลักษณะทางฟิสิกส์  จากความแข็งแรง ความเหนียว การยืดหด ความโค้งงอ และการสปริงตัว ซึ่งเป็นคุณลักษณะประจำตัวของไม้ไผ่ เราสามารถนำมันมาใช้เป็นวัสดุเสริมในงานคอนกรีต และเป็นส่วนต่างๆ ของการสร้างที่อยู่อาศัยแบบประหยัดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
3.  ประโยชน์จากลักษณะทางเคมีของไม้ไผ่  เนื้อไผ่ใช้บดเป็นเยื่อกระดาษ  เส้นไยใช้ทำไหมเทียม นื้อไผ่บางชนิดสามารถสกัดทำยารักษาโรคได้  ใช้ในงานอุตสาหกรรมนานาชนิด
4  การใช้ไม้ไผ่ในผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และอุสาหกรรม  แบ่งออกได้  ดังนี้  ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเส้นตอก ได้แก่ กระจาด  กระบุง  กระด้ง  กระเช้าผลไม้  ตะกร้าจ่ายตลาด  ชะลอม  ตะกร้าใส่ขยะ  กระเป๋าถือสตรี เข่งใส่ขยะ  เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ข้องใส่ปลาลอบ ไซ  ผลิตภัณฑ์จากลำต้น และกิ่งของไม้ไผ่  ได้แก่  เก้าอี้  โต๊ะ  ชั้นวางหนังสือ  ทำด้ามไม้กวาด ไม้เท้า คันเบ็ด ราวตากผ้า โครงสร้างบ้านส่วนต่างๆ ทำแคร่ นั่งร้านก่อสร้าง  ท่อส่งน้ำ รางน้ำ  ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไม้ไผ่ ได้แก่  ถาดใส่ขนม  ทัพพีไม้  ตะเกียบ  ไม้เสียบอาหาร
 กรอบรูป  ไม้ก้านธูป ไม้พาย ไม้เกาหลัง เครื่องดนตรี พื้นบ้าน ไม้บรรทัด  
 ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไผ่ซีกได้แก่  โครงโคมกระดาษ   โครงพัด  โครงร่ม  ลูกระนาด
 คันธนูพื้นม้านั่งแผงตากปลาสุ่มปลาสุ่มไก่
5. ประโยชน์ทางด้านการบริโภค เช่น การนำหน่อไม้ไผ่มาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นซุบ แกง ต้ม หรือนำมาดองจิ้มน้ำพริก

ประโยชน์จากไผ่ ต้นไผ่มีความผูกพันกับคนไทยมาช้านาน และในปัจจุบันไผ่ก็ยังทรงคุณประโยชน์นานาประการ หากเราลองสังเกตดูว่า ในงานของเราก็ต้องมีภาชนะเครื่องใช้ หรือเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่สักหนึ่งเป็นอย่างน้อย ลำไผ่มีประโยชน์ตั้งแต่สร้างที่อยู่อาศัย ทำเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องดนตรี ของเล่น หน่อไม้ก็ใช้ประโยชน์ต่อการบริโภคและขายเป็นอาชีพได้ ในช่วงหน้าฝนของทุกปี เราจะเห็นหน่อไม้มากมายขายกันในท้องตลาด หรือสองข้างทาง อย่างที่ใกล้กรุงเทพฯที่สุด เราอาจจะเคยเห็นกองหน่อไม้พะเนินเทินทึก เมื่อเข้าเมืองนครนายก หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ป่าไผ่คงต้องหมดไปในไม่ช้านี้แน่ๆ หากชาวบ้านขุดหน่อไม้มากมายขนาดนี้

ในช่วงหน้าฝนข้าวปลาอาหารจะอุดมสมบูรณ์มาก มีทั้งเห็ด หน่อไม้ ตัวต่อ กบ ปลา พืชชนิดอื่นๆ ชาวบ้านจะดำนา และยังช่วยกันลงแขกเช่นเดิม และมีมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีเงินเหลือพอที่จะจ้าง แต่จะช่วยกันทั้งหมู่บ้าน เมื่อเสร็จงานในตอนเย็นก็เข้าป่าหาของป่ามาขายการหาหน่อไม้จะเป็นอาชีพเสริมหลักของชุมชนในช่วงนี้ เท่าที่โครงการฯได้ศึกษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาชุมชน ในเรื่องการเก็บหน่อไม้ ได้รวบรวมประโยชน์ของหน่อไม้ที่นำมาบริโภค และชนิดของหน่อไม้ก็ให้คุณสมบัติต่อการบริโภคที่แตกต่างกัน ทำให้การบริโภคหรือการแปรรูปต้องเลือกชนิดและขนาดของหน่อไม้ด้วย ชาวบ้านสามารถแปรรูปหน่อไม้ได้มากมาย เช่น
1. หน่อไม้ดอง ซึ่งจะใช้หน่อซาง หน่อบง วิธีทำ ฝานหน่อไม้คลุกเคล้ากับเกลือ บรรจุใส่โอ่ง ปิดฝาให้มิดชิด สามารถเก็บไว้กินได้ทั้งปี
2. หน่อไม้ตากแห้ง ใช้หน่อหก และหน่อซาง วิธีทำ ทำความสะอาดหน่อไม้ แล้วฝานบางๆ ไปต้มกับน้ำให้เดือด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง เก็บใส่ภาชนะให้มิดชิด
3. หน่อไม้อัดปี๊บ ใช้หน่อไร่ และหน่อรวก วิธีทำ เอาเปลือกออกและทำความสะอาดต้มหน่อไม้ แล้วเทน้ำทิ้ง บรรจุลงปี๊บแล้วต้มต่อให้เดือด
4. หน่อหนีบ ใช้หน่อไร่ วิธีทำ เลือกหน่อไม้ไร่ที่หางพอเหมาะ นำมาล้างและฝานผึ่งไว้ แล้วนำมาบรรจุในกระบอกไม้ไผ่บงประมาณ 2 ใน 3 แล้วนำขี้ฝอยจากการจักตอก ปิดทับ นำก้อนหินวางทับข้างบนอีกครั้งหนึ่ง ปล่อยทิ้งไว้ให้น้ำออก จากหน่อไม้เป็นอันใช้ได้
5. หน่อส้ม ใช้หน่อไร่ หน่อบง หน่อซาง วิธีทำ สับหน่อไม้ตามทางยาว ใส่น้ำแล้วตากแดด 3 วัน นำมาแกง หรือ ต้มได้
6. หน่อโอ่ ใช้หน่อไร่ วิธีทำ ทำความสะอาดหน่อไม้ แล้วบรรจุลงโอ่งหรือปี๊บ เอาน้ำใส่ เปิดแล้วใช้หินทับไว้ นำไปแช่น้ำในลำห้วย หนอง คลอง บึง ประมาณ 10 วัน นำมาต้มรับประทานกับพริกป่น และอีกข้อสุดท้ายที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันนั่นคือ เมล็ดไผ่เมื่อตายขุย สามารถเก็บแล้วนำมาตำ หุงแทนข้าวได้ มีรสชาติหวานและมีความเหนียว คนสมัยก่อนจะเก็บเมล็ดไผ่ตายขุยไว้ เมื่อยามขาดแคลนข้าวก็นำออกมาใช้ได้
นอกจากใช้บริโภคแล้ว ยังนำมาสร้างบ้านด้วย ไผ่ที่ใช้สร้างบ้านจะต้องมีอายุเกิน 3 ปีขึ้นไป ยิ่งแก่มากก็จะยิ่งทนทานมาก มอดแมลงไม่ไช การสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ก็จะเลือกชนิดของไผ่ เพื่อให้เหมาะต่อการใช้งาน เช่น
ไผ่บง มีลำขนาดใหญ่ เนื้อหนา ห้างนา ห้างไร่ บันได หรือโครงหลังคา

ไผ่ซาง มีลำขนาดใหญ่ มีความหนา เหนียว ปล้องสั้นกว่าไผ่บง ใช้ทำฟากพื้น หรือฝา
ไม้ไผ่ไร่ มีลำเล็กกว่าไผ่บง มีความเหนียว ปล้องยาว ใช้จักตอกมัดข้าว กล้า หรือหลังคาบ้าน

ไผ่รวก มีลำขนาดเล็ก เหนียว ปล้องยาว ใช้ทำกลอนหลังคา ด้ามอุปกรณ์เครื่องใช้

ไผ่ข้าวหลาม มีลำขนาดกลาง ปล้องยาวมากกว่าไผ่ชนิดอื่นๆ มีความเหนียวน้อยกว่า ไม่ทนทาน นิยมนำมาทำข้าวหลาม หรือจักตอกไว้มัดข้าว กล้า
องค์ความรู้ภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากไผ่ สรุปได้ดังนี้
การนำหน่อไม้มาบริโภค การนำเอาหน่อไม้มาเป็นอาหารหรือจำหน่าย ชาวบ้านจะไม่ขุดมาทั้งหมด จะเหลือไว้อย่างน้อยกอละ 2 หน่อหน่อไม้บางชนิด เมื่อพ้นดินแล้ว ชาวบ้านจะไม่นิยมบริโภค เช่น หน่อหก หน่อซาง ทำให้เติบโตเป็นต้นไผ่ได้
การตัดเอาหน่อไม้ที่อยู่พ้นดินบางชนิด เช่น หน่อรวก หน่อไร่ จะเอาส่วนที่พ้นดินขึ้นมา 2-3 นิ้ว จึงเหลือตอที่สามารถแตกกิ่งเป็นต้นไผ่ได้

ระยะเวลาของการขุดเอาหน่อไม้ของแต่ละชนิดแตกต่างกัน ทำให้ช่วงของการเจริญเติบโต เช่น ในเดือนเมษายน-มิถุนายน จะขุดหน่อซาง  มิถุนายน-กรกฎาคม จะขุดหน่อหก กรกฎาคม-ตุลาคม จะขุดหน่อไร่ หน่อรวก การใช้ประโยชน์จากลำไผ่ ชาวบ้านจะใช้ไม้ไผ่ที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป เพื่อใช้ทำอุปกรณ์เครื่องใช้ และสร้างบ้าน โดยเลือกชนิดตามความเหมาะสมต่อการใช้งาน ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

นิทาน มีชายโง่คนหนึ่ง เมื่อบิดาของเขาตายเเล้ว ชายผู้โง่เขลาเบาปัญญาคนนั้นก็นั่งมองต้นไผ่ที่บิดาปลูกไว้รอบๆ สวน พลางคิดว่า ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย ไม่มีดอกไม่มีผลให้เก็บไปขาย

เมื่อชายโง่คิดได้ดังนั้นชายโง่ก็ให้คนงานตัดต้นไผ่ทิ้งจนหมด หลังจากนั้นสัตว์ต่างๆ รวมทั้งคนพเนจรก็พากันเข้าออกในสวนอย่างสะดวก สบาย สวนผลไม้จึงได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ทั้งถูกขโมยผล ทั้งถูกเหยียบย่ำทำลาย ในที่สุดผลไม้ก็ตายหมดทั้งสวนเพราะไม่มีต้นไผ่ที่เป็นเสมือนรั้วล้อมรอบ ป้องกันภัยอย่างเเต่ก่อน นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ของทุกสิ่งย่อมมีประโยชน์ในทางที่เเตกต่างกัน


หมายเลขบันทึก: 543290เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2013 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2013 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชาวจีนมักเอาความอ่อนน้อมของยอดไผ่ ไปสั่งสอนอบรมบุตรหลานเสมอมา  ขอบคุณ

สำหรับความรู้มากมายจ้ะคุณหมอแดง

ผมอุสาห์ไม่พูด เป็นปริศนาธรรม ท่านวอญ่า ขอบคุณ

สัญลักษณ์ของไผ่ โค้งงอแต่ไม่หักค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท