เรื่องเล่า ณ สุสานสุลต่านสุลัยมาน ต. หัวเขา อ. สิงหนคร จ. สงขลา


เรื่องเล่า ณ สุสานสุลต่านสุลัยมาน  ต. หัวเขา  อ. สิงหนคร  จ. สงขลา


  ในวิชาเกี่ยวกับความเชื่อของสังคมไทยภาคใต้  เพื่อให้มวลนิสิต ป. โท  สาขาวิชาไทยคดีศึกษาได้ศึกษาความเชื่อในวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้  โดยเฉพาะในแถบเมืองสงขลา  เราจึงไปนำพานิสิตออกภาคสนามแห่งแรกเราไปยังหลุมฝังศพสุลต่านสุลัยมาน  เจ้าเมืองสงขลาเดิม  เราเดินทางด้วยรถเก๋งสองคันออกจาก ม. ทักษิณ  ไปแวะรับอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่รออยู่ ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา  เกาะยอ  แล้วเรามุ่งไปยังสุสาน  ท่านเจ้าเมืองสงขลาเป็นแห่งแรก  ณ ที่ตรงนั้นมีนายบังเลาะอยู่เหมือนคนเฝ้าสุสานคอยพูดเชิญให้คนไปยังสุสานได้บริจาคทำบุญ  ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้แล้วเราก็เปิดห้องเรียนธรรมชาติกันตรงนั้น


 

ย้อนรอยเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว ในสมัยพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าเอกาทศรถ  แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยานั้น  ได้มีดาโต๊ะ  โมกอลล์  แห่งกรุงยอกยากาต้า ( เกาะชวา  อินโดนีเซีย ) หลบภัยจากการล่าอาณานิคมของชาวฮอลันดา  มาจอดเรือ ณ หัวเขาแดงแห่งนี้เห็นว่ามีชัยภูมิดีจึงตกลงสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยพร้อมบริวาร

  ในปี พ.ศ. 2148  ดาโต๊ะ โมกอลล์  ได้ถวายตัวสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเอกาทศรถ  ต่อมาพระองค์ทรงแต่งตั้งดาโต๊ะ  โมกอลล์เป็นข้าหลวงผู้สำเร็จราชการเมืองสิงขรา  ท่านมีบุตรชาย 2 คน คือ สุลัยมาน  และฟารีซี  และมีบุตรีหนึ่งคนคือฟาติมะห์


  ด้วยชื่อเสียงในฐานะเป็นเมืองท่าเทียบเรือจากนานาประเทศที่หมุนเวียนมาจอดพักหลบมรสุม  เมืองสิงขรา  หรือเมืองชิงกอรา  ได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว  ภายหลังดาโต๊ะ  โมกอลล์  ล่วงลับแล้ว  บุตรชายคนโตคือสุลัยมานได้สืบทอดตำแหน่งแทนบิดา  จนมีอำนาจเหนือเมืองใต้ในแถบนี้


  ในปี  พ.ศ. 2172  สมัยพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงพระนามว่าพระเจ้าปราสาททองนั้น  ภายในแผ่นดินมีการแย่งชิงราชสมบัติ  ทำให้ท่านสุลัยมานประกาศอิสรภาพ  และสถาปนาตนเองเป็นสุลต่านและผู้นำแห่งรัฐสิงขรานครในปี พ.ศ. 2185  พร้อมกับสร้างป้อมปราการและกำแพงรอบเมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรง  แม้แต่กองทัพแห่งกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีแต่ก็พ่ายแพ้กลับไปทุกครั้ง


  เมื่อถึงวาระท้ายสุดท่านสุลต่านได้ล่วงลับไปในปี พ.ศ. 2211  รวมอายุได้ 76 ปีและได้ประกอบพิธีฝังศพ  ณ สุสานหาดทรายใกล้เขาแดงนี้เอง  ผู้ที่สืบต่อตำแหน่งแทนท่านสุลต่านสุลัยมานคือบุตรชายองค์ใหญ่นามว่า  มุสตาฟา  ในปี พ.ศ. 2211-2223  อยู่ในสมัยพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่า  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 


  ต่อมารัฐสิงขรานครได้ถูกปราบปรามลงเป็นเมืองขึ้นตรงต่อการปกครองของสยามประเทศดังเดิมแล้ว  บุตรชายทั้งสามของท่านสุลต่านสุลัยมานต่างแยกย้ายไปรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทของพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยามสมัยอาณาจักรศรีอยุธยาคือ  มุสตาฟา  ต่อมาได้เป็น พระยาศรีวิชัยสงครา , ฮุสเซน  ต่อมาได้เป็น  พระยาจักรี  เจ้าเมืองพัทลุง , ฮัสวัน  ต่อมาได้เป็น  พระยาบังสันแม่ทัพเรือ


 

ในสายตระกูลสุลัยมานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งคือ  เจ้าพระยาพัทลุงคางเหล็ก ( ขุน )  เท้าความถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา  พระยาพัทลุง  ผู้บิดาพาบุตรชายชื่อขุนไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  มีเพื่อนรุ่นเดียวกันอีก  3 คน รวมเป็น 4 คน ดังนี้ คือ  สินต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , ทองด้วงต่อมาคือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ( รัชกาลที่ 1 ) , บุญนาคต่อมาเป็นเจ้าพระยามหาเสนา  ต้นตระกูลบุญนาคในปัจจุบัน , และขุน  รับราชการอยู่ร่วมกับสินเป็นหนึ่งใน 500 คนที่ร่วมตีฝ่าวงล้อมแหกค่ายทหารพม่าออกมารวมพลต่อสู้กับกองทัพพม่าจนได้รับอิสรภาพภายใน 7 เดือน  เมื่อบิดาคือพระยาพัทลุงล่วงลับแล้ว  ขุนจึงได้สืบตำแหน่งแทนเป็นพระยาแก้วโกรพพิชัย  และเป็นต้นตระกูล  ณ พัทลุง นับเป็นสายตระกูลสุลัยมานท่านหนึ่งที่มีบทบาทร่วมกอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนมาหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งท้ายสุดในปี พ.ศ. 2310  นั้นแล.


หมายเลขบันทึก: 542969เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2013 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2013 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยู่มาตั้งนาน

เพิ่งทราบค่ะ ท่านอาจารย์ยูมิ

ขอบคุณมากๆ ค่ะ กับเกร็ดความรู้นี้ค่ะ

สวัสดีครับ  คุณอร

เป็นการรู้ไว้ใช่ว่านะครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท