จาก การประชุมเวที่ สกว (TRF Forum) ถึงบทความ อาจารย์วิจารณ์ พาณิชย์


ผมรอการศึกษาวิจัยของทั้งสามท่านมานานกว่า 30 ปี เพราะงานวิจัยขอท่านเป็นการยืนยันสิ่งที่ผมพูดมาตลอด ก็ขอชื่นชมผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดเวทีนี้ และหวังเป็นอย่างมากที่การวิจัยในครั้งนี้จะได้รับการนำไปต่อยอดและทางรัฐนำไปเป็นนโยบายในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ผมได้เข้าร่วมประชุมเวที สกว (TRF Forum) ในชุดโครงการวิจัยด้านการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์ 

๑.เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทย 

๒. เพื่อศึกษา/สร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

๓.เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ

ผมพอใจกับโครงการนี้มาก และขอชื่นชมและขอตบมือให้กับคณะผู้จัด ผมได้เข้าร่วม 2 ครั้ง และจะเข้าร่วมอีกทั้ง 2 ครั้งที่กำลังตามมา โครงการนี้จะช่วยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบความจริงและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นักวิจัยที่ทำการศึกษา ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความจริง พร้อมข้อเสนอแนะ ซึ่งใช้ประโยชนได้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน (ผู้ประกอบการ) ชุมชน ประชาชน และสถาบันการศึกษา ไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างถูกต้อง และนำไปปฎิบัติ โครงการนี้ก็จะไม่เกิดประโยชน์

เมื่อผมได้อ่านบทความของอาจารย์วิจารณ์ที่กล่าวถึง "ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของ สกว ๒๕๕๗-๒๕๖๐" สกว เป็นองค์กรที่มีความสำคัญเรื่องงานวิจัย ผมจึงขอถือโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยต่อยอดให้มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น  ประโยคที่จะได้อ่านต่อไปเป็นข้อคิดเห็นของผมที่เขียนแสดงความคิดเห็น ต่อบทความของอาจารย์วิจารณ์ ที่อยู่ถัดลงไป เชิญอ่านได้เลยครับ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

14 กรกฎาคม 2556

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์วิจารณ์ครับ งานวิจัยเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก คนไทยชอบทำอะไรตามกระแส ขาดการศึกษา และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การปฎิบัติเป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผมมีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยว และรู้ว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยไม่ได้ดีและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติอย่างที่คิดกัน ธุรกิจท่องเที่ยวเราอ่อนแอ และพูดมาตลอดว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร ผมเคยบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพเพื่อเป็นต้นแบบ ผลจากการดำเนินการได้รับการยอมรับว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ดีมีคุณภาพ แต่สายป่านไม่ยาว จึงต้องถอยออกมา ผมพูดและพยายามสื่อสารทุกวิถีทางเพื่อให้คนในวงการท่องเที่ยว และผู้เกี่ยวข้อง ทราบถึงปัญหาและวิธีแก้ไข แต่ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งผมได้เข้าร่วมประชุมเวที สกว (TRF Forum) .ในวันที่ 27 มิถุนายน และวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ได้ฟังการบรรยายการศึกษาวิจัย จากนักวิจัย 8 ท่าน ในหัวข้อ "การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ AEC" ในวันที่ 27 มิถุนายน และหัวข้อ "การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน" ในวันที 9 กรกฎาคม  ผมขอชื่นชมกับนักวิจัยทั้ง 8 ท่าน โดยเฉพาะ ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ท่านทำการศึกษาในเรื่อง "กลยุทธ์ขับเคลื่อนคลัสเตอร์การท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" อีกท่านที่ผมสนใจคือ ดร.ปิยะ ปานผู้มีทรัพย์ อาจารย์สาขาการเงินและนโยบายพลังงาน หน่วยงานวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน ท่านได้ศึกษาในเรื่อง "การศึกษาศักยภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวต่อการสร้างรายได้ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้" และอีกท่านที่ผมสนใจคือ ผศ.ดวงพร อ่อนหวาน หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการ หัวหน้าศูนย์จัดการข้อมูลเพื่อการวิจัยและพัฒนาศักยภาพชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ท่านทำการศึกษาเรื่อง "การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพื้นที่สูงโดยใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชน

ผมรอการศึกษาวิจัยของทั้งสามท่านมานานกว่า 30 ปี เพราะงานวิจัยขอท่านเป็นการยืนยันสิ่งที่ผมพูดมาตลอด ก็ขอชื่นชมผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดเวทีนี้ และหวังเป็นอย่างมากที่การวิจัยในครั้งนี้จะได้รับการนำไปต่อยอดและหวังว่าทางรัฐจะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปจัดทำเป็นนโยบายในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

14 กรกฎาคม 2556

ชีวิตที่พอเพียง  : 1950a. ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของ สกว. ๒๕๕๗ - ๒๕๖๐

วันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๖-๗ ก.ค. ๕๖ ผมไปร่วมประชุมระดมความคิด  แผนยุทธศาสตร์ของ สกว. ปี ๒๕๕๗ - ๒๕๖๐  ซึ่งจะเป็นช่วงที่ ผอ. สกว. ท่านที่ ๔  คือ ศ. นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ทำหน้าที่ในวาระที่ ๑  และยังเป็นการเข้าสู่ทศวรรษที่ ๓ ของ สกว.

ที่จริงช่วงเวลาดังกล่าวผมมีนัดแล้ว  แต่พอจะขยับขยายได้  จึงถือว่าโชคดี ที่ผมสามารถเข้าร่วมได้  ทำให้ได้เรียนรู้มาก  และได้เติมความสุขให้แก่ตนเอง ในการที่ได้เข้าร่วมทำงานให้แก่หน่วยงานที่ผมรัก  และเป็นงานที่เป็นคุณประโยชน์ยิ่งต่อบ้านเมือง

ในที่ประชุมวันที่ ๗ ก.ค. ดร. สีลาภรณ์ขอให้ผมให้ความเห็นในตอนสุดท้าย  และได้ให้ความเห็นไปแล้ว ๔ ข้อ  และบอกว่า ผมจะกลับมาไตร่ตรองต่อ และเขียน บล็อก เสนอความเห็นให้  บันทึกนี้จึงเป็นการส่งการบ้าน ให้แก่ สกว.  และแก่ ดร. สีลาภรณ์

ผมมองว่า การทำงาน (และการดำรงชีวิต) เป็นการเรียนรู้  แนวคิดนี้เป็นจริงทั้งในระดับบุคคล และระดับองค์กร  และผมตีความว่า สกว. เป็นองค์กรที่เรียนรู้  มีการปรับตัวตลอดมาในช่วง ๒๐ ปี  และจะต้องปรับตัวต่อไป  และคราวนี้น่าจะเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่

สกว. มีจุดแข็งที่ทักษะด้านการจัดการ  มีวิธีการจัดการงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับนับถือไปทั่วประเทศ และในโลก  โดยที่เอื้อโดยโครงสร้างการทำงานที่ยืดหยุ่น  ปรับโครงสร้างให้รับใช้ภารกิจได้เสมอ  ในภาษาด้านการจัดการเรียกว่า structure รับใช้ function

และใน ๒๐ ปีที่ผ่านมา สกว. ก้าวหน้าโดยการพัฒนารูปแบบการจัดการงานวิจัยให้เหมาะสม ต่องานวิจัยแต่ละประเภท  ที่เด่นที่สุดคือ แยกงานวิจัยพื้นฐาน ออกจากงานวิจัยเพื่อพัฒนา (R&D) หรืองานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์   จัดให้การจัดการงานวิจัย ๒ ประเภทนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  ดังได้เล่าไว้ในหนังสือ การบริหารงานวิจัย แนวคิดจากประสบการณ์

บัดนี้วงการวิจัยไทยก้าวหน้าไปมาก  สังคมเปลี่ยน โลกเปลี่ยน  และ สกว. ก็มีความเข้มแข็ง สั่งสมประสบการณ์และทักษะในการจัดการงานวิจัยไว้มาก  น่าจะถึงเวลาที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลง โครงสร้างครั้งใหญ่  เพื่อให้งานวิจัยก่อผลกระทบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น

ผมมองว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ สกว. จะบูรณาการภารกิจสนับสนุนการวิจัยพื้นฐาน กับการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เข้าด้วยกัน  นั่นคือในเชิงโครงสร้าง เปลี่ยนแปลงให้ไม่แยกฝ่ายวิจัยพื้นฐานออกจากฝ่ายวิจัยเพื่อพัฒนา

จัดแบ่งฝ่ายใน สกว. เสียใหม่ ให้แบ่งโดยเอาประโยชน์จากการวิจัยเป็นหลัก  เช่นถ้าจะใช้นโยบายการพัฒนาประเทศ ที่สภาพัฒน์เสนอ และรัฐบาลรับเป็นนโยบาย  “การเติบโตสามประสาน”  ได้แก่ Competitive Growth, Green Growth, และ Inclusive Growth เป็นหลัก  ก็แบ่งฝ่ายตามนี้ก็ได้  โดยที่งานวิจัยที่สนับสนุนโดยแต่ละฝ่าย จะมีทั้งที่มีการจัดกระบวนการพัฒนาโจทย์ (แบบที่ฝ่าย R&D ใช้อยู่ในปัจจุบัน)  และแบบที่นักวิจัยเสนอโจทย์เข้ามาโดยตรง ตามประกาศแนวทางสนับสนุนการวิจัย ของฝ่ายนั้นๆ  ทุนวิจัยแบบหลังอาจเรียกว่า Researcher-Initiated Research  โดยเป็น Directed Basic Research  ต้องนำไปสู่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ที่มี impact factor

ในความเป็นจริงแล้ว Basic Research แท้ๆ ไม่มีในประเทศไทย  และยิ่งนับวัน Basic Research แท้ๆ จะยิ่งต้องทำแบบทีมใหญ่ และร่วมมือหลายสาขา หลายสถาบัน ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  การจัดการ basic research แบบใหม่ อาจทำให้ประเทศไทยมี basic research แบบที่เอาจริงเอาจัง และทีมใหญ่มากขึ้น  รวมทั้งมีทิศทาง (directed) พุ่งเป้ามากขึ้น  น่าจะเป็นแนวทางให้เกิดสภาพ win – win มากขึ้น ระหว่างหน่วยจัดการกับนักวิจัย  รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยได้ทำงานวิจัยแบบมีเป้าใหญ่ได้ด้วย

ประเด็นที่ ๒ ที่ผมขอเสนอในบันทึกนี้  คือ สกว. ตรวจสอบการทำงานที่แท้จริงของตนเอง  ว่างานที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้แก่บ้านเมืองคืออะไร  ผมมองว่า ไม่ใช่หน้าที่จัดสรรทุนวิจัย  แต่ทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัยของประเทศ ให้ขยายตัวทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณ และผลกระทบ

ซึ่งหมายความว่า สกว. ไม่ใช่เพียงตั้งหน้าตั้งตาขอทุนวิจัยจากรัฐบาล เอามาจัดสรรเท่านั้น  ต้องทำหน้าที่สนับสนุนความเข้มแข็งของการวิจัยของประเทศในภาพรวม  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เงินวิจัยจะอยู่ในกิจการต่างๆ ที่ต้องการดำเนินการให้มีความสามารถในการแข่งขันได้

สกว. เข้าไปช่วยให้กิจการ/หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการลงทุนวิจัยเพื่อให้ได้ “กำไร” จากการลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น  ยกระดับกิจการของตน  ให้กิจการ/หน่วยงาน เหล่านั้นเชื่อมโยงกับหน่วยงานวิจัยหรือทีมวิจัย   เกิดความร่วมมือระหว่าง demand-side กับ supply-side ของการวิจัย

เงินงบประมาณแผ่นดินที่ สกว. ได้รับ  จะนำมาเป็นเครื่องมือร่วมกับทักษะการจัดการงานวิจัยของ สกว.  เพื่อให้ สกว. มีเสน่ห์ดึงดูดฝ่าย demand-side กับฝ่าย supply-side มาหากันได้  ประเทศเกิดผลงานวิจัย ที่หนุนความเจริญก้าวหน้าของประเทศในภาพรวม

นัยยะตามประเด็นที่ ๒  หมายความว่า assets ของสกว. คือความสามารถด้านการเชื่อมโยง ระหว่างdemand-side กับ supply-side ของการวิจัย  โดยใช้พลังของการจัดการ และพลังของเงินที่ สกว. มีอยู่  เอาไปเป็น “น้ำมันเครื่อง” ดึงดูด “น้ำมันเบนซิน” ซึ่งหมายถึงเงินทำวิจัยก้อนใหญ่จริงๆ จากฝ่าย demand-side  ที่ต้องลงทุนวิจัยเพื่อความสามารถในการดำรงอยู่ และแข่งขันของตนเอง  “น้ำมันเบนซิน” จะมากับงาน ไม่ใช่มาจากการร้องขอวิ่งเต้นจากรัฐบาล

ประเด็นที่ ๓ การสื่อสารสังคมด้านคุณค่าของงานวิจัยต่อสังคมไทยในภาพรวม เวลานี้อยู่ในสภาพ ต่างหน่วยงานต่างทำ  เน้นโฆษณาผลงานของหน่วยงาน  ทำกันอย่างจริงจังกว่า ๒๐ ปี  ก็ได้ผลน้อย เพราะชาวบ้านได้รับรู้เพียงส่วนเสี้ยว  ไม่เห็นผลกระทบในภาพรวม ซึ่งเป็นธรรมชาติของงานวิจัย  สังคมไทยจึงอยู่ในสภาพที่ไม่เห็นคุณค่าของการวิจัยเพียงพอ ที่ชาวบ้านหรือพลเมืองจะเรียกร้องเชิงนโยบาย  ให้รัฐบาลลงทุนสนับสนุนการวิจัยอย่างจริงจัง

โชคดี ที่ ผอ. สวทน. ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ได้ริเริ่มเครือข่ายหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย ที่เรียกว่า ๖ส. ๑ว. ขึ้น  ทำให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกันมากขึ้น  และมื่อ ศ. นพ. สุทธิพร จิตมิตรภาพ เป็นเลขาธิการ วช. ก็ได้สนับสนุนการทำงานเป็นทีมระหว่าง ๖ส. ๑ ว.  ยิ่งเพิ่มพลังความร่วมมือ  ได้ทราบว่า บัดนี้ ได้เกิดหน่วยงานจัดการเครือข่ายความร่วมมือนี้ และจะขยายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมวง  นับเป็นข่าวดี

ในฐานะที่ผมไม่รู้เรื่องนี้ แม้ชื่อหน่วยงานที่เขาเอ่ยกันในที่ประชุม ผมก็ฟังไม่ทัน เข้าใจว่าชื่อ คอ.บท. (เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งประเทศไทย)  แต่ก็ขอให้ความเห็นไว้ว่า หน่วยงานที่ตั้งใหม่นั้น อาจก่อผลดีก็ได้ หรือก่อผลร้ายก็ได้  ขึ้นกับท่าทีและวิธีทำงาน  หากเน้นใช้อำนาจหรือขั้นตอนราชการ ก็จบ คือ  เป็นผลร้าย

จะเป็นผลดีต่อเมื่อหน่วยงานนี้ทำงานแบบเชื่อมโยง และ empower   และงานหนึ่งที่ควรจับทำคือ งานสื่อสารสังคม เรื่องคุณค่าของงานวิจัย คุณค่าของการลงทุนทำวิจัย เพื่อพัฒนางานของตนเอง  การสื่อสารสังคมนี้ต้องใช้ทั้งสื่อ โซเชี่ยลมีเดีย  และสื่อกระแสหลัก  เพราะเป้าหมายประชากรต่างกัน

สกว. น่าจะได้เข้าไปผลักดันและร่วมมือ  ให้เกิดระบบสื่อสารสังคม ของการวิจัย ที่สามารถสร้าง ความรู้สึกเห็นคุณค่า และเชื่อถือ integrity ของวงการวิจัย  เน้นที่การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ เชิงคุณค่า ต่องานวิจัยในประชากรไทยอย่างทั่วถึง  ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์แบบตื้นๆ เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเท่านั้น

ประเด็นที่ ๔ การพัฒนาหน่วยวิจัยที่ทำงานเลี้ยงตนเอง จากการรับทุนสนับสนุนการวิจัย   ผมคิดว่า การวิจัยของประเทศจะแข็งแรงได้ ต้องมีหน่วยงานที่ทำงานวิจัยจริงจังต่อเนื่อง  และการสนับสนุนการวิจัย ก็ต้องมีความต่อเนื่อง  หน่วยงานที่มีประวัติผลงานดี ก็จะได้งานทำต่อเนื่อง  เวลานี้ประเทศไทยมีหน่วยงานวิจัย ที่เข้มแข็งในระดับนี้ น้อยเกินไป

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกลไกสนับสนุนการวิจัย กับหน่วยงานวิจัย ที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเองได้เสียก่อน  ความสัมพันธ์นี้ต้องเป็นความสัมพันธ์แนวราบ  คือเป็นความร่วมมือ ไม่ใช่เป็นฝ่ายรับกับฝ่ายให้

หน่วยงานวิจัยที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเอง  เป็นหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์ดี เป็นที่เชื่อถือ ในผลงานและความสามารถ จากทั้งฝ่าย demand-side และฝ่ายหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย  หน่วยงานวิจัยแบบนี้ ยังต้องมีการสร้างขึ้น

สกว. น่าจะหาภาคี ในการส่งเสริมให้เกิดหน่วยงานวิจัยที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเองได้ เพิ่มขึ้นในหลากหลายบริบท หลากหลายกลุ่ม demand-side  ทำอย่างไรผมไม่ทราบ  แต่ที่ทราบอย่างหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยทุกประเภท ควรมีหน่วยงานวิจัยแบบนี้อยู่ภายในมหาวิทยาลัย  มีฐานะเป็นหน่วยงานกึ่งอิสระ  ดังนั้นภาคีหนึ่งที่ สกว. น่าจะไปชักชวนร่วมกันพัฒนาหน่วยงานวิจัยที่มีความเข้มแข็งระดับเลี้ยงตนเองได้ ขึ้นภายในมหาวิทยาลัย

ประเด็นที่ ๕ เชื่อมโยงกับโรงเรียน และภาคการศึกษา เชื่อมโยงการเรียนรู้แบบ active learning, team learning, PBL (Project-Based Learning) เข้ากับการวิจัยในพื้นที่หรือในชีวิตจริง  มีการฝึกครู/อาจารย์ ให้มีทักษะในการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” การเรียนรู้  ให้นักเรียน/นศ. ทำ AAR/Reflection และเกิดการเรียนรู้แบบรู้จริง (mastery learning) ในหลายสาระวิชา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคิดแบบมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)  และการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

การเรียนรู้ในสถานศึกษา จะเป็นแบบ RBL (Research-Based Learning), SBL (Service-Based Learning), และ PBL (Project-Based Learning) ในเวลาเดียวกัน  เป็นการสร้างทักษะหลายอย่างให้แก่ผู้เรียน  และเป็นการวางรากฐานการเป็นนักวิจัยให้แก่ประชากรที่เป็นกำลังของชาติในอนาคต

ที่จริง สกว. ได้มีประสบการณ์ส่งเสริมครุวิจัย และยุววิจัย อยู่แล้ว  ข้อเสนอนี้เป็นการยกระดับ ประสบการณ์เดิม ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง  เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากเดิม  ไม่ใช่กิจกรรมใหม่  แต่วิธีการ และเป้าหมายจะต้องชัดเจนขึ้น  ว่าเป็นการเชื่อมโยงการพัฒนาทักษะการวิจัยเข้ากับ 21st Century Learning  และเข้ากับทักษะแนวใหม่ของครูในศตวรรษใหม่

ความเห็นที่ให้นี้ เป็นความเห็นของคนที่อยู่วงนอก  และไม่ได้มีประสบการณ์การ การทำงาน ด้วยตนเองในขณะนี้  จึงไม่ยืนยันว่าจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.ค. ๕๖

หมายเหตุ : ผมได้เขียนบทความเรื่องการบริหารจัดการการท่องเที่ยวไว้หลายบทความด้วยกันสามารถหาอ่านได้ ใน gotoknow   สมุด (blog)  "การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว" 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท