ความสงบเรียบร้อยของประชาชนในขอบเขตของกฎหมายขัดกัน:ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายขัดกันต่างประเทศ เช่น รัสเซีย ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์


ความหมายและกลไกในกฎหมายขัดกัน

   ความสงบเรียบร้อยของประชาชนถือเป็นเจตนารมณ์ ความปรารถนา หรือนโยบายของรัฐที่จะให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองตลอดเวลา ถ้าหากมีปัญหาใด เรื่องใด ที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้ว รัฐจะต้องเข้าปกป้องคุ้มครองดูแลทันที แสดงให้เห็นว่า สิ่งใดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้ว เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด (salus populi suprema lex หรือ The safety of the people is the supreme law)หากประโยชน์ของเอกชนขัดกับผลประโยชน์ของสังคมแล้ว ผลประโยชน์ของเอกชนย่อมต้องพ่ายแพ้ไป 

     และย่อมเป็นธรรมดา ที่รัฐซึ่งมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง จะยอมรับใช้หรือรับรู้กฎหมายของประเทศอื่น อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนในประเทศ มิได้ ข้อยกเว้นทำนองนี้มีบัญญัติไว้เช่นกัน ในกฎหมายขัดกันของนานาประเทศ ในประเทศไทยได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 5 ความว่าถ้าการใช้กฎหมายต่างประเทศนั้น ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศสยามแล้ว ก็ห้ามมิให้ใช้กฎหมายต่างประเทศนั้นบังคับซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นอุบายสำหรับเอากฎหมายภายในของประเทศตนบังคับใช้กับคดีที่มีลักษณะต่างประเทศ ไม่ว่าคู่กรณีจะเป็นคนสัญชาติใด เป็นการขยายขอบเขตการใช้ทฤษฎี lex fori โดยใช้หลักความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นจุดเกาะเกี่ยว (connecting point)

       อนึ่ง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายเป็นกฎหมายเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ของเอกชน(Private Law) ที่มีองค์ประกอบต่างประเทศ (Foreign elements) ในทางแพ่ง หากเป็นนิติสัมพันธ์ภายใต้กฎหมายมหาชนแล้วย่อมไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย กล่าวคือ กฎหมายที่ใช้บังคับคือ กฎหมายแห่งรัฐเจ้าของดินแดน (territorial state) เขตอำนาจตามหลักบุคคล (personal jurisdiction) จะถูกยกเว้นไม่ใช้ แต่จะใช้เขตอำนาจตามหลักดินแดนแทน (territorial jurisdiction) ในตำรากฎหมายขัดกันทั่วไปต่างยอมรับตรงกันว่า กฎหมายอาญาของรัฐต่างประเทศ ไม่อาจมีผลใช้บังคับกับอีกประเทศหนึ่งได้ ผู้พิพากษา Marshall กล่าวว่าไม่มีประเทศใดที่ศาลจะบังคับใช้กฎหมายอาญาของอีกประเทศหนึ่ง

ท่านศาสตราจารย์ Francescakis เห็นว่ากฎหมายประเภทนี้ศาลบังคับใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนของหลักเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกัน หรือที่ท่านอาจารย์ชุมพร ปัจจุสานนท์ เรียกว่า กฎหมายที่พึงบังคับใช้ทันที กฎหมายประเภทนี้ได้แก่กฎหมายมหาชน เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง กฎหมายวิธีพิจารณาความ กฎหมายภาษี กฎหมายว่าด้วยสัญชาติ กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายแรงงาน เป็นต้น

ข้อความเบื้องต้นในการศึกษาหัวข้อความสงบเรียบร้อยของประชาชนในกฎหมายขัดกันมีข้อสำคัญแยกพิจารณาดังนี้

1.     อะไรคือความสงบเรียบร้อยของประชาชน

2.      เมื่อใดจึงจะถือว่าการใช้กฎหมายต่างประเทศขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

3.      เมื่อปรากฏว่าการใช้กฎหมายต่างประเทศนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้วศาลจะวินิจฉัยอย่างไร 

โจทย์ปัญหาข้อ 1. อะไรคือความสงบเรียบร้อยของประชาชน?      

เมื่อเรากล่าวถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชนในกฎหมายขัดกัน เราต้องแยกแบบแห่งเนื้อหา ออกจากแบบแห่งหน้าที่ กล่าวคือ       

1.แบบแห่งเนื้อหา ว่าอะไรคือความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นเรื่องกฎหมายสารบัญญัติ ก่อนที่ศาลจะดำเนินการพิจารณาไม่ยอมรับกฎหมายต่างประเทศ ศาลจะต้องหาแบบแห่งเนื้อหา ของความสงบเรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งอาจจะเป็นแบบเนื้อหาของกฎหมายภายใน หรือ เป็นแบบเนื้อหาระหว่างประเทศซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปอันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศหรือเป็นหลักสากล       

2.แบบแห่งหน้าที่ เป็นนิติวิธีตามกฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันฯ

1.1 นิยาม (แบบแห่งเนื้อหา)

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ได้แก่กฎหมายที่บัญญัติถึงเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

(1)    กฎหมายที่กำหนดให้นิติกรรมบางอย่างต้องทำตามแบบพิธี เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียน การสมรสต้องจดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือเรือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ฯลฯ นิติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญทั้งแก่ตัวคู่กรณีเอง และมีผลต่อบุคคลภายนอกด้วย กฎหมายจึงได้กำหนดแบบพิธีขึ้น คู่กรณีจะตกลงกันว่าไม่ทำตามแบบพิธีที่กำหนดไว้ไม่ได้

(2)   กฎหมายที่บัญญัติเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก เช่น บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการเพิ่มทุนลดทุนของบริษัทจำกัด เพื่อให้บุคคลภายนอกที่จะติดต่อกับบริษัทได้ทราบว่าบริษัทมีทุนเท่าไร(

3)   กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองบุคคลบางจำพวก เช่น ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ

(4)    กฎหมายที่บัญญัติเพื่อศีลธรรม เช่น ให้ชายมีภริยาได้คนเดียว

(5)   กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลทุจริต เช่น กฎหมายในเรื่องประกันภัยที่ได้กำหนดให้ผู้รับประกันไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์ที่เอาประกัน อันเกิดจากการกระทำโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือของผู้รับประโยชน์ เช่นนี้ จะตกลงกันว่าแม้ผู้เอาประกันภัยทุกจริต ผู้รับประกันก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่ผู้เอาประกันก่อให้เกิดขึ้นนั้นไม่ได้

(6)    กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น กฎหมายว่าด้วยสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

รายงานการประชุมตรวจร่าง พ.ร.บ. วางกฎเกณฑ์วินิจฉัยข้อขัดกันระหว่างกฎหมายนานาประเทศ      

รายงานการประชุมอนุกรรมการฯซึ่งมีการกล่าวถึงคำว่า public order หลายครั้งหลายหน เช่น ในการประชุมครั้งที่ 1/2481 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2481 มีข้อความต่อไปนี้ปรากฏ      

ม.จ. วรรณฯ รับสั่งว่า เรื่อง public order นั้นจะต้องมีตัวบทกฎหมายต่างประเทศซึ่งศาลไทยถือว่ากฎหมายนั้นเป็นการขัดกับ public order และจะต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ      

 ผู้ร่างกฎหมายยกตัวอย่าง เรื่องที่เห็นว่าเป็นเรื่อง public order เช่น ในการประชุมครั้งที่ 5/2481 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2481 ที่ประชุมมีความเห็นว่า เรื่องอายุความเป็นเรื่อง public order ซึ่งเมื่อเป็นเรื่อง public order แล้วจึงไม่ต้องบัญญัติเรื่องอายุความไว้      

ในการประชุมครั้งที่ 16/2481 เมื่อวันอังคารที่ 31พฤษภาคม 2481 ม.ร.ว. เสนีย์ฯ กล่าวว่า เหตุเพิกถอนการสมรส ควรจะแตกต่างจากเหตุหย่า เพราะเหตุเพิกถอนการสมรสเกี่ยวกับ public order

นายอาร์.กียอง กล่าวว่า เรื่องแบบแห่งการสมรสเป็นเรื่อง public order      

ส่วนพระมนูภาณฯ กล่าวว่า ข้อที่ว่าจะเป็นเรื่อง public order หรือไม่นั้น ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลพิจารณา       

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่จะใช้คำว่า ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้มีความหมายรวมถึงทั้งกฎหมายและแนวความคิด หรือหลักการเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย         

 ความคิดเห็นของนักนิติศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิ

 - พระยาเทพวิทูร อธิบายว่า สิ่งใดคือ ความสงบเรียบร้อยของประชาชนไว้เพียงกว้าง ๆ ว่า คือ สิ่งที่เกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของมหาชนโดยทั่วไป ไม่ใช่เกี่ยวกับคู่กรณีโดยเฉพาะ

- ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อธิบายว่า ความสงบเรียบร้อยของประชาชน คือ การใด ๆ ที่เกี่ยวด้วยความปลอดภัยของประชาชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอดถึงความเจริญผาสุกของประชาชนด้วยประการทั้งปวง และความปลอดภัย สันติสุข ของสังคมประเทศชาติ

 - ศาสตราจารย์ ดร.จิ๊ด เศรษฐบุตร อธิบายว่า ความสงบเรียบร้อยของประชาชน คือ ข้อห้าม ซึ่งสังคมบังคับแก่เอกชน เป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมย่อมอยู่เหนือเอกชน ทั้งนี้เพื่อสังคมจะได้ดำรงอยู่ได้ เพื่อคุ้มครองปกปักรักษาเอกชนซึ่งอยู่ในสังคมนั้นเอง

- ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อธิยายว่า ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หมายถึง ประโยชน์ทั่วไปของประเทศชาติและสังคม ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประเทศชาติและสังคมนั้นเอง     

จากความหมายข้างต้นอาจจำแนกสาระสำคัญและหลักเกณฑ์การพิจารณาได้เป็น4กลุ่มดังนี้(โดยสังเขป)

1.     ความสงบเรียบร้อยของประชาชนทางการเมือง การปกครองเช่น (เรื่องอำนาจฟ้อง)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2485,1050/2493,620/2539 เป็นต้น

2.      ความสงบเรียบร้อยของประชาชนทางด้านครอบครัวเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่  95/2484 (การให้เงินตอบแทนแก่การที่จะหาหญิงมาให้เป็นเมียน้อย) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1913/2505,3972/2529 (การทำสัญญากับหญิงอื่นให้อยู่กินฉันท์สามีภริยา ทั้ง ๆที่ตนมีภริยาแล้ว) เป็นต้น

3.      ความสงบเรียบร้อยของประชาชนทางด้านเศรษฐกิจเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2501,608/2527,2486/2544 เป็นต้น

4.       ความสงบเรียบร้อยของประชาชนทางด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

 แนวคำพิพากษา       คำพิพากษาที่ 1538/2511 การตกลงให้ใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่ข้อพิพาท ย่อมจะใช้ได้เพียงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย จึงตกลงให้ใช้กฎหมายเรื่องอายุความต่างประเทศมาบังคับมิได้       คำพิพากษาที่ 698/2521 จำเลยทำสัญญาขายพริกแก่โจทก์ ทำสัญญาในประเทศไทย โจทก์มีภูมิลำเนาในสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ชำระข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการในกรุงนิวยอร์กตามกฎของสมาคมการค้าอเมริกัน ซึ่งสามารถใช้บังคับได้หาได้ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้จำเลยรับผิดบังคับในศาลไทยได้โดยไม่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยผิดสัญญาอีกและอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ มาตรา 193/30           

กฎหมายขัดกันประเทศออสเตรเลีย บัญญัติว่า การใช้กฎหมายต่างประเทศนั้นต้องไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของสังคม ศีลธรรมอันดี การเมืองและหลักความยุติธรรม       Nygh ได้แบ่งความสงบเรียบร้อยของประชาชนออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้1.        คุ้มครองผลประโยชน์ภายในประเทศ2.         คุ้มครองผลประโยชน์ภายนอกประเทศ3.          รักษาศีลธรรมอันดีของสากลโดย Nygh เห็นว่า public policy มีความหมายแคบกว่า ordre public ตามหลักกฎหมายฝรั่งเศส 

กฎหมายขัดกันของรัสเซีย The Civil Code of the Russian Federation มาตรา 1193 บัญญัติว่าA refusal to apply a norm of a foreign law shall not be based exclusively on a difference of the legal, political or economic systems of a relevant foreign state from the legal, political or economic system of the Russian Federation      

ฉะนั้น หลักความสงบเรียบร้อย มีคุณสมบัติเฉพาะประการหนึ่ง คือ สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลสมัย ความเจริญเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง แนวความคิดเห็นของประชาชน เหตุการณ์บ้านเมือง รัฐประศาสโนบาย และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการและยังแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้อาจเป็นไปได้ว่า ประเด็นนี้ถือว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในสมัยหนึ่ง แต่ต่อมาอาจไม่ถือว่าเป็นประเด็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต่อไปแล้ว หรืออาจเป็นไปได้ว่า ประเด็นนี้ถือว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในประเทศหนึ่งแต่ไม่อาจถือว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในอีกประเทศหนึ่ง        ตัวอย่าง เช่น  ประเทศอังกฤษถือหลักสมรสภรรยาเดียว ฉะนั้น ในอังกฤษโดยเฉพาะประเพณีมีภรรยาหลายคนในเวลาเดียวกันถือเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ในประเทศอินเดียถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น ในอดีต รัฐเวอร์จีเนียประเทศสหรัฐอเมริกา บัญญัติห้ามการสมรสระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำโดยถือว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในรัฐเวอร์จีเนีย ฉะนั้น ถึงแม้ว่ากฎหมายแห่งประเทศไทยจะอนุญาตให้คนผิวขาวแต่งงานกับคนผิวดำได้ คนต่างด้าวจะทำการสมรสในอาณาเขตเวอร์จีเนียโดยฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ไม่ได้  แต่คนชาวเวอร์จีเนียจะทำการสมรสประเภทนี้ในประเทศไทยย่อมพึงทำได้ ศาลไทยย่อมไม่รับรู้ซึ่งกฎหมายของรัฐเวอร์จีเนีย เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนในประเทศไทย ปัจจุบันกฎหมายนี้ได้ถูกยกเลิกแล้ว       

 อนึ่ง มีข้อน่าคิดว่า กฎหมายที่เป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุสีผิว ย่อมเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งประเด็นนี้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันเป็นหลักสากล

และปรากฏอยู่ในคดี Oppenheimer V.Cattermole (Inspector of Taxes) ศาลออสเตรเลียได้ยอมรับหลักพื้นฐานสิทธิมนุษยชนว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน 

หมายเลขบันทึก: 54217เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2006 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ในมุมมองของกฎหมายเครื่องหมายการค้า  ได้มีการกำหนดใตเรื่องเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เอาไว้ในมาตรา  8(9)

 

อีกทั้งตามคู่มือปฎิบัติงานการตรวจพิจารณาเครื่องหมาย  ซึ่งจัดทำโดย  สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา  กระทรวงพาณิชย์   มิุนายน  2548  ได้ให้ตัวอย่างเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย  ว่าหมายถึง  การนำรูปหรือคำที่มีลักษณะเป็นการต่อต้านระบอบการปกครองของประเทศมาขอจดทะเบียน

ส้มคิดว่า หลักความสงบเรียบร้อยของประชาชานได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายเกือบทุกฉบับ เพียงแต่แตกต่างกันตรงวิธีการซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้น ๆ แต่เหมือนกันตรงที่ดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประชาชนในประเทศ และส้มยังคิดว่าหลักความสงบเรียบร้อยนี้ น่าจะเป็นหลักกฎหมายทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน พระธรรมนูญศาลโลก เพราะเป็นหลักที่ยอมรับกันโดยทั่วไปทั้งในกฎหมายเอกชนและมหาชน และนานาประเทศ

คุณส้มคับ ผมกำลังทำงานวิจัยเรื่องเครื่องหมายการค้าของไทยเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ ไม่ทราบว่าคุณส้มพอจะมีคำแนะนำบ้างไม๊คับว่าสามารถค้นหาข้อมูลได้จากที่ไหนบ้าง ถ้าไม่เป็นการรบกวนคุณส้มจนเกินไป ขอความกรุณา ตอบคำถาม ไปที่ E-mail ผมด้วยนะคับ ขอบคุณคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท