พระไม่ดีเพราะฆราวาสโลกาธิบดี


ระยะนี้ ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับพระ ยังคงปรากฏอยู่เป็นระยะ

อันที่จริง ทั้งพระทั้งฆราวาส ล้วนเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันในการส่งเสริมการกระทำที่ทั้งดีและไม่ดี กระทั่งการกระทำที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่นี้

ในส่วนของพระนั้นขอยกไว้ มาดูในส่วนของฆราวาสกันนะคะ

เชื่อว่าเราทั้งหลายคงเคยได้ยินคำว่า โลกาธิบดี อัตตาธิบดี และ ธรรมาธิบดี กันมาแล้ว คำเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชาวพุทธในคือเป็นที่มาของปัญญา และเพราะปัญญานี้เองที่ทำให้ชาวพุทธปฏิบัติตนต่อพระไปในแง่ต่างๆ

ปัญญานั้น พระศาสดาแสดงการเกิดโดยปริยายไว้เป็น ๓ ประการ* มีความหยาบและละเอียดแตกต่างกันออกไปคือ

 

สุตมยปัญญา  ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง คือ ตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาความรู้ของผู้รู้ท่านอื่น มาทรงจำไว้

จินตมยปัญญา ปัญญาสำเร็จได้ด้วยการคิด คือหยิบที่ทรงจำไว้มาไต่สวน สืบสาวต้นอันเป็นเหตุไปหาปลาย สืบสาวปลายอันเป็นผลไปชนเหตุ แล้ววินิจฉัยด้วยทิฏฐิ

ภาวนามยปัญญา การทำให้เกิดปรากฏแจ่มแก่จิต ให้แจ้งจนไม่ต้องคาดคะเน

 

ปัญญาทั้งสามนี้ สุตมยปัญญา ให้ผลคือการน้อมใจเชื่อ (อธิโมกข์) ผู้เชื่อเช่นนั้นจัดว่าเป็น โลกาธิบดี คือมีผู้อื่นหรือโลกเป็นใหญ่ การเชื่อเช่นนี้ หากเขาผิด เราก็ผิดตาม

จินตามยปัญญา ให้ผลเป็นศรัทธาที่ยังหวั่นไหว (จลสัทธา) ยังไม่มั่นคง เพราะตนเป็นคนประมวลเอง จึงอาจผิดหรือถูกก็ได้ ผู้เชื่อเช่นนี้เป็นผู้รับผิดชอบต่อความคิดของตนเอง จัดเป็นอัตตาธิบดี

ภาวนามยปัญญา การรู้เพราะทำให้ปรากฏแก่จิต ผู้เชื่อเช่นนี้จะเป็นผู้ที่เชื่อมั่น มีศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว (อจลสัทธา) ย่อมถูกโดยส่วนเดียว และเรียกผู้นั้นว่า ธรรมาธิบดี

ซึ่งการที่รู้เพราะกระทำให้ปรากฏแก่จิตนี้ เป็นผลของการที่ชาวพุทธฝึกฝนตนตามหลักไตรสิกขา ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จนคายกิเลสแล้วบางส่วน**

ดังนั้น หากอุบาสกอุบาสิกาเป็นโลกาธิบดีกันเสียมาก เข้าหาเพื่อศึกษาจากพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรวมทั้งศึกษาหาความรู้ด้วยตน และนำธรรมที่ท่านสอนหรือที่ศึกษามาฝึกในชีวิตเป็นส่วนน้อย บูชาพระเพื่อหวังลาภผลแก่ตน ก็ไม่ต้องตกใจไป

ที่ข่าวพระฉาว จะยังมีปรากฏได้เรื่อยๆ 

.........................................................

**สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ความรู้ในพระพุทธศาสนา มหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๒

** [๗๕] เพราะเหตุที่ภิกษุนั้นสละ คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งส่วนแห่งกิเลสได้แล้ว เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ ความรู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรมว่า ' เรามีความเลื่อมใสแน่วแน่ใจในพระพุทธเจ้า' เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น....'เรามีความเลื่อมใสแน่วแนในพระธรรม' เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ ความรู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรมว่า ' เรามีความเลื่อมใสแน่วแน่ใจในพระสงฆ์' เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอรู้ว่า ' เพราะเราคาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งส่วนแห่งกิเลสได้แล้ว'  จึงได้ความรู้แจ้งอรรถ ความรู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ม.มู.(แปล) ๑๒/๗๕/๖๖ 

หมายเลขบันทึก: 541896เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

การที่พระไม่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยเพราะขาดความเชื่อ(ศรัทธา)ว่าโลกหน้ามีจริงคนเราย่อมเวียนว่ายในวตสงสาร

-สวัสดีครับ...

-ปฎิบัติดีื ปฏิบัติชอบ..

-ขอบคุณครับ

วันนี้ในคาบเรียนวิชาการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ของนร.ม.ปลาย มีกลุ่มหนึ่งสนจะศึกษา วิกฤตศรัทธาต่อศาสนาพุทธของคนไทยในยุค 3G......ครูนกยังตั้งคำถามย้อนกลับไปสู่กลุ่มเด็กๆ ว่า วิกฤตศรัทธาต่อศาสนา หรือต่อพระสงฆ์ เด็กๆ ปรึกษากันอีกรอบแล้วมาย้ำว่า ต่อพระสงฆ์ ครูนกจะคอยอ่านผลการค้นคว้าและสรุปของเด็กๆค่ะ ขอบคุณบันทึกนี้ที่มาเติมเต็มทางความคิดค่ะ

...ผู้ใดปฏิบัติธรรมผู้นั้นมีธรรมนะคะ...ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาค่ะ

ศรัทธาของชาวพุทธยังน้อยมาก บางคนยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่สั่งสมบุญไว้โลกหน้า

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท