มุมมองการศึกษาไทย ตามแนวของพระพุทธทาส และมุมมองอย่างธรรมชาติธรรม




 มุมมองของท่านพระพุทธทาส 

  ถ้าจะให้ธรรมะครองโลก ก็ต้องจัดการศึกษาใหม่
 (จากธรรมโฆษณ์ ...เมื่อธรรมครองโลก)

 

 ถ้าเด็ก ๆ มีจิตใจเต็มเปี่ยมด้วยธรรมะอย่างนี้ ก็เรียกว่าเรามีการศึกษาอย่างใหม่ อันใหม่ที่ตรงกันข้ามจากที่กำลังเป็นอยู่ แต่ถ้าว่ากันโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่มีธรรมะอะไรเลยธรรมะนั้นไม่รู้จักใหม่ไม่รู้จักเก่าเป็นของอย่างนั้นเอง นี้ละเลยกันเสียนาน จนกลายเป็นเหมือนกับว่าเป็นของใหม่อย่างนี้เป็นต้น

 นี้คือการศึกษาใหม่ สำหรับยุคที่กำลังจะพินาศ จะต้องศึกษาให้มันตรงกันข้ามจากที่กำลังเป็นอยู่ หรือก้าวไป ไม่ตามกันวัตถุนิยม ทำให้มีหิริโอตตัปปะ และธรรมะอื่น ๆ ที่จำเป็น ที่โลกจะต้องมี

 สำหรับหิริและโอตัปปะนี้ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับที่จะต้องมีในโลก โลกอยู่ได้เพราะธรรมนี้ ไม่ใช่อยู่ได้เพราะกฎหมาย เพราะอาชญาหรือเพราะการหลอก การลวง การจ้าง การอะไรกัน อย่างอื่นนั้นมันเป็นเรื่องหลอกลวง

 เมื่อถามว่าการศึกษาคืออะไร พวกนักการศึกษาในโลกนี้ก็ตอบไว้มากจนเวียนหัว คนหนึ่งก็ตอบอย่างหนึ่ง ยุคหนึ่งก็ตอบอย่างหนึ่ง จนมากจนเวียนหัว แต่ในที่สุดก็พอสรุปได้เป็นใจความสำคัญว่า

 การศึกษานั้นมุ่งให้เยาวชนมีสติปัญญา ความเฉลียวฉลาดพอที่จะดำเนินอาชีพหรือชีวิตของตนให้พ้นจากความยากลำบากไปได้ หรือให้ลึกลงไปอีกหน่อยก็ว่าเพื่อพัฒนาสัญชาตญาณง่าย ๆ เลว ๆ ต่ำ ๆนั่นให้มันดีขึ้น เป็นสติปัญญาที่ดีขึ้นมาเอาไปใช้อะไรก็ได้

 ความรู้อันนี้ สติปัญญาอันนี้เอาไปใช้เพื่อประโยชน์อะไรก็ได้ แต่ในที่สุดก็เพื่อทำมาหากิน แล้วในที่สุดจริง ๆก็เพื่อความก้าวหน้าในทางวัตถุ เป็นวัตถุนิยมเจริญชนิดที่ทำโลกนี้ให้พินาศ อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ แต่เขาก็ได้ให้คำจำกัดไว้ดีว่า "การศึกษานี้เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์" แต่แล้วก็เล็งถึงความอยู่รอดในทางวัตถุ ทางร่างกายเสียมากกว่า เขาสอนกันอย่างนั้น โลกนี้จึงมีความรอดในทางร่างกายแล้วก็รอดมากเตลิดเปิดเปิงไป จนเป็นปัญหาอย่างอื่น เป็นความทุกข์อย่างอื่นขึ้นมา

 นี่การศึกษานี้ไม่พอ ที่จะทำโลกนี้ให้มีสันติ ไม่ต้องไปคาดคะเนหรือว่าไปอ้างเหตุผลอะไรที่ไหน ก็ดูเวลานี้ ซึ่งเขาก็อวดกันว่าการศึกษากำลังเจริญที่สุด พวกที่เขาเป็นผู้จัดการศึกษากำลังอวดว่าเจริญที่สุด พวกที่ป่าเถื่อนล้าหลังก็ไปตามเขา ว่ากำลังจะเจริญตามเขา ว่ากำลังจะเจริญตามเขา ว่าโลกนี้มันกำลังเจริญด้วยการศึกษา แต่ผลที่ออกมาในลักษณะที่ว่าโลกนี้กำลังยุ่งยากลำบากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในส่วนน้อย ๆ ย่อย ๆ นี้ก็ลำบากส่วนตัวบุคคลนี้ก็ลำบาก ส่วนประเทศนี้ก็ลำบาก ทั้งโลกนี้ก็ลำบากยิ่งลำบากยิ่งขึ้นไม่เห็นว่าตรงไหนมันมีความลำบากน้อยลงฉะนั้นการศึกษาที่กำลังมีอยู่ก็พิสูจน์ตัวมันเองว่า มันยังไม่ถูกแน่ เพราะว่ายิ่งนับวันยิ่งไกลต่อสันติภาพ

 ที่นี้ถ้าให้พวกเราพุทธบริษัทเป็นผู้ตอบปัญหากันบ้าง เราก็จะไม่้ตอบอย่างนั้น เพราะว่า จะตอบตามทัศนะของพุทธบริษัท มองสิ่งต่าง ๆในสายตาของพุทธบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งมองการศึกษาตามวิธีการของพุทธบริษัทเราก็จะตอบไปในทางที่ว่า"การศึกนั้นคือการยกสถานะทางวิญญาณของคนในโลกให้สูงขึ้น"

 สถานะทางวิญญาณของคนในโลกตกต่ำ ด้วยอำนาจของโมหะ ของอวิชาของความลุ่มหลง จนเกิดกิเลสปลีกย่อยอีกมากมาย ต้องมีการยกจิตใจ หรือวิญญาณของมนุษย์ในโลกนี้ให้สูงขึ้นคือ อย่าให้กิเลสเหล่านั้นมาครอบงำได้ นี้คือการศึกษา ในทัศนะของพุทธบริษัท ไม่พูดถึงร่างกาย โดยเอาร่างกายเป็นสิ่งที่ไปตามอำนาจของจิต แล้วจิตก็เป็นไปตามอำนาจของความรู้ วิชาความรู้ สติปัญญาซึ่งจะเรียกในมี่นี้ว่าวิญญาณฉะนั้นจะเป็นการยกดวงวิญญาณของสัตว์ให้สูงขึ้น

 เรื่องวัตถุนั้นเกือบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะมันเพ้อแล้ว แล้วยิ่งมาทำให้เรื่องทางจิตทางวิญญาณกระทบกระเทือน หรือว่าตกต่ำเพราะทางวัตถุนั้น มันล่อลวงคนในโลกได้ดีที่สุด เรื่องทางจิตทางวิญญาณนี้มันไม่ล่อลวงมันจึงมีอำนาจน้อย

 นี้เรียกว่า จำกัดความลงไปได้ว่า การศึกษาคือการยกสถานะของวิญญาณของคนในโลกให้มันสูงขึ้น ๆ กิเลสครอบงำไม่ได้ ไม่หลงด้วยวัตถุ ไม่ทำลายวัตถุเปล่า ๆ ไม่ทำลายการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่เป็นธรรมะนั้นด้วย โลกก็มีสันติ การศึกษาก็เพื่อโลกมีสันติ ด้วยเหตุที่มนุษย์มีจิตใจสูงขึ้น ๆ เมื่อจิตใจสูงขึ้นจริงแล้วก็ทำอะไรถูกเอง และก็ไม่ทำให้มากเกินไป แล้วก็ไม่ทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะความลุ่มหลงในเรื่องทางวัตถุเหล่านั้น

 เดี๋ยวนี้ละเลยกันมาก เพราะไปเป็นทาสของวัตถุนิยม พ่อต้องไปทำงานหากินนั้นถูกต้องแล้ว แต่ถ้าแม่ทิ้งลูกไปเสียด้วย ไปหาเงินอีกเหมือนกัน มันก็ผิดแน่เพราะว่าวิญญาณของลูกนี้มันจะถูกภูตผีปีศาจคร่าเอาไป กลายเป็นไม่ใช่ลูกมนุษย์ แม้จะไม่ฝากไว้ที่โรงเรียน เขาก็สอนกันแต่เรื่องวัตถุนิยม ก็ตกไปเป็นภูตผีปีศาจอีกชนิดหนึ่ง แม้ว่าเรียนไปถึงขั้นมหาวิทยาลัยก็เป็นธาตุของวัตถุนิยม แล้วจะเป็นทาสของอื่น ๆแทรกเข้ามาอีกมาก ไม่เป็นมนุษย์ที่ประกอบไปด้วยมนุษยธรรมที่จะทำความสงบระงับ

 ฉะนั้นการศึกษานั้นคือสิ่งที่พ่อแม่จะต้องทำ เพื่อยกระดับทางวิญญาณของทารกให้ดีขึ้น แล้วก็เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียน ที่วัด ที่ไหน ก็จะต้องทำ

 เดี๋ยวนี้เมื่อความนิยมมันเปลี่ยนไป แม้แต่บิดามารดาก็ยังต้องการให้สอนอย่างอื่น ไม่ต้องการให้สอนไปในทางที่ให้มีจิตใจสูงประกอบไปด้วยธรรม เขาต้องการสอนหนังสือ รู้หนังสือเร็ว ๆ ประกอบวิชาชีพเร็ว ๆ ไปหาเงินหาเกียรติอะไรได้เร็ว ๆ เป็นเสียอย่างนี้ ก็เลยไม่มีการสอนเรื่องที่จำทำจิตวิญญาณให้มันสูง มันก็ขาดไป

 การศึกษาต้องเล็งถึงสิ่งดังกล่าวมานี้ ไม่ใช่ให้รู้หนังสือ การรู้หนังสือเดี๋ยวนี้เขาทำกันเก่งจนเพ้อ จนเป็นคนฉลาดที่จะเป็นผู้ทำลายโลก เดี๋ยวนี้มีวิชาความรู้ทางหนังสือ ทางเทคโนโลยี่ ทางอะไรต่าง ๆ มากมาย จนถึงกับสามารถเป็นผู้ทำลายโลกกันได้ด้วยกันแทบทุกคน แต่เรื่องจิต ทางวิญญาณนั้นไม่มีก็เลยต่ำ

 การศึกษาตามความหมายของพระพุทธเจ้า เป็นการศึกษาที่ไม่ใช่ท่องบ่นอย่างในโรงเรียน แต่เป็นการศึกษาที่จะต้องปฏิบัติอยู่ที่ กายวาจา ใจ ท่านเรียกว่าไตรศึกษา หรือไตรสิกขา คือศึกษาสามอย่างเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มันกระทำลงไปที่กาย วาจา และ ใจ ให้มีลักษณะอย่างนั้น ๆ เรียกว่าศีล อย่างนั้น ๆ เรียกว่าสมาธิ อย่างนั้น ๆ เรียกว่าปัญญา นี้คือการศึกษา แล้วก็ต้องทำอยู่ที่เนื้อที่ตัวแล้วทำตลอดเวลาด้วย การศึกษาคืออย่างนี้

 ทีนี้นักศึกษาในโลกนี้ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักปรัชญาทางการศึกษาของโลกนี้ เขาไม่เคยคิดอย่างนี้ ไม่เคยมองอย่างนี้ มีแต่จำทำให้เด็กรู้หนังสือเร็ว ๆแล้วก็อย่างวิธีที่สนุกสนาน ไม่ต้องเคารพครูบาอาจารย์ ต่อไปก็อาจจะนั่งไหว้ตู้ทีวี ตู้วิทยุ เป็นต้น เพราะว่าเขากำลังจะเรียนทางวิทยุ ทางทีวี กัน โดยไม่ต้องใช้ครูบาอาจารย์ก็ได้ ในอนาคตนี่ แต่ในที่สุดมันก็ไม่มีผลทางจิตใจ มีความรู้ที่เหลือเฟือแล้วก็เฟ้อ เฟ้อจนทำลายตัวเอง

 ถ้าวิญญาณสูง วิญญาณนั้นจะไม่ตะกละตะกลามในเรื่องกิน กาม เกียรติสามอย่างนี้เราเคยเรียกสั้น ๆ ว่า สาม ก. สามก. คือ กิน คือกาม คือเกียรติ สาม ส.คือสะอาด สว่าง สงบ สามคู่นี้มันเป็นข้าศึกแก่กัน เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องสาม ก.

 นี่แสดงโดยผล วิญญาณสูงก็คือพ้น หลุดจากความผูกพันในทางวิญญาณ ไม่มีอะไรผูกพันทางวิญญาณ หมายความว่าไม่มีความทุกข์วิญญาณถูกผูกพันนั้นคือความทุกข์ ถูกผูกพันด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความอะไรต่าง ๆ นี้ เลยรวมอยู่ความยึดมั่นว่า ตัวกู ว่าของกู นี่คือความผูกพันของวิญญาณ

 พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้นึกถึงผู้อื่นก่อน ไปสอบสวนดูในพุทธภาษิตทั้งหลาย การตั้งปณิธานเพื่อเป็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องเพื่อผู้อื่น ยิ่งกว่าเพื่อพระองค์ ฉะนั้นจึงยอมลงทุนมาก คือบำเพ็ญบารมีเพื่อจะให้ได้แก่ผู้อื่นถ้าต้องการเพื่อตัวเองคนเดียวแล้ว ไม่ต้องบำเพ็ญบารมีมากถึงขนาดนั้น

 ฉะนั้นการนึกถึงผู้อื่นนั้นแม้จะนึกตั้งแต่ที่แรกไปก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราเอาเป็นว่า เรื่องของเรามันพอ พอสมควรแล้ว พอได้พักผ่อนแล้ว ก็นึกถึงอื่นนึกถึงผู้อื่นอย่างไม่น้อยกว่านึกถึงตัว หรือว่านึกถึงผู้อื่นยิ่งกว่าตัว หรือว่านึกถึงผู้อื่นหมดเลย หมดเลยเรื่องของเราไม่นึกอย่างนี้ก็ทำได้ ไปลองดูเถอะไม่ตายบางทีมันจะเจริญเร็วกว่าเสียอีก

 ถ้าว่านึกถึงผู้อื่นยิ่งกว่าตัวเอง นี้ก็เป็นอุบายอันหนึ่ง เพราะว่าคนเรามันมักจะเห็นแก่ตัว นึกให้มากไว้ เผื่อมันรั่วไหลเสียบ้าง มันก็ยังจะพอดี หรือกล้านึกถึงผู้อื่นหมดเลยก็ยิ่งเก่งมาก แต่คนเห็นแก่ตัวเขาไม่ยอม เพราะว่าเขาขี้ขลาด ที่จริงไม่ควรจะขี้ขลาด ถ้านึกถึงผู้อื่นทั้งหมด นั่นมันมากไป แล้วมันก็ได้แก่ตัวก่อน ก่อนที่จะไปได้กับผู้อื่น

 เพราะว่าเราเป็นผู้นำ แม้ว่าเราจะทำอย่างช่วยเขา เราก็ได้การกระทำหรือได้ผลการกระทำนั้นก่อนเสมอ แต่ไม่ควรจะตั้งใจชนิดที่ไม่ซื่อไม่ซื่อตรงแบบนี้ ถ้าว่านึกถึงผู้อื่น ก็ให้นึกถึงผู้อื่นจริง ๆ ที่มันจะมาหาตัวนั้นมันมาของมันเอง มาก็ได้ไม่มาก็ได้ นี่เรียกว่ามีวิญญาณสูง

 เดี๋ยวนี้คนเราไม่ต้องการเป็นแต่เพียงเรื่องพูด ต้องการเป็นเรื่องทำจริง แล้วก็เป็นเรื่องที่ว่ามีเหตุผลแสดงอยู่ชัดเจนอย่างเรื่องวิทยาศาสตร์เพราะว่าเราไม่ชอบปรัชญา ซึ่งเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ ไม่มีตัวมีตน และเราชอบอย่างวิธีวิทยาศาสตร์ คือมีข้อเท็จจริงที่เห็นชัดอยู่แล้วก็ทำได้จริง ๆ เหมือนกับทำแก่วัตถุ

 การศึกษาที่สูงก็คือการศึกษาที่ถูกต้อง พอพูดว่าศึกษาเฉย ๆ มันพร่ามันต่ำก็ได้ ยิ่งอยู่ในมือของพวกวัตถุนิยมแล้ว มันก็ต่ำมาก เมื่อการศึกษาสูง ก็ต้องมีความถูกต้องหลายประการ แสดงอยู่ในตัวมันเอง ว่าสูงจริง

 อย่างแรกที่สุดอยากจะระบุว่า เรียนรู้แต่สิ่งที่มนุษย์ควรเรียน ที่ไม่จำเป็นที่ไม่จำเป็นแก่มนุษย์ อย่าไปเรียน มันทำให้มาก ทำให้ยุ่งจนที่จำเป็นนั้นไม่ได้เรียน เรียนได้น้อย เรียนได้ด้วยความยากลำบาก สิ่งที่มนุษย์ควรเรียนด้วยความจำเป็นไม่เพ้อ นี่คือการศึกษาที่ถูกต้องหรือสูง มันถูกจุด มีจุดหมายที่ถูกต้อง

 อย่างที่สองนี่ การศึกษาสูงจริง มันต้องด้วยประสบการณ์ หรือเรียนจากประสบการณ์แล้วก็เกิดมีประสบการณใหม่ ที่จะเป็นตัวการศึกษาจริง ๆ ขึ้นมา แต่โดยเฉพาะที่มันกำจัดความทุกข์ได้ กำจัดความโลภ ความโกรธความหลงได้ กำจัดกิเลสได้ การศึกษาที่สูง
ต้องอย่างนี้ ไม่ใช่ไปจดไว้ในตำรา ท่องตำรา ตอบตามนั้นได้แล้วก็ได้ปริญญา เป็นเรื่องถ่ายทอดวิชาหนังสือ

 อย่างที่สาม การศึกษาที่แท้จริงไม่ต้องอยู่ที่ประกาศนียบัตร ไม่ต้องอยู่ที่เกียรติ ไม่ต้องอยู่ที่อะไร นอกไปจากความจริง แล้วก็เป็นจริงกว่าที่คนธรรมดาเขาจะมองเห็นกัน คือไม่มองข้ามสิ่งสูงสุดที่มีอยู่แล้ว ที่จริงการที่ไม่มีอะไรในทางวัตถุ แต่มันมันก็สูงในทางจิตใจนั่นแหละมันสูงอยู่แล้ว

 อย่างที่สี่นี้ การศึกษาที่สูงที่สุดต้องให้คนรู้จักสิ่งที่ดีที่สูง ที่มีอยู่จริงแล้วบางทีจะว่า จะต้องมีอาบเหงื่อต่างน้ำด้วยซ้ำไป ที่มันดีจะสูง ไม่ใช่มันไปทำนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วได้เงินมาก ได้เกียรติมาก ได้อะไรมาก แล้วจะเรียกว่าดี ว่าสูง ชนิดนั้นจะทำโลกให้ยุ่ง จำทำโลกให้ขาดแคลน ให้ไม่พอยิ่งขึ้นทุกที

 แต่ถ้ามีคนที่เห็นว่า เป็นสุขด้วยการอาบเหงื่อทำขนมขายนี้มันก็จะทำโลกนี้ให้พอ คือทำโลกนี้ให้เหลือ ให้มีสิ่งที่มนุษย์ต้องการ นั้นมันเหลือคนจะไม่ต้องแย่งงาน คนไม่ต้องสไตรค์ กรรมกรจะไม่ต้องสไตรค์ อะไรต่าง ๆ มันจะเรียบร้อยไปหมดได้ เพราะเขามีธรรมะ
เป็นเครื่องช่วย

 อย่างที่ห้า หรืออีกทีหนึ่งก็ว่า การศึกษาสูงนั้นต้องไม่แพง ต้องไม่มีที่แพง ขอให้นึกถึงการศึกษาที่พระพุทธเจ้าท่านให้แก่เรา เดี๋ยวนี้เราก็นึกละอายอย่างยิ่งพอนึกเรื่องนี้ ที่ว่าต้องมานั่งบนธรรมาสน์ แล้วก็ในสถานที่ที่ก่อขึ้นอย่างนี้แล้วจึงมาพูดกัน ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านประทับตามพื้นดินสอนสาวกของท่านกลางพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่ในวิหาร วิหารนั้นก็พื้นดินตามทางเดินบนขอนไม้อะไรต่าง ๆ นี้ก็ปรากฏในหลายเรื่องหลายราว หลายสูตรที่ท่านสอนได้  ไม่ต้องการตึกมหาวิทยาลัย ที่มันแพงมาก
แล้วจึงจะสั่งสอนกัน

 นี่เราจ่ายเงินเพื่อการศึกษากันมากมาย แล้วก็ร้องว่าไม่พอกันอยู่เสมอ เพราะเราเอามาละเลงในแม่น้ำ ไม่ได้ผลคุ้มกันเลย เท่าไรมันก็ไม่พอ ยิ่งไปจัดตามแบบใหม่ ๆ เข้าแล้ว มันก็ยิ่งไม่พอ แม้แต่การสร้างสถานที่ก็ไม่พอ เงินเดือนครูก็ไม่พอ อะไร ๆ มันก็ดีเกินไป มันแพงเกินไปแต่ผลมันได้นิดเดียว ไปขยายโรงเรียน ไปเพิ่มครูให้มากขึ้น แต่ตัวการศึกษานี้มันเลวลง เพราะว่ามันไม่ทำให้ใครมีจิตใจสูงตามแบบนี้ได้ แล้วครูก็มีจิตใจต่ำ เพราะฉะนั้นเรียนจบก็เป็นอันธพาลกัน ในบ้านในเมืองนี้มีมากขึ้น เพราะว่าฉลาดสำหรับที่จะเป็นอันธพาล การศึกษาแบบนี้

 ถ้าจะเป็นการศึกษาที่ตามธรรมชาติมากขึ้น แล้วคนก็มีจิตใจสะอาดสว่าง สงบ หรือว่ามีจิตใจสูงมากขึ้น ให้มีการศึกษาสวยงามหรูหรา เล่นหัวมากขึ้น คนที่เรียนแล้วจะมีจิตใจเลวลง มีนิสัยแห่งความมักง่าย สะเพร่า สำรวย สำอาง สำออย อะไรต่าง ๆ มากขึ้นเพราะอุปกรณ์การศึกษาที่ว่ามันดีเกินไปการศึกษาสูงมันต้องไม่ใช้วัตถุแพง

 อย่าคิดว่าไปอยู่ในบ้านเมืองที่เจริญ เช่นเมืองนอกเมืองนาแล้วจิตใจมันจะสูง มันจะยิ่งต่ำกว่าอยู่ที่เมืองไทย อยู่ที่เมืองไทยนี่แหละ ถ้าอยู่ในป่าดงมันจะมีจิตใจที่สูงกว่าที่ไปอยู่ในเมืองหลวงได้ เรื่องที่มีมาแล้ว หรือมันจะมีต่อไปอีกก็ได้ กำลังมีอยู่ก็ได้

 ถ้าเราอยู่ในที่ที่ว่ามีจิตใจสูงสะอาด สว่าง สงบ นี้มันดีกว่า นี่อยากไปสนุกสนาน อยากไปหาความอิสระในทางกิเลส บางคนถึงกับหลอกพ่อแม่ให้สิ้นเนื้อประดาตัวก็มี มันมีจิตใจทรามตั้งแต่ก่อนไปแล้วเอาละ ว่าเป็นผู้ดี สอบไล่ชิงทุนได้อะไรได้ก็ตามเถอะ แต่ความเห่อเหิมทำนองนี้ไม่จัดว่าเป็นของดีไปได้ อยากมากก็เป็นของธรรมดา แต่ส่วนมากมันไม่เป็นอย่างนั้น มันไปด้วยความทะเยอทะยาน

 แล้วที่มันร้ายไปกว่านั้น ก็พอกลับมาถึง ก็เอาของวิเศษเมืองนอกนั่นแหละมา ติดตัวมา แล้วก็มาไล่อะไรต่าง ๆ ที่เป็นของไทยออกไป มาไล่วัฒนธรรมไทยแท้ บริสุทธิ์สะอาดออกไป เอาวัฒนธรรมวัตถุตะวันตกมา เอาของใหม่มาไล่ของเก่าเขาของนอกโน้นมาไล่ของในออกไป นี่ระวังให้ดี นี่คือความทรามอย่างยิ่ง

 เอาของนอกมาปรับปรุงของในให้มันดีขึ้น นี้ถูกต้อง แต่ว่าเอาของนอกมาไล่ของในออกไป เอาของนอกใส่แทนนี้ผิดอย่างยิ่ง อย่าไปยกเลิกของในหรือของเดิม ที่สืบ ๆ กันมาไม่รู้กี่สิบชั่วบรรพบุรุษแล้ว อย่าไปเอาของใหม่มาลาของเก่าออกไป ขอให้ฟังให้ดีเรากำลังจะเข้าใจผิด บางทีก็เนื่องด้วยคำพูด

 ข้อนี้อยากจะขอรบกวนเวลา ให้สนใจสักหน่อย มันมีความสำคัญมาก ความเป็นไทยของเราต้องเหลืออยู่ อิสรภาพหมดไป ก็เหลือแต่ความเป็นสุนัขรับใช้คำนี้ได้ยินมากที่สุกในวิทยุ อิสรภาพหมดไปแล้วก็เหลือความเป็นสุนัขรับใช้เพราะมันตรงกันข้าม เป็นไทยกับเป็นทาส

 นี้ระวังว่า อย่าเอาตะวันตกมาใส่แทนตะวันออก ไล่ความเป็นตะวันออกวัฒนธรรมตะวันออก หรือคนไทยอย่างนี้ไปเสีย มันจะสูญความหมายเดิม มันจะทำได้ก็เพียงว่า เอาส่วนประกอบผิว ๆ นอก ๆ นั้นมาปรับปรุงแก้ไข ตกแต่งวิญญาณเดิม ๆ ของเราให้มันดีขึ้น ให้มันทันสมัยขึ้น หรือให้มันเข้ากับสิ่งแวดล้อมสมัยปัจจุบันดีขึ้น

 เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้น พิจารณาดูแล้ว คล้าย ๆ กับจะรับเอาระบบศึกษาตะวันตกทั้งดุ้น มาดุนวิญญาณเดิม ๆ ของการศึกษาอย่างไทย ๆ นี้ออกไปหมด ให้ของฝรั่งนั้นมาอยู่แทน นี้มันจะหมดความเป็นไทย แล้วจะเหลือความเป็นสุนัขรับใช้ซึ่งไม่ใช่คนแล้วที่นี้



 นี่จึงกล่าวเป็นเครื่องให้สังเกตได้ง่าย ๆ

สำหรับจำใช้ไปสังเกตต่อไปว่าถ้าไม่มีการบังคับกิเลสแล้ว เป็นไม่ใช่การศึกษา จะระดับอนุบาลก็ดี ประถมก็ดีมัธยมก็ดี วิทยาลัยก็ดี มหาวิทยาลัยก็ดี หรือจะมีอะไรที่สูงไปกว่านั้นก็ตาม ถ้าไม่มีการบังคับกิเลสแล้ว นั่นไม่ใช่การศึกษา เป็นอุบายอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อการได้ทำตามกิเลสของคนเหล่านั้น

 ที่นี้ว่า เมื่อเป็นกิเลสแล้ว มันก็ทำกับมันยากแหละ เพราะว่ามันมีโฉมหน้าที่หลอกลวง รู้เท่าทันได้ยาก สิ่งที่เรียกว่ากิเลส มันโกง มันคด ฉะนั้นต้องระวังมากกว่าธรรมดา กิเลสหลอกให้ไปหาเหยื่อต่าง ๆ ให้เกียรติแก่กิเลส มันหาเหยื่อให้ แก่โมหะ หาเหยื่อให้แก่ความโง่ ที่จะได้โง่หนักขึ้นไปกว่าเดิม นั่นแหละคือกิเลสถ้ายิ่งก้าวหน้าในทางศึกษาแบบนี้ มันก็ยิ่งเพิ่มวิกฤติการณ์ คือเพิ่มความทุกข์ขึ้นมาในโลก ต้องจัดการศึกษาใหม่ ในลักษณะที่จะทำให้โลกนี้มีธรรมะมาคุ้มครองมีพระเจ้ามาคุ้มครอง แล้วโลกนี้ก็มีสันติ

 นี่อาตมาขอร้องซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เรื่องนี้อย่าไปถือเสียว่าไม่ใช่ธุระของเรา ถ้ายังคงเป็นพุทธบริษัทอยู่เพียงใด ยังเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่เพียงใดแล้ว ก็ต้องรู้เถิดว่า วัตถุประสงค์ของพระพุทธเจ้านั้น ท่านต้องการให้พุทธบริษัททุกคนยอมรับรู้เรื่องของเพื่อนมนุษย์ทั่วไปหมดทั้งโลก ทั้งสากลจักรวาล แล้วการที่เราไปนึกถึงคนเหล่านั้น ก็ใช่ว่าจำเป็นว่าเราจะต้องสูญเสีย หรือทำลายอะไรที่เป็นประโยชน์ของเราเอง มันทำไปได้พร้อมกัน

 การที่เราจะไม่นึกถึงสัตว์ทั้งหลายนั้นแหละ มันจะเกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมาไม่ทันรู้ แล้วมันก็จะถูก ดึง เลี้ยว ไปในทางกิเลสไม่ทันรู้อีกเหมือนกัน ฉะนั้นการนึกถึงผู้อื่น ด้วยจิตใจบริสุทธิ์นี้ก็เป็นเครื่องคุ้มครองที่ดีด้วย เป็นการบำเพ็ญกุศลที่สูงสุดพร้อมกันไป หลาย ๆ อย่างด้วย เรียกว่าประโยชน์ตนก็ได้ ประโยชน์ผู้อื่นก็ได ้ แล้วก็ช่วยกันทำโลกให้มีสันติ ตามความมุ่งหมายของพุทธประสงค์


มุมมองอย่างธรรมชาติธรรม

การจัดการศึกษาตามแนว
ของ
ธรรมชาติธรรม

  หลักการจัดระบบการศึกษาตามแนวของ "ธรรมชาติธรรมค้ำจุนโลก" มีจุดยืนแน่ชัดคือจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแก่นของพุทธศาสนา  ด้วยเหตุที่แนหลักการดำเนินชีวิตของธรรมชาติชาติธรรมค้ำจุนโลกคือการนำหลักพุทธปรัชญาของพุทธศาสนาเป็นหลัก ดังนั้นการจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับระบบการดำเนินชีวิตเป็นสำคัญ

 ขอยกบทกลอน "แก่นพระพุทธศาสน์" ประกอบ

แก่นพระพุทธศาสน

จักตามรอยพระพุทธบาทศาสน์์พิศุทธิ์
ประเสริฐพุทธยั่งรู้คู่ศาสตร์สอน
พระพุทธเจ้าตรงตามนามกร
มุ่งดับร้อนทุกข์เข็ญชี้เห็นธรรม

หยั่งรู้สิ้นถิ่นจักรวาลด้วยญาณพระพุทธ
รอบรู้สุดวิทยาศาสตร์ปราชญ์เลิศล้ำ
แต่ทรงละศาสตร์วิทย์ในกิจกรรม
มิน้อมนำเป็นแก่นแท้แก่ชีวิต

ทรงรู้แจ้งแห่งมายาวิทยาศาสตร์
อาจจักนำมนุษยชาติเป็นทาสวิทย์
อาจมัวหลงเพลิดเพลินเดินพลาดผิด
เปิดทางจิตโลภหลงคงแน่นอน

ทรงมองเห็นแก่นธรรมนำชีวิต
ลดทางวิทย์ฯ เพิ่มธรรมนำศาสน์สอน
ทิ้งสมบัติกษัตริย์สิ้นถิ่นนคร
เปลื้องอาภรณ์ตัดโมลีหนีบรรพชา

ทรงศึกษาธรรมชาติอย่างปราชญ์เปรื่อง
จนรู้เรื่องสัจธรรมนำศึกษา
บัญญัติธรรมพึงปฏิบัติแห่งพุทธปรัชญา
ข้อธรรมารวมแปดหมื่นสี่พัน

มีข้อธรรมนำสอนค่อนข้างมาก
แต่ถ้าหากสรุปธรรมคำสอนนั้น
เพียงเพื่ออยู่สอดคล้องครรลองธรรม์
อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติมิขาดธรรม

อยู่เหนือกฎธรรมชาติอาจพลั้งผิด
ปั่นทอนจิตปั่นทอนกายให้ทุกข์ล้ำ
สันติสุขมิใกล้กรายคล้ายกงกรรม
บาปหนุนนำบุญห่างอย่างแน่นอน

ลาภยศราชสมบัติตัดขาดหมด
เบื้องปฐมคถาคตเป็นบทสอน
วัตถุธรรมตัดไกลไม่อาวรณ์
ประเดิมทุนรอนตัดกิเลสดังเลศนัย

เมื่อเห็นโจทย์โปรดตรองมองถ้วนถี่
ตั้งต้นเิดินแนวนี้มีวิสัย
พุทธปรัชญาคงเที่ยงแท้มิแปรไป
น้อมนำใช้ถูกทางอย่างพุทธปรัชญา

ขอชาวพุทธศึกษาธรรมในคำสอน
ทุกบทตอนส่วนลึกค้นศึกษา
ยึดบทธรรมดำเนินชีพอย่างธรรมดา
ฝากชีวาเคียงธรรมชาติตรง "พุทธศาสน์" เอย

 เนื้อความในบทกลอนเป็นการกล่าวถึงแก่นแท้ของศาสนาพุทธ และหลักปรัชญา เนื้อความสั้น ๆ ในบทกลอนเพียงบอกสรุปความถึงแนวคิดตามหลักปรัชญาของศาสนาพุทธ  เป็นแก่นแท้ที่ต้องปฏิบัติข้อธรรมเพื่อบรรลุ  เพื่อความสำเร็จในการอยู่ร่วมของมวลมนุษยชาติให้เกิดสันติสุขที่แท้จริง  ขอนำแนวทางของหลักพุทธปรัชญาให้ทราบอีกครั้ง

  สัจธรรมในการดำรงชีพของมนุษยชาติ  คือการดำรงอยู่ด้วยจิวิญญาณ  ความสุขทางด้านจิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นหัวใจสำคัญที่สุด  ส่วนประกอบด้านกายในเรื่องต่างๆเป็นเพียงส่วนประกอบเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ ความต้องการส่วนประกอบทางกายแค่มีเพียงพอ  หรือพูดอีกอย่างว่า "พอเพียง" เท่านั้นเอง ความสุขแท้จริง และยั่งยืน  จึงอยู่ที่เรื่องทางจิตวิญญาณเสียมากกว่า หากท่านไตร่ตรองด้วยวิจารณญาณแล้วท่านจะพบสิ่งที่กล่าวมานั้นถูกต้องจริง ๆ

 สัจธรรมที่พระองค์ทรง ค้นพบ คือเรื่องของ "ตัวธรรมชาติ" ธรรมชาติก็คือ "ธรรมะ" นั่นเอง ซึ่งเกี่ยวข้องใน 4 ประการดังนี้

   1. ธรรมชาติ
 2. กฎของธรรมชาติ
 3. หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
 4. ผลจากหน้าที่

 ขอนำคำอธิบายของท่านพระพุทธทาส ประกอบ (ในเรื่อง 4 ประการ)

 1. ธรรมะ คือตัวธรรมชาติที่ปรากฏ
 2. ธรรมะ คือกฎของธรรมชาติ ที่ควบคุมธรรมชาติเหล่านั้นอยู่
 3. ธรรมะ คือการปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
  4. ธรรมะ คือผลที่จะได้รับจากการปฏิบัตินั้น ๆ 

 เมื่อรวม 4 ประการนี้เข้าด้วยแล้ว มันจะไม่พ้นในเรื่องของ "อริยสัจ 4" ซึ่งต้องรู้จักตัวทุกข์ รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้สิ่งที่ตรงข้ามกับการเกิดทุกข์  รู้วิธีปฏิบัติให้ได้สิ่งนั้นมา  นี้เรียกว่า  "ธรรมที่จะช่วยดับทุกข์โลก"  นี่คือหัวใจของหลัก "ศาสนาสากล"  จากตรงนี้เองที่ธรรมะบัญญัติไว้ถึง 84,000 ธรรมขันธ์เพื่อเข้าถึงองค์ธรรมชาติทั้ง 4 ประการ

 ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ถึง  840,00 ธรรมขันธ์  นั้นคือการรักษา  การฟื้นฟูจิตใจให้อิ่มด้วยคุณธรรมเพื่อดับทุกข ์และเข้าถึงความสุขที่แท้จริง เมื่อมนุษย์ยึดหลักการอยู่ร่วมด้วยธรรมะ ยึดความสุขแท้จริง คือความสุขด้านจิตวิญญาณ อย่างนี้ก็ไม่มีวันที่จะเบียดเบียนกันเอง หรือไปเบียดเบียนธรรมชาติได้เลย ทุกคนคงเห็นประจักษ์แล้วว่าปัจจุบันมนุษย์มีแต่ความเดือนร้อนวุ่นวายไปทั้งโลก  ซึ่งนั่นคือความทุกข์  เราจึงต้องดับทุกข์ด้วยมูลเหตุแท้จริง อย่างที่พระพุทธเจ้า  "ทรงค้นพบแล้ว"  นั่นเอง

 ที่ได้ยกสัจธรรม หรือความจริงที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบกล่าวไว้พอเป็นที่ทราบ ก็เพื่อเสนอแนวคิดถึงการจัดการศึกษาตามแนวของธรรมชาติธรรมให้สอดคล้องลงตัวที่สุด ฉะนั้นการเสนอข้อคิดที่สอดคล้องกับเหตุ กับผลตรงนี้  อาจจะฝืนความรู้สึกของท่าน  เนื่องจากท่านได้เห็น ได้สัมผัสในเรื่องการจัดการศึกษาสมัยใหม่ขณะนี้  แต่เมื่อนำข้อมูลที่เกี่ยวกับสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมาเรียนให้ทราบ  บางทีอาจจะใช้เป็นเหตุ เป็นผลประกอบได้ ทำให้ไม่รู้สึกขัดใจมากนัก หรือไม่ก็เห็นตามด้วยเหตุผลที่พอฟังขึ้น  พอรับได้ก็เป็นได้

 แนวการดำรงชีพตามหลักธรรมชาติธรรมคืออยู่ด้วยการเกื้อกูลกัน การพึ่งพาซึ่งกันและกัน อยู่กินแต่พอเพียง ตามแนวการอยู่ร่วมของสังคมจึงไม่จำเป็นต้องมีระบบเงิน  การศึกษาจึงไม่มุ่งที่จะแข่งขันกันหาเงินทอง  การศึกษาจึงมีเพื่อนำความรู้มาพัฒนา แก้ปัญหาการอยู่ร่วมของมนุษย์เป็นสำคัญ  หากฟังดูแล้วหลายคนยังมองไม่เห็นภาพ หรือแนวทาง ต่อนี้ไปจะชี้แจงในลักษณะไขโจทย์ปัญหา หรือนำเสนอแนะไปตามลำดับ

 หลายคนอาจจะเกิดความคิดว่า หากไม่มีการใช้ระบบการเงิน ก็ไม่มีอาชีพ เมื่อไม่มีอาชีพแล้วเราจะเรียนจะศึกษาไปทำไม  จะนำความรู้ไปใช้  ไปทำอะไร  มาถึงตรงนี้จะขอตั้งโจทย์ปัญหาให้ตรงจุดเพื่อไขปัญหาให้กระจ่างสมมุติว่าเราจะเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ให้ไข่มีโปรตีนสูง ขณะเดียวกันต้องการลดไขมันลงด้วย เราจะเลี้ยงอย่างไร นี่เราก็ต้องศึกษาต้องวิจัยเพื่อให้ได้วิธีการเลี้ยงออกมา  ถามว่าที่เราต้องศึกษา ต้องวิจัย  นั่นเพราะอะไร  ก็เพราะให้เรารู้คำตอบว่ามีวิธีเลี้ยงอย่างไรเพื่อให้ได้ผลผลิตตรงตามที่ต้องการ  ส่วนผลผลิตที่ได้มา  จะนำไปจำหน่าย หรือนำไปแจกจ่ายก็เป็นเรื่องหนึ่ง  ดังนั้นการศึกษาเล่าเรียนมันก็มีความจำเป็นอยู่เช่นเดิม  

 เมื่อเราใช้หลักการดำชีวิตร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบ่งหน้าที่ที่จะช่วยกันในเรื่องนั่นเรื่องนี้ีีตามที่ตกลง งานการศึกษางานการเรียนรู้ การวิจัยย่อมมีไปตามงาน และหน้าที่อย่างไม่จบสิ้น เพียงแต่เรียนเพื่อนำความรู้มาปรับปรุงช่วยเหลือพัฒนาสังคม  ความรู้ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีสมัยใหม่ ยังใช้ได้ปกติเหมือนเดิม เพียงแต่วิทยาศาสตร์ประยุกต์ทั้งหลายมาใช้อยู่ในกรอบของกิจกรรมการอยู่ร่วมกัน  ไม่ใช่นำวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ผลิตวัตถุ หรือสิ้นค้าแข่งขันกันเพื่อมุ่งหวังการกักตุนสะสมเงินทองที่เกินความจำเป็น  หรือนวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาสร้างอาวุธประหัตประหารกันเพื่อการมีอำนาจของตนที่จะหวังครอบครองเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นเหตต้อตอต้นใหญ่ที่เชื่อมโยงในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งล้วนแต่การอยู่เหนือกฎของธรรมชาติ  ในที่สุดสังคมมนุษย์มีแต่ความเดือดร้อน วุ่นวายตามมา จนหาความสันติสุขไม่ได้

 ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าการเรียนการศึกษาไปเป็นตามหน้าที่ของงานแต่ละอย่าง  เคยนำเสนอเรื่องการอยู่ร่วมของมวลมนุษยชาติที่ต้องศึกษาหาความรู้ เรียกว่า "หัวใจของธรรมชาติธรรม" มี 9 ประการ

สรุปหัวใจสำคัญของการดำชีพของมนุษย์ หรือ ดังนี้


 1.อาหาร
 2. ที่อยู่อาศัย
 3. เครื่องนุ่งห่ม
 4. ยารักษาโรค
 5. การออกกำลังกาย
 6. นันทนาการ
 7. วิชาความรู้
 8. เรื่องศีลธรรม
 หรือเพิ่ม 9. การสืบพันธุ์

 จาก 9 ประการนี้ทำให้เราต้องศึกษาเรียนรู้ในหลายเรื่อง พอจะแจงรายละเอียดดังนี้

 1. เราศึกษาค้นคว้า วิจัย เรื่องต้องใช้เนื้อที่ปริมาณเท่าไรสำหรับปลูกพืชพันธุ์เพื่อผลิตอาหาร แก่กลุ่มชุมชนขนาดนั้น ขนาดนี้ที่จัดไว้ รวมทั้งระบบน้ำที่นำมาใช้ในการเกษตร

 2. เรามาศึกษาค้นคว้า วิจัย เรื่องอาหารที่รับประทาน ประเภท ชนิดของอาหารที่มีคุณค่าด้านโภชนาการมากน้อยเพียงใดปริมาณที่ต้องการ ตามเพศ ตามวัย อาหารในรูปแบบใด เพิ่มผลผลิตอย่างไร ฯลฯ

 3. เรามาศึกษา ค้นคว้า วิจัยว่า การออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือวิธีใด ใช้เครื่องมือชนิดใดบ้าง ความแตกต่างของเพศ วัย เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ฯลฯ

 4. เรามาศึกษาค้นคว้า วิจัยเรื่องนันทนาการที่ก่อให้เกิดความสุนทรีย์ต่อด้านจิตใจมากที่สุด เรามีงานศิลปะแขนงใดบ้างเพื่อการอยู่ร่วมที่มีสุข เช่น ร่ายรำ ละคร วาด ปั้น เพลง ฯลฯ

  5. เรามาศึกษา ค้นคว้า วิจัยเรื่องยารักษาโรค สิ่งของเครื่องใช้ สบู่ ผงซักฟอก เสื้อผ้า ฯลฯ จะจัดหาโดยวิธีใด ใช้อะไรเป็นวัตถุดิบเพื่อให้เกิดคุณภาพสูงสุด และเลี่ยงใช้สารเคมีให้มากที่สุด ฯลฯ

 6. เราศึกษา ค้นคว้า วิจัย เรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยว่าควรใช้วัสดุอะไร รูปแบบด้านสุขาภิบาล ฯลฯ

คำสำคัญ (Tags): #ธรรม
หมายเลขบันทึก: 541191เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2013 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2013 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สาธุครับ กำลังสืบค้นและรวบรวมข้อมูลเรื่องการศึกษาที่ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวไว้พอดีเลยครับ

ขอบคุณมาก ๆครับ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท