ความคิดสร้างสรรค์ สิ่งจำเป็นต่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21


ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่ว่า "ศักยภาพของระบบการศึกษาเพื่อการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์" จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21


โดยทั่วไปการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน 1) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการที่ดีขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากความคิดสร้างสรรค์ และ 2) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น แรงงาน ทุน หรือพื้นที่การผลิต สะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการสร้างฐานนวัตกรรมนั้น จะเป็นการเจริญเติบโตที่มั่นคง และสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากกว่าความก้าวหน้าที่เกิดจากการเพิ่มแรงงานและเพิ่มเงินเข้าไปในระบบในระหว่างศตวรรษที่ 19-20 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2-3% ต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าคนคนหนึ่งสามารถทำงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวในทุก ๆ หนึ่งชั่วอายุคน แสดงถึงประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการสนับสนุนของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 200 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี อัตราการเจริญเติบโตดังกล่าวกลับถดถอยลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ อัตราการเจริญเติบโตของรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ปีละ 1% เท่านั้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้อัตราการเติบโตถดถอยลงคือ "อัตราการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่" ที่ลดลงเมื่อเทียบกับศตวรรษที่แล้ว

ความท้าทายของการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 จึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเกิดขึ้นและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ?

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้จากหลายสาขาได้พยายามศึกษาหนทางในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์มาเป็นเวลากว่า
50 ปี แล้วพบว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1) Big C ซึ่งหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในระดับเดียวกับ Da Vinci, Edison, Einstein หรือ Steve Jobs เป็นต้น และ 2) Little C ซึ่งหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ทั่วไปที่เกิดขึ้นได้กับพวกเราทุกคน

Big C จึงเป็นตัวการหลักในการก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมบนฐานการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระดับประเทศ ในขณะที่ Little C จะมีผลสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาค เช่น ในระดับธุรกิจและระดับอุตสาหกรรม

ดังนั้น ระบบการศึกษาในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ จึงได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 หรือ 21st Century Competencies ซึ่งเน้นให้เด็กมีทักษะการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต อันเป็นที่มาของทิศทางในการจัดการศึกษาใหม่ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้ ด้วยผลการวิจัยที่พบว่าการอัดข้อมูลความรู้ผ่านการสอนเข้าไปสู่สมองของเด็กและเยาวชนจำนวนมากนั้น มิได้ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญต่อความคิดสร้างสรรค์แต่อย่างใด

ในทางกลับกัน เด็กและเยาวชนควรมีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ โดยมีครูเป็นผู้ช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถริเริ่มสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ ได้เอง ผ่านกระบวนการเรียนการสอนในสาระวิชาต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

หากระบบการศึกษาใดสามารถพัฒนากระบวนการดังกล่าวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดทั้ง Big C และ Little C ขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง ย่อมหมายถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 อย่างมั่นคง

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1359702484

หมายเลขบันทึก: 540828เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2013 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท