BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๑๑ (มารสอดแทรก)


นายธนิยะได้ทูลขอบวชกับพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยสำนวนบทกลอนว่า...

 ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหามุนี ขอพระองค์ทรงเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์
ทั้งภริยาทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เชื่อฟัง ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต
 ข้าพระองค์เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะ
จะเป็นผู้กระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้    

ขณะนั้นเทวปุตตมารผู้มีบาป ซึ่งเฝ้าฟังคาถาโต้ตอบระหว่างนายธนิยะกับพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ต้น เมื่อนายธนิยะและภรรยาออกมาจากกระท่อมแล้วกราบทูลขอบวชกับพระบรมศาสดา ก็สอดแทรกเป็นบทกลอนขึ้นมาเพื่อจะชักจูงให้นายธนิยะและภรรยาเลิกล้มความตั้งใจที่จะบวชด้วยสำนวนว่า....

คนย่อมเพลิดเพลินเพราะอุปธิทั้งหลาย 
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีบุตร ย่อมเพลิดเพลินเพราะบุตร 
บุคคลมีโคย่อมเพลิดเพลินเพราะโค ฉะนั้น 
คนผู้ไม่มีอุปธิ ย่อมไม่เพลิดเพลินเลย ฯ

ก่อนที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาในคาถานี้ เรามาทำความรู้จักพญามาร ตามตำนานในพระพุทธศาสนากันก่อน ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นที่อยู่ของสัตว์เรียกว่า "ภพ" แบ่งเป็น ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ... เฉพาะ "กามภพ" ก็แบ่งเป็น อบายภูมิ และสุคติภูมิ ... เฉพาะ "สุคติภูมิ" ก็แบ่งเป็น โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์ ... เฉพาะ "โลกสวรรค์" นั้นมีอยู่ ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรตี และปรนิมมานรตี ... เฉพาะ "ปรนิมมานรตี" ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นสูงสุดนั้น มีพญามารเป็นใหญ่ถือสิทธิปกครองมีอำนาจประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ดังนั้น พญามารจึงจัดว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในกามภพ บรรดาลูกน้องของจอมมารในชั้นนี้เรียกกันว่าเทวปุตตมาร ซึ่งทั้งจอมมารและบรรดาเทวปุตตมารเหล่านี้ จะคอยติดตามเพื่อบ่อนทำลายพระพุทธเจ้าเสมอ... เทวปุตตมารที่กล่าวคาถาสอดแทรกตามข้างต้นก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้... ที่ว่ามานี้เป็นเพียงนัยแรก

อีกนัยหนึ่ง ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาก็ได้อ้างไว้เหมือนกัน เทวปุตตมารผู้มีบาป ในที่นี้ อาจเป็นใครบางคนแถวนั้นที่สะกดฟังการตอบโต้ด้วยบทกลอนระหว่างพระพุทธเจ้ากับนายธนิยะ เมื่อนายธนิยะยอมแพ้ศิโรราบแล้วมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอบวช ด้วยความเห็นผิดของตน ก็รู้สึกไม่ชอบใจ ไม่เห็นด้วย ต้องการจะคัดค้านไม่ให้บวช จึงกล่าวคาถานี้ขึ้นมาก็เป็นไปได้ ซึ่งคนทำนองนี้ก็เรียกว่ามารเหมือนกัน ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้ คนไทยก็ยังใช้อยู่แม้ในยุคปัจจุบัน โดยประสงค์เอาใครก็ตามที่มักขัดขวางผู้ที่จะทำความดีว่า เป็นมาร

จะเป็นมารจริงหรือเปรียบเหมือนมารก็ตาม เรามาพิจารณาคาถาที่เทวปุตตมารยกขึ้นมา ในวรรคแรก "คนย่อมเพลิดเพลินในอุปธิทั้งหลาย" .. คำว่า "อุปธิ" นั้น ถ้าจะแปลตรงตัวก็แปลว่า "การเข้าไปทรงไว้" แปลโดยเอาความก็หมายถึงที่ตั้งหรือที่รองรับก็ได้ นั่นคือ มารบอกว่า คนเราเกิดมาก็เพียงเพื่อรองรับความเพลิดเพลิน ความสุข ความสนุกสนาน เท่านั้น มิได้มีอะไรมาก เช่น เมื่อคนเรามีลูกเราก็ย่อมเพลิดเพลินมีความสุขอยู่กับลูก เมื่อคนเรามีโคซึ่งเป็นตัวอย่างของทรัพย์สมบัติ เราก็ย่อมมีความเพลิดเพลินมีความสุขอยู่กับทรัพย์สมบัตินั้น แต่ถ้าคนเรามาบวชไม่รองรับอะไรเลย จะมีความสุขความเพลิดเพลินได้อย่างไร

คาถาของมารสอดแทรกขึ้นมาก็เพื่อจะโน้มน้าวให้นายธนิยะและภรรยาล้มเลิกความตั้งใจที่จะบวช (สังคมไทยถือว่าการบวชเป็นสิ่งที่ดี พอใครอยากจะบวช คนที่ไม่เห็นด้วย กล่าวคัดค้าน ก็มักจะถูกเปรียบว่าเป็นมาร ทำนองนั้นนี้แหละ) พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบโต้มารว่า....

คนย่อมเศร้าโศกเพราะอุปธิทั้งหลาย 
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร 
บุคคลผู้มีโค ย่อมเศร้าโศกเพราะโค ฉะนั้น 
คนผู้ไม่มีอุปธิ ย่อมไม่เศร้าโศกเลย ฯ

คาถาประพันธ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นการมองต่างมุม มารบอกว่าคนเป็นที่รองรับความเพลิดเพลินทั้งหลาย แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าการรองรับสิ่งทั้งหลายต่างหากที่ทำให้เกิดความเศร้าโศก เช่น คนมีลูก ก็ย่อมมีทุกข์ มีความเศร้าโศกเพราะลูก หรือคนมีทรัพย์สมบัติ ก็ย่อมมีทุกข์ มีความเศร้าโศกเพราะทรัพย์สมบัติ ส่วนคนที่ไม่รองรับอะไรเลย ก็ย่อมไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเศร้าโศกอะไรเลย... ทำนองนี้

ธนิยสูตรในพระไตรปิฏกก็จบลงด้วยคาถาบทนี้ ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาได้บอกเล่าเรื่องราวหลังจากนายธนิยะและภรรยาบวชแล้วเพิ่มเติมไว้ ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าเป็นตอนสุดท้าย...

คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539814เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท