ที่มาของคำว่า "โบราณคดี"


กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่โบราณคดีสโมสร

เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๔๑  พระราชวังโบราณ  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


  ประเทศทั้งหลายซึ่งได้ควบคุมกันเป็นชาติและประเทศขึ้นย่อมถือว่าเรื่องราวของของชาติและประเทศขึ้นย่อมถือว่าเรื่องราวของชาติตนและประเทศตน  เป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะพึงศึกษาและพึงสั่งสอนกันให้รู้ชัดเจนแม่นยำ  เป็นวิชาหนึ่งซึ่งจะได้แนะนำความคิดและความประพฤติซึ่งจะพึงเห็นได้  เลือกได้ในการที่ผิดชอบชั่วดี  เป็นเครื่องชักนำให้เกิดความรักชาติและรักแผ่นดินของตัว  ถึงว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ชั่วช้าไม่ดีอย่างใด  ก็เป็นเครื่องที่จะจำไว้ในใจ  เพื่อจะละเว้นกีดกันไม่ให้ความชั่วความไม่ดีนั้นมาปรากฏขึ้นอีก  ในเวลาซึ่งเราทั้งหลายเป็นผู้ทำเหมือนตัวละครที่ทำบทอยู่ในเวลานี้  ถ้าเรื่องใดที่ดีก็ทำให้ใจคอเพื่องฟูให้เกิดความเย่อหยิ่งขึ้นในใจ  ซึ่งจะใคร่ได้และจะใคร่รักษา ความดีนั้นไว้ทั้งจะใคร่ทำขึ้นใหม่ให้เทียบเคียงกัน  หรือดียิ่งขึ้นกว่าเก่า  การเรียนรู้เรื่องประเทศของตนเมื่อผู้ใดได้เรียนด้วยความประสงค์อันดี  จะได้รับแต่คุณไม่มีโทษ  ดังได้กล่าวมาโดยสังเขปเช่นนี้  เรื่องราวของประเทศทั้งหลายซึ่งมนุษย์อาจทรงจำได้ย่อมจะมีหลักฐานอยู่เพียง  ๖,๐๐๐ ปี  แต่ย่อมประกอบด้วยเรื่องราวอันไม่น่าเชื่อถือปนเป็นนิทาน  ข้อความซึ่งได้มั่นคงอย่างสูงก็อยู่ภายใน ๓,๐๐๐ ปี  แต่ประเทศโดยมากในชั้นปัจจุบันนี้  มักจะตั้งตัวได้เป็นปึกแผ่นราว ๑,๐๐๐ ปี เมื่อมีหนังสือเรื่องราวซึ่งเป็นหลักฐานมั่นคง  ไม่เป็นแต่ใช้เครื่องหมายรูปนกรูปกาหรือรูปภาพที่เขียนต้องคิดประกอบ  แต่ความรู้สึกยืดยาวขึ้นไปเป็นเช่นนี้ย่อมมีในประเทศที่มีแบบแผนเป็นหลักฐานในบ้านเมืองที่ถึงความรุ่งเรืองแล้วในสมัยนั้น  ถ้าหากว่ายังเป็นเมืองที่คงป่าเถื่อนไม่รู้จักหนังสือไม่รู้จักเล่าต่อกันก็รู้ได้เพียงชั่วอายุหรือสองอายุคน  บ้านเมืองเช่นนี้ก็ยังมีอยู่

  กรุงสยามนี้เป็นประเทศที่มีเคราะห์ร้าย  ถูกข้าศึกศัตรูคิดทำลายล้างอย่างรุนแรงเหลือเกินยิ่งกวาชาติใดๆ  ที่แพ้ชนะในการสงคราม  หนังสือเก่าซึ่งควรจะสืบสวนได้สาบสูญไปเสียเป็นอันมาก  ตามเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้มีน้อยเกินกว่าความจริงที่ควรจะมีเป็นอันมาก  แต่ความเจริญบริบูรณ์ดีในบางกาลบางสมัย  ถ้าจะนับก็จะได้ถึงพันปี  ข้อนี้ย่อมรู้ปรากฏอยู่แก่ผู้ที่เอาใจใส่ในเรื่องราวของประเทศสยามและมีหนังสือซึ่งเป็นหลักฐานควรอ้างอิง  แต่หากจะเป็นช่วงๆ ไป  จะเรียบเรียงให้ติดต่อกันเป็นบริบูรณ์ทั้งพันปีไม่ได้  ยังมีข้อที่น่าเสียใจอยู่อีกกว่าในกาลปางก่อน  ความใส่ใจในการที่จะเรียบเรียงหนังสือมีน้อยกว่าประเทศอื่น  มักจะรู้และจำไว้เล่ากันต่อมา  ไม่ใช่จะเป็นชาติที่จะเล่าเรื่องไม่เป็นเช่นคนดำหัวหยิก  เว้นไว้แต่เป็นชาติที่ไม่ชอบแต่งหนังสือ  จึงได้แต่คำบอกเล่าต่อๆ กันมา  ความจึงเลอะเลือนวิปลาสซ้ำซากจนไม่น่าเชื่อ  และมีร้ายยิ่งกว่านั้นตกมาในชั้นหลังไปยอมรับพระราชพงศษวดารกรุงเก่าว่าเป็นเรื่องราวของแผ่นดินสยาม  ข้อความนอกจากที่เขียนไว้ในพระราชพงศาวดารถือเสียว่าเป็นนิทาน  มีผู้เอาใจใส่ฟังแต่น้อย  จะเล่าให้ผู้ใดฟังก็ไม่มีความพอใจเหมือนฟังนิทานไม่ใช้สติปัญญาตริตรองเทียบเคียงและจดจำไว้  ความหลังพระราชพงศาวดารนี้ไทยให้ทอดธุระเสียว่าเรื่องราวของชาติและประเทศเราอยู่เพียงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑  สร้างกรุงทวารวดีศรีอยุธยา  เรื่องราวที่เก่ากว่านั้นน่าจะพิจารณาก็ได้ละทิ้งเสียทั้งสิ้น  เพราะเห็นว่าปีก็ล่วงมาถึง ๔๐๐, ๕๐๐ ปี  พอแก่ความปรารถนาที่จะรู้อยู่เพียงนั้นแล้ว

 ความจริงชื่อพระราชพงศาวดาร  เขาได้ตั้งชื่อขึ้นโดยความซื่อตรงต่อหนังสือที่เขาเรียงความ  จงใจมุ่งหมายที่เรียงพระราชพงศาวดารนั้น  เขาหมายจะเรียงเรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสืบสันตติวงศ์ลงมาจนถึงเวลาที่เขียนนั้น  เรื่องราวกิจการบ้านเมืองอันใดที่กล่าวในพงศาวดาร  เขาประสงค์จะกล่าวประกอบประวัติความเป็นไปของพระเจ้าแผ่นดินนั้นว่าสุขทุกข์ดีร้ายอย่างไร  ในเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ไม่ได้ตั้งใจที่จะกล่าวถึงประเทศสยามทั่วไป  เพราะเหตุฉะนั้นคำที่เรียกว่าพงศาวดารเรียกโดยความซื่อตรงต่องานที่จะทำ  มิใช่เราไม่รู้ว่าคำพงศาวดารนั้นแปลว่าอะไร  แต่หากเราปราศจากความพิจารณาไปหลงแปลเองว่าเรื่องราวของแผ่นดินสยาม  ข้อความจึงบกพร่องไม่พอแก่การพิจารณาเสียเลย  ถ้าผู้ใดได้อ่านเรื่องราวของประเทศอื่นจะกล่าวได้ว่า  เรื่องราวของประเทศสยามนี้ช่างไม่มีอะไรเสียจริงๆ  มีแต่เล่าถึงเจ้าแผ่นดินเท่านั้น  อยากจะกล่าวด้วยว่าได้ยินคนพูดแล้วด้วยซ้ำไป  แต่ผู้ที่พุดนั้นไม่ไช่ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในที่นี้  ข้อความนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้เห็นปรากฏเป็นพยานว่า  ความที่หลงเชื่อพงศาวดารนี้จึงทำให้เป็นผู้ติเตียนได้และไม่ใส่ใจฟังเรื่องเราของเราเลยด้วย  กรุงสยามเป็นประเทศที่แยกกันบ้างเป็นบางคราว  รวมกันบ้างบางคราว  ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองก็ต่างชาติกันบ้าง  พงศาวดารได้เลือกกล่าวแต่เฉพาะเวลาที่แผ่นดินสยามได้รวมกันเป็นพระราชอาณาจักรอันเดียวในชั้นหลัง  เชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินก็เลือกแต่เฉพาะวงศ์ไทยที่ได้ลงมาแต่ข้างฝ่ายเหนือ  แม้แต่วงศ์ที่ตั้งอยู่ในกรุงสุโขทัยแล้วก็ยังไม่นับ  นอกจากได้ออกชื่อครั้งเดียว  เมื่อคราวถึงขุนพิเรนทรเทพในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิจะป่วยการกล่าวไปใยถึงนครอันใหญ่ซึ่งตั้งอยู่เฉพาะนัยน์ตา  เช่นที่เก่าขึ้นไปคือกรุงนครไชยศร  กรุงลพบุรี  ซึ่งเรายังไม่ใคร่พบเป็นเรื่องเป็นราวกล่าวถึงนครทั้งสองนั้นเป็นการมั่นคว  มีแต่จ้อความเป็นครั้งเป็นคราวที่ได้กล่าวถึงในหนังสืออื่นหรือเป็นนิทาน  แต่เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งยังไม่ได้สาบสูญคงเป็นบ้านเมืองอยู่บัดนี้  และเป็นชาติไทยแท้  ยังหลงไปว่าเป็นชาวนครนอกนับเข้าไป๑๒ภาษาได้  ความเห็นอันคับแคบเช่นนี้ตลอดจนถึงชั้นหลังสุดคือกรุงศรีอยุธยาหรืออโยธยา  ซึ่งตั้งอยู่ณฝั่งตะวันออกตรงปละท่าคูจาม (ประทาคูจาม)  ที่พระเจ้าอู่ทองมาตั้งก่อนสร้างพระนครทวารวดี  ซึ่งมีเจดีย์ฐานปรากฏอยู่จนทุกวันนี้  และเป็นที่เจ้าแผ่นดินในกรุงทวารวดีได้ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นแทยทั้งนั้น  เช่นวัดพนัญเชิง  วัดใหญ่ไชยมงคล  อันอยู่ในท่ามกลางพระนครเก่า  วัดศรีอโยชฌิยาวัดเดิม  ซึ่งเป็นคณะอรัญวาสีเหนือเมืองวัดกุฎิดาว  วัดมเหยงคณ์  ซึ่งเป็นอรัญญวาสีฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง  เป็นต้น

 ทั้งที่เห็นอยู่เช่นนี้และได้ไปบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น  ถึงว่าจะยังรักษาความสัตย์  ใช้คำว่าปฏิสังขรณ์ไม่ใช่สร้างขึ้นใหม่แห่งทั่วไปก็ได้ละเสียไม่กล่าวถึงเรื่องเก่าของกรุงอยุธยานั้นเลย  น่าจะเป็นเรื่องที่รู้กันแก่ใจไม่ต้องเล่า  ข้อที่ไม่เขียนลงไว้นั้น  ก็เป็นตามนิสัยและความไม่ต้องการของเวลานั้น  หรือจะมีพงศาวดารฉบับอื่นต่างหากซึ่งได้กล่าวถึงอยู่แล้วเช่นพงศาวดารเหนือ  แต่หากหนังสือฉบับนั้นสูญหายในเวลาที่เกิดวิบัติแก่บ้านเมือง  ฉบับที่เราได้เห็นอยู่นี้ก็เป็นแต่มีผู้รู้ว่าพงศาวดารเหนือมีอยู่  แต่ต้นฉบับสาบสูญไปหาไม่ได้  หรือได้แต่ขาดร่องแร่ง  จึงขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในเวลานั้นช่วยแต่งเพิ่มเติม  แต่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่นั้นจำไม่ได้ด้วยความชราหลงลืมจึงเล่าซ้ำๆซากๆไป  ผู้ที่ขอให้เขียนนั้นหากว่าเป็นผู้ซึ่งใส่ใจตรตรองอยู่แล้ว  ก็คงซักไซ้ทักท้วงให้เป็นทางดำริของผู้หลักผู้ใหญ่  แต่ผู้ซึ่งใส่ใจในทางโบราณคดีเวลานั้นเห็นจะมีน้อยด้วยความพอใจในพระราชพงศาวดารกรุงทวารวดีว่า  เก่าพออยู่แล้วดังได้กล่าวมานั้น  จึงไม่ซักไซ้ถามให้ชัดเจน  ดูก็เป็นที่น่าเสียดายเป็นอันมากแต่เพียงอายุขนาดข้าพเจ้าเองยังได้ยินถ้อยคำที่ผู้หลักผู้ใหญ่เล่าถึงข้อความชั้นกรุงทวารวดีมากออกไปกว่าพระราชพงศาวดารที่ได้เรียบเรียงขึ้นไว้เป็นหลายอย่าง  แต่ก็ไม่มีในจดหมายเหตุแห่งหนึ่งแห่งใด  ฟังแล้วก็เล่ากันต่อไป  ผู้ที่อยากฟังก็น้อยลงไปทุกที  ผู้ที่เล่าก็กลายเป็นผู้ที่บ่นพึมพำซ้ำๆ  ซากๆ  เพราะผู้ที่เล่านั้นอายุแก่เข้าทุกทีๆ  ข้อความสูญไปด้วยเช่นนี้โดยมาก  โทษที่ไม่เขียนเป็นตัวหนังสือขึ้นไว้

 ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงมีความพอใจที่ได้เห็นท่านทั้งหลายเอาใจไส่ในพงศาวดารและเรื่องราวของชาติบ้านเมืองได้เกิดขึ้นใหม่  เป็นที่วางใจว่าความไม่พอใจฟังเรื่องราวของประเทศตัวจะไม่เสื่อมซา  สิ้นเร็วเหมือนอย่างที่ได้เป็นมาแล้ว  และทั้งผู้ที่ซึ่งจะได้เข้าในสโมสรโดยมากเป็นผู้ที่มีวิชาสามารถที่จะฟังเรื่องราวและเรียบเรียงด้วยตา  และหูอันได้รู้เรื่องราวของประเทศอื่นๆและอาจเลือกเฟ้นข้อสำคัญและไม่สำคัญดีกว่าผู้ที่ไม่มีวิชาต่างประเทศ


หมายเลขบันทึก: 539744เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท