ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๒๗. ไปกระบี่



          ค่ำวันที่ ๒๒ เม.ย. ๕๖ คณะสัมมนา Leadership Forum for Health Professional Education Development ก็ลงเครื่องบินการบินไทยที่สนามบินนานาชาติกระบี่

          เป็นครั้งแรกที่ผมไปกระบี่ทางเครื่องบิน  และเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสสนามบินแห่งนี้ ซึ่งกว้างขวางใหญ่โต  และเมื่อนั่งรถตู้ไปร้านอาหาร “เรือนไม้” และจากร้านอาหารไปหาดนพรัตน์ธารา  ผมก็บอกตัวเองว่า จังหวัดกระบี่เปลี่ยนแปลงไปมาก  หลังจากผมไปครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว  สมัยผมยังทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

          จุดเด่นของร้านอาหารเรือนไม้ คือเรือนไม้ไผ่ ที่หลังคาทรงสูงมุงด้วยไม้ไผ่สองชั้น  คล้ายหลังคาไม้สักของภาคเหนือ  ไต่ถามได้ความรู้ว่าฝนตกน้ำไม่รั่ว  และเขารับประกันอยู่ได้ ๑๐ ปี  ไม้ไผ่มาจากกำแพงเพชร หลังคาแบบนี้ให้ความเย็นดีมาก เพราะปล่อยให้อากาศร้อนออกไปทางหลังคาได้  และทรงของหลังคาต้องสูงและมีความชันสูง มิฉนั้นน้ำฝนจะรั่ว

          ไม่ใช่เด่นเฉพาะเรือนไม้ไผ่  อาหารของร้านนี้ก็อร่อยด้วย  เป็นครั้งแรกที่ผมได้กิน “หอยชักตีน” เผา ของชาวปักษ์ใต้ หรือหอยหวานของชาวกรุงเทพ

          เราไปขึ้นเรือที่หาดนพรัตน์ธารานั่งไป ๑๐ นาทีก็ถึงท่าของโรงแรม  ที่สะพานขึ้นเรือทำด้วยทุ่นลอยผูกติดกันอย่างดี  แต่มันก็มีคลื่นเล็กน้อยต้องเดินทรงตัวให้ดี  และตอนขากลับ บ่ายสี่โมงวันที่ ๒๔ เม.ย. น้ำลงและคลื่นแรง  เดินยาก เจ้าหน้าที่ของเรือต้องมาช่วยพยุง 

          ผมนอนฟังความไพเราะของเสียงคลื่นตอนเช้ามืดของวันที่ ๒๓ และ ๒๔  ที่ระเบียงห้อง๑๒๖๔  ได้ฟังเสียงคลื่นและเสียงนกกางเขนร้องไพเราะจับใจ  น่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ผมได้ฟังเสียงคลื่นประสานเสียงนกกางเขน 

          เช้าวันที่ ๒๓ ผมเดินออกกำลังที่ชายหาด  ได้สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดลึกๆ  และเดินข้ามเขาไปที่ฝั่งอ่าวนาง  โดยที่ทางโรงแรมจัดทำบันไดและราวจับให้อย่างดี  ปีนขึ้นและปีนลง ๑๐ นาที ก็ไปถึงฝั่งอ่าวนาง  แต่ผมไม่ได้ไปเดินที่หาด  ได้แต่ถ่ายรูปจากไกลๆ 

          ที่ฝั่งอ่าวนางผมไปเห็นแอ่งน้ำเสียที่ดำเป็นน้ำครำ และไหลออกทะเล  ถามชาวบ้านว่าน้ำเสียมาจากไหนก็ไม่มีใครรู้  ผมนึกตำหนิทางผู้บริหารโรงแรมเซนทารา ว่าละเลยไม่รู้จักเอาใจใส่การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจโรงแรมของตน  แบบเดียวกับที่ผมไปพบที่ชุมพร ตาม บันทึกนี้

          ชายหาดส่วนที่เป็นของโรงแรมเซนทารา เป็นเสมือนหาดส่วนตัว  เพราะมาถึงได้ทางเรือ หรือเดินข้ามเขามาเท่านั้น  และเขามียามคอยห้ามคนที่ไม่ใช่แขกพักที่โรงแรมเข้ามา  เสน่ห์ของชายหาดนี้คือเกาะรูปร่างแปลกๆ

          เช้าวันที่ ๒๔ ผมเดินออกกำลังกายภายในบริเวณโรงแรม  ได้ชื่นชมต้นไม้ และบรรยากาศ และได้ถ่ายภาพสวยงามให้ความสดชื่นอย่างยิ่ง


วิจารณ์ พานิช

๒๔ เม.ย. ๕๖



                         เรือนไม้(ไผ่)



    โครงสร้างภายในของหลังคาเรือนไม้ไผ่



                                              ศิลปะชายหาด (รูปู)

  


                                    ความสงบงามของชายหาดยามเช้าตรู่



                   บันไดสำหรับไต่เขา



                         ชายหาดอ่าวนาง เห็นร่องรอยมลภาวะที่ชายหาด



                                            น้ำเสียมาจากไหน



                                          ความงามของต้นไม้



                                                    นี่ก็งาม



                                     ยามเย็น ถ่ายจากห้องพัก ๑๒๖๔



                                  ชายหาดยามเย็น ถ่ายจากแพเทียบเรือ



                                                  หินงาม



                                              น้ำทะเลสีมรกต


                             ปาล์ม


                                               ต้นไม้กับชายทะเล



                                               ทางเข้า ล็อบบี้

















หมายเลขบันทึก: 538890เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับ สำหรับรูปภาพสวยๆ และข้อคิดดีๆที่สร้างสรรค์ของอาจารย์ ทำให้ผมนึกถึงช่วงที่ผมเป็นผู้บริหารโรงแรมที่เกาะ พี พี ไม่ทราบอาจารย์เคยไปหรือยังครับ โรงแรมที่ผมเคยบริหารอยู่ด้านแหลมตง สถานที่โรงแรมอยู่ในทำเลที่สวยที่สุดบนเกาะ พี พี ครับ ถ้าอาจารย์ยังไม่เคยไปอยากให้อาจารย์หาโอกาสไปพักครับ 

พักโรงแรมดังๆริมหาดในบ้านเราทีไรจะรู้สึกว่า เขาเอาเปรียบคนพื้นที่และโลกนี้ด้วยการเอาสมบัติของธรรมชาติมาเป็นของตัวเองนะคะ อาจารย์

ได้เห็นมุมมองผ่านเลนส์ของท่านอาจารย์ด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท