เก็บตกกิจกรรมวันสงกรานต์ : ว่าด้วยนิสิตกับชุมชน...


ไม่มีอะไรมั่นคงโดยไม่เปลี่ยนผัน กิจกรรมนิสิตย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มิติแห่งการเปลี่ยนแปลงอาจก่อเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำนิสิตโดยตรง หรือแม้แต่การขาดกระบวนการของการเรียนรู้และถอดบทเรียนจากอดีตกาลบนถนนสายกิจกรรมที่เขาเหยียบยืนอยู่ และนั่นยังหมายถึงการละเลยที่จะ “สอนงาน” ของเหล่าบรรดา “พี่เลี้ยง” จากพี่ๆ กองกิจการนิสิตก็เถอะ ผมถือว่าทุกภาคฝ่ายได้คิดและทำในสิ่งที่ตนเองอยากจะทำอย่างดีที่สุดแล้ว

กิจกรรมวันสงกรานต์ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งปรากฏในสองมิติคือ (1)  กิจกรรมที่จัดขึ้นโดยองค์กรนิสิต ประกอบด้วยสภานิสิต องค์การนิสิตและสโมสรนิสิต  (2) กิจกรรมที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยฯ ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยฯ

ปีนี้องค์กรนิสิตโดยการนำของนายกานต์ชนก ใคร่อุบล (นายกองค์การนิสิต) ขับเคลื่อนการสืบสานประเพณีสงกรานต์ในชื่อ “มอน้ำชีเอ้พระฮดสรงน้ำ มหาสารคามวัฒนธรรม งามล้ำประเพณีบุญเดือนห้า เลอค่าพระกันทรวิชัยคู่เมือง”  ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556  ณ บริเวณส่วนป่าด้านข้างอาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม




ข้อสังเกตเบื้องต้นเป็นที่น่าชื่นชมว่าในปีนี้องค์กรนิสิตและมหาวิทยาลัยหันกลับมารังสรรค์กิจกรรมนี้ร่วมกัน  เสมือนการเชื่อมร้อยให้บุคลากรและนิสิตได้สานสัมพันธ์กันและกันให้แน่นเหนียวมากยิ่งขึ้น

โดยก่อนกิจกรรมจะเปิดตัวขึ้นมีการหารือร่วมกัน และนำมาซึ่งกระบวนการ หรือวิธีการที่เกี่ยวข้องร่วมกันหลายประการ เช่น  มุ่งเน้นขบวนแห่ที่สื่อให้เห็นประเพณีบุญเดือน 5 (สงกรานต์) นำพาชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม  การประกวดเทพีสงกรานต์  การก่อเจดีย์ทราย  ซึ่งเกี่ยวกับขบวนแห่นั้น  กำหนดให้ตั้งขบวนเป็นสองเส้นทาง  กล่าวคือนิสิตเคลื่อนออกจากเทศบาลตำบลขามเรียง ส่วนมหาวิทยาลัยเคลื่อนขบวนออกจากเทศบาลตำบลท่าขอนยาง






ย้อนกลับปี 2550  นั่นเป็นปีแรกที่องค์การนิสิตได้ริเริ่มงานสงกรานต์ขึ้นในมิติของนิสิต  ภายใต้หลักคิดอันสำคัญคือการสานสัมพันธ์กับชุมชน ด้วยการนำ “ผู้เฒ่าผู้แก่” จากหมู่บ้านต่างๆ เข้าสู่มหาวิทยาลัยเพื่อ “รดน้ำดำหัว”  เสมือนการฝากตัวเป็น “ลูกฮัก”  

ถัดจากนั้นแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านก็เริ่มผลิบานขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการผนึกกำลังกันของนิสิต มหาวิทยาลัยและ อบต.  ซึ่งในบางปีมีผู้ว่าราชการมาเปิดงาน รวมถึงขบวนแห่ก็มีชาวบ้านเข้ามาร่วมอย่างแจ่มชัด  เช่นเดียวกับการที่มหาวิทยาลัยได้จัดให้บริการตรวจสุขภาพแก่ชาวบ้าน รวมถึงการมอบเกียรติบัตรเชิดชูปราชญ์ชาวบ้านในด้านการ “ตบปะทาย” (ก่อเจดีย์ทราย) หรือแม้แต่การทำขนมไทย


สำหรับผมแล้ว  ภาพความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนในเวทีวันสงกรานต์นั้นแจ่มชัดยิ่งนัก  อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมคิด หรือแม้แต่ร่วมสนับสนุนแนวคิดของนิสิตมาเป็นระยะๆ ยิ่งในบางปีที่ผมมีสถานะเกี่ยวข้องโดยตรง  ผมยิ่งเน้นย้ำให้เกิดภาพร่วมที่มีชีวิตระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ดังจะเห็นได้จากวาทกรรมบางอย่างที่ผมได้เขียนสะท้อนไว้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เช่น 

    ·  ยายครับ ที่ตรงนี้ยังเป็นที่ของยายเสมอ
  ·  ลูกต่างบ้าน หลานต่างเมือง ขอฮวมเฮือนชายคาเดียวกัน
  • เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน





ละด้วยความที่มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมวันสงกรานต์ร่วมกับชุมชนเป็นหัวใจหลัก  นิสิตเองก็ได้สร้างวาทกรรมชวนจดจำไว้หลายวาทกรรมด้วยเช่นกัน  อาทิ  ม่วนซื่นเบิกบาน มหาสงกรานต์ มมส,   เบิ่งอีสาน...สงกรานต์ มมส, สงกรานต์ร่วมใจมหาวิทยาลัยกับชุมชน  ฯลฯ


 



กระนั้นก็เถอะ  สำหรับผมแล้ว  ผมสุขใจเป็นที่สุดก็คือการได้เห็นวาทกรรม “บันเทิงเริงปัญญา”  ของผมมีที่เหยียบยืนใน “วันสงกรานต์”  ของนิสิตมาเป็นระยะๆ  เพราะในเกือบทุกปีการจัดกิจกรรมวันสงกรานต์  จะมีกิจกรรมอันเป็นองค์ความรู้ที่ทุกองค์กรร่วมใจสอดแทรกไว้อย่างสม่ำเสมอ เช่น 

· ในทุกขบวนแห่ของแต่ละคณะจะนำเสนอเรื่องราวประเพณีของจังหวัดต่างๆ รวมถึงในบางปีก็สะท้อนถึงการละเล่นไทยในขบวนแห่
· มีการจัดทำสูจิบัตรและนิทรรศการที่เกี่ยวกับตำนานสงกรานต์
· มีการเชิญชาวบ้านมาร่วมประชัน หรือร้องโชว์ “สรภัญญะ”
· มีการประกวดต้นแบบผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี
· การจัดขบวนแห่จากชุมชนโดยตรงที่สะท้อนเรื่องราวของผู้คนในชุมชนนั้นๆ
· การเชิญชาวบ้านมาเป็น “พี่เลี้ยง” แนะนำการก่อเจดีย์ทราย ฯลฯ




แน่นอนครับ  ไม่มีอะไรมั่นคงโดยไม่เปลี่ยนผัน  กิจกรรมนิสิตย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  มิติแห่งการเปลี่ยนแปลงอาจก่อเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำนิสิตโดยตรง หรือแม้แต่การขาดกระบวนการของการเรียนรู้และถอดบทเรียนจากอดีตกาลบนถนนสายกิจกรรมที่เขาเหยียบยืนอยู่  และนั่นยังหมายถึงการละเลยที่จะ “สอนงาน” ของเหล่าบรรดา “พี่เลี้ยง”  จากพี่ๆ กองกิจการนิสิตก็เถอะ  ผมถือว่าทุกภาคฝ่ายได้คิดและทำในสิ่งที่ตนเองอยากจะทำอย่างดีที่สุดแล้ว




เช่นเดียวกับสงกรานต์ในเวทีของนิสิตในปีนี้ ถึงแม้ความเป็น “ชุมชน”  จะหดหายไปจากเวทีอย่างชัดแจ้ง  แต่คงไม่ใช่ตัวชี้วัดว่ากิจกรรมของนิสิตจะไม่ประสบความสำเร็จ  หากแต่นิสิตเองก็คงต้องเปิดใจที่จะถามทักตัวเองว่า “ความเป็นมหาวิทยาลัยกับชุมชนในวันสงกรานต์นั้น ควรเป็นเช่นไร”  เพราะอาจมีความหมายบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ตรงนั้น  เป็นต้นว่า  การจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของนิสิตกับชุมชนบนฐานวัฒนธรรมของ “ขามเรียง-ท่าขอนยาง  เพราะต้องไม่ลืมว่า “มหาวิทยาลัยล้วนเป็นแต่เพียงผู้มาใหม่...ชุมชนคือผู้ที่อยู่ตรงนี้มาก่อน”  หรือแม้แต่อัตลักษณ์ของความเป็นนิสิตในเวทีสงกรานต์นั้น ควรต้องแสดงบทบาท หรือพลังปัญญาในรูปแบบใด  





เหนือสิ่งอื่นใด  ผมมองว่าคงไม่มีใครผิดใครถูก ไม่มีใครหลงทิศหลงทาง  เราล้วนเรียนรู้และเติบโตจากการปฏิบัติ เพื่อก่อให้เกิด “ปัญญาปฏิบัติ”  เฉกเช่นกับคนทุกคนล้วนมีวิธีคิดและเหตุผลของตนเองด้วยกันทั้งนั้น  ขึ้นอยู่กับว่าการลงมือทำอะไรซักอย่าง ใครแต่ละคน จะหวนคิดคำนึงถึง “ต้นทุน” (บางอย่าง)  หรือหยิบจับต้นทุน (บางอย่าง) ออกมา “สะสางและต่อยอด”  ให้ก่อเกิดประโยชน์ทั้งในมิติของการเรียนรู้และพัฒนาต่อตนเองและสังคมแค่ไหน


  

ครับ, ยืนยันว่าชื่นชมและให้กำลังใจกับนิสิต
อย่างน้อยก็ได้คิดและทำในสิ่งที่นิสิตอยากจะทำ ---

เอาไว้ปีหน้า บางทีเราอาจหวนกลับไปคิดเรื่องโจทย์การมีส่วนร่วมของชุมชนกันอีกรอบก็ไม่เสียหลายอะไร 


หมายเหตุ 
1.ภาพโดย จันเพ็ญ ศรีดาวและคณะ
2.ผลประกวดแข่งขัน

    2.1  ประกวดเทพีสงกรานต์

ชนะเลิศ ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์

รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม

รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คณะการบัญชีและการจัดการ

    2.2 ผลการประกวดขบวนแห่

ชนะเลิศได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์

รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คณะศิลปกรรมศาสตร์

    2.3  ผลการประกวดเจดีย์ทราย

ชนะเลิศได้แก่ คณะเทคโนโลยี

รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมืองและนฤมิตศิลป์

รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์

รางวัลชมเชย ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์



หมายเลขบันทึก: 537647เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2013 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2013 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะอาจารย์

เยาวชนร่วมสืบทอดประเพณีไทย  มรดกไทยไม่สูญหายไปจากแผ่นดินจ้ะ  

เป็นตามวนคักหลาย

น่าชื่นชมมากๆ ครับ

เป็นกิจกรรมดีๆ ที่ไม่ควรลืม แม้จะผ่านมาเป็นเดือนก็ยังคงดูครึกครื้น

-สวัสดีครับ..

-ตามมาชมภาพกิจกรรมดี ๆ ครับ..

-น้อง ๆ นักศึกษามีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่างเลยนะครับ..

-ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันครับ..


ดีจังค่ะ...ชอบใจคำนี้ "บันเทิงเริงปัญญา"...

วรรณกรรมทบทวน

(1)“ม่วนชื่นเบิกบาน มหาสงกรานต์ มมส” วันที่ 5 เมษายน 2550 ณ หอพระกันทรวิชัยฯ บริเวณหอ(พัก)ใน โดยการนำของนายอนุสรณ์ ตาดทอง นายกองค์การนิสิต จากกลุ่มนิสิตพลังสังคม ถือเป็นปฐมฤกษ์ของการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ภายใต้การจัดงานโดยนิสิตเพื่อมวลนิสิตเป็นครั้งแรก ภายในงานมีกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูป ในภาคเช้า ภาคบ่ายมีขบวนแห่พระพุทธรูปเพื่อสรงน้ำพระ มีการออกซุ้มน้ำต่างๆ มีพระพุทธรูปประดิษฐานภายในซุ้มสำหรับการสรงน้ำพระ และมีการรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ เป็นต้น ในปีนี้ได้รับเกียรติจากท่านรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต (รองศาสตราจารย์สุรชา อมรพันธุ์) เป็นประธานในพิธี

(2)“ปีใหม่อีสาน สงกรานต์ มมส” วันที่ 9 เมษายน 2551 ณ บริเวณลานกิจกรรม ABCD ภายใต้การนำของนายธนิส ปุลันรัมย์ นายกองค์การนิสิต จากลุ่มนิสิตชาวดิน ถือเป็นการสานสืบทอดเจตนารมณ์ และส่งต่อกิจกรรมอันทรงคุณค่ารวมถึงการผนวกเอาชุมชน(ขามเรียง)เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม อีกทั้งยังเป็นมิติใหม่โดยจับมือกับทางมหาวิทยาลัยฯในการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ขึ้น ภายในงานมีกิจกรรมภาคเช้าคือตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูป ภาคบ่ายมีขบวนเอ้พระพุทธรูปประจำคณะ/หน่วยงานเข้าสู่ศูนย์กลางพิธีเพื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระพุทธรูป และตามด้วยการสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ มีการประกวดก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นเป็นครั้งแรก การเล่นน้ำสงกรานต์เพื่อคลายร้อน และการออกซุ้มอาหารจากสโมสรนิสิตทั้ง 18 คณะ โดยได้รับเกียรติจากพลเอกสุพิทย์ วรอุทัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัยฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยฯ เป็นประธานในพิธี

(3)“มอน้ำชีโฮมบุญฮดสรง ขามเรียงดำรงวัฒนธรรมโบราณ ท่าขอนยางสืบฮอยฮิตอีสานเดือนห้า แนมเบิ่งภูมิปัญญามหาสารคาม” วันที่ 10 เมษายน 2552 ณ ลานสะเดา โดยการนำของนายอภิชิต พรมสีแก้ว นายกองค์การนิสิต จากกลุ่มนิสิตพลังสังคม เป็นการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ร่วมใจมหาวิทยาลัยกับชุมชน โดยความร่วมมือจากทั้ง 2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลตำบลท่าขอนยาง เทศบาลตำบลขามเรียง ที่เข้ามามีบทบาทในส่วนของการจัดกิจกรรมต่างๆ ลักษณะของการนำเอาทรัพยากรในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ เช่นเดียวกันทางมหาวิทยาลัยก็เป็นกำลังในการผลักดันให้มีกิจกรรมแบบมีส่วนรวมในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ภายในงานมีการประกวดเทพีสงกรานต์ขึ้นครั้งแรก และมีการประกวดผู้สูงอายุสุขภาพดี มีการออกหน่วยตรวจสุขภาพฟรีแก่ผู้สูงอายุ จากการสนับสนุนของคณะพยาบาลศาสตร์ การสาธิตการก่อพระเจดีย์ทราย และการสาธิตการทำขนมไทยแบบอีสาน ถือได้ว่าการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ในปีนี้มีความสมบูรณ์แบบกว่าในทุกปีที่ผ่านมา ทั้งยังได้รับเกียรติจากท่านพ่อเมือง คือ นายทองทวี พิมเสน ในขณะนั้น เดินทางมาเป็นประธานในพิธี

(4)“ปีใหม่อีสาน มหาสงกรานต์ มมส” วันที่ 8 เมษายน 2553 ณ หอพระกันทรวิชัยฯ บริเวณหอ(พัก)ใน ภายใต้การนำของนายธณาวุธ เหล่าเจริญพาณิชย์ นายกองค์การนิสิต จากกลุ่มนิสิตชาวดิน เป็นการแยกส่วนการจัดกิจกรรมขององค์กรนิสิตกับหน่วยงานมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง กิจกรรมภายในงานโดยภาคเช้ามีการจัดกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูป ภาคบ่ายมีขบวนแห่เอ้พระพุทธรูปเพื่อสรงน้ำ มีการกำหนดวาทะกรรมที่ว่า “ถนนคลองคูณ” มีการประกวดก่อพระเจดีย์ทราย มีการประกวดเทพีสงกรานต์ และประกวดผู้สูงอายุสุขภาพดี ในปีนี้ได้รับเกียรติจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต) ในขณะนั้น (ปัจจุบัน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต) เป็นประธานในพิธี

(5)“เอ้พระฮดสรงน้ำบุญเดือนห้า สืบสานประเพณีมหาสงกรานต์ มมส” วันที่ 7 เมษายน 2554 ณ บริเวณหน้าตึกคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภายใต้การนำของนายวิเศษ นาคชัย นายกองค์การนิสิต จากกลุ่มนิสิตช่อราชพฤกษ์ ภายในงานมีการจัดกิจกรรมตักบาตรพระ 9 รูป ในภาคเช้า ส่วนภาคบ่ายมีขบวนแห่พระพุทธรูปขึ้นสรงน้ำ มีการกำหนดวาทะกรรมที่ว่า “ถนนวัฒนธรรม” มีการรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ มีการประกวดเทพีสงกรานต์ แต่ฝนตกกลางงานระหว่างกิจกรรมการประกวดเทพีสงกรานต์จึงต้องย้ายเข้าไปประกวดภายในตัวอาคารตึกคณะศิลปกรรมศาสตร์แทน โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต) ในขณะนั้น (ปัจจุบัน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต) เป็นประธานในพิธี

(6)“ฮดสรงสมมาพระพุทธกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก เอ้มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน มหาสงกรานต์มอลุ่มน้ำชี ศรีพุทธบูชาตักศิลานคร” วันที่ 5 เมษายน 2555 ณ สวนป่าวัฒนธรรม โดยการนำของนายเจษฎา สิงหเสรี นายกองค์การนิสิต จากกลุ่มนิสิตพลังสังคม กิจกรรมในภาคเช้ามีการจัดกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูป ภาคบ่ายมีการแห่พระพุทธรูปเพื่อสรงน้ำ มีการรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ มีการประกวดก่อพระเจดีย์ทราย ประกวดผู้สูงอายุสุขภาพดี มีการประกวดเทพีสงกรานต์ หากแต่ในปีนี้สายฝนได้โปรยปรายมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเวลาเที่ยงวัน จึงทำให้การจัดกิจกรรมดังกล่าวค้อนข้างลำบาก ซึ่งในปีนี้ได้รับเกียรติจากท่านรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ) ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานในพิธี

(7)“มอน้ำชีเอ้พระฮดสรงน้ำ มหาสารคามวัฒนธรรม งามล้ำประเพณีบุญเดือนห้า เลอค่าพระกันทรวิชัยคู่เมือง” วันที่ 11 เมษายน 2556 ณ บริเวณสวนป่า ข้างอาคารบรมราชกุมารี ภายใต้การนำของนายกานต์ชนก ใครอุบล นายกองค์การนิสิต จากกลุ่มนิสิตมอน้ำชี(กลุ่มนิสิตจัดตั้งใหม่) เป็นความร่วมมือกันอีกวาระหนึ่งระหว่างผู้นำองค์กรนิสิตกับหน่วยงานมหาวิทยาลัยร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ขึ้น กิจกรรมภายในงานภาคเช้าเป็นการตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูป เปลี่ยนผ้าคลุมองค์พระใหม่ ภาคบ่ายมีขบวนแห่เอ้พระพุทธรูปเพื่อสรงน้ำ โดยขบวนแห่เริ่มจากฝั่งขามเรียง มีการประกวดก่อพระเจดีย์ทราย มีการประกวดเทพีสงกรานต์ โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต) เป็นประธานในพิธี

ปล. เพียงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้อมูลการพบสัมผัสมีส่วนร่วมลงมือทำคิดสร้างสรรค์งานในบางห้วงของชีวิต หากข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อนตกหล่นประการใดโปรดให้ผู้รู้ชี้แนะด้วยครับ

ขอเพียงนิสิตได้เรียนรู้ทุกคืนวันนะคะอาจารย์...ไม่มีสาย

ร่วมด้วยช่วยกันก่อเจดีย์ทราย สนุกแถมได้บุญด้วย

เมื่อก่อน.. ต้องช่วยกันขนดินทรายเข้าวัด

เดี๋ยวนี้.. ไม่ต้อง มีรถขนดินมาให้เลย (ซื้อมาค่ะ)

คิดถึงๆๆที่เคยร่วมจัดกิจกรรมมากคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท