Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท (1)


แพรภัทร ยอดแก้ว.2556. นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท The Relationship between The Perceived Organization Supports Transformational Leadership with Organizational Citizenship Behavior of Managers. " ในการประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายวิจัยสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ประจำปี 2556 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ โรงแรมโรสการ์เด้นท์ อ.สามพราน จ.นครปฐม"

บทคัดย่อ

การศึกษาการวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท  มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย  1) เพื่อศึกษาระดับการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท  2)  เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนขององค์การกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท  3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท 

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้บริหารบริษัทเบรดี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด  ปีพ.ศ. 2554 จำนวน  44 คน โดยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างให้มีค่าความคลาดเคลื่อนเท่ากับ .05  การเก็บรวบรวมข้อมูลกระทำโดยการนำแบบสอบถามไปสำรวจกับผู้บริหารบริษัทเบรดี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารบริษัท ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย จำนวนอายุมากกว่าหรือเท่ากับอายุ 34 ระดับการศึกษาปริญญาตรี  ตำแหน่งเป็นหัวหน้างานระดับต้น  ประสบการณ์ในการทำงาน น้อยกว่า 3 ปี  และมีจำนวนพนักงานในหน่วยงาน น้อยกว่า 4 คน

ผู้บริหารบริษัท  ส่วนใหญ่มีการรับรู้การสนับสนุนขององค์การอยู่ในระดับดี  มีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับสูง  มีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ อยู่ในระดับสูง และพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ มีความสัมพันธ์กันทางบวก 

ข้อเสนอแนะ บริษัทควรจะสนับสนุนการพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมีในระดับสูงต่อไป โดยมีกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองของผู้บริหารทุกระดับ เริ่มตั้งแต่การสรรหา คัดเลือกบุคลากรที่จะมาดำรงตำแหน่ง  การจัดอบรมเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำ การประเมินผลการปฏิบัติงานและควรมีการติดตามผลของอบรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาภาวะผู้นำ อย่างต่อเนื่อง

คำสำคัญ  การรับรู้การสนับสนุนขององค์การ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ประชาคมอาเซียน ผู้บริหาร

Abstract

  The purposes of this research were to study The Relationship between The Perceived Organization Supports Transformational Leadership and Organizational Citizenship Behavior of Managers.

The sample group are  44  Managers of Brady Technologies (Thailand) Co.,Ltd..

  Data were collected by using 3 sets of questionnaires: demographic data, The Perceived Organization Supports Transformational Leadership and Organizational Citizenship Behavior of Manager.

  Data were analyzed by percentage, frequency, mean, standard deviation, t-test, F-test and Pearson coefficient. Level of statistical significance used in the analysis is 0.5.

  Major findings were as follows :

  1.The Perceived Organization Supports of managers were at high level, the Transformational Leadership was at high level and the Organizational Citizenship Behavior was at high level at the 0.05 level.

  2.The Relationship between the Perceived Organization Supports and Organizational Citizenship Behavior were a positive correlation at the 0.05 level.

  3.The Relationship between Transformational Leadership and Organizational Citizenship Behavior were a positive correlation at the 0.01 level.

Keyword : Perceived Organization Supports Transformational LeadershipOrganizational Citizenship BehaviorASEAN CommunityManager

บทนำ

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) หรืออาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยในปัจจุบันมีจำนวนประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา และไทย ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีแห่งการก่อตั้ง อาเซียนได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่องจากจุดเริ่มต้นของการมุ่งเน้นในการสร้างความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงร่วมกันในระยะแรกได้ปรับเปลี่ยนไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจมากขึ้น

ในปีพุทธศักราช 2558 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้กำหนดและวางแผนเพื่อพัฒนาและยกระดับความร่วมมือระหว่างกันไปสู่ทิศทางที่ก้าวหน้าอีกระดับหนึ่งด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC) ขึ้นเพื่อสนับสนุนการรวมตัวและความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)

สำหรับประเทศไทยเองได้มีการเตรียมพร้อมในเชิงนโยบายซึ่งปรากฏทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559 และคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตลอดจนการเตรียมพร้อมเชิงกลไก ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ภายใต้การพัฒนาไปสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมักจะได้รับความสนใจและกล่าวถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาคอย่างกว้างขวาง โดยแนวโน้มการพัฒนาสำคัญอันจะเกิดจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้แก่ การจัดระบบและการเพิ่มขึ้นของการค้า การลงทุนและการบริการระหว่างประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขยายตัวของเมือง การบริหารงานชายแดน การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างใกล้ชิด การเคลื่อนย้ายคน และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร (สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. 2555 : บทสรุปผู้บริหาร)

ผู้นำเป็นบุคคลที่มีความสำคัญหรือที่เรียกกันว่าเป็น กุญแจสำคัญของความมีประสิทธิภาพและความมีประสิทธิผลขององค์การ ไม่ว่าจะเป็นองค์การในภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นองค์การระดับชาติหรือเป็นองค์การระดับท้องถิ่น ซึ่งความสำคัญของผู้นำ และความเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำ (Leadership) มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย ที่ยืนยันว่าผู้นำหรือภาวะผู้นำมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลขององค์การ รวมถึงผลการปฏิบัติงานของบุคคลในองค์การ ความพึงพอใจในการทำงาน ความผูกพันต่อองค์การ ความเป็นพลเมืองดีในองค์การ (Organizational Citizenship Behavior : OCB ) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในองค์การ และตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย (รัตติกรณ์ จงวิศาล , 2544 : 31)

การพยายามพัฒนาผู้นำที่ดีนั้นเป็นพื้นฐานของการสร้างผลผลิตหรือบริการ  องค์การจะสำเร็จหรือล้มเหลวนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้นำในองค์การนั้นเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้เป็นเพราะว่าผู้นำที่ดีจะพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานนั้นได้ดี  และทั้งสองฝ่ายก็จะช่วยกันสร้างผลผลิต  สินค้าและบริการที่ต้องการได้  ดังนั้นในทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าการฝึกอบรมในองค์การต่างๆ  ได้ให้ความสำคัญแก่เรื่องภาวะผู้นำ (Leadership) นี้  โดยการพยายามแสวงหาวิธีการใหม่ๆ  ในการพัฒนานักบริหารให้เป็นผู้นำที่ดี  โดยทั่วไปบุคคลเป็นจำนวนมาก  มักเข้าใจไปว่าภาวะผู้นำนั้นเป็นเรื่องของนักบริหารในระดับสูงเท่านั้น  อันที่จริงแล้ว  ผู้ปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งบริหารต่างๆ ในทุกระดับต่างก็ต้องมีบทบาทของความเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำทั้งสิ้น (สร้อยตระกูล อรรถมานะ, 2541: 253)

การบริหารองค์กรในยุคที่โลกเต็มไปด้วยการแข่งขัน  ผู้นำขององค์กรจึงเปรียบเสมือนเป็นแม่ทัพที่จะต้องวางยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา  ดังนั้น  ผู้บริหารในฐานะผู้นำขององค์กร  จะต้องเตรียมความพร้อมของตนเองในทุกๆด้าน  ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถทางวิชาการหรือประสบการณ์ต่างๆที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆได้  เนื่องจากหลักการของการบริหารงานในยุคนี้  คือ การบริหารเพื่อให้ได้ทั้งงานและน้ำใจของผู้ร่วมงาน  ทำให้ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมของผู้ตาม  กำหนดผลงาน กำหนดทิศทางในการปฏิบัติงาน  ตลอดจนกำหนดวัฒนธรรมขององค์กร  จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้บริหารจะเป็นผู้เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กร (ทองทิพภา, 2550: 13)

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น  ผลการปฏิบัติงานที่ลดต่ำลงขององค์กร  ถือเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นก่อนที่มันจะกระเตื้องกลับขึ้นมาอยู่เหนือระดับเดิม  ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพนั้น  จะตระหนักและเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้ดี  และสามารถจำกัดผลการปฏิบัติงานที่ต่ำลงอันเกิดจากพนักงงานจำนวนมากกำลังเรียนรู้พฤติกรรมใหม่พร้อมๆกันในเวลาเดียวได้  พวกเขาจะบรรลุถึงผลการปฏิบัติงานที่ปรารถนาในอนาคตด้วยเวลาที่สั้นลง  นอกจากนี้  พวกเขายังปรับปรุงสมรรถนะขององค์กรในการริเริ่ม ทำให้เกิดผลและรักษาความเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จเอาไว้ได้ด้วย  (เคน บลังชาร์ด, 2550: 318)

ในองค์กรปัจจุบัน  พนักงานใช้ความรู้ทุกคนก็คือ ผู้บริหาร  ไม่ว่าจะด้วยตำแหน่งหรือด้วยความรู้ของเขาก็ตาม เขาเป็นผู้รับผิดชอบในการมีส่วนร่วมสร้างความสามารถขององค์กรที่จะนำไปสู่ผล  พนักงานที่ใช้ความรู้เหล่านี้ คือผู้ตัดสินใจ  ไม่ใช่คนที่รอรับคำสั่ง  เขาต้องรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมในผลที่เกิดขึ้นด้วยความรู้ที่เขามีอยู่  ตราบใดที่เขายังอยู่ในตำแหน่ง เขาจะต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำกว่าคนอื่น  เขาจะต้องรับผิดชอบต่อเป้าหมาย มาตรฐานและความมีส่วนร่วมในผลงานอยู่ตลอดเวลา (ปีเตอร์ เอฟ. ดรักเกอร์, 2552: 32)

ทุกองค์การต้องการบุคคลที่มีประสิทธิภาพเข้ามาร่วมงาน เพื่อให้องค์การสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในการบริหารงาน โดยเฉพาะองค์การที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้พนักงานจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันผู้วิจัยเห็นว่าลักษณะของพนักงานที่เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการมากที่สุด คือ พนักงานที่มีคุณลักษณะด้านจิตพิสัย  ได้แก่  เน้นการสร้างลักษณะนิสัย ซึ่งพนักงานที่มีลักษณะนิสัยดี ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบต่องาน ขยันหมั่นเพียร อดทน สู้งานโดยไม่ท้อถอย มีความคิดริเริ่ม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้ รักความก้าวหน้าในงาน หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในงานของตนเองอยู่เสมอ ประการสุดท้ายคือมีคุณธรรมและจริยธรรมเพราะจริยธรรมเป็นคุณูปการที่สำคัญของการทำงาน ซึ่งเป็นผลดีต่อบุคคลในองค์การและบุคคลผู้ปฏิบัติงานเองมากกว่าพนักงานที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว ตามที่ Katz (1964 cited in Bolon, 1997: 124) ได้ชี้แนะว่า พฤติกรรมบทบาทพิเศษเป็นสิ่งสำคัญต่อการคงอยู่และประสิทธิภาพขององค์การ  Organ (1987, 1990, 1991) ได้ทำการศึกษาและบัญญัติศัพท์ “พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ(Organizational Citizenship Behavior – OCB)” โดยนิยามว่าเป็นพฤติกรรมที่องค์การไม่ได้กำหนดไว้เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ แต่พนักงานเต็มใจที่จะปฏิบัติให้องค์การขณะที่เป็นสมาชิกและสร้างประโยชน์ต่อองค์การ  พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างดีที่สุด ประหยัดที่สุด และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดโดยไม่ต้องเพิ่มทุน เพราะเมื่อบุคคลมีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การแล้วจะปฏิบัติงานด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่งขึ้น งานจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้เวลาปฏิบัติงานมากขึ้น และตั้งใจทำงานด้วยความกระตือรือร้น นอกจากนี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาองค์การ เพื่อความอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจในที่สุด (กรกช, 2549: 2)

ในการรับรู้การสนับสนุนจากองค์การ (Perceived Organizational Support : POS) นั้น ไอเซนเบอร์เกอร์ (Eisenberger, Huntington, Hutchison, and Sowa, 1986) อธิบายว่า บุคลากรในองค์การรับรู้การสนับสนุนจากองค์การโดยมีพื้นฐานอยู่บนบรรทัดฐานของการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน กล่าวคือ เมื่อมีใครให้อะไรแก่ตนแล้ว ตนจะต้องตอบแทนคืนเขาด้วยเช่นกัน ซึ่งในสภาพแวดล้อมของการทำงานนั้น การหยิบยื่นผลประโยชน์ที่องค์การมอบให้แก่บุคลากร จะเป็นการสร้างความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของบุคลากรที่มีต่อองค์การ และพวกเขาจะหาทางตอบแทนคืนให้กับองค์การเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการรับรู้การสนับสนุนจากองค์การมากขึ้นจะส่งผลให้ พฤติกรรมการทำงานเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของงานในหน้าที่ (In Role) หรืองานที่นอกเหนือจากหน้าที่ (Extra Role)ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การ เช่น การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน การให้คำแนะนำ ความรู้ และทักษะที่สร้างสรรค์ต่อองค์การ (Shore & Wayne, 1993; Eisenberger et al., 1990) หรือ พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ (Organizational Citizenship Behavior : OCB) นั่นเอง

การรับรู้ของพนักงานว่าองค์การมองเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมต่างๆ การฝึกอบรมและการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ มีการส่งเสริมความก้าวหน้าในการทำงาน มีการให้ผลตอบแทนและสวัสดิการที่มีประโยชน์ รวมทั้งช่วยเหลือและดูแลเอาใจใส่ในความเป็นอยู่และสภาพการทำงานหลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่างๆ ที่จะส่งผลเสียต่อตน รวมทั้งนโยบาย กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติขององค์การ ดังนั้น การรับรู้การสนับสนุนจากองค์การได้รับความสนใจจากผู้บริหารและองค์การต่างๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการทำงานของพนักงานซึ่งพนักงานอาจจะแสดงออกมาในรูปของความพยายามที่ดีขึ้นในการทำงาน การเข้าร่วมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเป้าหมายขององค์การ (วิธัญญา, 2546 : 13)

จากที่กล่าวมา ผู้วิจัยเห็นถึงความสำคัญ  จึงสนใจศึกษาวิจัยเพื่อให้ทราบผลการดำเนินงานและเกิดองค์ความรู้ที่เป็นข้อมูลเชิงวิชาการซึ่งเป็นประโยชน์ต่อไป  โดยมุ่งเน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท  เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาผู้บริหารบริษัท ให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้สูงยิ่งขึ้น  และเพื่อเป็นแนวทางในการวิจัยการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษาระดับการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท 

2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนขององค์การกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท 

3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีององค์การของผู้บริหารบริษัท 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

1. เพื่อทราบระดับการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท 

2. เพื่อทราบความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้การสนับสนุนขององค์การกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท 

3. เพื่อทราบความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีององค์การของผู้บริหารบริษัท 

4. เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผู้บริหารบริษัท ให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

5. เพื่อเป็นแนวทางในการวิจัยการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท

ขอบเขตของการวิจัย

ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้บริหารบริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และวัสดุ อุปกรณ์ ในจังหวัดปทุมธานี: ศึกษากรณีของผู้บริหารบริษัทเบรดี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ปีพ.ศ. 2554 จำนวน  50 คน และการวิจัยครั้งนี้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง (Sample  size) โดยคำนวณหาขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่น้อยที่สุดที่จะยอมรับได้ว่ามากพอที่จะใช้เป็นตัวแทนของประชากรได้ตามสูตรของ Taro  Yamane ดังนั้น  การวิจัยครั้งนี้  จำแนกตามระดับความคลาดเคลื่อนในการประมาณค่าที่ระดับความเชื่อมั่นในการเลือกตัวอย่าง 95 %โดยยอมให้เกิดความผิดพลาดได้ไม่เกิน5%  จะได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง  จำนวนทั้งสิ้น 44 คน

โดยมีตัวแปรต้นที่ศึกษา  คือ 

1. ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ  ระดับการศึกษา  ตำแหน่ง  ประสบการณ์ในการทำงาน  และจำนวนพนักงานในการบังคับบัญชา 

2. การรับรู้การสนับสนุนขององค์การ 

3. ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ตัวแปรตาม  คือ  พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของผู้บริหารบริษัท

การสุ่มกลุ่มตัวอย่าง

การวิจัยครั้งนี้ ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คือ เลือกกลุ่มตัวอย่างผู้บริหารบริษัทเบรดี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด  ปีพ.ศ. 2554 แล้วใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น  (Stratified  Random  Sampling)  โดยแบ่งประชากรออกเป็นชั้นๆ ตามแผนกที่ผู้บริหารสังกัดอยู่  จากนั้น ใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple  Random  Sampling)  สุ่มเลือกมาได้จำนวนตามขนาดกลุ่มตัวอย่าง  จำนวน 44 คน  ตามที่ต้องการ

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้นเอง  จากการตรวจเอกสาร  แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง  โดยแบ่งแบบสอบถามออกเป็น 4 ส่วน  คือ

ส่วนที่ 1  เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม  ประกอบด้วย  เพศ  อายุ  ระดับการศึกษา  ตำแหน่ง  ประสบการณ์ในการทำงาน  จำนวนพนักงานในการบังคับบัญชา  จำนวนทั้งหมด  6  ข้อ


ส่วนที่ 2  เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับการรับรู้การสนับสนุนขององค์การของผู้บริหารบริษัท จำกัด  เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองจากการตรวจสอบเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้การสนับสนุนขององค์การของ Eisenberger และคณะ (1986) มาเป็นต้นแบบสำหรับพัฒนาแบบสอบถามการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งมี 4 องค์ประกอบมาตั้งเป็นข้อคำถาม มีลักษณะเป็นมาตราส่วน (Scale) ตามแบบการประเมินค่า (Rating Scale) โดยใช้การประเมินค่าของลิเคอร์ท  (Likert’s  Scale) ที่ให้ผู้ตอบประเมินค่า(1 – 5) ด้วยการเลือกเพียงคำตอบเดียว  ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน  30  ข้อ  มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ  เท่ากับ  .920 ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้การสนับสนุนขององค์การ ดังนี้

1. ด้านการสนับสนุนการปฏิบัติงาน    มีจำนวน  12  ข้อ  ได้แก่  ข้อ 1 -12

2. ด้านโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาจากองค์การ    มีจำนวน  5  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  13 – 17

3. ด้านการใส่ใจขององค์การเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ปฏิบัติงาน    มีจำนวน  5  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  18 – 22

4. ด้านการเห็นคุณค่าของผลงาน    มีจำนวน  8  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  23 – 30


ส่วนที่ 3  เป็นข้อคำถามวัดระดับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารบริษัท จำกัดเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยนำมาจากปริญญานิพนธ์เรื่อง ผลการฝึกอบรมภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้นำนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของผศ.ดร.รัตติกรณ์  จงวิศาล (2543)  ได้ค่าความเชื่อมั่น .936  โดยยึดแนวคิดและองค์ประกอบของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงแบบ 4 องค์ประกอบมาตั้งเป็นข้อคำถาม  ซึ่งมีลักษณะเป็นมาตราส่วน (Scale) ตามแบบการประเมินค่า (Rating Scale) โดยใช้การประเมินค่าของลิเคอร์ท  (Likert’s  Scale) ที่ให้ผู้ตอบประเมินค่า (1 – 5) ด้วยการเลือกเพียงคำตอบเดียว  ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน  47  ข้อ  ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง  4  ด้าน  ดังนี้

1.  ด้านการมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์    มีจำนวน  18  ข้อ  ได้แก่  ข้อ 1 – 18

2.  ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ    มีจำนวน  10  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  19 – 28

3.  ด้านการกระตุ้นทางปัญญา      มีจำนวน  10  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  29 – 38

4.  ด้านการคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล  มีจำนวน  9  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  39 – 47


ส่วนที่ 4  เป็นข้อคำถามวัดระดับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองจากการตรวจสอบเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ซึ่งมี 5 องค์ประกอบมาตั้งเป็นข้อคำถาม มีลักษณะเป็นมาตราส่วน (Scale) ตามแบบการประเมินค่า (Rating Scale) โดยใช้การประเมินค่าของลิเคอร์ท  (Likert’s  Scale) ที่ให้ผู้ตอบประเมินค่า(1 – 5) ด้วยการเลือกเพียงคำตอบเดียว  ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน  35  ข้อ  มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ  เท่ากับ  .953 ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ดังนี้

1. ด้านพฤติกรรมการให้ความช่วยเหลือ  มีจำนวน  7  ข้อ  ได้แก่  ข้อ 1 - 7

2. ด้านพฤติกรรมความสุภาพอ่อนน้อม    มีจำนวน  7  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  8 – 14

3. ด้านพฤติกรรมความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา  มีจำนวน  7 ข้อ  ได้แก่  ข้อ  15 – 21

4. ด้านพฤติกรรมความสำนึกในหน้าที่  มีจำนวน  7  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  22 – 28

5. ด้านพฤติกรรมการให้ความร่วมมือ  มีจำนวน  7  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  29 – 35


การเก็บรวบรวมข้อมูล

1. ส่งแบบสอบถามเพื่อการวิจัยให้แก่ผู้บริหารบริษัทเบรดี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด  จำนวน  50  ชุด

2. นำแบบสอบถามที่ได้รับกลับคืนมา จำนวน  44 ชุด คัดลอกเฉพาะตอนที่สมบูรณ์ทำการตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด และนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติต่อไป

การวิเคราะห์ข้อมูล

ในการวิจัยครั้งนี้  ได้นำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากกลุ่มตัวอย่าง  มาทำการตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล  แล้วคัดเลือกแบบสอบถามที่สมบูรณ์นำมาเข้ารหัส (Coding) และบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์  จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์


หมายเลขบันทึก: 537109เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท