Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสาร ความรู้กับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากร ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม (1)


ญาณภัทร ยอดแก้ว และ แพรภัทร ยอดแก้ว. 2556. ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสาร ความรู้กับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากร ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม.ในการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 23 วันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา"

บทคัดย่อ

  วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ คือ 1) เพื่อศึกษาระดับการเปิดรับข่าวสาร ความรู้ และทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากร 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสาร ความรู้กับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากร มีกลุ่มตัวอย่าง คือ  พระธรรมวิทยากร จำนวน 154 รูป  ใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ผลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ และสถิติที่ใช้  ได้แก่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน โดยใช้นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05  ผลการวิจัย พบว่า 1) พระธรรมวิทยากร มีการเปิดรับข่าวสาร อยู่ในระดับมาก มีความรู้ อยู่ในระดับปานกลาง และมีทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนอยู่ในระดับดี และ 2) การเปิดรับข่าวสาร มีความสัมพันธ์ทางบวกกับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

คำสำคัญ : ประชาคมอาเซียน, การเปิดรับข่าวสาร, ทัศนคติ, ความรู้, พระธรรมวิทยากร.

Abstract

The purposes of this research were to study Media  Exposure,  Knowledge  with  Attitudes  toward  ASEAN Community of  Monks. Data were collected by using 154 sets of questionnaires: demographic data, Media  Exposure,  Knowledge and Attitude toward ASEAN Community of monks. Data were analyzed by percentage, frequency, mean, standard deviation and Pearson coefficient. Level of statistical significance used in the analysis is 0.5.  Major findings were as follows: 1.Expert monkswas media exposure were at high level and knowledge was at moderate level  and  monks  have good levels of  attitude toward ASEAN community. 2. There was a statistically significant difference at the 0.01 level in 1 personal factor. Expert monkswho earned different age and  dhamma education had attitude toward ASEAN community at a different level . 3.The perceived  Media exposure of monks was positively related to attitude toward ASEAN community of monks with the statistic significantly at the 0.01 level.  

Keywords : ASEAN Community, Media exposure, Attitude, Knowledge, Department of Religious Affairs.

1.  บทนำ

การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ทำให้ประเทศไทยและประเทศสมาชิกมีกระบวนการต่างๆ มากมายเพื่อส่งเสริมความพร้อมในการรับกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยในฐานะที่ได้ชื่อว่าเป็น “บ้านเกิด” ของอาเซียน เพราะเป็นประเทศที่ริเริ่มเชิญชวนประเทศสมาชิกอีก 4 ประเทศ คือ  มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มาหารือร่วมกันที่แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี อันนำมาสู่การลงนามในปฏิญญากรุงเทพ เพื่อก่อตั้งอาเซียน ที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 จนปัจจุบันสมาชิกอาเซียนมีทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนิเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (สำนักงาน ก.พ., 2555) ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีบทบาทนำมากมายในการสร้างสรรค์ภูมิภาคนี้

แต่อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและการสร้างสรรค์ประชาคมให้มีความมั่นคงยั่งยืนนั้น ยังจะต้องตระหนักถึงปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมในภาคประชาชน เพราะประชาคมอาเซียนคงมิสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนหากเพียงแต่อาศัยภาครัฐอย่างเดียว ดังมีบทเรียนจากสหภาพยุโรปที่เห็นได้ว่าประชาคมจะไม่สามารถบรรลุผลได้หากประชาชนไม่ให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นประชาชนของประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย  ดังนั้น เพื่อให้การสร้างประชาคมอาเซียนมีความยั่งยืน สมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยการพยายามผลักดันให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มุ่งเน้นการปฏิบัติ(Community of Action) มีการเชื่อมโยงและติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด (Community of Connectivity) รวมทั้งเป็นประชาคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง (Community of People) (เจริญพงษ์ ศุภธีระธาดา, 2555)

สำหรับสังคมไทย การเตรียมประชาชนนั้นจำเป็นต้องทำอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำทางสังคมทุกภาคส่วนควรจะมีความพร้อมเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้ช่วยเผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมความเข้าใจและสร้างทัศนคติทีดีให้ประชาชนในภาคส่วนนั้นๆ ต่อไป และในฐานะที่สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ พระสงฆ์ในฐานะประชาชนและเป็นกลุ่มผู้นำทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดและความเชื่อของประชาชนเป็นอย่างมากย่อมเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ควรได้รับความสนใจในการเตรียมความพร้อม ประกอบกับทุกวันนี้พระสงฆ์มิได้ทำเฉพาะหน้าที่ในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังได้ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือสงเคราะห์สังคมในด้านต่างๆ ด้วย  ซึ่งมีความจำเป็นที่พระสงฆ์จะต้องปรับและเพิ่มบทบาทให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมพระสงฆ์ย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  จึงต้องปรับบทบาทและหน้าที่ของตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (ถนอมศักดิ์ สู่ภิภักดิ์, 2546) การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่พระสงฆ์จะต้องปรับตัวเพื่อพร้อมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเพื่อสนับสนุนบทบาทในการส่งเสริมความพร้อมของประชาชนในสังคม

พระธรรมวิทยากร เป็นพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทเชิงรุกในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่เยาวชนในสถานศึกษาและประชาชนในองค์กรต่างๆ  ในความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลง หากจะเตรียมความพร้อมพระสงฆ์ให้ปรับตัวรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งจะส่งผลต่อการส่งเสริมทัศนคติของเยาวชนและประชาชนพร้อมกันไปด้วยนั้น  กลุ่มพระธรรมวิทยากรจึงเป็นกลุ่มพระสงฆ์ที่ควรให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ เพราะทัศนคติที่ดีต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากรย่อมมีผลต่อบทบาทด้านการศึกษาและการพัฒนาคนซึ่งเป็นงานเชิงรุกของพระธรรมวิทยากร  หากพระธรรมวิทยากรมีทัศนคติที่ดีต่อประชาคมอาเซียน ย่อมสามารถบูรณาการงานกับองค์ความรู้ด้านอาเซียนโดยนำธรรมต่างๆ ไปส่งเสริมความมั่นคงของประชาคมอาเซียนได้โดยเฉพาะในมิติสังคมและวัฒนธรรม

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมทัศนคติของพระธรรมวิทยากร คือ การสื่อสาร เพราะสังคมที่มีการสื่อสารดี  ย่อมมีเครือข่ายการสื่อสารประเภทต่าง ๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายได้กว้างขวาง  ทำให้ประชาชนสื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วทั้งภายในและภายนอก ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสารได้เท่าทันต่อสถานการณ์ ทำให้ชุมชนโดยรวมพัฒนาได้เร็วขึ้น การสื่อสารจึงมีบทบาทที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาประเทศ  คือ  เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการนำนโยบาย การพัฒนา  ตลอดจนรายละเอียดของแนวทางการพัฒนาของรัฐบาลไปสู่ประชาชนและยังสะท้อนความคิดความต้องการจากประชาชนขึ้นมาสู่ส่วนบนอีกด้วย ดังนั้น ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถนำสื่อมวลชนมาใช้ในการสร้างทัศนคติใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติเดิม ที่ไม่ได้ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น  รวมทั้งเบี่ยงเบนทิศทางของทัศนคติเดิมได้ (กอบกุล ถาวรานนท์, 2543) ซึ่งการพัฒนาสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนได้รับข่าวสารความรู้เพียงพอ มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม (เกศินี จุฑาวิจิตร, 2540) พระธรรมวิทยากรก็เช่นกัน หากจะมีทัศนคติอย่างไรกับอาเซียนปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือการรับข่าวสาร รวมถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนนั่นเอง

เรื่องของทัศนคติได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางและเป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาสังคมสนใจมาก จนกระทั่งในปัจจุบันก็ยังมีการศึกษากันอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะกาลเวลาที่ผ่านไป  ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ในสังคมเปลี่ยนไป  เมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยน  ทัศนคติของคนเราก็ย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย (ทรงพล, 2538: 132) จะเห็นได้ว่า  สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวบุคคล  มีผลต่อทัศนคติของบุคคล  โดยทั่วไปแล้ว  บุคคลไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมของตนเองได้  แต่บุคคลสามารถควบคุมทัศนคติของตนเองได้  บุคคลสามารถเลือกที่มองโลกคนในแง่ดีหรือร้าย  บุคคลสามารถมองทุกอย่างในแง่บวกมากขึ้น เป็นคนที่มีความสุขมากยิ่งขึ้น และใช้ชีวิตที่ดีมากขึ้นได้ ซึ่งทัศนคติเชิงบวกที่มีต่องานนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในอาชีพบุคคล (Lussier, 1999: 79) 

ดังนั้น  คณะผู้วิจัย จึงมีความสนใจที่จะศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสาร ความรู้ กับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากร อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนา และปรับปรุงการการเผยแผ่ธรรมเพื่อสังคมของพระธรรมวิทยากร เพื่อส่งเสริม สนับสนุนทัศนคติที่ดีต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากร และเพื่อส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ในฐานะผู้นำทางสังคมให้มีส่วนในการให้ข้อมูล ความรู้และการนำหลักธรรมบูรณาการกับการสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียน รวมทั้งเป็นแนวทางในการทำวิจัยต่อไป

2.  วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.  เพื่อศึกษาระดับการเปิดรับข่าวสาร ความรู้ กับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากร

2.  เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสาร ความรู้กับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากร

3.  ระเบียบวิธีการวิจัย

การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative  Research)  โดยการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey  Research) ซึ่งมีวิธีการดำเนินการวิจัย ดังนี้

3.1  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากรในการวิจัยนี้ คือ พระธรรมวิทยากรที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในทั่วประเทศโดยเป็นเครือข่ายของศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม จำนวน 250 รูปคำนวนขนาดของกลุ่มตัวอย่าง (Sample  size) โดยใช้สูตรของทาโร ยามาเน่(Yamane, 1973: 727) ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้ จำแนกระดับความคลาดเคลื่อนในการประมาณค่าที่ระดับความเชื่อมั่นในการเลือกตัวอย่าง 95%โดยยอมให้เกิดความผิดพลาดได้ไม่เกิน5%จึงได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง  จำนวน 154  รูป

การเก็บข้อมูลในการวิจัยนี้ ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คือ เลือกกลุ่มตัวอย่างพระธรรมวิทยากรเครือข่ายของศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม  ณ วัดทองนพคุณ ประจำปี 2555และใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple  Random  Sampling)  สุ่มเลือกมาได้จำนวนตามขนาดกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 154รูปตามที่ต้องการ

3.2  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้  คณะผู้วิจัยใช้แบบสอบถามชนิดปลายปิด (Close – ended  Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล  โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้  ส่วนที่ 1  เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม  จำนวน  6 ข้อ ส่วนที่ 2  เป็นข้อคำถามวัดระดับการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนซึ่งผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นมา  โดยใช้การประเมินค่าของลิเคอร์ท  (Likert’s  Scale) ที่ให้ผู้ตอบประเมินค่า (1 - 5) ด้วยการเลือกเพียงคำตอบเดียวจำนวน  10  ข้อส่วนที่ 3  เป็นข้อคำถามวัดระดับความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนซึ่งผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นมา  โดยมีการให้เลือกเพียงคำตอบเดียว ( ใช่ หรือ ไม่ใช่ )  จำนวน  20  ข้อ  แบ่งเป็นคำถามเชิงบวก (Positive) เป็นคำถามที่ตอบว่า “ผิด” จะไม่ได้คะแนน ตอบว่า  “ถูก”  จึงได้คะแนน  มีจำนวน 10 ข้อ  คือข้อ 4,5,7,9,11,12,15,16,18,20 และเป็นคำถามเชิงลบ (Nagative) คือคำถามที่ตอบว่า “ถูก” จะไม่ได้คะแนน จะต้องตอบว่า  “ผิด”  จึงได้คะแนน  มีจำนวน 10 ข้อ ได้แก่ ข้อ 1,2,3,6,8,10,13,14,17,19 และส่วนที่ 4  เป็นข้อคำถามวัดระดับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากรเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองจากการตรวจสอบเอกสาร  แนวคิดเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และแนวคิดเกี่ยวกับทัศนคติ  โดยยึดองค์ประกอบของทัศนคติแบบ 3 องค์ประกอบมาตั้งเป็นข้อคำถาม  ซึ่งมีลักษณะเป็นมาตราส่วน (Scale) ตามแบบการประเมินค่า (Rating Scale) โดยใช้การประเมินค่าของลิเคอร์ท  (Likert’s  Scale) ที่ให้ผู้ตอบประเมินค่า (1 - 5) ด้วยการเลือกเพียงคำตอบเดียว  ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน  45  ข้อ  ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน 3  ด้าน  ดังนี้

1.  ด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) มีจำนวน  15  ข้อ  ได้แก่  ข้อ 1 – 15

2.  ด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  มีจำนวน  15  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  16 - 30

3.  ด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน  (ASCC)  มีจำนวน 15  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  31 - 45

นอกจากนี้  ข้อคำถามจำนวน  45  ข้อนั้น  ยังครอบคลุมแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับทัศนคติในองค์ประกอบทั้ง  3  ด้าน  คือ

1.  องค์ประกอบด้าน ความรู้ ความเข้าใจ (Cognitive Component) มีจำนวน  15  ข้อ ได้แก่ ข้อที่ 1,2,3,4,5,16,17,18,19,20,31,32,33,34 และ 35

2.  องค์ประกอบด้านอารมณ์ความรู้สึก (Affective Component) มีจำนวน  15  ข้อ ได้แก่ ข้อที่ 6,7,8,9,

10,21,22,23,24,25,36,37,38,39 และ 40

3.  องค์ประกอบด้านพฤติกรรม (Behavioral Component)   มีจำนวน  15ข้อได้แก่ ข้อที่ 11,12,13,14,

15,26,27,28,29,30,41,42,43,44  และ 45

แบบสอบถามที่สร้างขึ้นได้ทดสอบความเที่ยงตรง(Validity) โดยนำแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นไปตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียน เพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้องหาความเที่ยงตรงเนื้อหา (Content Validity) และการใช้ถ้อยคำ (wording) ของคำถามในแต่ละข้อว่าตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยหรือไม่  แล้วนำข้อเสนอ แนะมาปรับปรุงแก้ไขแบบสอบถามให้เหมาะสมกับการเก็บข้อมูลจริง  และความเชื่อมั่น  จากนั้นจึงนำไปทดลองใช้ (Try out) กับพระสงฆ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการศึกษา  จำนวน 30 รูป แล้วจึงนำมาคำนวณหาความสัมพันธ์รายข้อกับคะแนนรวม (Item Total  Correlation ) โดยหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันแล้วเลือกข้อที่มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .36 ขึ้นไป และหาความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถาม  โดยใช้วิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของคอนบาค( Cronbach’s Coefficient Alpha )  ซึ่งได้ผลดังนี้

1.  แบบสอบถามการเปิดรับข่าวสาร มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ  .8670

2.  แบบสอบถามความรู้ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ  .746

3.  แบบสอบถามทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ  .9681

เมื่อวิเคราะห์ตามองค์ประกอบรายด้านได้ค่าความเชื่อมั่น ดังนี้

1.  ด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC)   เท่ากับ  .8375

2.  ด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  เท่ากับ  .8308

3.  ด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน  (ASCC)  เท่ากับ  .8140

3.3  การวิเคราะห์ข้อมูล

ในการวิจัยครั้งนี้  ได้นำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากกลุ่มตัวอย่าง  มาทำการตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล แล้วคัดเลือกแบบสอบถามที่สมบูรณ์นำมาเข้ารหัส (Coding) และบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์  จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยมีสถิติที่ใช้ ได้แก่

1) ค่าร้อยละ (Percentage) ใช้ในการเปรียบเทียบ เพื่อดูการกระจายของข้อมูลและเพื่อนำเสนอข้อมูลทั่วไปของกลุ่มประชากรในแต่ละหมวดหมู่ของตัวแปร 

2) ค่าเฉลี่ย (Mean) ใช้ในการวัดค่าแนวโน้มเข้าสู่ศูนย์กลางของข้อมูล เพื่อทราบข้อมูลที่เป็นตัวแทนของกลุ่ม  ใช้แปลความหมายของระดับความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสาร ความรู้ และทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากร

3) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  (Standard  Deviation)  ใช้คู่กับค่าเฉลี่ย  เพื่อแสดงการกระจายของข้อมูล

4) ค่า T – test  ใช้ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่ม

5) ค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์แบบเพียรสัน (Pearson’s Product  Moment  Correlation  Coefficient) ใช้หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสองตัวที่เป็นอิสระต่อกัน เพื่อวิเคราะห์การเปิดรับข่าวสาร ความรู้ กับทัศนคติต่อประชาคมอาเซียนของพระธรรมวิทยากร

สำหรับค่านัยสำคัญทางสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้  กำหนดไว้ที่ระดับ  .05


หมายเลขบันทึก: 537105เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท