การประยุกต์สถิติเพื่อการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ (ตอนที่ 1)


วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 25-26 พฤษภาคม 2556 ไปฟังบรรยายและฝึกอบรมเรื่อง การประยุกต์สถิติเพื่อการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ ซึ่งทางหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ มสธ. จัดขึ้น โดยมีวิทยากรผู้สอนคือ รศ.พวา พันธุ์เมฆา ท่านเป็นอาจารย์ที่ มศว. แม้จะเกษียณไปแล้วหลายปี แต่ก็มีความสามารถชนิดหาตัวจับยาก สอนสนุก ตลกขบขัน อาจารย์มักยกตัวอย่างประกอบที่ได้มาจากประสบการณ์จริง และเล่าเรื่องเรียกเสียงฮาได้เป็นระยะ เนื้อหาการบรรยายในวันนั้น สรุปออกแบ่งเป็น 4 ตอน ดังนี้

  • กระบวนการวิจัย และการออกแบบการวิจัย
  • การใช้สถิติพรรณนา
  • การใช้สถิติอ้างอิง สถิติทดสอบสมมุติฐาน
  • การใช้สถิติทดสอบความแตกต่าง

กระบวนการวิจัย และการออกแบบการวิจัย

ขั้นตอนแรกของกระบวนการวิจัยคือ การเตรียมการขั้นต้น

  1. จะวิจัยเรื่องอะไร (กำหนดปัญหาวิจัย) : ป้ญหาวิจัยต้องเป็นปัญหาจริงๆ ต้องอ่าน literature เยอะๆ อาจเป็นปัญหาใกล้ตัวก็ได้
  2. วิจัยกับใคร (กำหนดสิ่งวิจัย) : ขึ้นกับสถานภาพ อาชีพของเรา หรือสาขาวิชาที่เราทำวิจัย
  3. วิจัยวิธีใด (เลือกวิธีวิจัย) : เชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ หรือเชิงผสมผสาน

การวิจัยเชิงปริมาณ ใช้หน่วยวิจัยจำนวนมาก เช่น การส่งแบบสอบถามออกไป วัดออกมาเป็นตัวเลข จำเป็นต้องใช้สถิติในการวิเคราะห์ ใช้ทฤษฎีเป็นหลัก การวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้หน่วยวิจัยไม่มากแต่เลือกที่มีคุณภาพที่สามารถให้ข้อมูลได้ ต้องออกไปเจอ ไปสัมภาษณ์ สังเกต บันทึกข้อมูล ถอดเทปประเด็นปัญหาที่สัมภาษณ์ว่าเป็นอย่างไรแล้วสรุปผล ไปหาองค์ความรู้จากของจริง ไม่มีการกำหนดตัวแปร ส่วนการวิจัยเชิงผสมผสาน ได้แก่ แบบผสานวิธี Mixed methods research (MMR) เริ่มด้วยเชิงปริมาณ เช่น สำรวจเบื้องต้นด้วยแบบสอบถามก่อน แล้วต่อด้วยเชิงคุณภาพ เช่น การสัมภาษณ์กับกลุ่มตัวอย่างที่เลือกมา หรือเริ่มด้วยเชิงคุณภาพ คือสัมภาษณ์ก่อนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นรวบรวมปัญหามาสร้างเป็นข้อคำถาม เพื่อทำแบบสอบถามและเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ  หรืออาจทำทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กัน หรือ Mixed models research คือ ใช้เชิงปริมาณทั้งคู่แต่เป็นรูปแบบต่างกัน เช่น เชิงสำรวจหรือประเมินด้วยแบบทดสอบก่อนเพื่อดูว่าปัญหาอยู่ที่ข้อใด จากนั้นต่อด้วยเชิงทดลองเพื่อแก้ปัญหาในข้อนั้น หรือใช้เชิงคุณภาพทั้งคู่ เช่น การวิจัยชาติพันธุ์วรรณนา แล้วตามด้วย ปรากฎการณ์วิทยา เป็นต้น

การออกแบบการวิจัย
ถ้าเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ จะต้องมีการกำหนดตัวแปรในการวิจัย สิ่งที่เป็นประเด็นหลักของการวิจัย คือ ตัวแปรหลัก หรือ ตัวแปรตาม ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เราจะวิจัย ส่วนตัวแปรต้น คือ คุณลักษณะของหน่วยวิจัยที่เราศึกษา ถ้าหน่วยวิจัยมีคุณลักษณะแตกต่างกันจะส่งผลต่อตัวแปรตามหรือไม่ มีตัวแปรต้นใดที่น่าสนใจจะศึกษาหรือไม่ หรือจะศึกษาแต่ตัวแปรตามก็ได้ แต่ถ้าศึกษาตัวแปรต้นด้วย จะทำให้การแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า
ถ้ากำหนดตัวแปรต้นและตัวแปรตามได้ชัดเจน จะทำให้เราตั้งชื่อเรื่องงานวิจัย ได้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดวัตถุประสงค์ สมมุติฐานการวิจัย (ข้อความที่ผู้วิจัยคาดหวังไว้ล่วงหน้า) และนิยามศัพท์เฉพาะได้ชัดเจนด้วย ตัวอย่างเช่น

  • ตัวแปรตาม = ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวเชิงสัมผัสวัฒนธรรมในรูปแบบโฮมสเตย์
  • สิ่งวิจัย / หน่วยวิจัย = ชุมชนบ้านคลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
  • ตัวแปรต้นที่ควรศึกษามีอะไรบ้าง = เพศ อายุ รายได้
  • ชื่อเรื่อง = ตัวแปรตาม (เรื่องที่จะวิจัย) + สิ่งวิจัย (ศึกษากับใคร) = การศึกษาความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวเชิงสัมผัสวัฒนธรรมในรูปแบบโฮมสเตย์ ของชุมชนบ้านคลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
  • วัตถุประสงค์การวิจัย (โดยรวม) = เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวเชิงสัมผัสวัฒนธรรมในรูปแบบโฮมสเตย์ ของชุมชนบ้านคลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
  • วัตถุประสงค์เฉพาะ = เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวเชิงสัมผัสวัฒนธรรมในรูปแบบโฮมสเตย์ ของชุมชนบ้านคลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ตามตัวแปร เพศ อายุ รายได้
  • ถ้าตัวแปรตามมี 1 ตัว จะมีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ ถ้ามีตัวแปรตาม 2 ตัว จะมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ คือ 1) วัตถุประสงค์ทั่วไปของตัวแปรตามที่หนึ่ง 2) เพื่อเปรียบเทียบตัวแปรตามตัวที่หนึ่ง 3) วัตถุประสงค์ทั่วไปของตัวแปรตามที่สอง 4) เพื่อเปรียบเทียบตัวแปรตามตัวที่สอง
  • การเขียนสมมุติฐานการวิจัย ให้เอาตัวแปรต้นและตัวแปรตามมาเขียน แยกเป็นรายข้อให้ชัดเจนตามตัวแปรต้น เพราะเราจะทดสอบสมมุติฐานทีละข้อ เช่น 1) นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีเพศต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการท่องเที่ยวเชิงสัมผัสวัฒนธรรมในรูปแบบโฮมสเตย์แตกต่างกัน 2) นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีอายุต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการท่องเที่ยวเชิงสัมผัสวัฒนธรรมในรูปแบบโฮมสเตย์แตกต่างกัน 3) นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีรายได้ต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการท่องเที่ยวเชิงสัมผัสวัฒนธรรมในรูปแบบโฮมสเตย์แตกต่างกัน (ตัวแปรตาม = 1 ข้อ ตัวแปรต้น = 3 ข้อ เขียนสมมุติฐาน = 1×3 = 3 ข้อ แต่ถ้าตัวแปรตาม = 2 ข้อ ตัวแปรต้น = 4 ข้อ เขียนสมมุติฐาน = 2×4 = 8 ข้อ)
  • นิยามศัพท์เฉพาะ เพื่ออธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเราหมายถึงอะไร คำที่นำมานิยามคือ ตัวแปรต้น (แบ่งเป็นกี่กลุ่ม อะไรบ้าง เช่น ช่วงอายุ รายได้) ตัวแปรตาม (ต้องนิยามเชิงปฏิบัติการ บอกความหมายว่าตัวแปรนี้คืออะไร จะวัดได้อย่างไร) และคำศัพท์อื่นที่คิดว่าผู้อ่านโดยทั่วไปยังไม่เข้าใจ (คำนี้หมายถึงอะไร ในการวิจัยครั้งนี้จะวัดอะไร โดยใช้ทฤษฎีอะไร)

[ อ่านต่อ ตอนที่ 2 ]


หมายเลขบันทึก: 537101เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท