สรุปการศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น


  สรุปการศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นและประสานความสัมพันธ์ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ณ เมืองยูกิ  ประเทศญี่ปุ่น

  จากการที่โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ประกอบด้วย ท่านผู้อำนวยการ ข้าพเจ้าและ นักเรียนจำนวน สองคนคือนายสมชาติ บุญศรี และ นางสาวญัชชา กันทาทอง ได้รับเชิญจากเทศบาลเมืองยูกิเพื่อศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นและประสานความสัมพันธ์ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ณ ประเทศญี่ปุ่น มีกำหนด 30 วัน  ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2556 ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2556  สรุปผลการศึกษาดูงานดังต่อไปนี้

 ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมดังนี้

1.  ด้านการศึกษา

นักเรียนเรียนรู้ฝึกประสบการณ์  เรียนรู้ในโรงเรียน บ้านครอบครัวอุปถัมภ์ การทัศนศึกษานอกสถานที่และ การได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของโครงการ(มูลนิธิJIFF)

ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมในโรงเรียนดังนี้

1.  YUKI DAIICHI PRECFECTURAL HIGH SCHOOL

2.  MINAMI JR HIGH SCHOOL 

3.  YUKI JR HIGH SCHOOL (YUKI CHUGAKU)

4.  YUKI HIGASHI CHUGAKU

5.  Kinu commercial high school

ทำให้ทราบถึงการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังนี้

1.  การจัดการศึกษา ระดับชั้นประถม 6 ปีนักเรียนอายุตั้งแต่ 6–12 ปี

ระดับชั้นมัธยมต้น 3 ปีอายุตั้งแต่ 12–15 ปี และระดับชั้นมัธยมปลาย 3 ปีอายุตั้งแต่ 15–18 ปีปีการศึกษาจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน และสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป การเรียนจะแบ่งเป็น 3 เทอม

2.  หลักสูตรการศึกษาของญี่ปุ่น กำหนดให้นักเรียนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่พอเหมาะ และการเรียนภาคบังคับถือเป็นการปฏิบัติต่อนักเรียนด้วยความเสมอภาค มีการกระจายงบประมาณไปตามโรงเรียนต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน  มีเป้าหมายเพื่อเน้นในเรื่องความยืดหยุ่น ความคิดสร้างสรรค์ และการเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกในสิ่งที่ตนเองชอบ สนับสนุนให้ร่วมมือกันทำงานเป็นกลุ่ม นักเรียนในการศึกษาภาคบังคับจะได้รับตำราเรียนฟรี คณะบริหารของโรงเรียนเป็นผู้เลือกตำราเรียน โดยเลือกจากรายชื่อหนังสือที่กระทรวงการศึกษาได้รับรองแล้วหรือหนังสือที่กระทรวงจัดทำขึ้นเอง โรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนให้นักเรียนแต่งกายในชุดเครื่องแบบนักเรียนแตกต่างกันไป

3.  โรงเรียน มีวัสดุอุปกรณ์ด้านการศึกษาและกีฬาอยู่อย่างเพียงพอ โรงเรียนมีสนามเด็กเล่นกลางแจ้งที่กว้างขวางมาก มียิมนีเซียม และ มีสระว่ายน้ำกลางแจ้ง โรงเรียนมีห้องเรียนคอมพิวเตอร์ และมีคอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์ ทีวี ในแต่ละห้องเรียน การเรียนการสอนของนักเรียนใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย นักเรียนไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อินเทอร์เน็ตในโรงเรียน

4.  นักเรียน มีกิจกรรมชุมนุมให้นักเรียนเลือกอย่างหลากหลายตามความสนใจของตนเองและเรียนรู้ด้วยกันทุกวันตลอดปีการศึกษาปลูกฝังเรื่องการทำงานเป็นกลุ่มและความภาคภูมิใจในโรงเรียนของตน

5.  นักเรียนเดินทางมาโรงเรียนด้วยรถจักรยาน นักเรียนจะมีหมวก และมีแถบสีสวมใส่ในการขับขี่จักรยาน มีการฝึกอบรมกฎระเบียบวินัย การจราจรให้กับนักเรียน

6.  มีอาหารกลางวันจาก Catering Centre ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น โดยให้ครูและนักเรียนดำเนินการในการจัดการแบ่งอาหารให้กับทุกคนและเก็บกวาดเศษอาหาร จัดโต๊ะเก้าอี้ในการรับประทานอาหาร การรักษาความสะอาดของฟัน หลังรับประทานอาหาร

7.  นักเรียนทุกคนได้ช่วยกันในการรักษาความสะอาดโรงเรียนห้องเรียน โดยมีเวลาในการทำความสะอาดห้องเรียนพร้อมเพรียงกันทุกวัน โดยในช่วงเวลาทำความสะอาดห้องเรียนนักเรียนจะตั้งใจช่วยกันทำงาน ไม่พูดคุยกัน

8.  โรงเรียนมีอาคารเรียนใหญ่โต มีห้องเรียนครบครัน ห้องเรียนปกติจะมีกระดานดำ โปรเจคเตอร์ ทีวี สำหรับครูในการจัดการเรียนการสอน มีห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ครบ เช่นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนคหกรรม ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ห้องสมุดอย่างพอเพียง

9.  นักเรียนในห้องเรียนจะมีห้องละประมาณ 30-40 คน บางรายวิชาจะมีครูสอน จำนวน 2 คน

10.  ครูจะต้องรับผิดชอบต่อโรงเรียนและนักเรียนแม้จะอยู่นอกห้องเรียนหรือนอก ชั่วโมงเรียน ครูประจำโฮมรูมจะไปเยี่ยมนักเรียนที่ไม่ยอมไปโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนไป โรงเรียน ครูที่ปล่อยให้นักเรียนกระทำผิดกฎหมายนอกโรงเรียน จะถูกเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบและแสดงการขอโทษ

11.  ครูมีรายได้ดี มีเงินเดือนสูง และ ครูจะได้รับการดูแลสุขภาพ และสวัสดิการหลังเกษียณ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง สถานะทางสังคมที่สูง

1.  ด้านศิลปวัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต

ทำให้ทราบถึงศิลปวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น จากการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังนี้

1.  การแสดงความเคารพ โดยการโค้งคำนับ ตอนเช้าจะกล่าวคำว่า

Ohayou gozaimasu. ตอนบ่ายใช้คำว่า Konnichiwa ตอนเย็นใช้คำว่า  Konbanwa และตอนกลางคืนใช้คำว่า Oyasuminasai

2.  การตรงต่อเวลา  จะให้ความสำคัญกับเรื่องเวลามาก เรื่องการตรงต่อเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ในการนัดถ้านัดตามเวลานัดควรที่จะต้องไปก่อนเวลานัดสัก 5-10 นาที เพื่อความน่าเชื่อถือ ในโรงเรียนญี่ปุ่นจะมีการสอนให้นักเรียนมาโรงเรียนให้ตรงเวลา ให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการมาโรงเรียนแต่เช้าและผลของการมาโรงเรียนสายเพื่อให้นักเรียนเกิดความตระหนักด้วยตนเอง ในการมาญี่ปุ่นครั้งนี้จึงต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเวลากันเป็นอย่างมาก และเห็นว่าคนญี่ปุ่นตรงต่อเวลาและเคร่งครัดต่อการตรงเวลากันจริงๆ

3.  การเข้าแถว  ทราบมาว่าคนญี่ปุ่นจะเคร่งครัดในเรื่องกฎระเบียบพอสมควรตั้งแต่เกิดสึนามิเห็นคนญี่ปุ่นเข้าแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย จนทำให้เกิดความสะดวกในการจัดการเป็นอย่างดี มาครั้งนี้จะเห็นคนญี่ปุ่นจะเข้ากันตลอดไม่ว่าจะเป็นการเข้าห้องน้ำซึ่งในการเข้าแถวรอเข้าห้องน้ำ จะรอที่ทางเข้า ไม่ยืนรอที่หน้าประตูของห้องน้ำนั้นๆ การรอขึ้นรถ และการเข้าแถวรอเพื่อเข้าไปรับประทานอาหาร

4.  การทำความสะอาด จะเห็นว่าคนญี่ปุ่นจะมีความรับผิดชอบในการรักษาความสะอาดด้วยตนเอง ในการรับประทานอาหารในร้านอาหารก็จะช่วยเช็ดโต๊ะในส่วนที่ตนเองรับประทาน จัดเก็บเศษอาหารภาชนะใส่อาหารไปไว้ในที่เก็บอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ในโรงเรียนจะเห็นนักเรียนช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียนพร้อมครูช่วยกันทุกหนทุกแห่งในโรงเรียนทำให้ประหยัดในการจ้างคนงานทำความสะอาด

5.  สวนญี่ปุ่น มองไปทางไหนของญี่ปุ่นจะเห็นคนญี่ปุ่น ในแต่ละบ้านจัดสวนเล็ก ๆหน้าบ้าน ข้างบ้าน บ้างบ้านปลูกต้นไม้ในกระถางเล็ก ๆมาวางไว้หน้าบ้าน สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย

6.  การแต่งกาย คนญี่ปุ่นจะแต่งกายด้วยสีเข้มๆ ไม่ฉูดฉาด ตามฤดูกาล

2.  ด้านสิ่งแวดล้อม

1.  รถยนต์ ของคนญี่ปุ่นที่พบเห็นจะมียี่ห้อที่หลากหลายไม่ใช้ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเหมือนไทยเรา ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์เก๋งคันเล็ก ๆ จอดได้อย่างสะดวกสบาย การขับรถของคนญี่ปุ่นขับช้า ๆ ตามกฎจราจร จะเห็นตัวเลขเขียนบนถนน 50 หรือตัวเลข อื่น เขาบอกว่าถนนสายนั้นให้ขับรถแค่นั้น สถานที่จอดรถของคนญี่ปุ่น มีมากมาย จัดตีเส้น เป็นระเบียบเรียบร้อย เว้นช่องจอดรถให้พอสามารถเดินหรือขนของได้ ไม่เห็นคนญี่ปุ่นจอดรถไว้ในช่องทางถนนเลย

2.  ห้องน้ำ ห้องญี่ปุ่นสะอาด มีกระดาษทิชชูอยู่ทุกที่ ส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นระบบอัติโนมัติ ที่กดปุ่มแล้วจะมีน้ำฉีดล้างแบบ ฝอย หรือ พุ่ง เป็นน้ำอุ่นกำลังดี ทำให้รู้สึกถึงความสะอาด กระดาษทิชชูใช้แล้วทิ้งในโถส้วมได้เลยถือว่ากระดาษชำระสามารถย่อยสลายได้ไม่อุดตันชักโครก

3.  อาคารบ้านเรือน เรือนของคนญี่ปุ่นที่พบเห็นจะหลังไม่ใหญ่โตมากนัก สีจะเป็นสีอ่อน ๆ ปลูกเรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อย หน้าบ้านจะเห็นปลูกต้นไม้ บอนไซ และดอกไม้ในกระถางเล็ก ๆ  มีดอกสีสวยงาม มีสวนครัวเล็ก ๆสำหรับปลูกพืชผัก เช่นผักกาด  หัวหอม และพืชอื่น ๆ

4.  ขยะมูลฝอย ตามที่ต่าง ๆจะเห็นถังขยะสำหรับแยกขยะมีขยะเปียก ขยะแห้ง และขยะอันตราย อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ในญี่ปุ่นจะไม่เห็นสถานที่ต่าง ๆมีเศษขยะที่สุนัขคุ้ยเขี่ย หรือมีขยะเรี่ยราดให้เห็นเลย ในสถานที่ต่าง ๆ หน่วยงานราชการ สถานที่ท่องเที่ยวจะมีระบบการเก็บขยะที่ดีมาก อย่างเช่นที่เห็นในดิสนีย์แลนด์ จะมีเจ้าหน้าที่วัยรุ่นแต่งตัวสวยงาม หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ถือไม้กวาดและถังตักขยะเล็ก ๆสวยงามยืนตามมุมต่าง ๆ พอมีขยะเล็ก เช่นเศษตั๋ว เขาก็จะมาเก็บกวาดทันที ไม่ให้เลอะเทอะ ญี่ปุ่นมีโรงงานบำบัดน้ำเสีย โรงงานกำจัดขยะตามบ้านเรือน และโรงงานบำบัดน้ำเสียจากหน่วยงาน สถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือน ที่ทันสมัยใหญ่โตมาก สามารถที่จะบำบัดน้ำเสียให้สามารถนำมาใช้ในการเพาะปลูกและดื่มกินได้อย่างสะอาดและปลอดภัย

5.  อากาศในญี่ปุ่น ไม่มีฝุ่นหมอกควันให้เห็น รถยนต์ไม่มีที่มีควันพุ่งออกมาจากท่อไอเสีย ไม่มีรถมอเตอร์ไซต์ที่ขับเสียงดังมาก ในญี่ปุ่นมีสวนสาธารณะ  มีทุ่งนา มีภูเขาที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นสวยงาม

6.  มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เช่น ยิมนีเซียม ที่เป็นสนามกีฬาต่าง ๆ สนามแบดมินตัน สนามบาสเกตบอล สนามเทนนิส สนามฟุตบอล สนามวอลเล่ย์ สระว่ายน้ำให้บริการประชาชน มีอาคารแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงความบันเทิงทั้งของท้องถิ่นและในระดับนานาชาติ ให้ได้ชมกัน นอกจากนี้มีพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้ ด้านต่าง ๆเช่น ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านความบันเทิง เป็นต้น

3.  ด้านการบริหารจัดการ

  ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก และเป็นสังคมที่มีระเบียบวินัย การศึกษาเป็นสิ่งที่น่าเคารพยกย่อง และความสำเร็จเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จในงานและในสังคม ในการบริหารจัดการได้สังเกตเห็นดังนี้

1.  ผู้นำองค์กรมุ่งพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Learning Organization) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร (Professional Development)

2.  มีภาวะผู้นำในการบริหารสูง สามารถนำพาองค์กรสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่มาจากการมีส่งร่วมของทุกภาคส่วน (Lead The vision )

3.  เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ลงสู่การปฏิบัติ สร้างทีมงานระดับผู้นำให้มีภาวะผู้นำสูงในการบริหารงาน (Build Strong Leadership Team)

4.  เป็นผู้นำที่เรียนรู้กับผู้ร่วมงานทุกระดับ ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง (Open Door Policy)ปฏิบัติตัวเป็นกันเองกับพนักงาน ให้ความสำคัญกับทุกคนในหน่วยงาน

5.  เป็นผู้นำที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการบริหารองค์กรและอำนวยความสะดวก ทุ่นแรงให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่


หมายเลขบันทึก: 536681เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีประโยชน์มากเลยครับ ได้ดูงานตั้ง 5 โรงเรียน

ผมมีอาสาสมัครญี่ปุ่นมาทำงานอาสาด้วยทุกปี

พบว่ามีความรับผิดชอบและตรงต่อเวลามาก เขาสอนเยาวชนอย่างไรนะ

ขอบคุณอาจารย์มากครับที่นำมาเล่าให้อ่าน อยากไปแม่สายเสียแล้ว 555

ขอบคุณค่ะ ดร.ขจิต  ไปญี่ปุ่น 30 วันได้บันทึกทุกวัน กะว่าจะเอามาลงทุกวันแต่ ตารางการศึกษาดูงานของเขาดีจริง ๆ ค่ะ แค่ได้บันทึก ก็อ่อนเพลียง่วงนอนต้องเตรียมงานในวันรุ่งขึ้นค่ะ พอกลับมาไทย งานเพียบๆ ค่ะ เดี๋ยวจะเอามาลงอีกค่ะ เพราะ เขามีระเบียบวินัยจริงๆ บ้านเมืองสะอาดจริง ค่ะ

ขอบคุณที่แบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ให้ได้ร่วมเรียนรู้ด้วยค่ะ

:)

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท