552. "สมองแกล้งตาย"


Theory U ตอนที่ 12

วันนี้อยากเริ่มด้วยคำถามที่ว่า “สมัยเด็กๆครูให้การบ้านโดยให้เวลาทำสามเดือน คุณจะทำเมื่อไหร่”

ถามอ่างนี้ทีไร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับ CEO จนถึงนักเรียนฟันหลอ จะเริ่มหัวเราะคิกคัก ทำหน้าปูเลี่ยน ปูเลี่ยน แล้วก็ตอบอย่างเขินๆว่า 10 วันสุดท้าย บางคนจะบอกหนึ่งวัน... นานๆ จะเจอที “ทำแต่แรกค่ะ” คำตอบหลังนี่ดูจะหนึ่งในพัน  ... ผมเฝ้าถามคำถามนี้กับคนนับพันในหลายๆ ส่วนของประเทศ น่าแปลกที่ตอบเหมือนกันหมด ....

                          

                                        Cr: http://www.insideafricanart.com/batiks.htm

ผมเลยตั้งคำถามต่อ... อะไรทำให้เราไม่สามารถ เริ่มอะไรเป็นเรื่องเป็นราวได้ใน 2 เดือนกับ 20 วันแรก สังเกตไหม ทำหมช่วงแรกๆ ไม่ใช่คุณไม่อยากทำ แต่อะไรดูมันงงงวย ขยับไม่ออกไปหมด คิดไม่ออก ดูติดโน่นนี่นั่นไปหมด แต่สิบวันสุดท้าย กลับเริ่มคิดออก ความคิดพรั่งพรูเป็นระบบ จนงานเสร็จ แต่โทษทีหลายครั้งก็เผางาน หลายครั้งคุณกลับไปคิดว่า ถ้าทำตั้งแต่วันนี้มันคงดีกว่านี้มากนะ

ผมถามบริษัท ถามทีมขาย ถามธนาคาร ถามองค์กรต่างๆ ที่มีการตั้งเป็นผลงานเป็นรายไตรมาส... “ พวกคุณปั้นยอดขายกันตอนไหน”... “เดือนท้ายๆ ครับ/ค่ะ”

คุณว่าถ้าดูตามปรากฏการณ์นี้ จะเห็นว่าน่าตกใจมากๆ คุณที่เป็นผู้บริหารเอง ยังเป็นแบบนี้เลย ผมถามครู ครูก็เป็นเหมือนกัน

ที่สุดทั้งปี คนเราทำงานจริงๆ แสดงศักยภาพจริงๆ ได้สักกี่วัน... ผมว่ารวมๆ กันแล้ว ก็ไม่เกิน 2-3 เดือนต่อปี เด็กๆ ทำวิทยานิพนธ์ หาย... หายไปนาน มาปั่นตอนท้าย ไม่แปลกที่งานวิจัยบ้านเราไม่ก้าวหน้าเท่าทีควร  ไม่แปลกที่เราวางแผนกลยุทธ์ ตั้งเป้ากันเลิศเสอ แต่ “เข็น” ครกขึ้นภูเขาชัดๆ

น่าตกใจที่เราอยู่ในองค์กร ในสังคม ที่มีการ “เผางาน” กันทุกระดับประทับใจ ไม่ต้องหวังกันครับว่าเราจะไปไกลแค่ไหน คุณเองก็คงรู้อยู่แก่ใจ เราไปได้ไกลก็จริง แต่มีความเป็นไปได้ที่ถ้าเรารู้อะไรบางอย่าง เราจะไปได้ไกลกว่าเดิมหลายเท่า จริงไหมครับ

...

มีคนตั้งคำถามนี้เช่นกัน เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาของมนุษยชาติ มีคนดังคนหนึ่งเป็นสุภาพสตรีชื่อซูซี่ เวลท์ เป็นภรรยาของแจ็ค เวลท์อดี CEO ของ GE ที่เป็นคนดังที่สุดในโลกคนหนึ่ง ความที่เป็นภรรยาคนดัง และเคยทำงานบริหารเป็นที่ปรึกษามาก่อน เลยรู้จักคนมาก และมีคนเข้ามาขอคำปรึกษาหารือด้วยตลอด ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว หรือการงาน... หลายคนมานั่งร้องห่มร้องให้ เธอก็นั่งคุยเป็นวัน จนหาทางออก คำตอบกันได้ .... ผ่านไปหลายวัน คนนั้นมักกลับมา แล้วบอกว่า “ยังไม่ได้แก้ไขอะไรให้ดีขึ้น”  (ผมว่าคุณคงเจอเรื่องแบบนี้ในชีวิตคุณไม่มากก็น้อย)... ไม่ได้เป็นคนเดียว เธอเจออย่างนี้นับสิบๆ หลายคนอาจแก้ปัญหา แต่กอรอจนแทบสาย หรือสายไปแล้ว ปัญหาจากเรื่องเล็กๆ เลยบานปลายออกไปกลายเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้น...

ที่สุดเธอรำคาญ มีครั้งหนึ่ง เธอเลยเริ่มบอกคนว่า ... ที่คิดหาทางออกกันไว้นะ ลองใช้เวลาสัก 10 นาทีสิ ลองคิดว่า 10 วันข้างหน้าจะทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เอาที่ทำได้จริงๆ สักเรื่อง  แล้วคิดต่อว่า 10 เดือนข้างหน้าจะทำอะไร...

อยู่ดีๆ เธอก็เห็นความต่าง..  คนเราพอใช้เวลาคิดว่าจะทำอะไรเป็นรูปธรรมในสิบวันข้างหน้า มักจะไปทำจริงๆ แล้วเธอก็ค้นพบว่าคนส่วนใหญ่แก้ปัญหาได้ ตั้งแต่ 10 วันแรก จากนั้นจะมองออกว่า 10 เดือนข้างหน้าทำอะไร... เธอเห็นการเปลี่ยนแปลงชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ  .. ต่อมาเธอตั้งชื่อแนวคิดการให้คำปรึกษาของเธอว่า หลัก 10-10-10 ... ต่อมาเธอเขียนหนังสือ แนวคิดนี้เผยแพร่กว้างขวางไปมากขึ้นจนมีการเอาไปประยุกต์ในด้านอื่นๆ เช่นธุรกิจ ผู้นำ การศึกษา

                        

                               Cr: http://blog.art21.org/2010/09/02/tanzanian-reflections/

เธอพยายามหาคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์หน่อย ตอนแรกก็ไม่รู้ ตอนหลังจึงพบว่า มีคำอธิบายทางชีววิทยาวิวัฒนาการ มันสอดคล้องกันครับ คือนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสมัยก่อนที่ มนุษย์ยังเป็นสัตว์อยู่นั้น เราใช้ชีวิตอยู่ในป่า เราอ่อนแอ ร่างกายเราไม่ได้แข็งแรงเท่าสัตว์อื่น วิ่งก็ไม่เร็ว

... เมื่อเราเจอภัยคุกคาม เราจะหนี หนีไม่ทัน แต่ถ้าสู้ไปก็ตายแน่... เราจึงแกล้งตาย... ที่ส่วนใหญ่ได้ผลครับ เพราะสัตว์นักล่าทั้งหลาย ตามสัญชาตญาณแล้ว จะไม่กินซากสัตว์ หรือสัตว์ที่ตายแล้วครับ ... สัญชาตญาณแกล้งตายมันยังคงอยู่กับเราจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันเราไม่ได้ล่าสัตว์แล้ว แต่ก็พึ่งไม่กี่ศตวรรษมานี้ เมื่อเทียบกับนับแสนๆ ปีที่เราวิวัฒนาการมา  สมองเรายังมีอะไรโบราณๆ ยุคหินอยู่หลายส่วน.. ปัจจุบันเมื่อเราเห็นงานเข้ามา สมองเรามันตีความว่าเป็นสัตว์ร้ายครับ เรากำลังถูกล่า.. เพราะฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยเราเลย “แกล้งตาย”

น่ากลัวไหมครับ... องค์กรเรามีคนแกล้งตายเต็มไปหมด...ไม่แปลก ที่จะมีแต่การ “เผางาน” ในระดับอุตสหากรรม

เป็นคำอธิบายที่น่าสนใจ และเป็นหลักคิดที่ผมเห็นคุณค่ามากๆ ผมเอามาประยุกต์ใช้ในการทำ OD ของผมครับ ไม่ว่าจะใช้เครื่องมืออะไร ทำอะไร เช่น Appreciative Inquiry, Theory U, Dialogue, World Cafe, Future Search หรือแม้กระทั่ง Action Research  ผมจะผสมหลัก 10-10-10 เข้าไปครับ ... ใน Theory U ผมจะผสมช่วง Co-Creation คือช่วงวางแผนสร้างสรรค์ร่วมกันนี่แหละ ใน AI จะผสมช่วง Design จะเป็นอะไรที่ช่วยได้มากๆ เรียกว่าสามารถ “ขยับภูเขา” ได้เลย

                         

เนื่องจากตอนนี้อยู่ในเรื่องที่ผมเน้น Theory U ก็จะบอกครับ จะขยับให้เกิดตัว U ได้ครบจากปลายหนึ่งสู่ปลายหนึ่ง .. หลัก 10-10-10 จะช่วยได้มาก ไม่งั้น หายไปกับสายลมครับ

วันนี้เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ 

อ้างอิง 10-10-10


หมายเลขบันทึก: 536519เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2013 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2013 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณครับอาจารย์ ผมได้ความรู้ขึ้นอีกเยอะเลย

นึกถึงนักรบปราบฝันในบันทึกล่าสุดของผมเลย ฝัน ฝัน ฝัน กับ จินตนาการ ของ ส้มสีม่วง

สงสัยพวกเราจะเจอ นักรบผัดวันประกันพรุ่ง เล่นงานจนชินเสียแล้ว...

ถึงว่า ที่ทำงาน เดือนทั้งเดือน ออเดอร์มหาศาลก็จะมาสัปดาห์สุดท้าย

 KPI ดีมาทั้งเดือนก็มาตายเอาตอนนี้แล่ะครับ


 

ขอบคุณครับขอนำแนวคิดนี้และรูปภาพการปรับประยุกต์อาจารย์มาใช้ในงานนะครับ ...แนวคิดนี้กำลังดำเนินการเรื่อง Patient experience ครับอาจารย์

ชื่นชมบันทึกของอาจารย์ จึงแวะมาเรียนรู้ Theory U ภาษาไทยครับผม

ขอบคุณค่ะ ต้องขอเวลาค่อยๆศึกษาไปนะคะ Theory U 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท