ศักยภาพด้านอารมณ์ คุณธรรมจริยธรรมของเด็กไทย...เริ่มที่ใคร


ศักยภาพด้านอารมณ์
คุณธรรมจริยธรรมของเด็กไทย...เริ่มที่ใคร

 

พ.ญ.นัทธ์ชนัน  จรัสจรุงเกียรติ

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

 

ประเทศไทยที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ควรเป็นอย่างไร ประชากรไทยควรเตรียมรับอย่างไร เป็นคำถามที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจและพยายามหาคำตอบ
โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการเตรียมให้เด็กและเยาวชนไทยมีทักษะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น


หลากหลายหน่วยงานและองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ตื่นตัวและร่วมกันหารือเพื่อกำหนดคุณลักษณะที่เด็กไทยควรมีเพื่อจะได้ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโดยสรุปแล้วครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้คือ
มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีพัฒนาการสมวัย มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีวินัยในตนเองและเคารพกฎกติกาของสังคม มีทักษะทางภาษาและการสื่อสาร สามารถยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นสุข สามารถรู้เท่าทันสื่อและเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ และเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม(1)


แต่กระบวนการเพื่อให้ได้เด็กที่มี”คุณภาพ”เช่นนั้นเป็นเรื่องท้าทายที่ควรได้รับความสนใจเช่นกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่าคุณลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคุณลักษณะพื้นฐานที่เด็กไทยพึงมีเพื่อการ
เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพไม่ว่าจะเกิด AEC ขึ้นหรือไม่(2) เป็นเด็กไทยแบบที่สังคมเรียกร้องต้องการมาช้านาน
แต่เหตุใดที่ผ่านมาเรายังไม่สามารถผลิตเด็กและเยาวชนที่มีคุณลักษณะเช่นนั้นได้พอ


เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะค่านิยมของสังคมส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนยังเป็นไปแบบสมัยเก่า
เห็นได้จากพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนมากมีความคาดหวังมุ่งให้ลูกเรียนเก่ง(2, 3) มีผลการเรียนที่ดี สนับสนุนให้ใช้เวลาว่างไปกับการเรียนพิเศษ โดยขาดการคำนึงถึงพัฒนาการด้านอื่น กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ยังเป็นแบบบอกให้จำมากกว่าสอนให้คิด วิธีการสอบวัดผล หรือแม้แต่การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับต่างๆที่เน้นเรื่องเนื้อหามากกว่ากระบวนการ


ผลผลิตจากกระบวนการนี้คือ เด็กที่“เก่ง” แต่ขาด”ดี”และ”มีสุข” แม้แต่ความเก่งที่ได้รับการส่งเสริมอย่างมากก็เป็นแบบเน้นความรู้วิชาการที่รับประกันผลคะแนนสอบ แต่ไม่ได้รับประกันความสามารถในการเอาตัวรอดในอนาคต ไม่ต้องพูดถึงการใช้ความเก่งของตนเพื่อสร้างประโยชน์แก่คนหมู่มาก


การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ครบทั้ง 3 ด้านคือเป็นคน“เก่ง” เป็นคน“ดี” และมีความ“สุข”นี้ เปรียบเสมือนม้านั่งที่มีขา 3 ขา หากพัฒนาทั้ง 3 ขาได้ครบ ม้านั่งก็จะสามารถตั้งอยู่ได้อย่างสมดุล แต่ทิศทางการพัฒนาปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับ ”ความเก่ง”เป็นอย่างมากและมากกว่าการพัฒนาด้านอื่นที่เหลือ คือ“มีสุข” – พัฒนาการด้านอารมณ์และ”ดี” – พัฒนาการด้านคุณธรรมจริยธรรม จะกลายเป็นว่าม้านั่ง 3 ขานี้ถูกสนใจต่ออยู่เพียงขาเดียว และขาเดียวที่ต่อนั้นก็ไม่แข็งแรงพอ ย่อมโยกเยกพร้อมล้มตลอด เวลา จึงไม่เป็นที่แปลกใจหากผลการสำรวจของศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม สำนักงานปลัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(4) ที่ทำการสอบถามความคิดเห็นจากเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และเยาวชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปถึง 25 ปี จาก 75 จังหวัดทั่วประเทศ ในปีพ.ศ. 2554 จะพบผลดังนี้


จากเด็กที่ตอบแบบสอบถามจำนวน 29,816 คน เด็กเกือบครึ่งหรือร้อยละ 43.69 เคยเครียดใน 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องการเรียนคิดเป็นร้อยละ 66.99 เด็กร้อยละ 26.81 มีภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่าย หมดหวังต่อเนื่องทุกวันเป็นสัปดาห์จนต้องหยุดทำกิจกรรมที่เคยทำ โดยมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องการเรียนคิดเป็นร้อยละ 43.96 และเด็กร้อยละ 7.22 เคยคิดฆ่าตัวตาย โดยมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องการเรียนอีกเช่นกันคิดเป็นร้อยละ 36.94

ด้านความร่วมมือในการเรียนพบว่าเด็กร้อยละ 22.27 เคยหนีเรียน โดยสาเหตุหลักการหนีเรียนมาจากเบื่อครูมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 31.65 ส่วนเบื่อการเรียนมาเป็นอันดับ 3 คิดเป็นร้อยละ 20.22


จากเยาวชนที่ตอบแบบสอบถาม จำนวน 29,746 คน เกือบครึ่งหรือร้อยละ 48.28 เคยเครียดใน 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องการเรียนคิดเป็นร้อยละ 58.30 เยาวชนร้อยละ 29.27 มีภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่าย
หมดหวังต่อเนื่องทุกวันเป็นสัปดาห์จนต้องหยุดทำกิจกรรมที่เคยทำ โดยมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องการเรียนคิดเป็นร้อยละ 29.62 และเยาวชนร้อยละ 9.40 เคยคิดฆ่าตัวตาย โดยมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องการเรียนอีกเช่นกันคิดเป็นร้อยละ 35.64


ด้านความร่วมมือในการเรียนพบว่าเยาวชนร้อยละ 32.55 เคยหนีเรียน โดยสาเหตุหลักการหนีเรียนมาจากเบื่อครูมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 28.59 ส่วนเบื่อการเรียนมาเป็นอันดับ 4 คิดเป็นร้อยละ 17.85


สิ่งเหล่านี้สะท้อนความล้มเหลวในการตีโจทย์ทางการศึกษาของไทย
และผลกระทบของกระบวน การเรียนการสอนแบบเก่าที่ยังใช้ในโรงเรียนส่วนมากในปัจจุบัน


กระบวนการเรียนกับพัฒนาการด้านจิตใจ
ตามทฤษฎี Psychosocial Development ของ
Erik Erikson
(5) ที่กล่าวถึงพัฒนาการทางจิตใจที่เกี่ยวพันกับสังคมและสิ่งแวดล้อมของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย
ได้แบ่งพัฒนาการออกเป็น 8 ช่วงวัย โดยแต่ละวัยมีภารกิจ(Psychosocial Crisis) ที่ต้องเผชิญและผ่านให้สำเร็จ หนึ่งในช่วงวัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบการศึกษาคือ ช่วงวัยเรียน


เด็กอายุ 5-12 ปี หรือเด็กวัยเรียน เป็นวัยที่เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ
เริ่มออกจากบ้านไปมีสังคมภายนอกที่หลากหลาย มีความสนใจในการเรียนรู้และฝึกทักษะด้านต่างๆ
ในขณะเดียวกันก็ต้องตอบสนองกับความคาดหวังที่สังคมมีต่อตน ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังด้านการเรียน
คือ สามารถเข้าใจสิ่งที่ครูสอน และทำงานตามที่สั่งได้ ความคาดหวังด้านความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น คือ การมีวิธีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเล่นและทำงานร่วมกับเพื่อนได้, รู้วิธีปฏิบัติต่อครูหรือผู้ใหญ่อื่นๆที่นอกเหนือ
จากคนในครอบครัวด้วยความเคารพ ความคาดหวังด้านระเบียบวินัย คือ การสามารถปฏิบัติตามกติกาของสังคม
เช่น การปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน การเรียนรู้เรื่องคุณธรรมเบื้องต้น เป็นต้น


สิ่งเหล่านี้เป็นภารกิจของช่วงวัยนี้ที่เด็กต้องปรับตัวผ่านให้ได้
หากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดให้การดูแลอย่างเหมาะสมคือ
ค่อยๆบอกสอนด้วยความใจเย็น ให้งานที่เหมาะสมกับพัฒนาการซึ่งไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป
ให้โอกาสเด็กลองทำกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง ไม่แสดงความผิดหวัง ตำหนิ
หรือลงโทษเมื่อเด็กผิดพลาด เด็กจะสามารถปรับตัวผ่านช่วงวัยนี้ทำได้สำเร็จ และรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง
รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ(competence) และเกิดเป็นความพยายาม มุ่งมั่น วิริยะอุตสาหะที่จะทำกิจกรรมต่อไป (industry) แต่หากเด็กได้รับการดูแลในทางตรงข้าม และไม่สามารถผ่านภารกิจในวัยนี้ได้สำเร็จ
เด็กจะเกิดความรู้สึกว่าตนไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ และด้อยกว่าคนอื่น(Inferiority)


ภาพแห่งตนด้านการเรียน(academic self-concept)

ค่านิยม ”คนเรียนเก่ง” ของสังคม โดยเฉพาะของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หล่อหลอมให้เด็กวัดคุณค่าของตัวเอง(self-esteem)จากผลสำเร็จทางการเรียนแต่เพียงด้านเดียว ละเลยการเห็นคุณค่าของคุณสมบัติดีๆด้านอื่นๆที่อาจจะไม่เกี่ยวกับการเรียน แต่สามารถสร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเองได้ เช่น การมีน้ำใจ การมีมนุษยสัมพันธ์ดี
ความสามารถทางกีฬา, ดนตรี หรือศิลปะ เป็นต้น


เกณฑ์วัดที่แคบของสังคมแบบนี้ ทำให้มีเด็กจำนวนไม่มากที่ผ่านเกณฑ์ เป็นที่ยอมรับของผู้ใหญ่ว่าเป็นคนเก่ง จนสามารถชื่นชมตัวเองได้ ในขณะเด็กที่เหลือซึ่งมีปริมาณที่มากกว่า พลาดโอกาสที่จะชื่นชมความสามารถทางการเรียนของตัวเอง กลายเป็นเด็กเรียนธรรมดา หรือเรียนอ่อนในสายตาของผู้ใหญ่

ผลก็คือเด็กที่ผู้ใหญ่มองว่าเรียนเก่งถนัดที่จะวัดคุณค่าของตัวเองจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
คะแนนสอบและความสำเร็จในการสอบเข้าเรียนต่อในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
แต่ก็รู้สึกล้มเหลวได้ง่ายและเสียใจอย่างมากเมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นดังหวัง
เพราะไม่เคยพัฒนาตัวตน(self-concept) ทางด้านอื่นเลย มีเพียงตัวตนด้านการเรียน(academic self-concept)ด้านเดียวเท่านั้น เมื่อตัวตนด้านการเรียนเพียงหนึ่งเดียวที่มีถูกสั่นคลอนและไม่มีตัวตนด้านอื่นมาช่วยคานรับ
ภาพแห่งตน(self-perception) ทั้งหมดจึงถูกกระทบอย่างมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา


ส่วนเด็กที่ผู้ใหญ่มองว่าเรียนธรรมดา หรือเรียนอ่อน มักไม่ค่อยได้รับการชื่นชมด้านการเรียนจากผู้ใหญ่
ภาพแห่งตนด้านการเรียนที่ตัวเองมองตัวเองจึงเป็นไปในแง่ลบเช่น มองว่าตนไม่เก่ง
ไม่มีความสามารถ(6) ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูในการช่วยดึงเด็กให้เห็นจุดดีด้านอื่นของตน หรือจัดกิจกรรมที่เด็กได้มีโอกาสค้นหาความเก่งด้านอื่น เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ
เพื่อถ่วงดุลให้เด็กรับรู้ว่าถึงตนจะไม่เก่งกาจด้านการเรียน แต่ก็มีด้านอื่นๆที่ทำได้ดีชดเชย อาจทำให้เด็กท้อแท้
ขาดแรงจุงใจในการเรียน เกิดเป็นปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์เช่น เกเร โดดเรียน ตามมา จนอาจถูกออกจากโรงเรียน


ค่านิยมเหล่านี้ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะด้านอื่นๆที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะทักษะด้านอารมณ์ และคุณธรรมจริยธรรม


กระบวนการเรียนกับพัฒนาการด้านคุณธรรมจริยธรรม

เด็กที่เติบโตมาในสังคมแห่งการแข่งขันเอาชนะกันเพื่อเอาตัวรอด มักอ่อนแอน้ำใจ ขาดทักษะการแบ่งปันหรือทาน ซึ่งเป็นคุณธรรมข้อแรกในหลักธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข(สังคหวัตถุ4)(7)


นอกจากนี้ ระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขัน ให้ความสำคัญกับการกอบโกยคะแนนมากๆ เพื่อยืนยันผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเป็นหลักประกันความสำเร็จทางการศึกษาในอนาคต ทำให้เด็กเรียนเพื่อสอบผ่าน
มากกว่าเรียนเพื่อรู้ และรู้เพื่อจะได้รู้มากกว่าคนอื่น ไม่ใช่รู้เพื่อมาเกื้อกูลสังคม เด็กจึงมุ่งเรียนเพื่อประโยชน์ของตนเองเป็นใหญ่ ไม่ได้ถูกฝึกเพื่อมีใจเอื้อเฟื้อ หรือมีใจที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา ซึ่งเป็นข้อธรรมในหลักพรหมวิหาร(7)

ระบบการศึกษาที่เน้นจำมากกว่าคิด เน้นการตอบตามตำรา และการคิดนอกกรอบของนักเรียนยังเป็นสิ่งต้องห้าม
ทำให้เด็กขาดโอกาสในการฝึกระบบการคิด ฝึกทักษะการค้นหาความจริงตามหลักวิทยาศาตร์
ฝึกทักษะในการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับ และที่สำคัญคือขาดโอกาสในการฝึกทักษะการตรวจสอบความคิดตัวเองอย่างเป็นระบบ(anti-self-deception) ผลคือเด็กไม่สามารถคิดอะไรใหม่ๆหรือสร้างนวัตกรรมออกมาได้ และมักจะยึดอยู่กับความรู้เดิมที่เคยได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านมา ขาดโอกาสที่จะพัฒนาให้เกิดปัญญาที่แท้


รับมือกับ AEC…

ในขณะที่กระแสของประชาคมอาเซียน หรือ AEC กำลังใกล้เข้ามา ยิ่งทำให้ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตื่นตัว เร่งพัฒนาและส่งเสริมทักษะของเด็กเพื่อเตรียมรับ AEC โดยเฉพาะทักษะทางภาษา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษะทางภาษาเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างมาก
เพราะเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้และการสื่อสาร แต่สิ่งที่ควรระวังและให้ความสนใจคือ
กระบวนการฝึกทักษะนี้

ความหวังดีที่มาในรูปแบบการยัดเยียด เร่ง เสริมทักษะความรู้ด้วยวิธีเดิมๆซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผลการพัฒนาตามที่ต้องการแล้ว ยังมีผลกระทบด้านลบดังที่กล่าวมาแล้วอีกด้วย เปรียบเทียบคล้ายกับเมนูอาหารที่ขึ้นชื่อของฝรั่งเศส
“Foie gras” ที่เป็ดหรือห่านจะโดนขังในกรงแคบๆและถูกบังคับให้กินอาหารคราวละมากๆ
เพื่อให้ได้ตับที่เต็มไปด้วยไขมัน อร่อย แต่เบื้องหลังเป็ดหรือห่านนั้นสะบักสะบอมจากกระบวนการผลิต
จนไม่เหลือเรี่ยวแรงมากพอที่จะใช้ไปทำประโยชน์อย่างอื่น

เด็กก็เช่นเดียวกัน...การเร่ง อัด เน้น เสริม ความรู้ที่มากเกินกว่าจะรับไหวและยากเกินระดับพัฒนาการอาจทำให้เด็กเกิดการเบื่อหน่าย ท้อแท้ อ่อนล้า แล้วนำไปสู่การไม่ร่วมมือในการเรียนในที่สุด


เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

สิ่งใหม่ที่สังคมไทยพึงปรับเปลี่ยนคือ ทัศนคติด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ควรทำอย่างเป็นองค์รวม
เพื่อกระตุ้นให้เกิดเด็กที่“เก่ง””ดี”และ”มีสุข” มิฉะนั้นเราอาจได้เด็กที่”เก่ง” แต่”โกง” หรือ ”เก่ง” แต่ ”ไร้สุข” อย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สังคมไทยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ครูในระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึง พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ทุกคน

พัฒนาการด้านอารมณ์ และคุณธรรมจริยธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะปลูกฝังได้โดยการเทศนาสั่งสอน
หรือการท่องจำเนื้อหาของวิชาพระพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผ่านการฝึกฝนโดยเปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์ทางอารมณ์ที่หลากหลาย หรือเผชิญกับโจทย์ทางศีลธรรมที่เรียกว่าdilemma แล้วฝึกหาข้อสรุปหรือทางออกที่เหมาะสมกับตนเอง คนรอบข้าง และสถานการณ์ในขณะนั้น

การแลกเปลี่ยนความคิดไม่ว่ากับคนที่อยู่ในวัยเดียวกัน หรืออายุมากกว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยให้เห็นมุมมองที่กว้างกว่าที่ตนมอง เพราะในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ และคุณธรรมจริยธรรมนั้นไม่มีคำตอบใดที่ตายตัว หรือถูกต้องที่สุด (absolute truth) แต่ต้องขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

 

ต้นแบบที่ดี...วิธีการเรียนรู้ที่ทรงพลัง(8) 

จากทฤษฎีการเรียนรู้ Social Cognitive Learning Theory ของ Albert Bandura(9)กล่าวว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนมากเกิดจากการสังเกตหรือเลียนแบบจากตัวอย่างที่มีในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นตัวอย่างที่มีชีวิต เช่น พ่อแม่ ครู เพื่อน ฯลฯ หรือตัวอย่างที่ไม่มีชีวิตเช่น ตัวละครในโทรทัศน์ การ์ตูน หรือหนังสือ ฯลฯ

Bandura และคณะ ได้ทำการทดลองในปี 1961 และ 1963 ชื่อBobo doll experiment(10, 11)ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กพบว่า เด็กที่เคยเห็นการแสดงความก้าวร้าวไม่ว่าจะจากต้นแบบที่เป็นคนจริงๆ, คนในภาพยนต์ หรือตัวการ์ตูน จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ไม่เห็นต้นแบบแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว

การเลียนแบบมีทั้งประโยชน์และโทษ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นแบบ


ในสังคมทุกวันนี้ที่ขาดแคลนต้นแบบที่ดี
คงเป็นการยากหากเรารณรงค์ให้นักเรียนไม่โกงข้อสอบ ไม่ลอกการบ้านเพื่อน แต่corruptionยังเกิดขึ้นอย่างเอิกเกริกโดย”ผู้ใหญ่”ในสังคมไทย แม่ที่พร่ำบอกให้ลูกซื่อสัตย์แต่ตนเองกลับเขียนใบลาป่วยส่งที่ทำงานเพื่อไปพักผ่อน
ครูที่อบรมสอนเรื่องตรงต่อเวลาแต่ตนเองมักมีปัญหาเรื่องการรักษาเวลาในที่ประชุม สังคมที่ต้องการให้เด็กมีน้ำใจแต่ภาพผู้คนที่ก้มหน้าก้มตาหลับหรือไม่ก็ง่วนกับโทรศัพท์ ไม่สนใจว่าจะมีเด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา หรือผู้พิการขึ้นมาบนรถหรือไม่ กลับเป็นภาพที่พวกเขาคุ้นชินทุกครั้งที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ


การสอนที่ดีคือการทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี
เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบได้ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าใจภาษา ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า“ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส” จึงหมายความว่า กระบวนการสอนต้องเริ่มจากการฝึกตัวผู้ใหญ่เองก่อน ก่อนที่จะไปฝึกเด็ก ฝึกจนตนเองมีคุณธรรม สามารถทำอย่างที่อยากสอนได้เป็นอัตโนมัติ เมื่อนั้นก็สามารถสอนโดยปราศจากคำพูด


ทักษะที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ใหญ่ทำอย่างนั้นได้คือ การมีสติ(awareness, mindfulness) ที่ไวพอในการตรวจระวังให้ความคิด คำพูดและการกระทำเป็นไปอย่างเหมาะสม
และสองคือการมีระบบตรวจสอบความคิดตัวเองที่แม่นยำ(anti-self-deception)


anti-self-deception คือกระบวนการตรวจสอบความคิดของตนโดยพยายามหาจุดผิด หรือจุดไม่จริงของความคิดนั้น(falsify, prove wrong) โดยไม่ใช่การจับผิดเพื่อหาข้อตำหนิให้หมดกำลังใจ
แต่เป็นกระบวนการที่ใช้หลักฐานเพื่อมาค้านสมมุติฐานที่มีอยู่ในใจตัวเอง
มนุษย์ทั่วไปมักเชื่อ ยึดถือ ติดกับอยู่กับสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นความจริง
ไม่ว่าจะเป็นความคิดความเชื่อเกี่ยวกับตนเอง คนอื่น หรือโลก
การหาจุดผิดของความคิดตนจะทำให้เรามีความคิดที่เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น ลดความยึดถือความคิดความเห็นของตนลง มองเหตุการณ์ในมุมที่กว้างและยืดหยุ่นขึ้น


เริ่มได้ตั้งแต่วันนี้
และเริ่มที่...
เรา”...

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ไม่ว่า AECจะเกิดขึ้นหรือไม่ ประเทศไทยก็จำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชน AECทำหน้าที่เป็นเพียงระฆังที่ดังเพื่อเตือนเราว่าเราไม่สามารถเริ่มสายไปกว่านี้ได้อีกแล้ว

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคงเป็นไปได้ยากหากจะคาดหวังให้รัฐมีทางออกที่สำเร็จสมบูรณ์
ทุกคนในสังคมควรตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์
เพราะคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งเราผู้เป็นประชากรผู้หนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง
คุณภาพของเด็กและเยาวชนในวันนี้จะเป็นตัวทำนายคุณภาพสังคมที่เราทุกคนต้องอาศัยอยู่ในอนาคตข้างหน้า
โปรดระลึกเสมอว่าการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องของเราทุกคน และสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้
และเริ่มที่...”เรา”...

 

เอกสารอ้างอิง

1.  สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส
และผู้สูงอายุ กระทรางการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.
คุณลักษณะเด็กและเยาวชนไทยที่พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน. 2555.

2.  พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๕๐.

3.  คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ.
แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙. 

4.  ศูนย์การเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม
สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.
รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนไทย ปี 2554.

5.  Fleming JS. Psychological
Perspectives on Human Development. 
Erikson’s Psychosocial Developmental Stages; 2004. p. 1-24.

6.  Urhahne D, Chao SH, Florineth ML,
Luttenberger S, Paechter M. Academic self-concept, learning motivation, and
test anxiety of the underestimated student. Br J Educ Psychol.  Mar;81(Pt 1):161-77.

7.  พระพรหมคุณาภรณ์
(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หลักปฎิบัติทั่วไป. 
ภูมิธรรมชาวพุทธ
;
2548. p. 30-5.

8.  Bandura A. The Role of Imitation in
Personality Development. The Journal of Nursery Education. 1963;18(3).

9.  Grusec JE. Social Learning Theory
and Developmental Psychology:The Legacies of Robert Sears and Albert Bandura.
Developmental Psychology. 1992;28(5):776-86.

10.  Bandura A, Ross D, Ross SA.
Transmission of aggression through imitation of aggressive models. J Abnorm Soc
Psychol. 1961 Nov;63:575-82.

11.  Bandura A, Ross D, Ross SA. Imitation
of film-mediated agressive models. J Abnorm Soc Psychol. 1963 Jan;66:3-11.

หมายเลขบันทึก: 536518เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2013 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2013 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท