ต่อต้านและชักนำให้เลิกประเพณีกินดอง


ประเพณีกินดอง

        ประเพณี คือ การกระทำหรือความประพฤติที่ปฏิบัติสืบมาของชุมชน ประเพณีกินดองของชุมชนเป็นประเพณีปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างแปลกที่ประเพณีนี้มีอยู่ที่อำเภอนี้
เพราะอำเภอหนองบัวเป็นชุมชนหรือสังคมปิดมาแต่โบราณ เนื่องจากการติดต่อทางคมนาคมกับชุมชนอื่นเต็มไปด้วยความยากลำบาก

        ประเพณีกินดอง คือ ความนิยมที่ชาวบ้านจะจองตัวฝ่ายหญิงเมื่อเด็กหรือผ่านวัยเด็กมาเล็กน้อยอายุราว 8-15 ปี พ่อแม่ฝ่ายที่มีบุตรเป็นชายจะไปหมั้นจองตัวเอาไว้ในอนาคตทั้งคู่จะแต่งงานอยู่กินกันเป็นสามีภรรยา การดองกันโดยพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายซึ่งบางครั้งเจ้าตัวฝ่ายหญิงและฝ่ายชายอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

        เมื่อถึงวาระสำคัญ เช่น ตรุษ หรือวันสำคัญทางศาสนา ทางฝ่ายหญิงจะต้องจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคใส่หาบไปเยี่ยมบ้านคู่หมั้นฝ่ายชาย ฝ่ายชายรับสิ่งเหล่านั้นขึ้นเรือนแล้ว ก็เรียกพรรคพวกวงศ์ญาติของตนมากินเลี้ยงสิ่งของเหล่านั้นจนหมด ฝ่ายหญิงจึงเดินทางกลับ ต่อไปฝ่ายชายก็ต้องปฏิบัติทำนองเดียวกันบ้าง การประกวดประชันความมั่งมีของแต่ละฝ่ายจะบังเกิดขึ้นตรงจุดนี้ขบวนแห่แหนของแต่ละฝ่ายจะโอ่อ่าหรูหรามากขึ้นยกขบวนกันไปกิน กินกันไปกินมานับแต่คู่ดองที่หมั้นหมายเริ่มล่วงพ้นวัยเด็กไปไม่เท่าไร จนกว่าทั้งคู่จะหมั้นหมายอีกครั้งและแต่งงานกัน การกินดองจึงจะยุติลงสำหรับคู่นั้น หรืออาจจะยุติลงเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหันไปแต่งงานกับรายอื่นที่ไม่ใช่คู่ดอง

        เมื่อถึงคราวแต่งงานการประกวดการแข่งขันความมั่งมีจะเกิดขึ้นอีก เนื่องจากข้อกำหนดให้ฝ่ายชายเป็นผู้จัดหาไม้มาปลูกเรือนหอ ฝ่ายหญิงจะจัดหาหลังคา และไม้ฝาบ้าน ยิ่งปลูกได้ใหญ่โตเท่าไรก็ยิ่งแสดงถึงฐานะมากขึ้น
ระหว่างการปลูกเรือนหอนั้นฝ่ายหญิงจะจัดอาหารมาเลี้ยงดูฝ่ายชายจนกระทั่งปลูกเสร็จ

         นอกจากนั้นฝ่ายหญิงจะต้องรับผิดชอบจัดหาเครื่องนอน ตู้เตียง และอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้ทำมาหากิน เมื่อถึงกำหนดวันแต่งงานจะจัดงาน ณ บ้านที่สร้างขึ้นใหม่

         ในปี พ.ศ. 2526 นายอำเภอสมหมาย และพระนิกรโสภณเจ้าคณะอำเภอหนองบัว เห็นว่าเป็นประเพณีล้าสมัย เป็นค่านิยมที่ผิด เป็นบ่อเกิดแห่งความยากจน เพราะปีหนึ่งๆ หาเงินมาได้ก็มาทุ่มเทแต่งานนี้เพื่อรักษาหน้า จึงได้ร่วมกันชี้แจง ชาวบ้านถึงความไม่ถูกต้องให้ชาวบ้านฟัง และเรียกร้องให้ชาวบ้านเลิกประเพณีนี้

         ในปี  พ.ศ. 2526 ต่อต้านเต็มรูปแบบ โดยออกประกาศของอำเภอชี้ถึงโทษ 5 ประการ คือ

          1.  การหมั้นหรือดองกันนาน อาจจะไม่ได้แต่งงานกัน 2 ครอบครัวจะผิดใจกัน รวมทั้งวงศาคณาญาติทั้งสองฝ่ายด้วย

           2.  เด็กที่อยู่ในวัยศึกษา ทำการหมั้นหรือดองแล้วจะไม่มีความตั้งใจเรียน หรือเรียนไม่จบ

           3.  เด็กไม่มีโอกาสแต่งงานกับคนต่างถิ่นที่มีอนาคตก้าวหน้า

           4.  แต่งงานในหมู่เครือญาติทำให้ปัญญาเสื่อม

           5.  การจัดของไปเยี่ยมคู่ดองแข่งขันกันเป็นการสิ้นเปลืองในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

          ประกอบกับขณะนั้นสังคมของชุมชนหนองบัว เริ่มเป็นสังคมเปิดแล้วสามารถไปจังหวัดนครสวรรค์ได้เป็น 10 เที่ยว ในวันเดียว แม้พื้นที่ข้างเคียงก็ไปมาสะดวก ฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ประเพณีจืดจางไปเหลือไว้เป็นตำนานเล่าขานกันมาจนถึงขณะนี้แล

       วิเคราะห์เชิงอรรถ
           งานต่อต้านยกเลิกประเพณีกินดอง เป็นการดำเนินนโยบายตามกระแสเพราะเมื่อสังคมเปิดแล้ว ประเพณีจะเสื่อมคลายตามกระแสสังคมยุคใหม่
เรารู้ทิศทางเมื่อเข้าไปต่อต้านทำให้ประเพณีเสื่อมคลายเร็วขึ้นตามเหตุผล 5 ประการ เชื่อว่าเดี๋ยวนี้ไม่หลงเหลือประเพณีนี้แล้ว



หมายเลขบันทึก: 535091เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วผมก็เห็นด้วยว่าถ้ากลายเป็นการฟุ่มเฟือยเช่นนี้ก็ไม่น่าจะสืบสานประเพณีนี้ต่อไปครับ แต่นอกจากการยกเลิกแล้วก็ยังมีวิธีอื่นอาทิเช่น เปลี่ยนวิธีปฎิบัติที่ฟุ่มเฟือยออกไปเป็นการทำสิ่งอื่นที่กลายเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสองครอบครัวก็ได้นะครับ

อืมม... ถ้าให้ผมนึกเร็วๆ ตอนนี้ก็อาจจะเป็นว่าเด็กทั้งสองครอบครัวที่ดองไว้ก็อาจจะไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องแต่งงานกัน แต่เหมือนกับแต่ละครอบครัวก็ได้ลูกเพิ่มขึ้นมาที่จะช่วยเหลือดูแลให้เติบโต เหมือนธรรมเนียม godparent ของชาวคริสต์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท