การเตรียมงานสัมมนาวิชาการ “ข้อกฎหมายและแนวทางให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสถานะทางบุคคล : กรณีชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย”


การเตรียมงานสัมมนาวิชาการ

“ข้อกฎหมายและแนวทางให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสถานะทางบุคคล

: กรณีชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย”


ในการศึกษาวิจัยวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าในหัวข้อ “บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศไทย แต่ถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย : บุคคลภายใต้มาตรา 7 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508” ช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ 2556 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสศึกษาวิจัยโดยการลงพื้นที่ (Field Research) ในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ประจำปีการศึกษา 2555” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากการลงพื้นที่ดังกล่าว ข้าพเจ้าในฐานะกรรมการโครงการ ฯ ร่วมกับคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ทนายความศูนย์นิติศาสตร์ และนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลเพื่อรวบรวมสภาพปัญหาของชาวบ้านในสองพื้นที่ คือ หมู่บ้านกิ่วจำปี และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ทั้งนี้ ปัญหาเกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลที่พบในพื้นที่มี 4 ประการหลัก คือ (1) สิทธิในการอยู่ร่วมเป็นครอบครัว (2) สิทธิในสัญชาติ (3) การใช้สิทธิ/การยื่นคำร้องต่าง ๆ (4) การฟ้องคดี กรณีผู้รักษาการตามกฎหมายไม่ปฏิบัติหน้าที่

ในระหว่างการลงพื้นที่ โครงการ ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนในปัญหาสถานะบุคคล 2 ประการแรก ซึ่งเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างที่สะท้อนสภาพปัญหาสถานะบุคคลส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงมีความสำคัญต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชุมชน และสังคมโดยภาพรวม กล่าวคือ

(1) กรณีศึกษาเรื่องสิทธิในการอยู่ร่วมเป็นครอบครัว จำนวน 1 คำร้อง คือ กรณีศึกษาครอบครัวแพทริเซีย

(2) กรณีศึกษาเรื่องสิทธิในสัญชาติ จำนวน 4 คำร้อง คือ

- กรณีศึกษาครอบครัวอาโบ (ดูข้อมูลได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/533503)

- กรณีศึกษาครอบครัวอาบู่ (ดูข้อมูลได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/533507)

- กรณีศึกษาครอบครัวอาหมื่น (ดูข้อมูลได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/533505)

- กรณีศึกษาครอบครัวอามะ[1]

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้นำกรณีศึกษาเรื่องสิทธิในสัญชาติทั้ง 4 กรณีศึกษามาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาวิจัยวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าเพื่อเขียนบทวิเคราะห์ทางกฎหมาย และเผยแพร่งานการให้บริการสังคมของโครงการ ฯ สู่สาธารณะ

วันที่  17 พฤษภาคม 2556 นี้ ข้าพเจ้าจะนำเสนอกรณีศึกษาเรื่องสิทธิในสัญชาติทั้ง 4 กรณีศึกษา ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “ข้อกฎหมายและแนวทางให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสถานะทางบุคคล : กรณีชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย” ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นการนำเสนอผลงานของโครงการ ฯ และผลงานศึกษาวิจัยวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้า

การวิเคราะห์กรณีศึกษาและการนำเสนอกรณีศึกษาจึงต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ ฯ 10 ประการ ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาและให้ความช่วยเหลือในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเด็ก และให้บริการทางวิชาการเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาเด็ก[2]และเยาวชน[3] กล่าวคือ

1. เพื่อศึกษาวิจัยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับสังคมเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้และแนวทางการพัฒนาสิทธิของเด็ก

2. ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก

3. ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับผู้ร้องขอในปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิเด็ก

4. เพื่อให้บริการวิชาการที่ชี้นำ ป้องกัน หรือแก้ปัญหาของสังคมแก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีในพื้นที่ที่มีการสำรวจ

5. เพื่อเผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยของคณะนิติศาสตร์สู่สาธารณะ

6. เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎหมายเรื่องต่าง ๆ สู่สังคมและประชาชนในท้องถิ่น

7. เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีแก่เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนและประชาชนในท้องถิ่น

8. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่แก่ประชาชนในชุมชนของตนเองได้

9. เพื่อให้บริการวิชาการที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเข้มแข็งของชุมชนหรือองค์กรภายนอก

10. เพื่อให้มีการบูรณาการบริหารงานวิชาการแก่สังคมถึงการพัฒนาการเรียนการสอนและ/หรืองานวิจัยของคณะนิติศาสตร์

ดังนั้น ขั้นตอนการเตรียมงานนำเสนอที่สำคัญ ควรประกอบด้วย

ประการแรก ตรวจสอบว่ากรณีศึกษาแต่ละกรณีศึกษานั้น มีเด็กหรือเยาวชนผู้เป็นประธานของเรื่องจำนวนกี่คน ใครบ้าง

ประการที่สอง ตรวจสอบว่าสาเหตุของปัญหาสถานะบุคคลของเด็กหรือเยาวชนนั้น เกิดจากอะไร

ประการที่สาม ตรวจสอบว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสถานะบุคคลตามสิทธิของเด็กหรือเยาวชนนั้น กฎหมายไทยว่าอย่างไร กฎหมายระหว่างประเทศว่าอย่างไร

ประการที่สี่ ตรวจสอบว่าผู้รักษาการตามกฎหมายที่มีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิของเด็กหรือเยาวชนในแต่ละกรณีศึกษาคือใคร

ประการที่ห้า ตรวจสอบว่าแต่ละกรณีศึกษาได้มีการใช้สิทธิ/ยื่นคำร้อง หรือดำเนินการใดแล้วหรือไม่ อย่างไร

ประการที่หก วิเคราะห์ข้อเท็จจริงปรับข้อกฎหมายในแต่ละกรณีศึกษา

ประการที่เจ็ด ศึกษาแนวทางการพัฒนาสิทธิเพื่อแก้ปัญหาสถานะบุคคลในแต่ละกรณีศึกษา



[1] กรณีศึกษาครอบครัวอามะ ข้าพเจ้าได้ร่วมศึกษาวิจัยกับนางสาวปรางค์สิรินทร์ อเนกสุวรรณกุล นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

[3] เยาวชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ถึง 25 ปีบริบูรณ์ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550


หมายเลขบันทึก: 534822เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท