การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๓. สี่มิจฉาทิฐิของการเรียนรู้



          บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc  ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning)

          แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา   แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

          ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

          การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช

          ในบทที่ ๒ ของหนังสือชื่อบทคือ When Philosophy Is Put into Practice  ผู้เขียนคือ Parker J. Palmer  อธิบายโต้แย้งคำกล่าวหาว่าการเรียนรู้บูรณาการอีกหลายประเด็น  ซึ่งอาจแปลความได้ว่า เป็นความคิดแบบมิจฉาทิฐิ ในเรื่องการเรียนรู้ ได้แก่


เป็นการเรียนรู้ที่มั่ว (messy)

          การเรียนรู้ที่ไม่มั่ว เป็นระเบียบและเป็นที่คุ้นเคย ของวงการวิชาการคือ  การเรียนรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล (rational), เป็นเส้นตรง (linear), และ ควบคุมได้ (controlled)  ผู้เขียนบอกว่า นั่นคือ comfort zone ของนักวิชาการ   

          แต่การเรียนรู้แบบบูรณาการต้องรวมเอาการเรียนรู้ต่างจารีต ที่นักวิชาการไม่คุ้นเคย เข้าไปด้วย  ได้แก่ การเรียนรู้แบบ ความสัมพันธ์ (relational), ปัญญาญาณ (intuitive), และ อารมณ์ (emotional)  ทำให้นักวิชาการไม่ยอมรับ หรือไม่มีทักษะที่จะจัดการความรู้แนวนี้ 

          คนที่กล่าวหาว่าการเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นการเรียนรู้ที่มั่ว  อาจหมายถึงสภาพที่การเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่มีข้อสรุปว่าที่ถูกต้องคืออะไร  คือไม่ตัดสินถูก-ผิด ขาว-ดำ  ข้อตำหนิเรื่องนี้เป็นจริง  แต่นี่คือความจริงของชีวิต  และ นศ. ต้องเรียนความจริงนี้  ผมตีความว่า นี่คือการเรียนทักษะด้านวิจารณญาณ (critical thinking skills)

          การเรียนรู้บางเรื่อง มีถูก-ผิด ขาว-ดำ  แต่ในเรื่องที่ซับซ้อนและเป็นพลวัต จะไม่มีถูก-ผิด ขาว-ดำ  ต้องพิจารณาตามกาละเทศะ และมุมมองเป็นกรณีๆ ไป  แต่ในหนังสือบทต่อไป ที่เขียนโดย ศ.​อาเธอร์ ซาย้องค์ นักฟิสิกส์  เราจะเห็นว่า ในทางเมตาฟิสิกส์ สรรพสิ่งที่เราคิดว่าชัดเจนตายตัวไม่ได้มีสภาพตายตัวอย่างที่เราเห็นหรือสัมผัส  สภาพที่เราเห็นอยู่ภายใต้สมมติหรือบริบทหนึ่งเท่านั้น  ไม่ใช่เป็นจริงในทุกบริบท  คือเป็นสมมติ (relativity) ระหว่างสิ่งนั้นกับผู้สังเกต (observer)

          นอกจากนั้น การยึดมั่นถือมั่นกับ “ความจริง” แบบตายตัว เป็นเครื่องขัดขวาง จินตนาการ ชีวิตของคนเรานั้น “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”  นี่คือประโยคอมตะของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

          จะเห็นว่า “ความมั่ว” หรือความไม่ตายตัว เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่ง  การสอนให้เด็กและเยาวชนยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตายตัว  เป็นการศึกษาที่ผิด  

          การประยุกต์ใช้ความรู้ ต้องเป็นไปเพื่อความเสียสละ และความรัก  ไม่ใช่เพื่อความเห็นแก่ตัว และความเกลียดชัง  ในมิติแห่งความเป็นมนุษย์ ความรู้ไม่ได้อยู่ลอยๆ  แต่มีความเชื่อมโยงกับจริยธรรมอย่างแยกกันไม่ออก


เรื่องอารมณ์ไม่เกี่ยวกับการเรียนในห้องเรียน

          หัวข้อข้างบนเป็นมิจฉาทิฐิแน่นอน  เมื่อคำนึงถึงหนังสือ Emotional Intelligence โดย Daniel Goleman

          ข้อความที่น่าสนใจยิ่งในหนังสือ คือ บอกว่า การคิดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสมอง (brain) แต่เกิดขึ้นภายใน จิตใจ (mind)ของเราด้วย  จิตใจไม่ใช่อวัยวะอย่างสมอง  แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั่วเนื้อทั่วตัว  และเกี่ยวข้องกับทุกอวัยวะในร่างกาย 

          ในความเข้าใจของผม การศึกษาต้องเอื้อให้เกิดการพัฒนาทั้ง ๕ ด้านภายในตัว นศ.  ได้แก่ด้าน กายภาพ ปัญญา  อารมณ์  สังคม  และจิตวิญญาณ  และครูต้องทำหน้าที่เป็น โค้ช ต่อพัฒนาการทักษะทั้ง ๔ ประการนี้

          พัฒนาการทางอารมณ์ เป็นทั้งเป้าหมาย (end) และเครื่องมือ (means) ของการเรียนรู้  เนื่องจากการเรียนรู้ในปัจจุบัน ต้องเน้นเรียนเป็นทีม  ในบรรยากาศเปิดกว้าง เคารพข้อคิดเห็นของคนอื่น  นศ. ที่พัฒนาการทางอารมณ์ต่ำ อาจแสดงอารมณ์ด้านลบออกมาเมื่อมีคนแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่ตนเชื่อ  และทำลายบรรยากาศของการเรียนรู้ 


ความเป็นชุมชนก็ไม่เกี่ยว

          การเรียนรู้เกิดขึ้นดีที่สุด เมื่อคนที่เกี่ยวข้องมีความเป็นชุมชน หรือเป็นประชาคมร่วมกัน  นี่คือข้อสรุปในหนังสือ A World Waiting to Be Born : Civility Rediscovered โดย M. Scott Peck

          และใน 21st Century Skills ก็มี Collaborative Skills เป็นตัวสำคัญ 

          เรื่อง 21st Century Skills นี้ ทั้ง นศ. และครู ต้องเรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน  ครูที่มี 21st Century Skills เข้มแข็ง จะช่วย นศ. พัฒนา 21st Century Skills ได้ดี 

          นอกจากนั้น ครูยังต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงานของตน จาก “ครูเดี่ยว” เป็น “ครูทีม”  คือทำงานและเรียนรู้จากการทำงานเป็นทีมหรือเป็นชุมชนเรียนรู้ ที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Commnity)  ซึ่งจะช่วยให้ครูทำงานในบริบทใหม่ได้ง่ายขึ้นมาก   ผมมองว่า ครูควรได้อ่านหนังสือ A World Waiting to Be Born หรือเราควรแปลหนังสือเล่มนี้ออกเผยแพร่ในสังคมไทย เพื่อช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของครู 

          ความเป็นชุมชนระหว่าง นศ. หมายความว่า นศ. พูดคุยปรึกษากันในเรื่องการเรียน  โดย นศ. ที่เข้าใจเรื่องนั้น อาจช่วยติวเพื่อนที่ยังไม่เข้าใจ  ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์  คนที่ได้รับประโยชน์มากกว่า คือ นศ. ที่เป็นผู้ติว  เพราะการสอนคนอื่นเป็นสุดยอดของวิธีเรียนรู้ ตาม Learning Pyramid

          หนังสือบทนี้เล่าเรื่องศาสตราจารย์อเมริกันท่านหนึ่ง สังเกตว่า นศ. ที่เป็นอเมริกันผิวดำ มีคะแนนในกลุ่มต่ำสุด  นศ. อเมริกันผิวขาว ปานกลาง  นศ. เอเซีย คะแนนสูงสุด  และสังเกตเห็นว่าเมื่อจบชั่วโมงเรียนในห้องเรียน  นศ. เอเซีย จะไปจับกลุ่มโต้แย้งหรือคุยกันเรื่องวิชาที่เรียน  ในขณะที่ นศ. คนขาวทำบ้าง ไม่มากนัก  แต่ นศ. คนดำไม่ทำเลย ถือเป็นเรื่องผิดประเพณีหากทำเช่นนั้น  ศาสตราจารย์ท่านนี้จึงเข้าไปช่วยจัดให้ นศ. คนดำจับกลุ่มติวหรือคุยกันเรื่องการเรียน  ผลการเรียนของ นศ. กลุ่มนี้ดีขึ้นทันตาเห็น 

          เป็นที่รู้กันว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยมีความเป็นปัจเจกสูง  จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยน หรือบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมปัจเจก ไปสู่วัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม  โดยผมขอเสนอแนะวิธีการจัดการการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า เครื่องมือสำคัญคือการจัดการความรู้  และ Appreciative Inquiry  นำเอาเรื่องราวความสำเร็จเล็กๆ จากการทำงานเป็นทีม มาจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และชื่นชมกัน

          หนังสือเล่าผลการวิจัยเมื่อ ๒๐ ปีมาแล้วในชิคาโก  เปรียบเทียบโรงเรียนระดับอนุบาลถึง ม. ๖ (K-12) คือกลุ่มที่สอนทักษะพื้นฐานแก่นักเรียนได้ดี  กับกลุ่มที่คุณภาพต่ำ  ว่ามีความแตกต่างกันที่ปัจจัยอะไร  พบว่าสิ่งที่ไม่แตกต่างกันคือ หลักสูตร  การฝึกอบรมครูประจำการ  งบประมาณ  รูปแบบการกำกับดูแลโรงเรียน  และปัจจัยด้านประชากร  แต่เขาพบด้วยความแปลกใจว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญสูงมากต่อคุณภาพโรงเรียนคือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน” (relational trust) ในกลุ่มครูด้วยกัน และระหว่างครูกับผู้บริหาร ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ก็คือความเป็นชุมชนนั่นเอง  (Bryk A, Schneider B. (2004). Trust in Schools : A Core Resource for Improvement. New York : Russel Sage Foundation.)  ข้อค้นพบนี้ ตรงกับของ M. Scott Peck ในหนังสือ The World Waiting to Be Born นั่นเอง


วิชาการกับจิตวิญญาณเป็นเรื่องแยกกัน

          การเรียนรู้บูรณาการ อาจนำไปสู่มิติที่เลยความเป็นเหตุเป็นผล (logic) ไปสู่มิติที่ไม่เน้นเหตุผล (non-rational)  และมิติเชิงจิตวิญญาณ (spirituality)

          นักวิชาการจำนวนมาก ยึดมั่นในความมีหลักฐานพิสูจน์ได้ หรือรูปธรรม (objectivity)  ปฏิเสธนามธรรม (subjectivity)   แต่การเรียนรู้บูรณาการยอมรับทั้งสองขั้ว  และเรียนรู้ไปด้วยกันทั้งสองขั้วตรงกันข้าม  คือยอมรับและเรียนรู้ทั้งวิทยาศาสตร์และความเชื่อ ไปด้วยกัน

          ผู้เขียนให้นิยามของ  “มิติเชิงจิตวิญญาณ” ไว้ว่า หมายถึงความปรารถนาในเบื้องลึกของใจคนที่ต้องการเชื่อมโยงกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่สูงส่งกว่าตัวตนของตนเอง (Spirituality is the eternal human yearning to be connected to something larger than one’s own ego.)  จะเห็นว่า มิติทางจิตวิญญาณอาจนำเราไปสู่ความดีก็ได้ ไปสู่ความเสื่อมหรือชั่วร้ายก็ได้  เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องจัดการเรียนรู้ในมิติจิตวิญญาณแห่งความดี 

          การเรียนรู้ฝึกฝนมิติด้านจิตวิญญาณแนวตะวันออก โดยเฉพาะแนวพุทธ  อันได้แก่จิตภาวนา  เป็นการฝึกฝนทักษะในการบังคับตนเอง หรือการมีวินัยในตน  อันเป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต  และเป็น EF ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการมีชีวิตที่ดี


วิจารณ์ พานิช

๑๙ ม.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 534693เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2013 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2013 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท