อาเซียน สัตยาบันกฎบัตร


                                                         อาเซียน สัตยาบันกฎบัตร

                                                    นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล ของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ เป็นผู้แทนได้มาประชุมที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. 2550 ในวาระครบรอบ 40 ปีของการก็ตั้งอาเซียนและเห็นชอบกับกฎบัตรอาเซียน

ความหมาย  กฎบัตรอาเซียน (The ASEAN Charter) ซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญของอาเซียน ที่จะทำให้อาเซียนพัฒนามาสู่สภาพการเป็นนิติบุคคล เป็นความตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะวางกรอบทางกฎหมายโครงสร้างองค์กร เป้าหมาย หลักการ และกลไกที่สำคัญต่างๆ ภายในอาเซียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้

กฎบัตรอาเซียนได้ร่วมจัดทำขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 โดยผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หลังจากที่ประชุมสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้ให้สัตยาบันกฎบัตร และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้ง 14 ระหว่าง วันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2552 ที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นการประชุมระดับผู้นำอาเซียนครั้งแรก ความสำคัญ ของกฎบัตรอาเซียน คือ การเป็นสนสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกหลังจากออกบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้

อาเซียน ซึ่งในกฎบัตรอาเซียนนอกจากมีการประมวลสิ่งที่ถือเป็นค่านิยม หลักการ และแนวปฏิบัติในอดีตของอาเซียนมาประกอบกันเป็นข้อปฏิบัติอย่างเป็นทางการสำหรับสมาชิกแล้ว ยังมีการปรับปรุง แก้ไข และสร้างกลไกใหม่ขึ้นพร้อมกับกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรสำคัญในอาเซียน ตลอดจนความสัมพันธ์ในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

กฎบัตรอาเซียนมีวัตถุประสงค์ คือ การทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีประชา-ชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฎกติกาในการทำงานมากขึ้น จุดเด่นอีกประการหนึ่งของกฎบัตรอาเซียนคือ  การที่ข้อตกลงต่างๆ ในกฎบัตรอาเซียนถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้อาเซียนเป็นองค์กรที่ประชาชนเข้าถึง และเอื้อเฟื้อประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 จึงได้กำหนดคำขวัญของการประชุมว่า กฎบัตรอาเซียนเพื่อประชาชนอาเซียน หรือ ASEAN Charter for ASEANPeoples ในภาษาอังกฤษ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ต่างๆ ที่ประชาชนอาเซียน รวมทั้งคนไทยจะได้รับจากการบังคับใช้กฎบัตรอาเซียน

ความมุ่งประสงค์ของอาเซียน ได้แก่ เพื่อธำรงรักและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ กับทั้งเสริมสร้างคุณค่าทางสันติภาพในภูมิภาคให้มากขึ้น

ด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม วัฒนธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อธำรงรักษาเพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวยืดหยุ่นสู่สภาวะปกติของภูมิภาค โดยการส่งเสริมความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และปราศจากอาวุธที่มีอนุภาพ ทำลายล้างสูงอื่นๆ ทุกชนิด เพื่อทำให้แน่ใจว่าประชาชน และประเทศสมาชิกของอาเซียนอยู่ร่วมกับประชาคมโลกได้โดยสันติในสภาวะที่เป็นธรรม มีประชาธิปไตย และความปรองดองกัน

เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีเสรีภาพ มั่นคง มีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน การเคลื่อนย้ายที่ได้รับความสะดวกของนักธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษและแรงงาน และการเคลื่อนย้ายอย่างเสรียิ่งขึ้นของเงินทุน เพื่อบรรเทาความยากจนและลดช่องว่างการพัฒนาภายในอาเซียนโดยผ่านความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความร่วมมือ

เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมมาภิบาล และหลักนิติธรรม ตลอดจนส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของประเทศสมาชิกของอาเซียน

1.  เพื่อตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติต่อสิ่งท้าทายทุกรูปแบบ อาชญากรรมข้ามชาติ และสิ่งท้าทายข้ามพรมแดนอื่นๆ

2.  เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้แน่ใจว่าในภูมิภาคมีการคุ้มครองสภาพแวดล้อม ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

3.  เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน

4.  เพื่อเพิ่มพูนความเป็นอยู่ที่ดี และการดำรงชีวิตของประชาชนอาเซียนด้วยการให้ประชาชนมีโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม

5.  เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มั่นคง และปราศจากยาเสพติด สำหรับประชาชนของอาเซียน

6.  เพื่อส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่วนเสริมให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากการรวมตัว และการสร้างประชาคมอาเซียน

7.  เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน โดยผ่านการส่งเสริมความสำนึกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกของภูมิภาคยิ่งขึ้น

8.  เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมและบทบาทเชิงรุกของอาเซียน ในฐานะพลังขับเคลื่อนหลักในความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ในภาพของภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่ปิดกั้น

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเป็นเสมือนธรรมนูญของอาเซียนที่จะมีการวางกรอบกฎหมายและโครงสร้างองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาเซียนเป็นองค์การที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและเคารพในกติกาการทำงานระหว่างกันมากขึ้น

จากกฎบัตรดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ดังนี้

1.  การจัดตั้งสิทธิมนุษยชนของอาเซียน

2.  การให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนสอดส่องและรายงานการทำความตกลงของประเทศสมาชิก

3.  การจัดตั้งกลไกสำหรับการระงับข้อพิพาทต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก

4.  การให้ผู้นำเป็นผู้ตัดสินว่า การดำเนินการอย่างไรต่อประเทศผู้ละเมิดพันธกรณีตามกฎบัตรอาเซียนอย่างร้ายแรง

5.  การเปิดช่องทางการใช้วิธีการอื่นในการตัดสินใจได้ หากไม่มีฉันทามติ

6.  การส่งเสริมการปรึกษาหารือระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์รวม

7.  การเพิ่มบทบาทของประเทศอาเซียน เพื่อให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

8.  การเปิดช่องทางให้อาเซียน สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาสังคมมากยิ่งขึ้น

9.  การปรับปรุงโครงการองค์กรให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน 2 ครั้งต่อปี จัดตั้งคณะมนตรีเพื่อประสานความร่วมมือแต่ละ 3 เสาหลัก

ในเวที ASEAN Forum ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ การคุ้มครองทางสังคมกับอาเซียน ข้อกังวล โอกาส และข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน ที่ผ่านมาเรามองการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเพียงด้านเดียว คือด้านเศรษฐกิจ ทั้งที่ยังมีอีกถึงสองด้านให้เราต้องนึกถึง คือ ด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนและด้านสังคมและวัฒนธรรมแต่ก่อนที่เราจะก้าวเข้าไปเป็นเออีซีอย่างเต็มตัวนั้น เราควรจะต้องเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ทำความเข้าใจถึงวัฒนธรรม ความแตกต่างในด้านต่างๆระหว่างประเทศในอาเซียนเสียก่อน อาเซียนนั้นมีประเทศที่มีภูมิศาสตร์แตกต่างกันอยู่ 2 แบบคือ อาเซียนภาคพื้นทวีป อาทิ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอาเซียนภาคพื้นทะเล อาทิ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกจากจะมีความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์แล้วยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องสมาชิกใหม่และสมาชิกเก่าอีกด้วย หากเราหันกลับมามองโอกาสที่ชุมชนจะได้รับจะพบว่าเรามีโอกาสทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย สินค้าเกษตรราคาถูกที่เข้ามาอาจทำให้เรามีวัตถุดิบราคาถูก แต่เราจะสามารถพัฒนาและยกระดับได้หรือไม่ และเรายังมีโอกาสได้แรงงานไร้ฝีมือในราคาถูกลงเพราะแรงงานจากประเทศอื่นเข้ามาในไทยอย่างเสรีมากขึ้น เราควรใช้โอกาสนี้ในการเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่นในอาเซียน เช่น เสริมสร้างความมั่นคงชุมชนตามแนวชายแดน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีความเข้มแข็งก็จะตามมา ที่สำคัญอีกประการคือ เรื่องของคน ที่ต้องยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น รวมทั้งต้องใส่ใจต่อสุขภาวะ สวัสดิการต่างๆ นอกจากนั้นก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมั่นคง ปราศจากสิ่งเสพติด  จากยุทธศาสตร์การเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา มีบางอย่างที่ทำให้อาเซียนต้องร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องมีความร่วมมือทางการเมืองบางอย่างร่วมกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กล่าวคือ โลกของเรากำลังเข้าสู่ยุควิกฤตของอาหารและพลังงาน ทวีปเอเชียกลายเป็นเป้าหนึ่งในการจัดการเรื่องพลังงานและเรื่องการใช้ที่ดินทางการเกษตรในระดับโลก การลงทุนขณะนี้ไม่ใช่การเก็งกำไรในตลาดหุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นการเก็งกำไรในเรื่องการลงทุนด้านการเกษตรและอาหาร
จะเห็นว่าพื้นที่จำนวนมากของเอเชียเป็นพื้นที่สัมปทานการเกษตรของทุนต่างชาติ รองจากทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในลาวที่มีสถิติการครอบครองที่ดินของชาวต่างชาติสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งหากมองอีกด้านหนึ่งก็ เป็นโอกาสของภาคเกษตร แต่หากเราจัดการหรือฉวยโอกาสตรงนี้ไม่ได้ก็จะกลายเป็นโอกาสของบริษัทขนาดใหญ่ และอาจนำมาสู่การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยในที่สุด นอกจากนี้เราต้องมองความแตกต่างในอาเซียนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเอง เราใช้ชุดความคิดว่าประเทศไทยผลิตข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ไม่มองความจริงว่าเกษตรกรที่ไร้ที่ดินเพิ่มขึ้น กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานไทยไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในการเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งอยากให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบว่าทำข้อตกลงอะไรอย่างไรกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ถูก นักวิชาการบางคนบอกว่าจะเกิดผลกระทบแต่บางคนบอกว่าไม่ ปัญหาคือเราไม่รู้
รัฐบาลควรแก้กฎหมายให้เหมาะสม ในเรื่องข้อจำกัดต่างๆ ให้เหมาะสมกับวิถีที่จะมีการเปิดเสรี รวมทั้งจะทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิที่เหมาะสม ได้รับการดูแล ข้อเท็จจริงคือรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน เราไม่มีพลังในการต่อรองกับภาครัฐเท่ากับภาคธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลควรให้สัตยาบรรณ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและร่วมเจรจาต่อรอง เห็นได้ชัดว่าประชาชนจำนวนมากของประเทศยังไม่รู้ว่าประชาคมอาเซียนคืออะไร ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเลิกสอนภาษารับเออีซีแล้วเปลี่ยนเป็นการทำความเข้าใจกับคนจำนวนมากของประเทศในเรื่องการเข้าสู่อาเซียน


หมายเลขบันทึก: 534386เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2013 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนรู้ไปกับพี่แดงนะครับ

ขอบคุณที่หาความรู้มาแบ่งปันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท