ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม


                                                  ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม

                                              (Corporate Social Responsibility –CSR)

                                          

                                                               ปิยะนารถ สิงห์ชู

                                                              Piyanart Singchoo

บทคัดย่อ

             ในปัจจุบันกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจหรือ CSR กำลังได้รับความสนใจจากองค์กรในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย ผนวกกับมาตรฐาน  ISO 26000 ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2553 เป็นปัจจัยเร่งรัดให้องค์กรต้องปรับตัวและปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจที่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ลูกค้าได้มีภาพลักษณ์ที่ดีมีความภักดีกับตราสินค้า เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการสร้างกำไรและปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นยุทธศาสตร์ในการประชาสัมพันธ์ที่ดีของธุรกิจ  เป็นการสร้างดุลยภาพของการผสานประโยชน์ระหว่างธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะขององค์กร

คำสำคัญ  ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท กิจกรรมเพื่อสังคม  ธุรกิจเพื่อสังคม

ABSTRACT

               In the current era, interest in the issue of Corporate Social Responsibility (CSR) among businesses in Thailand has greatly increased. The ISO 26000 were published as an International Standard in 2010 and will be one of the key factors for many companies to establish business goals and  directions as a platform to build an effective CSR strategy.In order to create a good image and promote brand loyalty of its customer, a company has to initiate strategies for promoting its services. To compete for market share in the rapidly growing business.  In term of policies and activities that reflect social responsibility besides its profitability and legal compliance. A good public relations strategy in the business of creating a balance between the benefits of combining business and social responsibility activities are appropriate to the nature of the organization.

Keywords  the corporate social responsibility, CSR, social business.

บทนำ

            การประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World  Conference on Environment and

Development : UNCED ) ณ กรุงริโอเดอเจนาโร ประเทศบราซิล ในปี 2535 ได้มีการกล่าวถึงแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)  ประกอบด้วย การควบคุมการเพิ่มขึ้นของประชากร การพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ  เช่น เทคโนโลยีสะอาด  การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม การบริโภคอย่างชาญฉลาด การปฏิบัติตามหลักการ CSR (Corporate Social Responsibility) มีสหประชาชาติเป็นผู้ผลักดัน (สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ, 2551 โดยการพัฒนาที่รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ได้ทวีความเข้มข้นจริงจังยิ่งขึ้นเมื่อองค์การความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operational and Development : OECD) ได้บรรจุเรื่อง CSR ไว้ในแนวทางปฏิบัติสำหรับวิสาหกิจข้ามชาติในปี 2543 โดยไม่เพียงแต่เสนอแนะให้วิสาหกิจข้ามขาติคำนึงถึง CSR ในองค์กร ยังเสนอให้วิสาหกิจเหล่านี้ติดต่อค้าขายเฉพาะคู่ค้า ที่มี CSR เช่นกัน (รัตนา รัตนะ , 2551, 35) ซึ่งประเทศไทยได้รับเข้าเป็นพันธกรณีในปี พ.ศ. 2545 แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ เริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลกมากขึ้นโดยในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก  (World  Economic Forum : WEF) ประจำปี2542 นายโคฟีอันนัน (Kofi  Annan) เลขาธิการองค์กรสหประชาชาติในขณะนั้น  ร่วมกับ 5 หน่วยงานของ UN (ILO, UNDP,UNEP, UNCHR, UNIDO) และภาคธุรกิจ ได้ออก “UN Global Compact” หรือหลัก 9 ประการที่บริษัทในโลก โดยเฉพาะธุรกิจข้ามชาติ ให้ทำ CSR  ได้รวมเอาแนวคิดเรื่อง Corporate Citizenship, สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน  การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันเป็นบรรทัดฐานการทำ CSR ขององค์กรธุรกิจที่ชัดเจนที่สุด  จากกระแสโลกดังกล่าวองค์กรธุรกิจมีความจำเป็นต้องแสดงเจตจำนงการดำเนินงานตามหลักและแนวทางปฏิบัติของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น(เกศมณี พฤกษาประดับกุล ,2553)

            การเจริญเติบโต(Growth) ของธุรกิจหนึ่งๆมาจากการพัฒนาองค์กรให้มีความ เก่ง อยู่ในตัวในขณะที่การพัฒนาองค์กรให้มีความดีอยู่ในตัว จะก่อให้เกิดความยั่งยืน(Sustainability)ของธุรกิจนั้นๆ (สถาบันไทยพัฒน์, 2552)  จากคำกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำความดีขององค์กรที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับองค์กรนอกเหนือจากความสามารถในการทำกำไรขององค์กรแต่เพียงอย่างเดียว กระแสCSRได้กลายมาเป็นกระแสหลักที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจในโลกมากยิ่งขึ้น  ต่อมาในปี พ.ศ. 2553องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน(International Organization for Standardization:ISO) มีแผนประกาศใช้และกำหนดมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO26000 Social Responsibility)  (สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ, 2555)ขึ้นเพื่อให้บริษัท องค์กร หน่วยงานต่างๆรวมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรได้เพิ่มความตระหนักและสร้างความเข้าใจในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นในลักษณะของข้อแนะนำ หลักการและวิธีการของความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรพึงปฏิบัติโดยความสมัครใจ ทุกองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทำให้ความรับผิดชอบต่อสังคมกลายเป็นนโยบายสาธารณะของทุกประเทศ  สำหรับประเทศไทยได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่1 พฤศจิกายน 2553

             แนวคิดเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ( Corporate Social Responsibility: CSR) มีมานานแล้ว แนวความคิดสนับสนุนที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจากนักวิชาการต่างประเทศในปี พ.ศ.2483 (ค.ศ.1940 ) ศาสตราจารย์ ธีโอดอร์เครปส์Professor Theodor Kreps จากสแตนด์ฟอร์ดบิสสิเนสสคูล ใช้คำว่า “Social Audit” เป็นครั้งแรก ซึ่งกล่าวว่าองค์กรธุรกิจควรมีการทำรายงานการกระทำที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ทว่ากระแสเรื่อง CSR ก็ยังไม่เป็นที่สนใจอยู่ดีต่อมาปี พ.ศ.2496 (ค.ศ.1953 ) โฮเวิร์ด โบเวนด์(Howard Bowend)  เขียนหนังสือเรื่อง “Social Responsibilities of Business Man” โดย กล่าวถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมของนักธุรกิจในปี พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960 ) จอร์จ กอยเดอร์(George Goyder) เขียนหนังสือเรื่อง “The Responsible Corporation” หรือความรับผิดชอบต่อสังคมโดยนักธุรกิจ ได้พัฒนาแนวคิดการทำ CSR อย่างชัดเจนขึ้นและเมื่อต้นปีพ.ศ.2513 (ค.ศ.1970) ฟิลิปคอตเลอร์(Phillip Kotler) มิลตัน ฟรีแมน (Milton Freeman), วิลเลียม ลาเซอร์ (William Lazer) ได้เกริ่นถึงรูปแบบการตลาดแนวใหม่ในพื้นฐานที่ว่า การดำเนินธุรกิจเพียงแค่หวังผลกำไรนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ควรวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างมีจริยธรรมและห่วงใยต่อสังคม  ซึ่งจะนำไปสู่ความพึงพอใจของลูกค้า ก่อให้เกิดผลกำไรที่ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม (Crane & Desmond, 2002, p.548) จนกลายเป็นยุคของการประกอบธุรกิจแบบการตลาดอิงสังคม (Societal Marketing Concept) ที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงความต้องการและความจำเป็นในการผลิตสินค้า หรือให้บริการแก่ผู้บริโภค เช่นเดียวกับตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสังคม และเป็นที่มาของความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมในที่สุด (อนันตชัย  ยูรประถม, 2552, 22)  ในประเทศที่พัฒนาแล้วการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค จะเลือกซื้อสินค้าและบริการขององค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม การรับรู้ความรับผิดชอบต่อสังคมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท (Luo and Bhattacharya 2006). การสำรวจ 250 ผู้นำธุรกิจทั่วโลกของไอบีเอ็ม รายงานว่า CSRถูกมองเป็นเงินลงทุนที่จะนำผลตอบแทนทางการเงิน (Pohle และHittner 2008)

            ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ในเมืองไทยก็ได้ถูกจุดประกายขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2549ได้ถูกบรรจุเป็นแนวปฏิบัติที่ผนวกเข้ากับการดำเนินธุรกิจ นอกเหนือไปจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นที่ผ่านมา เหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เป็นเครื่องชี้ถึงกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในปี พ.ศ. 2550 ไม่ได้มีแต่เฉพาะในภาคเอกชน แต่ยังรวมถึงภาครัฐและหน่วยราชการต่าง ๆ ที่เข้าร่วมปลุกกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การจัดตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาถึงการแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ไปจนถึงการตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (CSR) ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์,2550, 2) ที่ผ่านมาหลายองค์กรธุรกิจได้เล็งเห็นความสำคัญของCSR โดยกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการดำเนินธุรกิจขององค์กรเช่นบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ที่ครอบคลุมทุกด้านเช่น การยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนไทย ด้วยการจัดตั้งโครงการเพื่อผู้พิการ โดยร่วมกับสถาบันหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ เพื่อให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นการทำขาเทียม การสนับสนุนการแสดงหุ่นละครเล็กโจหลุยส์  การสนับสนุนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น(รุ่งทิวา แซ่ตั้ง,2550)

            กระแสความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจที่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น แรงผลักดันดังกล่าว ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร (Stakeholders)  ต่างหันมาใส่ใจและดำเนินกิจกรรม CSR เพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย อีกทั้งแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคมีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจโดยจากการวิจัยเชิงสำรวจของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรื่อง “ พฤติกรรมทัศนะคติของผู้บริโภคเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย”  เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจพฤติกรรม ทัศนคติของผู้บริโภคเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย ขึ้นโดยการสำรวจชาวกรุงเทพฯเกี่ยวกับ ความรู้ ความเข้าใจ พฤติกรรมและทัศนคติที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่า ชาวกรุงเทพฯส่วนใหญ่มีระดับ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมค่อนข้างมากและในด้านการเลือกซื้อสินค้าและบริการส่วนใหญ่ร้อยละ 50 มีความคิดที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการขององค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (2548,15, 23-24)  ผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคไม่ได้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดีเท่านั้น แต่ยังพิจารณาไปถึงการเลือกผู้ประกอบการที่ดีด้วยทำให้องค์กรเริ่มตระหนักว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ไม่ได้วัดที่ผลกำไรและตัวเลขทางการเงินเท่านั้น แต่มองที่คุณค่าที่ผู้บริโภคต้องการและสังคมได้รับประโยชน์ ดังที่ Stigson (2007) ประธานสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  The World Business Council on Sustainable Development :WBCSD (2008) กล่าวย้ำว่า “ ธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ในสังคมที่ล้มเหลว” ความรับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและความอยู่รอดขององค์กร ซึ่งจะทำให้องค์กรมีความต่างจากองค์กรอื่น ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้าและบริการ  ส่งเสริมภาพลักษณ์และความร่วมมือทางธุรกิจ  สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เกิดมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรพร้อมๆ กับเสริมประโยชน์ให้แก่สังคม (นิภา วิริยะพิพัฒน์,2552) องค์กรธุรกิจจึงให้ความสำคัญของการทำCSRไปอย่างควบคู่กับการดำเนินกิจกรรมทางการค้า และการส่งเสริมการขาย ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ผลักดันให้องค์กรธุรกิจต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงานผลิตภัณฑ์  บริการต่างๆ  ในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งแรงกดดันที่มีต่อการริเริ่มกิจกรรมเพื่อความยั่งยืน  ความสำนึกที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  การรักษาชื่อเสียงขององค์กร  การรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน  แรงกดดันจากผู้มีส่วนได้เสีย  ต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น 

               การนำแนวคิดความรับผิดชอบทางสังคมเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ควบคุมถ่วงดุล การมุ่งกำไรสูงสุดจนหย่อนด้านคุณธรรม จริยธรรม เป็นกลไกควบคุมธุรกิจให้ประพฤติปฏิบัติในลักษณะที่แสดงความรับผิดชอบทางสังคมในหลากหลายมิติ  หลักการของธุรกิจกับความรับผิดชอบทางสังคม จึงอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า ธุรกิจกับสังคมจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน   การนำแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมมาปรับใช้ในการพัฒนารูปแบบความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการธุรกิจ รวมทั้งการผลักดันแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในองค์กรธุรกิจมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง   แนวคิดเรื่อง ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม  ปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าให้ดี ใช้วิธีการขายที่มีประสิทธิภาพ ไปสู่การตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าให้มากที่สุด  ผู้บริโภคไม่ได้มองเพียงบริษัทมีสินค้าที่ดี มีบริการที่ประทับใจ  แต่ความพึงพอใจที่เขาได้รับมานั้นต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม มีส่วนในการ “สร้างสรรค์สังคม”  เป็นกระแสหลักของสังคมในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันแนวคิดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดด้านการให้ต่อสังคม โดยภาคธุรกิจเรียกกว่าการรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate social responsibility)  อย่างไรก็ตามควรศึกษาทำความเข้าใจรูปแบบ กลไก ประโยชน์ของ CSR และมาตรฐานสากล CSR อย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ CSR กลายเป็นเพียงกระแสฮิตทางธุรกิจที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว หรือการที่ภาคธุรกิจอาจจะเข้าใจ CSR ว่าเป็นลักษณะการสร้างภาพชนิดหนึ่งหรือเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น  แนวคิดในเรื่องCSRจะมุ่งไปทางสร้างให้องค์กรมีความดี ที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนของกิจการ หลักการของธุรกิจกับความรับผิดชอบเพื่อสังคม อยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า ธุรกิจกับสังคม จะต้องอยู่ร่วมกันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

กระแสที่ผลักดันให้เกิด CSR

            1. โลกาภิวัฒน์  องค์กรธุรกิจแผ่ขยายไปทั่วโลก ถ้าไม่มีหลักการควบคุมด้านมนุษยธรรม หรือมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ก็จะเกิดกรณี อย่าง NIKE ที่ไปผลิตสินค้าในประเทศยากจน กดราคาแรงงานให้ต่ำสุดขีด เพื่อมาขายในประเทศพัฒนาแล้ว ในราคาสูงลิบ ขาดจรรยาบรรณขององค์กรที่ดี ในด้านสิทธิและสวัสดิการแรงงาน เป็นต้น  หากจะมองในด้านบวก  บริษัทข้ามชาติ ต่างก็มีซัพพลายเออร์ และสาขาท้องถิ่น อยู่ทั่วโลก หากบริษัทแม่นำหลักการด้าน CSR ไปใช้เศรษฐกิจ และสังคมโลก ก็จะพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

           2. การเปิดเสรีการค้า และการปฏิรูปด้านกฎหมายต่างๆ ปัจจุบันโลกเปิดเสรีทางการค้า แต่กฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆอาจยังไม่คลอบคลุมเพียงพอที่จะคุ้มครองให้องค์กรธุรกิจดำเนินการอยู่ภายใต้จรรยาบรรณที่ดี หากธุรกิจสร้างกระแส CSR ให้เกิดขึ้นในสังคมจะอุดช่องโหว่ที่ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปดูแลไม่ถึง

           3. ในปี พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960)เกิดแนวคิดเรื่อง Triples Bottom Line การบริหารจัดการ ที่ใส่ใจ ผลกำไร สิ่งแวดล้อม และสังคมไปพร้อมๆ กัน กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นประเด็นร้อน บีบให้องค์กรธุรกิจต้องหันมาใส่ใจ รักษาผลกำไรขององค์กรการทำ CSRเป็นทางออกที่ดีที่สุดประสานประโยชน์ทั้ง 3 เข้าด้วยกันได้ องค์กรธุรกิจหลายองค์กรที่มีทัศนวิสัย กว้างไกล จึงเริ่มหันมาทำ CSR กันอย่างพร้อมหน้า

คำจำกัดความของ CSR 

          European Commission Green Paper  “ CSR เป็นแนวคิดที่ บริษัทจะบูรณาการ งานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกิจการของประเทศ และการปฏิสัมพันธ์ ของผู้เกี่ยวข้อง (Stakeholder) โดยสมัครใจ”

          UNCTAD “CSR คือการที่บริษัทเข้าไปเกี่ยวข้องและมีผลกระทบเชิงบวกต่อความต้องการและเป้าหมายของสังคม”

          World Business Council on Sustainable Development “CSR คือคำมั่นของบริษัทที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยทำงานร่วมกับลูกจ้างและครอบครัวของพวกเขา ชุมชน และสังคมโดยกว้าง เพื่อจะพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสังคมโดยรวม”

          ISO “ CSR เป็นเรื่องขององค์กรตอบสนองต่อประเด็น ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งที่การให้ ประโยชน์กับ คน ชุมชน และสังคม  นอกจากนั้น ยังเป็นเรื่องของบทบาท ขององค์กรธุรกิจในสังคม และความคาดหวังของสังคมที่มีต่อองค์กรธุรกิจ โดยจะต้องทำด้วยความสมัครใจผู้บริหารจะต้องมีบทบาทเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆโดยสามารถวัดผลได้ใน 3 มิติ คือการวัดผลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ”

         ฟิลิปคอตเลอร์ ( Phillip Kotler,1970) “ CSR หมายถึง รูปแบบการตลาดแนวใหม่ การดำเนินธุรกิเพียงแคหวังผลกำไรไม่เพียงพอ ควรวางแผนกลยุทธการตลาดอย่างมีจริยธรรม ห่วงใยต่อสังคม นำไปสู่ความพึงพอใจของลูกค้า ก่อให้เกิดผลกำไรที่ยั่งยืนยกระดับคุณภาพชีวิต”

         พิพัฒน์  ยอดพฤติการณ์ (2553)  “ CSR เป็นเรื่องระดับองค์กรที่คำนึงถึงการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสามารถใช้เป็นเครื่องมือขององค์กร ทั้งในการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรและในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน”

องค์ประกอบของ CSR

           European commission on CSR กล่าวว่า CSR มีอยู่สองมิติหลักๆ คือ มิติภายในเป็นการดูแลกิจกรรมที่ธุรกิจดำเนินการและจัดการได้โดยตรง และมิติภายนอกเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจที่บริษัทอาจจะควบคุมไม่ได้โดยตรงเช่นการดูแลลูกค้า การรับผิดชอบต่อ supplier สนับสนุนกิจกรรมด้านการพัฒนาสังคม

            มิติภายใน

           1.การจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

  ธุรกิจควรส่งเสริมการจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างมีความรับผิดชอบ เช่น ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต  การให้ข้อมูลที่โปร่งใสกับพนักงาน ให้ความสมดุลระหว่างงาน ชีวิตครอบครัวและการพักผ่อน การปฏิบัติอย่างเท่าเทียม การคัดเลือกเข้าทำงาน รายได้ ความก้าวหน้าทางการงานโดยเฉพาะกับผู้หญิงและผู้พิการ  การดูแลเอาใจใส่พนักงานโดยเฉพาะที่ได้รับบาดเจ็บหรือเกิดปัญหาสุขภาพจากการงานด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต ธุรกิจควรที่จะให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมในระดับต่างๆ การดุแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน  เลือกร่วมทำธุรกิจ หรือเลือกใช้ Supplier ที่มีคุณธรรม จรรยาบรรณ ต่อพนักงาน นำมาซึ่งการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากกว่า

          2.การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในองค์กร

 การลดการใช้ทรัพยากรและการปล่อยสารพิษของเสีย ซึ่งเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ย่อมเป็นผลดีต่อองค์กรนั้นๆ เอง ในอันที่จะจัดการการผลิตสินค้าบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นการลดต้นทุนด้านพลังงาน การจัดการของเสียต่างๆ  ซึ่งนำไปสู่ผลกำไรที่สูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัท ถือว่าได้ประโยชน์ต่อทุกฝ่าย (Win-Win)

         3.  บรรษัทภิบาลและความโปร่งใสในการดำเนินกิจการ

         ปัจจุบันความเชื่อมั่นที่มีต่อบริษัทเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ความโปร่งใสขั้นตอนการตัดสินใจต่างๆของบริษัทที่มีความชัดเจนตรวจสอบได้ มีความสำคัญทั้งต่อความมั่นคงของบริษัท ในมุมมองของนักลงทุนและความมั่นคงในสังคม เพราะว่าการบริหารจัดการที่มีความโปร่งใสทางบัญชี และกระบวนการตัดสินใจในทุกระดับนั้นย่อมนำไปสู่ข้อมูลที่มีความชัดเจนสามารถเข้าถึงได้โดยนักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้เกิดระบบการลงทุนในสังคมโดยรวมที่มีประสิทธิภาพ ลดโอกาสของความสูญเสียทั้งในด้านการเงินและทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องเสียไปกับการคอรัปชั่นอีกด้วย ซึ่งนำไปสู่สังคมที่มีความยั่งยืนและแข็งแรงทางเศรษฐกิจในที่สุด

          มิติภายนอก

         1. การจัดการกับ Supplier และหุ้นส่วนทางธุรกิจ (Partners) ที่รับผิดชอบต่อสังคม การเลือก Supplier และหุ้นส่วนทางธุรกิจ (Partners) คำนึงถึงบทบาทการรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ขยายความรับผิดชอบต่อสังคมไปสู่องค์กรอื่นๆ ป้องกันปัญหาที่อาจจะตามจากความซับซ้อนของระบบธุรกิจสมัยใหม่ ที่ยากต่อการควบคุมให้คลอบคลุมไปทั้ง Supply Chain ซึ่งอาจจะมีนโยบายหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมประเด็นเหล่านี้

         2. การดูแลผู้บริโภค

         ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าและบริการขององค์กร เป็นแหล่งที่มาของรายได้มีระบบการดูแลผู้บริโภคทุกกระบวนการของสินค้าและบริการ ตั้งแต่การผลิตการขายไปจนถึงการทิ้งให้ปลอดภัย มีประสิทธิภาพทั้งในเชิงคุณภาพและราคา  แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการเลือกผลิต จำหน่ายสินค้าและบริการให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภค การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้ได้กับทุกกลุ่ม รวมถึงผู้พิการด้วย (Design for All) เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอักษรเบลล์ และสั่งการด้วยเสียง สำหรับคนปกติและคนตาบอดใช้ได้

          3. ความรับผิดชอบต่อชุมชนใกล้เคียง (Local Communities)

          ตามปกติบริษัทฯ ต่างๆ จะให้ประโยชน์ต่อชุมชนอยู่แล้ว เช่น จ้างแรงงานชุมชน ซึ่งนำสู่รายได้สู่ชุมชน และรายได้ภาษีของพื้นที่ นำไปสู่ทุนสาธารณสร้างประโยชน์แก่ชุมชน บริษัทฯยังต้องพึ่งชุมชนในรูปแบบของแรงงานและอื่นๆ  บริษัทฯจึงควรมีส่วนช่วยเหลือด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมช ผ่านการบริจาค หรือกิจกรรมสาธารณประโยชน์ใดๆ  ที่จะช่วยพัฒนาชุมชน และนำไปสู่ความแข็งแรงของชุมชนนั้นๆ  ซึ่งผลตอบแทนที่บริษัทจะได้รับคือภาพลักษณ์ที่ดี นำไปสู่ความร่วมมือและพร้อมจะช่วยเหลือบริษัทฯ

        4. ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม

        บริษัทต่างๆที่อยู่ในเมืองหรือ บ.ใหญ่ อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่ในบริเวณนั้นๆ มากนัก หรือเป็นบริษัทที่มีสาขามากมายทั่วประเทศ ควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้าง โดยการบริจาคทำกิจกรรมสนับสนุนในรูปแบบต่างๆในประเด็นที่บริษัทเกี่ยวข้อง แสดงบทบาทผู้นำทางธุรกิจการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมอย่างชัดเจน มีการวางแผนการหาพันธมิตรในการปฏิบัติงานที่ดี นำมาสู่ภาพลักษณ์ที่ดี Corporate Citizenship เป็นรากฐานในการสร้างความไว้วางใจของบริษัทในมุมมองผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

        5. การรับผิดชอบต่อโลก

        ในมิติต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และประเด็นสำคัญอื่นๆ  ในระดับภูมิภาค และ/หรือ ระดับโลก ตามความเหมาะสม และศักยภาพขององค์กร บริษัทสามารถร่วมมือกับ องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล NGO สถาบันการศึกษา องค์กรธุรกิจอื่นๆ เพื่อร่วมมือกัน

บทสรุป

  แนวโน้มทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตจำเป็นต้องมีเป้าหมายเชิงสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นปัจจัยเร่งรัดให้องค์กรต้องทบทวนและพัฒนาการทำกิจกรรม CSR อย่างมีทิศทางมากยิ่งขึ้น กระแสความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ผนวกกับมาตรฐาน ISO 26000 เป็นปัจจัยเร่งรัดให้องค์กรต้องปรับตัว เริ่มที่ผู้นำองค์กรต้องมีความเข้าใจ CSR อย่างถ่องแท้ พัฒนาดำเนินกิจกรรมCSR อย่างมีกลยุทธ์ กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ พันธกิจนโยบาย และแผนกลยุทธ์ขององค์กร บูรณาการCSR เข้ากับกระบวนการธุรกิจในทุกส่วนกระตุ้นให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วม การปลูกฝัง ปรับเปลี่ยนจิตสำนึก กระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้องค์กรและสังคมเติบโตควบคู่กันได้อย่างยั่งยืน


บรรณานุกรม

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์. (2554).ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 1). [Online].     

          Available: 

  http://www.csrcom.com/article_show.php?id_show=81

เกศมณี  พฤกษาประดับกุล. (2553). การให้ความหมายและรูปแบบกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมใน

          ความต้องการลูกค้าธนาคารออมสิน. วิทยานิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการ

          ประกอบการมหาวิทยาลัยศิลปากร.

คณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน. (2551). เข็มทิศธุรกิจ 

          เพื่อสังคม Corporate Social Responsibility Guidelines.  พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ: ไอคอนพรินติ๊ง.

นิภา วิริยะพิพัฒน์.(2552). ก้าวทันกระแส CSR: ความพร้อมสู่มาตรฐาน ISO 26000.วารสารวิชาการ

         มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. 29(3) : 195.

บัณฑิตา  ทรัพย์กมล (2544). ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรภาคธุรกิจ: ศึกษาเฉพาะกรณีโรงงาน

         อุตสาหกรรมเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต  คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

         มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ.(2553). ตั้งไข่ให้CSR. [Online].Available:pipatory.blogspot.com/2012/05/csr_10.html

มหาวิทยาลัยบัณฑิตย์. ศูนย์วิจัย. (2548). การสำรวจพฤติกรรม ทัศนคติของผู้บริโภคเกี่ยวกับความ 

          รับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรการธุรกิจในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธุรกิจ.

รุ่งทิวา  แซ่ตั้ง. (2550). กลยุทธ์การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของตราสินค้าบรีส. วิทยานิพนธ์        

          ปริญญา

 มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  คณะนิเทศศาสตร์, สาขาวิชาการโฆษณา.

รัตนา  รัตนะ. (2551). ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ บจม. ธนาคารกรุงไทย : กรณีศึกษา

          โครงการกรุงไทยยุววาณิช. ปริญญานิพนธ์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สถาบันไทยพัฒน์. (2555).  ซีเอสอาร์กับข้อตกลงโลก10 ประการ. มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยใน 

         พระบรมราชูปถัมภ์. [Online]. Available:  http://thaicsr.blogspot.com/2006/05/10.html

อนันตชัย ยูรประถม. 2550. “กรอบตัวชี้วัดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ.”ใน รายงานการ

          สัมนาเรื่อง ครบเครื่องรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการประเมินผล CSR, หน้า 1-3.

          กรุงเทพมหานคร: สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม.

อนันตชัย  ยูรประถม. (2550).  เปิดตำนาน CSR…พิสูจน์คุณค่าจากภายใน.[Online]. Available: 

          http://202.183.190.2/FTPiWebAdmin/knw_pworld/image_content/70/pw70_5lds4.pdf.

อนันตชัย  ยูรประถม. (2552). CSR :พลังบริหารธุรกิจยุคใหม่. กรุงเทพฯ : มติชน.

อมราพร  ปวะบุตร.(2550).  ความสัมพันธ์ระหว่างความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อสังคมกับภาพลักษณ์

         องค์การของธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน. วิทยานิพนธ์บัญชีมหาบัณฑิต  

        มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

Crane & Desmond. (2002). Societal marketing and morality. European Journal of Marketing, 36(5/6), 

         548-569.

Luo, Xueming and C.B. Bhattacharya (2006), “Corporate Social Responsibility, Customer 

         Satisfaction, and Market Value,” Journal of Marketing, 70 (October), 1–18.

Pohle, George and Jeff Hittner (2008), “Attaining Sustainable Growth Through Corporate 

          Social Responsibility,”IBM Global Services, (accessed January 25, 2013)[available

         athttp://www05.ibm.com/innovation/uk/green/pdf/Sustainable_Growth_through_CSR.pdf].

Stigson. Bjorn. 2007. Environmental Finance  [Online]. Available :

         http://www.financialexpress.com/new/businesses-cannot-succed-in-societies-that- fail/282253



หมายเลขบันทึก: 533779เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2013 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2013 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท