การจัดการอารมณ์ที่รู้แล้ว ปล่อยแล้ว


ในการฝึกสติปัฏฐานเพื่อให้รู้ทันธรรมทั้งหลาย อาจบางท่านเข้าใจว่า เมื่อรับรู้อารมณ์ (อายตนะภายนอกทั้ง ๖ อันประกอบด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต้องกาย และ เรื่องที่รู้ทางใจ)แล้ว ให้ปล่อยอารมณ์ในทันที อย่าคิดตามต่อ โดยที่บางท่านให้เหตุผลว่า เหตุที่ไม่คิดต่อก็เพื่อให้จิตคงความประภัสสรอยู่ตลอดเวลา บางท่านก็ว่า หากคิดต่อไป อบายเป็นที่พึงหวังได้

ในเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยเพียงครึ่งเดียว คือ เมื่อรับรู้อารมณ์อันนำไปสู่ทุกข์แล้ว ควรระงับการกระทบของอารมณ์ในทันทีโดยกลับมาหยุดอยู่กับฐานกายจนจิตสงบ หยุด เพื่อไม่ให้สิ่งที่รับรู้แล้วขยายตัวต่อไปจนก้าวล่วงออกไปทางกาย วาจา หรือก็คือ ป้องกันกิเลสใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น (อันเป็นส่วนหนึ่งในสัมมัปปธาน ๔) ครั้นเมื่อจิตสงบ ก็ควรนำเรื่องที่กระทบนั้นๆมาคิดต่อ

เพราะการคิดมีหลายวัตถุประสงค์ เช่น

๑.คิดเพื่อหน่วงอดีตด้วยความละห้อยหา ราวกับเรื่องที่จบไปแล้วซึ่งมักเป็นเรื่องที่ทำให้พอใจ สุขใจ ปรากฏอยู่ตรงหน้า และปรารถนาให้เรื่องราวที่จบลงคงอยู่ต่อไป

๒.คิดฝันถึงอนาคตโดยคิดให้เป็นไปตามใจอยาก แล้วเสพเวทนาที่เกิดจากการคิด เพลิดเพลินอยู่กับการคิดและการเสพนั้น

๓.คิดถึงอดีต โดยมีวัตถุประสงค์คือการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงอันเป็นองค์ประกอบของเรื่องต่างๆ (คิดเชิงวิเคราะห์) ซึ่งเมื่อหาสาเหตุของเรื่องราวนั้นๆได้แล้ว อาจขยายขอบเขตการคิดออกไป ให้ได้ความคิดใหม่เพื่อให้ได้คำตอบที่ที่ที่สุดของเรื่องราว หรือปัญหานั้น (คิดเชิงสร้างสรรค์) หรือเพื่อการคาดเดาอนาคตอย่างมีหลักเกณฑ์ อันอาจเป็นการเตรียมความพร้อมด้วยความไม่ประมาท (คิดเชิงอนาคต) หรือดึงองค์ประกอบต่างๆของเรื่องราวหรือสิ่งนั้นๆมาผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ตามวัตถุประสงค์ (คิดเชิงประยุกต์) หรือนำไปเปรียบเทียบความเหมือนความต่างกับสิ่งอื่น (คิดเชิงเปรียบเทียบ)

เป็นต้น

การคิดใน ๒ แบบแรก เป็นการคิดที่นำไปสู่ทุกข์ในที่สุดเนื่องจากเป็นการคิดด้วย

๑ด้วยความเห็นว่าเป็นตน คิดด้วยปปัญจสัญญา หรือสัญญาเป็นเหตุเนิ่นช้า สัญญาที่เกิดจากกิเลสอันเป็นตัวการทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ทำให้ไขว้เขว ห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ เปิดเผย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงหรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทาง อันประกอบด้วย ตัณหา (ความทะยานอยาก, ความปรารถนาที่จะบำรุงบำเรอปรนเปรอตน, ความอยากได้อยากเอา) ทิฏฐิ (ความคิดเห็น ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี อุดมการณ์ต่างๆ ที่ยึดถือไว้โดยงมงายหรือโดยอาการเชิดชูว่าอย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น เป็นต้น ทำให้ปิดกั้นตนเอง ไม่ยอมรับฟังใคร ตัดโอกาสที่จะเจริญปัญญา หรือคิดเตลิดไปข้างเดียว ตลอดจนเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนบีบคั้นผู้อื่นที่ไม่ถืออย่างตน, ความยึดติดในทฤษฎี ฯลฯ ถือความคิดเห็นเป็นความจริง มานะ (ความถือตัว, ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ถือสูงถือต่ำ ยิ่งใหญ่เท่าเทียมหรือด้อยกว่าผู้อื่น, ความอยากเด่นอยากยกชูตนให้ยิ่งใหญ่)
๒โดยไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงในปัจจุบันหรือปัจจุบันธรรม เป็นเหตุให้หลงอยู่ในกาลทั้ง ๓ เช่น หากน้อมนึกเอาอดีตที่ไม่ปรารถนาขึ้นมา คิดฝันให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนา ก็คือการคิดสมมติหรือสร้างอนาคตใหม่ตามใจอยากให้เป็นให้กับเรื่องที่จบไปแล้ว เป็นอดีต อยู่ในกาลปัจจุบัน เช่น คิดถึงคนรักเก่าที่ปัจจุบันเขาแต่งงานกับหญิงอื่นไปแล้ว ก็นำเหตุการณ์ในวันที่ยุติความสัมพันธ์มาจินตนาการใหม่ ว่าในวันนั้น ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกันจนรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้ จนได้แต่งงานกัน มีความสุขด้วยกันมาจนถึงปัจจุบัน แล้วเสพความเพลินจากการจินตนาการอันตรงกันข้ามกับความเป็นจริงนั้น เป็นต้น

เพราะการคิดไปอย่างนี้ เป็นการสร้างอนาคตใหม่ให้กับอดีตอยู่ในกาลปัจจุบัน กาลทั้ง ๓ จึงแยกกันไม่ออก อีกทั้งปัจจุบัน ก็ไม่ได้กำหนดรู้ว่ากำลังคิดหรือสังขารด้วยปปัญจธรรม กำลังสร้างเหตุแห่งทุกข์ และเห็นทุกข์เป็นสุข เพราะเมื่อเพลินกับการเสพเวทนาที่ตนเข้าใจว่าเป็นความสุขในโลกของความคิดนั้น ก็จะยิ่งยึดมั่นกับความคิด กับความต้องการนั้นมากขึ้น เห็นความคิดที่จะสร้างความทุกข์ให้ในอนาคตว่าเป็นความสุข เพราะเมื่อคิดเสร็จ ก็จะจดจำภาพนั้นไว้ในรูปของความจำ (สัญญา) และเก็บภาพที่จำไว้มาเป็นพื้นฐานในการคิดครั้งต่อๆไป จึงทำให้โลกในความคิดจะค่อยๆห่างจากความเป็นจริงออกไปเรื่อยๆ เมื่อใดที่โลกแห่งความเป็นจริงต่างๆจากโลกในความคิดที่ยึดมั่นอยู่มากๆ เหตุแห่งทุกข์ที่ตนเคยเห็นว่าสร้างความสุขให้ ก็แสดงตนอย่างชัดเจน ปรากฏเป็นทุกข์หนักหนา จนตนเองแทบจะทนไม่ได้

ส่วนการคิดในแบบสุดท้าย เป็นส่วนหนึ่งของการคิดตามลักษณะต่างๆที่นักคิดชาวตะวันตกได้ค้นคว้า หากนำมาเทียบกับกระบวนการคิดหรือวิธีคิดในทางพุทธศาสนา ก็คือส่วนหนึ่งของการคิดด้วยโยนิโสมนสิการ อันเป็นการพิจารณาที่นำไปสู่ปัญญาขูดเกลากิเลสที่เกิดขึ้นแล้วให้ค่อยๆหมดไป (อันเป็นอีกส่วนในสัมมัปปธาน ๔)

การหยิบเรื่องราวมาพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการนี้ เรื่องหนึ่งๆควรหยิบมาพิจารณาดูหลายๆครั้ง เพราะเมื่อเห็นสาเหตุในครั้งหนึ่ง ก็ยืนบนพื้นฐานการเห็นที่ตรงสภาวะเพิ่มขึ้นหน่อยหนึ่ง เมื่อหยิบมาพิจารณาในครั้งต่อๆไป ก็อาศัยการเห็นในครั้งก่อนๆมาเป็นพื้นฐาน เปรียบเหมือนการเดินลงบันไดห้องใต้ดินโดยที่มีเทียนเล่มเล็กๆอยู่ในมือ เราจะเห็นบันไดที่กำลังเดินลงเท่าที่เท้าและแสงเทียนจะเอื้อให้เท่านั้น แต่ส่วนที่ทอดยาวลงไปเท่าไร ห้องใต้ดินลึกเท่าไร เรายังไม่เห็น ไม่รู้ เมื่อรู้ทันสภาวะทั้งหมด อารมณ์ หรือ นามรูปนั้นๆก็ไม่มีอิทธิพลต่อเราอีก เราก็จะอุเบกขาต่อนามรูปนั้นๆด้วยวิปัสสนาญาณ

แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังไม่พ้นนามรูป แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน หากเป็นนามรูปแรงๆ อุเบกขาที่อ่อนแรงกว่าก็ต้านไม่ไหว

เช่น หากมีใคร มาพูดไม่ดีกับเรา กล่าวหาเราในสิ่งที่เราไม่ได้ทำ เมื่อเรารับรู้แล้ว ก่อนหน้าที่จะพิจารณาเรามักจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรง แต่พอพิจารณาจนเห็นความเป็นจริงว่าเป็นเพราะเรายึดมั่นอย่างนี้ เขาเห็นแล้วคิดไปอย่างนั้น เราควรปรับปรุงตัวเองอย่างนี้ เขาก็จะไม่คิดอย่างที่เคย แต่ถ้าเขายังคิดไปอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้เพราะไม่มีใครสามารถห้ามความคิดใคร เมื่อพิจารณาได้แล้วหรือกระทั่งปรับปรุงตนเองแล้ว หากยังพบเหตุการณ์แบบเดิมก็ไม่โกรธอีก วางเฉยได้ด้วยอัญญานุเบกขา (เฉยไม่รู้ หรือ เฉยรู้ไม่ทั่ว) ที่เฉยอยู่ได้รู้ความเป็นไปของสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

เมื่อพิจารณาให้พ้นไปจากความเป็นตน จากความเป็นสัตว์ บุคคล ก็จะเห็นว่าที่ทำให้ทุกข์ คือการยึดมั่นในเสียง (รูป) ที่ได้ยิน ยึดมั่นในความหมายของเสียง หรือก็คือการหมายรู้ในเสียง (สัญญา -นาม) ก็ทำให้คอยคิดวนเวียน (สังขารด้วยปปัญจสัญญา - นาม) เป็นทุกข์ เมื่อเห็นอย่างนี้จึงเฉยได้ด้วยอุเบกขา เกิดอุเบกขาด้วยวิปัสสนาญาณได้ อุเบกขาในนามรูปขึ้น

แต่เนื่องจากยังไม่พ้นความเป็น นาม รูป จึงยังทำให้เกิดทุกข์ได้อีก การพิจารณาให้เหนือนามรูปขึ้นไป คือพิจารณาให้ถึงสังขารอันหมายถึงสภาวะพร้อมปรุงแต่งจนได้สังขารุเปกขาญาณ ก็จะรู้แจ้งในเรื่องเรื่องนั้นๆอย่างแท้จริง อุเบกขาได้ด้วยสังขารุเปกขา

ดังนั้น เมื่อรู้อารมณ์แล้ว ปล่อยอารมณ์นั้นแล้ว ควรนำอารมณ์นั้นมาคิดต่อ หากเป็นการคิดเพื่อให้เกิดปัญญาดับทุกข์ตามลักษณะที่ ๓ ไม่ใช่คิดเพื่อนำไปสู่ทุกข์ กระทั่ง สู่อบาย ตามการคิดด้วย ๒ วิธีแรก

.....................................

อ้างอิง

สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมภาวนา. กรุงเทพ : มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย , ๒๕๑๓

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราช, พิมพ์ครั้งที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๕๒๑

รองศาตราจารย์ ดร.ลักขณา สริวัฒน์ การคิด. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ , ๒๕๔๙



ความเห็น (7)

ความคิดสำคัญมากนะครับ

และต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ครับ

ผมชอบถ้อยคำว่า

"อย่าเอาความคิด  มาทำลายความสุข

อย่าเอาความทุกข์  มาทำลายความฝัน"

ยามรุ่งเช้าวันนี้...ใครจะมีความสุขไปกับความคิดของผมไหมนะ

ผมนั่งจิบกาแฟ...อ่านบันทึกความคิดในการฝึกฝนใจ

บันทึกที่คนเขียน....เขียนได้อย่างจับใจ

รูปวาดที่งดงามเสมอๆ นะครับ

ขอบพระคุณพี่ณัฐรดาเสมอๆ นะครับ

ขอให้มีความคิดที่งดงามตลอดไปนะครับ

เป็นการศึกษาธรรมมะที่ดีมากเลยครับ

รู้แล้วก็ปล่อยไป...

ขอบคุณนะครับที่แบ่งปัน จัดการอารมณ์ได้นั้นดีที่สุดจริงๆ.........

ขอบคุณข้อมูลดีๆ ค่ะ 

กำลังฝึกอยู่ค่ะ อารมณ์และสติ

เมื่อรู้อารมณ์แล้ว ปล่อยอารมณ์.........................แค่รู้อารมณ์ให้ทัน ปล่อยให้ทัน....มันก็ โอ้โห้.....ยากกกกส์ แล้วนะครับผมว่า.........:):) 

อารมณ์ กับ สติ ต้องมาคู่กันครับ สุขสันต์ วันปีหใม่ไทยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท