เปลี่ยนตำแหน่งเป็น ขรก.ครู, ครู ศรช.ข้องใจ, ออกคำสั่ง-จ่ายเงินเทียบระดับ, จะสมัครเทียบระดับ ไม่มีหลักฐานรายได้-อาชีพ, โปรแกรม IT รุ่น 10 เม.ย.56, ปัญหาต่างด้าวเรียน, สรุปโครงการมีกี่บท


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  9  เรื่อง ดังนี้


         1. เย็นวันที่ 8 เม.ย.56 คุณภัทรานิษฐ์ หนูขาว กศน.กาญจนบุรี ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ค่าตอบแทนของคณะกรรมการการประเมินเทียบระดับแบบเดิม ( เชิงประจักษ์ ) ต้องเท่าไร

            ค่าตอบแทนการประเมินมิติประสบการณ์ ที่เป็นการประเมินเชิงประจักษ์ ให้จ่ายคณะกรรมการประเมินเทียบระดับการศึกษา คณะอนุกรรมการ ในลักษณะเหมาจ่าย 5 คน ๆ ละไม่เกิน 550 บาท ต่อผู้เข้ารับการประเมินเทียบระดับการศึกษา 1 คน  ( ดูที่หน้า 155 ในคู่มือดำเนินงานการประเมินเทียบระดับการศึกษา (แนวใหม่) ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2555 ที่  http://trang.nfe.go.th/UserFiles/Pdf/Operations.pdf )


         2. วันที่ 10 เม.ย.56 คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw ส่งโปรแกรม ITw 2.0 รุ่น 10 เม.ย.56 มาให้ผมทางอีเมล์
             ตามที่ผมเคยเขียนในเว็บบล็อกว่า การสอบซ่อม คะแนนไม่จำเป็นต้องถึง 12 คะแนน ขอเพียงให้รวมกับคะแนนระหว่างภาคเดิม ถึง 50 คะแนน ก็ได้เกรด 1 นั้น   คุณ "วันวาน ยังหวานอยู่" บอกว่า โปรแกรม ITw ยังเช็คคะแนนสอบซ่อม ถ้าไม่ถึง 12 คะแนน ก็ได้เกรด 0
            ผมจึงแจ้งคุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw แก้ไขออกมาเป็นโปรแกรม ITw 2.0 รุ่น 10 เม.ย.56  โดยมีการปรับปรุงแก้ไขต่าง ๆ ดังนี้
            1)  แก้ไขการคำนวณเกรดของ วิชาบังคับที่สอบซ่อม ไม่ต้องคิดเงื่อนไขการผ่านเกณฑ์ 30 %
            2)  แก้ไขการอ่านข้อมูลคะแนน NT ของ สทศ.
            3)  เพิ่มรายงานสถิติ ข้อที่ 46. รายงานค่าสถิติคะแนนสอบ NT ตามที่กลุ่มแผนงานกำหนด  โดยกำหนดรูปแบบรายงานให้จำแนกรายวิชา  โปรแกรมจะแสดงค่าสถิติของคะแนนในกลุ่มสาระความรู้พื้นฐานและสาระทักษะการเรียนรู้
            4)  แก้ไขแบบรายงานการจบหลักสูตร ให้ออกรายงานของคนที่ ขอลาออก/ศึกษาต่อที่อื่น ได้
            5)  แก้ไขการออกใบ รบ. การพิมพ์วิชาที่ชื่อยาวเกิน 1 บรรทัด ให้แสดงผลติดกันไม่แยกหน้าหรือแยกข้าง

           ใครสนใจ download โปรแกรมติดตั้ง ได้ที่
           - https://dl.dropbox.com/u/15540884/itw51_10042013_setup.zip  หรือ
           - https://docs.google.com/file/d/0B6tQobXfGWLEMGhrOC1nZGdLTjg/edit?usp=sharing


         3. วันเดียวกัน ( 10 เม.ย.) คุณณัฐมน กลุ่มพัฒนา กศน. นำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2556 ( ประกาศ ณ วันที่ 19 มี.ค.56 แต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 9 เม.ย.56 ) มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ( ดาวน์โหลดได้ที่  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/046/2.PDF )  

            ข้อสังเกต คือ  ระเบียบฉบับใหม่นี้ ได้ยกเลิกระเบียบฉบับเดิมปี 51 และฉบับที่ 2 ปี 54  ( รวมทั้ง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องกำหนดสถานศึกษาให้ทำหน้าหน้าที่เทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับใหม่ ประกาศ ณ วันที่ 19 มี.ค.56  ก็ยกเลิกประกาศฉบับเดิมวันที่ 30 มี.ค.56 ด้วยเช่นกัน )
            ฉะนั้น  ถ้าจะอ้างอิงระเบียบและประกาศทั้ง 2 เรื่องนี้ ในการดำเนินงานใด ๆ เช่น การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินเทียบระดับฯ ทั้งแบบเดิมและแบบใหม่ ( จบ. ป.6 ใน 8 เดือน )  โดยถ้าออกคำสั่งตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.56 เป็นต้นมา  ต้องอ้างระเบียบและประกาศฉบับใหม่  จะอ้างระเบียบและประกาศฉบับเดิมไม่ได้แล้ว


         4. ดึกวันเดียวกัน ( 10 เม.ย.) คุณ “Moonline Nui” พนักงานราชการ กศน.อ.นครชัยศรี ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  นักศึกษาต่างด้าวสามารถมาเรียน กศน.ได้หรือเปล่า  ถ้ามาเรียนแล้วมีปัญหาเรื่องเลขประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งจะเปลี่ยนไปเมื่อไปขึ้นทะเบียนใหม่ ทำให้วุฒิการศึกษาตอนสมัครเรียนกับตอนจบไม่เหมือน จะกลายเป็นว่าเป็นบุคคลคนละคนหรือเปล่า จะเป็นปัญหาในการยืนยันตัวเอง เพราะคนต่างด้าวจะเปลี่ยนชื่อ สกุลก็เปลี่ยน เวลาไปต่อที่อื่นจะไม่ลำบากหรือ

            ผมตอบว่า  คนต่างด้าวเรียนได้อยู่แล้ว ถ้าเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย  (ถ้าเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบต้องเรียนอยู่ในที่ที่กำหนด )  เรื่องเลขประจำตัวเปลี่ยนไปเมื่อขึ้นทะเบียนใหม่ก็ไม่มีปัญหาเพราะเป็นเรื่องที่มีเหตุผลชี้แจงได้ ซึ่งเราจะแก้ในทะเบียน/ในโปรแกรม IT ตามหรือไม่ก็ได้  ( ถ้าได้เลขประจำตัวใหม่ระหว่างเรียนนศ.ต้องมาแจ้งเราว่าได้เลขประจำตัวใหม่ เพื่อให้เราแก้เลขประจำตัวในทะเบียน แต่ถ้าได้เลขประจำตัวใหม่หลังจบ เราก็ไม่ต้องแก้ไขใด ๆ )
            ถ้าเปลี่ยนชื่อ-สกุล หลังเรียนจบ  เวลาไปติดต่อที่ไหนก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะหาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุลไปแสดงว่าเขาเป็นบุคคลคนเดียวกับผู้ที่เราออกใบ รบ.ให้
            แต่
ทางที่ดีเราควรให้ผู้ประสงค์จะเรียนซึ่งไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ไปติดต่อทำบัตรประจำตัวกับฝ่ายทะเบียนอำเภอก่อน เพราะบางครั้งเราก็อ่าน VISA/Passport ของเขาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเป็นวีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าประเภทไหน   ลองอ่านใน  ข้อ 8 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/494593  และ ข้อ 5 ที่  http://www.gotoknow.org/posts/404017 


        5. วันที่ 11 เม.ย.56 คุณน้ำซาย อัศวนุรักษ์ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การสรุปโครงการหรือรายงานการดำเนินงาน จริงๆแล้วควรทำกี่บท

            ผมตอบว่า  ทำ 5 บทได้ก็ดี แต่ไม่จำเป็น  กี่บทก็ได้ ขอเพียงให้มีครบ P D C A  เช่น      
            - P
 คือ มีแผนงาน โครงการ กำหนดการ หลักสูตร หนังสือเชิญ ฯลฯ
            - D  คือ
มีหลักฐานการจัดโครงการ เช่น บัญชีลงชื่อเข้าประชุม คำกล่าว ภาพถ่าย
            - C
 คือ มีหลักฐานการประเมินผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เช่น แบบประเมิน และข้อมูลการวิเคราะห์ รวมทั้งผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการประเมิน
            - A  คือ มีข้อมูลเบื้องต้นในการจะนำผลการประเมินไปใช้  ได้แก่ สรุป-อภิปรายผล-ปัญหาอุปสรรค และ ข้อเสนอแนะในการดำเนินการต่อไป

           จริง ๆ แล้ว ที่ทำ 5 บท นั้น เป็นการ “ประเมิน”โครงการ  คนละอย่างกับการ “สรุป-รายงานการดำเนินงาน”โครงการ  โดยการประเมินโครงการนั้นจะทำเฉพาะโครงการใหญ่/โครงการสำคัญ  ซึ่งการประเมินโครงการ 5 บทนั้น ถือเป็นเพียงขั้นตอน C ขั้นตอนเดียวในกระบวนการ P D C A 


        6. วันอาทิตย์ที่ 14 เม.ย.56 ผมเผยแพร่เรื่องเปลี่ยนตำแหน่งเป็นข้าราชการครู ในเฟซบุ๊ค  ว่า
            
ข้าราชการพลเรือน หรือ บุคลากรทางการศึกษาอื่น ( ข้าราชการ )  สังกัด กศน. ที่ต้องการเปลี่ยนตำแหน่งเป็นข้าราชการครู  ให้ส่งเรื่องถึงจังหวัดภายใน 22 เม.ย.56 ( แต่ละจังหวัดอาจกำหนดวันไม่ตรงกัน )
            ตามรายการในภาพต่อไปนี้  ( รับ 10 คน )



 



        7. วันอาทิตย์ที่ 14 เม.ย.56 มีครู กศน.ตำบล ถามผมผ่านเฟซบุ๊คว่า  มีคนจะสมัครประเมินเทียบระดับ แต่ไม่มีหลักฐานที่จะมายืนยันรายได้ของตนเอง จะทำอย่างไร  ( เคยมีผู้จะสมัคร ถามผมทางอีเมล์ด้วยคำถามนี้แล้ว )

            ผมตอบว่า  กรณีไม่มีหลักฐานการประกอบอาชีพ ให้ใช้ “หนังสือรับรองการประกอบอาชีพ”  โดยผู้รับรองคือ บุคคลที่เกี่ยวข้องที่เชื่อถือได้ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ข้าราชการ ผู้ให้เช่าสถานที่ประกอบอาชีพ   หนังสือรับรองนี้จะรับรองทั้งอาชีพและรายได้  ผู้รับรองต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของตน พร้อมลงนามรับรองสำเนาด้วย
            ( หนังสือรับรองฯ มี 2 แบบ  แบบที่ 1 ใช้กับกรณีไม่มีหลักฐานการประกอบอาชีพ แต่มีนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชา  กับแบบที่ 2 ใช้กรณีที่ไม่มีทั้งหลักฐานการประกอบอาชีพและไม่มีนายจ้าง/ผู้บังคับบัญชา   ดูแบบฟอร์มได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/CertificateOfEmployment.doc
)


         8. วันที่ 15 เม.ย.56 คุณ “jigถามผมทางอีเมลผ่าน gotoknow.org ว่า  ได้ทำการสอบครู ศรช. อำเภอเมือง ... ... ไปเมื่อเดือนธ.ค.56  แล้วเมื่อต้นเดือนเมษายน 56 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอเมือง ได้เรียกเข้าไปพบและแจ้งว่า การบรรจุครู ศรช. ผู้ที่จะได้รับการบรรจุจะต้องเป็นผู้ไปจัดหาผู้เรียนให้ได้ 80 คนด้วยตนเองก่อน โดยไปประชาสัมพันธ์ร่วมกับครู กศน.ตำบล ในตำบลที่ตนเองสนใจ (หรือตำบลที่คิดว่าจะหาได้ครบ) เมื่อได้ครบแล้วให้มาแจ้งที่สำนักงาน จึงจะได้บรรจุเป็นครู ศรช.  หากได้ไม่ครบ 80 คน จะได้รับค่าจ้างเป็นรายหัวสำหรับคนที่เราหามาได้  80 บาทต่อหัว   จึงเกิดคำถาม ดังนี้

             1)  ก่อนจะได้รับบรรจุเป็นครู ศรช. ผู้ที่สอบได้จะต้องไปหาผู้เรียนให้ครบ 80 คนใช่หรือไม่  ทั้งนี้ในประกาศรับสมัครสอบไม่ได้แจ้งรายละเอียดในส่วนนี้ไว้
                  ผมตอบว่า  ปีนี้สำนักงาน กศน. กำหนดว่า ครู ศรช. ต้องมีนักศึกษา 70
คนขึ้นไป จึงจะได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายเดือนละ 11,680 บาท  ถ้ามีนักศึกษาไม่ครบ 70 คน จะได้รับค่าตอบแทนเป็นรายหัว ๆ ละไม่เกิน 150 บาท/เดือน ไม่ใช่ 80 บาท ( หัวละ 80 บาทคือครูประจำกลุ่ม ไม่ใช่ครู ศรช. )  บางอำเภอ/จังหวัด กำหนดเป็นนโยบายให้ครู ศรช.มีนักศึกษามากกว่า 70 คน   การหานักศึกษาก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์ทุกคน โดยเฉพาะครู ศรช.จะหานักศึกษาเป็นหลัก

            2)  ถ้าคำตอบในคำถามข้อที่ 1 คือใช่  อยากถามต่อว่า ในทุกปี ครู ศรช. จะต้องออกไปหาผู้เรียนให้ครบ 80 คน ด้วยตนเองใช่หรือไม่
                 ผมตอบว่า  ทุก "ภาคเรียน" จะต้องหานักศึกษามาแทนผู้ที่จบออกไปให้รวมไม่น้อยกว่า 70
คน จึงจะได้เงินเหมาจ่าย 11,680
บาท  ( แต่ละภาคเรียนจะมีนักศึกษาจบออกไปเพียงบางส่วน )

            3)  ในอนาคตครู ศรช. มีโอกาสในการสอบเพื่อเลื่อนตำแหน่ง ไปยังตำแหน่งอื่นๆ ได้หรือไม่ อย่างเช่น ครู กศน.ตำบล
                 ผมตอบว่า  ทุกคนที่ "มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ที่ ก.ค.ศ.
กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา"  มีสิทธิสอบเป็นครู กศน.ตำบล ไม่ว่าจะเป็นครู ศรช.หรือไม่   แต่ถ้าจะสอบเป็นข้าราชการครู กศน. ต้องเป็นบุคลากรสังกัดกศน.แล้ว 3 ปี


         9. วันที่ 17 เม.ย.56 ผมไปเป็นกรรมการกำหนด Spec เครื่องคอมพิวเตอร์สำนักงาน ของ สนง.กศน.จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ สนง.กศน.จ.อย.


หมายเลขบันทึก: 533102เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2013 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2013 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

.... แวะมาให้กำลังใจ นะคะ

ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกแล้ว ขอบคุณมากค่ะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

แวะมาเยี่ยมค่ะ

สบายดีนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท