Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

BR (Birth Registration) : ประเด็นการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ และสร้างชื่อเสียงให้นักวิจัยแสนดีอย่างยั่งยืน


บันทึกความเห็นทางวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=10151598902793834

--------

บทนำ

--------

  BR เป็นคำย่อมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า “Birth Registration” หรือคำที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “การจดทะเบียนคนเกิด” ซึ่งเป็นการกระทำของรัฐสมัยใหม่ต่อประชากรของตน ซึ่งแนวคิดรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ย่อมมากับแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐ ที่ชี้ว่า รัฐอธิปไตยย่อมแสดงอำนาจอธิปไตยเป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและอำนาจอธิปไตยเหนือบุคคล ดังนั้น เพื่อสร้างความชัดเจนในประชากรของตน รัฐจึงต้องมีทะเบียนบุคคลที่เป็นประชากรของรัฐ และเมื่อประชากรของรัฐมีผู้สืบสันดาน รัฐย่อมกำหนดให้บุพการีต้องแจ้งการเกิดของบุตรของตนไม่ว่าบุตรนั้นจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย การแจ้งการเกิดจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำทะเบียนคนเกิด เมื่อรัฐยอมรับว่า มนุษย์คนใดเกิดบนดินแดนของตนหรือเกิดจากประชากรของตน รัฐก็จะมีเอกสารรับรองการเกิดให้ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “Birth Certification” หรือ “สูติบัตร” หรือหนังสือรับรองการเกิด” เอกสารดังกล่าวก็จะเป็นหนังสือที่ออกโดยรัฐเพื่อรับรองจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดระหว่างรัฐและบุคคล หากมนุษย์ผู้ใดตกหล่นจากทะเบียนคนเกิด มนุษย์ผู้นั้นก็จะตกเป็น “คนไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล” หรือเรียกกันสั้นว่า “คนไร้รัฐ”

-------------------------------------------------

ประเด็นการศึกษาปัญหาการจดทะเบียนคนเกิด

-------------------------------------------------

  การศึกษาเรื่องการจดทะเบียนคนเกิดจึงมีความสำคัญมาก อันทำให้นักวิชาการทั่วโลกต้องศึกษาเรื่องนี้กันอย่างสม่ำเสมอ เราพบว่า  งานตรวจสอบสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงของปัญหาการจดทะเบียนการเกิดจึงเป็นงานที่มีผู้เสนอทำตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุคที่ระบบการจัดเก็บข้อมูลเป็นโดยคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ปัญหาการจดทะเบียนบุคคลโดยรัฐก็ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเด็นที่ศึกษากันจึงเป็นไปไม่เพียงในทางกฎหมายและนโยบาย แต่ยังเป็นไปในทางเทคโนโลยีทางข้อมูลและทางการสื่อสาร (Information and Communication Technology or ICT)

สำหรับประเทศไทย ในช่วงก่อน พ.ศ.๒๕๔๘ ประเด็นของคนตกหล่นทางทะเบียนราษฎร หรือคนไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเป็นเรื่องที่มีการศึกษากันมาก และผลักดันให้กรมการปกครองปฏิรูปกฎหมายลูกบทในกฎหมายการทะเบียนราษฎรเพื่อกำหนดวิธีการจัดการปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบัน ปัญหาที่ยังค้างอยู่ให้ศึกษาก็คือ ปัญหาการบันทึกผิดในทะเบียนราษฎร กล่าวคือ การบันทึกคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยเป็นคนต่างด้าว หรือการบันทึกคนต่างด้าวเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจากมาจากปัญหาการจดทะเบียนคนเกิดผิดหรือมิใช่ ก็ได้

-------------------------------------------------------------

การจดทะเบียนคนเกิดมักมีลักษณะเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนา

--------------------------------------------------------------

การศึกษาวิจัยในประเด็นการจดทะเบียนคนเกิดมักใช้วิธีวิจัยแบบ Action Research และ Problem and Area Based  ทั้งนี้ เพราะว่า การวิจัยในลักษณะนี้จะทำให้เห็น “มนุษย์ที่ประสบปัญหาการรับรองสถานะคนเกิดและคนอยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย (เจ้าของปัญหา)” และเลือกเอามาเป็นกรณีศึกษา และการตรวจสอบสถานการณ์ด้สานข้อเท็จจริงจะทำให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดมาจากตัวเจ้าของปัญหาเอง หรือมาจากองค์กรหรือหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนแก่เจ้าของปัญหา ซึ่งองค์กรดังกล่าว อาจจะเป็นภาคราชการที่มีหน้าที่ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่จะรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่คนดังกล่าว ซึ่งอาจจะมาจากองค์กรพัฒนาเอกชนหรือชุมชนที่แวดล้อมตัวเจ้าของปัญหาอยู่ ดังนั้น วิธีวิจัยที่นำโดย “การทำกรณีศึกษา” จึงให้ประโยชน์อย่างน้อย ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) งานวิจัยย่อมสร้างความรู้อย่างลึกซึ้งในสภาพปัญหาที่มนุษย์คนหนึ่งในสังคมไทยกำลังประสบ และ  (๒) งานวิจัยย่อมชี้ให้เห็นสาเหตุของปัญหาซึ่งจะนำไปสู่ความรู้ที่จะจัดการปัญหาที่สาเหตุ มิใช่ปลายเหตุ ดังนั้น เจ้าของปัญหารวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนแก่กรณีศึกษาจึงสามารถนำผลการศึกษาวิจัยไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสิทธิที่ถูกละเมิดได้ดังที่ผู้วิจัยคาดหวังในประการแรกนี้

ในประการที่สอง เมื่อผู้เสนอโครงการวิจัยกำหนดวิธีวิจัยแบบ Action Research และ Problem and Area Based  ดังกล่าวข้างต้น ผลการวิจัยในลักษณะนี้ ได้มา “ซึ่งข้อมูลและข้อค้นพบ” ซึ่งสามรถนำมา บูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และเผยแพร่ไปออกสู่การเรียนรู้ในสาธารณะ และอาจนำไปสู่ “การเปิดพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมของนักศึกษานิติศาสตร์ที่ยังเรียนอยู่หรือบัณฑิตที่เพิ่งจบ” ที่จะมาฝึกวิชาชีพด้านการจัดการประชากร (People Management) ในการสำรวจข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาอันนำไปสู่การทบทวนข้อกฎหมายและข้อนโยบายในการพัฒนาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย และยังก่อให้เกิด “คลินิกกฎหมายเคลื่อนที่” สำหรับพื้นที่ที่เลือกมาศึกษา อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อันทำให้เกิดประโยชน์แก่วงวิชาการและสังคมตั้งแต่วันแรกของการทำงาน โดยไม่ต้องรอวันรายงานผลสุดท้ายของการวิจัย

ในประการที่สาม เมื่อผู้เสนอโครงการวิจัยกำหนดวิธีวิจัยแบบ Action Research และ Problem and Area Based  ดังกล่าวข้างต้น ผลการวิจัยในลักษณะนี้ จีงนำมาซึ่ง “สูตรสำเร็จ (สิ่งที่ควรทำ)” และ “สูตรไม่สำเร็จ (สิ่งที่ไม่ควรทำ)” อันจะทำให้การต่อยอดการทำงานไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกัน การถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงปฏิบัตินี้อาจนำไปสู่การสร้าง “โครงการฝึกอบรม” ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมวิชาการที่มหาวิทยาลัยควรทำ

----------------------------------------------------------------------

ประเด็นวิจัยทางนิติศาสตร์ในการศึกษาปัญหาการจดทะเบียนคนเกิด

----------------------------------------------------------------------

นับแต่การปรากฏตัวของข้อ ๖ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ นักวิจัยด้านนิติศาสตร์มักใช้รายงานผลการวิจัยเพื่อยืนยันถึง  “ความมีอยู่ของหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิในการรับรองความเป็นบุคคลหรือสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to recognition as a person or Right to recognition of Legal Personality)” ซึ่งเป็นสิทธิที่สำคัญของมนุษย์ทุกคนในอันที่มนุษย์นั้นจะเข้าสู่สิทธิที่พึงมีตามธรรมชาติแห่งตน ซึ่งการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรย่อมมีอยู่ ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การรับรองสถานะคนเกิดในทะเบียนราษฎร (๒) การรับรองสถานะคนสัญชาติหรือคนต่างด้าวในทะเบียนราฎร และ (๓) การรับรองสถานะคนตายในทะเบียนราษฎร

เราจะเห็นว่า การจดทะเบียนคนเกิดและคนตายอันนำไปสู่การรับรองสถานะคนเกิดและคนตายนั้น ย่อมเป็นไปตามกฎหมายธรรมชาติ เพราะการเกิดและการตายย่อมเป็นไปตามธรรมชาติ รัฐมิอาจมีการแทรกแซงในการเกิดหรือในการตายของมนุษย์ รัฐมีเพียงหน้าที่ที่จะบันทึกตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในขณะที่การจดทะเบียนคนอยู่นั้น อาจมีความซับซ้อนมากกว่า เพราะการบันทึกว่า มนุษย์มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติ และเสรีภาพของมนุษย์เจ้าของสิทธิในสัญชาติว่า จะใช้สิทธินั้นหรือไม่

สำหรับประเทศไทยนั้น เคยมีช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยบันทึกสถานะทางสัญชาติของรัฐต่างประเทศให้แก่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามอำเภอใจ กล่าวคือ ไม่ถือตามการรับรองสถานะคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของรัฐต่างประเทศเจ้าของสัญชาติ อาทิ อำเภอแม่อายแห่งจังหวัดเชียงใหม่ได้บันทึกว่า นางบุญ อินหลู่เป็นคนสัญชาติพม่าในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ทั้งที่รัฐพม่าไม่เคยบันทึกชื่อนางบุญในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าเลย การกระทำดังกล่าวจึงทำให้นางบุญตกเป็น “คนไร้สัญชาติ” โดยพลัน เพราะไม่มีรัฐใดบนโลกที่ยอมรับเธอในสถานะคนสัญชาติในทะเบียนราษฎร เธอจึงไม่อาจสถานะตนเป็นคนสัญชาติของประเทศใดเลยบนโลก เพื่อการจัดการปัญหาจริงที่เกิดขึ้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับ “การแก้ไขและป้องกันปัญหาความไร้รัฐ (Stateless Person) ของเด็ก (รวมถึงอดีตเด็ก) ทั้งนี้ เพราะการตกหล่นจากทะเบียนราฎรของรัฐทุกรัฐบนโลก” และ “การแก้ไขและป้องกันปัญหาความไร้สัญชาติ (Nationality-less person) ของเด็ก (รวมถึงอดีตเด็ก) ทั้งนี้ เพราะถูกบันทึกผิดในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

การศึกษาการจดทะเบียนคนเกิดหรือคนอยู่ในประเทศไทยจึงมักศึกษาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรทั้งในแง่มุมของกฎหมายการทะเบียนราษฎรหรือกฎหมายสัญชาติ เพื่อศึกษาทั้งประเด็นการรับรองคนเกิดและคนอยู่ในทะเบียนราษฎร โดยการศึกษาปัญหากฎหมายการทะเบียนราษฎรเป็นหลัก และเอาปัญหา “นิติวิธีในการกำหนดสัญชาติ” เป็นรอง กล่าวคือ ในประเด็นที่ว่า นายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยจะกำหนดว่า คนเกิดใดมีสัญชาติอะไร พวกเขาเหล่านี้จะต้องมี “แนวคิดและนิติวิธี” อย่างไร การจะพิจารณาและบันทึกว่า คนเกิดใดมีสัญชาติไทยหรือไม่ พวกเขาจะต้องพิจารณาจากกฎหมายของประเทศไหน ? ฉบับใด? หรือในประเด็นที่ว่า นายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยจะกำหนดว่า คนเกิดใดมีสัญชาติอะไร พวกเขาเหล่านี้จะต้องมี “แนวคิดและนิติวิธี” อย่างไร การจะพิจารณาและบันทึกว่า คนเกิดใดมีสัญชาติพม่าหรือไม่ พวกเขาจะต้องพิจารณาจากกฎหมายของประเทศไหน ? ฉบับใด ?

ในสถานการณ์ที่ประชาคมอาเซียนเปิดเสรีเต็มรูปแล้วใน ค.ศ.๒๐๑๕/พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งการรับรองการเกิดในประเทศไทยให้แก่บุตรของคนสัญชาติของรัฐต่างประเทศก็คงจะมีมากขึ้น เราตระหนักในความจำเป็นขององค์ความรู้ในการบันทึกรายการสัญชาติในแก่คนเกิดและคนอยู่ซึ่งมีสิทธิในสัญชาติของรัฐต่างประเทศในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ดังนั้น การศึกษาการจดทะเบียนคนเกิดสำหรับบุตรของประชาชนอาเซียนในประเทศไทยจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับวงการนิติศาสตร์ไทยด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เราพร้อมหรือยังที่จะจดทะเบียนคนเกิดที่เป็นบุตรของคนสัญชาติสิงค์โปร์ที่มาเกิดในประเทศไทย หรือบุตรของคนสัญชาติไทยที่ไปเกิดในประเทศมาเลเซีย การทะเบียนราษฎรอาเซียนอาจเป็นเรื่องที่รอการศึกษาของนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของคณะนิติศาสตร์อาเซียน  ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญแก่งานวิจัยเพื่อปัญหาในอนาคตของสังคมอาเซียน

----------------------------------------------------------------------

เป้าหมายและขั้นตอนของการศึกษาปัญหาการจดทะเบียนคนเกิดที่ควรจะเป็น

----------------------------------------------------------------------

เป้าหมายการศึกษาปัญหาการจดทะเบียนคนเกิดที่ควรจะเป็นน่าจะมีอยู่ ๓ ขั้นตอน กล่าวคือ (๑) ตรวจสอบสถานการณ์ข้อเท็จจริงของปัญหาการจดทะเบียนการเกิดและการอยู่ให้แก่คนเกิดที่จังหวัดตากนอกสถานพยาบาล ซึ่งเลือกมาเป็นกรณีศึกษา (๒) ตรวจสอบสถานการณ์และลักษณะปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายต่อคนเกิดตามกรณีศึกษาที่เลือก (๓) พัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพสำหรับคนเกิดตามกรณีศึกษาที่เลือก 

ในส่วนของขั้นตอนการศึกษาวิจัยที่ควรจะเป็นนั้น มีประเด็นที่ต้องไตร่ตรองและตัดสินใจหลายประการ กล่าวคือ

ในประการแรก การวิจัยควรจะต้องมีการกำหนดขอบเขตการวิจัยให้ชัดเจน ในบริบทของเรื่องการจดทะเบียนคนเกิด  ผู้วิจัยจะพิจารณา (๑) ประเด็นการบันทึกรายการสัญชาติในกระบวนการจดทะเบียนคนเกิดทั้งหมด ซึ่งหมายความถึงการบันทึกคนเกิดในทะเบียนคนอยู่ของรัฐเจ้าของตัวบุคคลได้จนสำเร็จ มิใช่แค่รับรองการคลอดและรับรองการเกิด หรือ (๒) จะพิจารณาเฉพาะประเด็นการบันทึกรายการสัญชาติในหนังสือรับรองการเกิดในสถานพยาบาลใน ท.ร.๑/๑ หรือ (๓) จะพิจารณาเฉพาะประเด็นการบันทึกรายการสัญชาติในหนังสือรับรองการเกิดนอกสถานพยาบาลใน ท.ร.๑ ตอนหน้า หรือ (๔) จะพิจารณาประเด็นการทำ หนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา ๒๐/๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ รวมตลอดถึง (๕) จะพิจารณาการทำหนังสือรับรองสถานที่เกิดตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ ความหลากหลายของการจดทะเบียนคนเกิดดังกล่าวต้องการการศึกษาแยกแยะให้ชัดเจน รอการศึกษาจากนักวิจัยที่สนใจประเด็นการจดทะเบียนคนเกิด

ในประการที่สอง การวิจัยเรื่องการจดทะเบียนคนเกิดก็น่าจะไม่ละเลย การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ (Information) ที่เกี่ยวข้อง” การวิจัยควรให้ความสำคัญทั้งเรื่องของกฎหมายและเอกสารของรัฐไทยด้านการทะเบียนราษฎร และเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพราะการรับรองการเกิดโดยนายทะเบียนตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเป็นการกระทำทางปกครอง ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ของรัฐไทยตามกฎหมาย

ในประการที่สาม การวิจัยเรื่องการจดทะเบียนคนเกิดที่ชัดเจนและสะท้อนเรื่องจริงต้องไม่ทำการวิจัยเชิงเอกสารอย่างเดียว ควรจะต้องทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research ) และควรเป็นการศึกษาวิจัยโดยใช้ลักษณะของปัญหาในพื้นที่หนึ่งๆ เป็นฐานการศึกษา (Problem and Area Based)  เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่า การเจาะศึกษาไปที่เรื่องที่เป็นปัญหายากที่สุดในการศึกษาเรื่องการจดทะเบียนคนเกิด ก็คือ ปัญหาการจดทะเบียนการเกิดกรณีเด็กเกิดนอกสถานพยาบาล  และหากเลือกที่จะศึกษาเรื่องนี้ในพื้นที่ที่อ่อนไหวที่สุดในด้านความมั่นคงเชิงดินแดน (Territorial Security) ก็จะยิ่งยากมากขึ้น อาทิ ในพื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนซึ่งมีทั้งคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และคนหลายรัฐหลายสัญชาติอาศัยอยู่ หากปรากฏมีสูตรสำเร็จหรือสูตรไม่สำเร็จเกิดขึ้นจากงานวิจัย สูตรดังกล่าวก็ย่อมจะนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ที่ง่ายกว่าอย่างแน่นอน และพื้นที่การเรียนรู้ที่เปิดขึ้นจากงานวิจัยนี้ ก็ย่อมจะเป็น “ห้องเรียน” ที่อุดมสมบูรณ์สำหรับนักศึกษาหรือบัณฑิตใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ

----------------------------------------------------------------------

ผลผลิตของการศึกษาปัญหาการจดทะเบียนคนเกิดที่ควรจะเป็น

----------------------------------------------------------------------

ผลผลิตของการศึกษาวิจัยเรื่องการจดทะเบียนคนเกิดน่าจะมีได้ใน ๖ ลักษณะ ก็คือ (๑) บันทึกการตรวจสอบสถานการณ์ข้อเท็จจริงของปัญหาผ่านกรณีศึกษาในพื้นที่ศึกษา  (๒) บันทึกสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายผ่านกรณีศึกษาในพื้นที่ศึกษา (๓) บันทึกข้อกฎหมายและข้อนโยบายเพื่อแก้ปัญหาของบุคคลที่เป็นกรณีศึกษาในพื้นที่ศึกษาประสบอยู่ (๔) บันทึกการทดลองแก้ปัญหาดังกล่าว (๕) บันทึกข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาอันเป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหา และ (๖) รายงานผลการวิจัยในภาพรวมอันเป็นบทสรุปสถานการณ์ทั่วไปทั้งที่เป็นปัญหาและความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขปัญหา

----------------------------------------------------------------------

วินัยของการศึกษาปัญหาการจดทะเบียนคนเกิดที่ควรจะเป็น

----------------------------------------------------------------------

การศึกษาเรื่องจริงในสังคมเป็นเรื่องยาก แต่นำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนสำหรับนักวิจัย ดังนั้น นักวิจัยควรจะมีการทำงานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มิใช่มาไล่เก็บงานในช่วงท้ายๆ ของโครงการ ในแต่ละยากก้าวของการทำงานจะนำไปสู่  (๑) “การกระตุ้นกลไกของการจัดการประชากร” ในเรื่องการจดทะเบียนคนเกิดและคนอยู่โดยกฎหมายการทะเบียนราษฎรในพื้นที่จังหวัดตาก (๒) “การปรากฏตัวของนักกฎหมายใหม่ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรที่มีประสบการณ์ทางวิชาชีพในด้านการจัดการประชากร” ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการจัดการประชากรในบริบทอนาคตของประเทศไทยและประชาคมอาเซียน และ (๓) “การปรากฏตัวชัดเจนมากขึ้นของคลินิกกฎหมาย”

สิ่งที่เป็นวินัยทางความคิด ก็คือ นักวิจัยควรยอมรับแนวคิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคมกับงานวิจัย  งานวิจัยนี้จะเป็นงานวิจัยที่ไม่เกิดขึ้นและจบลงอย่างเงียบเหงา แต่จะเป็นงานวิจัยที่เป็นความทรงจำของทุกฝ่ายในพื้นที่ที่เลือกขึ้นมาทำงาน และเป็นบทเรียนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล แม้หลายปีผ่านไปหลังการปิดโครงการวิจัยอีกด้วย


หมายเลขบันทึก: 533047เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

     ขอบคุณมากครับอาจารย์ได้ความรู้มากๆครับ ทำให้เข้ใจมาซึ่งประเด็นการได้สถานะ และการรับรองหรือการพัฒนาสถานะ ด้วยครับอาจารย์  (๑) การรับรองสถานะคนเกิดในทะเบียนราษฎร (๒) การรับรองสถานะคนสัญชาติหรือคนต่างด้าวในทะเบียนราฎร และ (๓) การรับรองสถานะคนตายในทะเบียนราษฎร 

     แต่ที่ผมเห็นว่ายังมีประเด็นอยู่บ้างก็ที่จังหวัดตาก แม่สอด หรือที่อื่นผมไม่ทราบข้อมูลเหมือนกันครับอาจารย์  เป็นกำลังใจให้อาจารย์ทำงานต่อนะครับ ทั้งบางกอกคลีนิกด้วยครับ 


ทำงานที่แม่สอดหรือคะ กำลังจะไปเดือนพฤษภาคมนี้ค่ะ เป็นไกด์ลงพื้นที่ให้หน่อยซิคะ

มีน้องๆทำอยู่ที่นั่นครับอาจารย์ อย่างไรผมประสานให้นะครับ สวัสดีสงกรานต์ขอให้อาจารย์แข็งแรงเป็นผู้นำการทำงานเรื่องสัญชาติให้คนทำงานอย่างพวกเราต่อไปนะครับ ....


ขอบคุณค่ะ แล้วจะขอแรงนะคะ ตอนวางแผนลงพื้นที่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท