แบบฝึกเขียนการ์ตูนยามว่าง




แบบฝึกเขียนการ์ตูนยามว่าง

  เป็นที่ยอมรับกันว่า ยุคนี้สื่อเทคโนโลยีครองเมือง แต่ก็ไม่มีสิ่งใดมาชดเชยสื่อการ์ตูนได้ คุณลักษณะเฉพาะของการ์ตูนยังคงมนต์เสน่ห์ในการใช้คุณสมบัติเรื่องของเส้น ความเรียบง่ายของรูปร่างรูปทรง การให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวา การสร้างอารมณ์ร่วมในลีลาตัวละครให้ตลกขำขัน  ความสามารถในการสื่อความหมายออกมาได้เร็ว ตรงประเด็น แม้แต่เรื่องที่เข้าใจยาก เรื่องที่ต้องใช้จินตนาการลึกล้ำ ยังต้องอาศัยการ์ตูนสื่อสารแทนคำพูด หรือประกอบคำอธิบายได้ การใช้สื่อการ์ตูนที่เหมาะสม มีคุณภาพ จึงช่วยให้สื่อการ์ตูนเกิดคุณค่าต่อการเรียนรู้ พัฒนาสมรรถนะในการคิดวิเคราะห์จากการนำเสนอที่ชวนคิด สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย การ์ตูนในปัจจุบันจึงมีการพัฒนารูปแบบการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์  สื่อเทคโนโลยี เช่น ภาพยนตร์การ์ตูน การ์ตูนเอนิเมชั่น (animation cartoons) การ์ตูนในการโฆษณาและ ประชาสัมพันธ์ การ์ตูนล้อการเมือง รวมทั้งรูปแบบการ์ตูนในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบภาพประกอบหนังสือ ออกแบบนิเทศศิลป์ 

ในการศึกษาได้มีการพัฒนาสื่อการ์ตูนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กในรูปแบบต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูนประกอบการสอนในหน่วยการเรียนกลุ่มสาระต่างๆ  หนังสือการ์ตูนวิทยาศาสตร์ หนังสือการ์ตูนประวัติศาสตร์ สื่อประเภทนี้จูงใจให้เด็กรักการอ่านได้ดี  สื่อการเรียนสำหรับเด็ก ประเภทบทเรียนสำเร็จรูป ชุดการสอน  ชุดฝึกทักษะ  เกมการศึกษา หนังสือส่งเสริมการอ่าน  ก็ล้วนใช้ภาพประกอบการ์ตูนเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อสร้างสีสัน ต่อเติมความรู้ เสริมจินตนาการ ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เร้าความสนใจของผู้อ่านที่เป็นเด็ก แม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนยังชอบอ่านหนังสือการ์ตูน โดยเฉพาะหนังสือประเภทฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ทั้งนี้งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า แบบเรียนที่ผลิตในรูปแบบหนังสือการ์ตูนช่วยให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ดีขึ้น (Sones,1944) หนังสือยอดนิยมที่เด็กระดับประถมศึกษาชอบอ่านรองจากหนังสือนิทาน ได้แก่ หนังสือการ์ตูน (ร้อยละ 37.48) (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2549) ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานยังได้ส่งเสริมให้เด็กสร้างหนังสือเล่มเล็ก เพื่อฝึกทักษะการเขียนเรื่องสั้นของเด็กทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง และฝึกทักษะการวาดภาพประกอบ จากความคิดจินตนาการตามเนื้อเรื่อง ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง เกิดจิตสำนึกต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์และ จินตนาการ  ยิ่งปัจจุบันมีการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อผลิตสื่อมัลติมีเดียที่สะดวกมาก ทำให้การเผยแพร่สื่อการ์ตูนในรูปแบบสื่อมัลติมีเดียเป็นไปได้อย่างกว้างขวางทางเว็บไซต์  ส่วนใหญ่ผลิตในรูปแบบของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) บทเรียนมัลติมีเดีย  หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E book) บทเรียนการ์ตูนเอนิเมชั่น

การใช้สื่อการ์ตูนที่ดีมีคุณภาพนั้น หากครูผู้สอนไม่สามารถผลิตและพัฒนาขึ้นใช้กับเด็กในชั้นเรียนด้วยตนเอง ก็ต้องมีความเข้าใจคุณลักษณะสื่อการ์ตูนที่ดี รู้จักจุดเด่น เหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กในชั้น และคัดสรรมาใช้ จากแหล่งสื่อ เช่น เว็บไซต์ของสำนักเทคโนโลยีการจัดการศึกษา สถาบันการศึกษา หรือสื่อที่ผู้เชี่ยวชาญผลิตออกมาวางจำหน่ายในท้องตลาด อย่างไรก็ตามสื่อการ์ตูนประเภทพร้อมใช้นั้น เป็นความสะดวกสบายของครูที่สามารถจัดหาได้ตามที่ต้องการ แต่สื่อที่เผยแพร่ทางระบบออนไลน์หรือสื่อในท้องตลาดซึ่งกำกับโดยระบบธุรกิจ ย่อมมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์เชิงวิชาการ บางทีก็ไม่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนที่ออกแบบไว้ เพราะครูผู้สอนเท่านั้นที่รู้ดีว่าผู้เรียนในชั้นควรจะเรียนรู้อย่างไร  ดังนั้น ผู้ที่เขียนการ์ตูนได้ เขียนการ์ตูนเป็น เขียนการ์ตูนเก่ง จึงเป็นผู้ที่มีต้นทุนสูงที่จะใช้สื่อการ์ตูนได้อย่างเสรี เต็มที่ สามารถนำการ์ตูนไปใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างน่าสนใจ คุ้มค่า ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการมากที่สุด  

การวาดการ์ตูนให้เป็นแบบฉบับของตนเอง แม้จะเป็นความถนัดเฉพาะบุคคล แต่ก็เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ เพียงแต่มีใจรัก การฝึกฝนอย่างอดทน และรู้จักปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง หลังจากนั้นก็สามารถดัดแปลง พลิกแพลงตามความถนัดของตนเอง นำไปออกแบบจัดทำสื่อการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย หรือสามารถวาดภาพประกอบเรื่องได้อย่างถูกหลัก เป็นตัวของตัวเอง ไร้ข้อจำกัดในการใช้งาน

ข้อแนะนำเบื้องต้นในการฝึกฝนทักษะการเขียนการ์ตูนให้มีคุณภาพตามแบบฉบับของตนเอง

๑.  ฝึกวาดเส้นด้วยดินสอหรือปากกา แบบฝึกซ้ำ จนกำหนดน้ำหนักและทิศทางของเส้นที่วาดได้  โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆช่วย  (ฝึกอย่างมีสมาธิ)

๒.  ฝึกร่างภาพด้วยรูปทรงพื้นฐาน หลายๆแบบ กำหนดสัดส่วนตามที่เหมาะสม อาจฝึกตามแนวคู่มือฝึกเขียนการ์ตูนที่วางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วไปในท้องตลาด หรือฝึกตามคู่มือฝึกเขียนการ์ตูนมีผู้เผยแพร่ไว้ (ดูแบบฝึกที่นำเสนอข้างล่าง ) เมื่อชำนาญแล้วค่อยดัดแปลงพลิกแพลงให้เป็นแบบฉบับของตนเองในภายหลัง (ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาฝึกฝนอย่างอดทน มุ่งมั่น ต่อเนื่อง ห้ามถอดใจ)

๓.  ฝึกวาดภาพในแบบฉบับของตนเองประกอบเรื่องสั้นๆ พยายามฝึกวาดภาพประกอบเรื่องที่ต้องคิดต้องจินตนาการลึกๆ เพื่อให้เป็นลักษณะ การ์ตูนแอคชั่น หากนึกไม่ออก ขอแนะนำให้นำคำพังเพยไทย นิทานสอนใจ  มาฝึกวาดภาพประกอบ เน้นการสื่อความหมายที่ดี มีอารมณ์ขัน มากกว่าความสวยงาม อาจสื่อความหมายในทำนองขำขัน เสียดสีล้อเลียนอย่างสร้างสรรค์ แต่ระวังเรื่องสองแง่สองง่ามหรือกระทบสิทธิส่วนบุคคล  แล้วให้เพื่อนๆ ช่วยวิจารณ์ หรือนำเสนอผลงานเมื่อมีโอกาส

๔.  ศึกษาผลงานของนักเขียนการ์ตูนในดวงใจ สัก ๓ -๔ คน เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการเขียน แนวคิด การนำเสนอ จุดเด่นเฉพาะตัว นำแนวคิดที่ได้มาปรับปรุงผลงานตนเอง

๕.  มีความสุขกับการใช้เวลาว่างเขียนการ์ตูน  ผ่อนคลาย (quite fun and relax) แล้วนำไปออกแบบสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ การคิดวิเคราะห์ สำหรับเด็กเล็ก ให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ

เพียงเท่านี้ ก็จะพบว่า การเขียนการ์ตูนได้...เขียนการ์ตูนเก่ง เป็นพรแสวงที่กำกับด้วยใจรักโดยแท้ 

คลิกที่นี่

แบบฝึกเขียนการ์ตูนยามว่าง


หมายเลขบันทึก: 532089เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2013 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2013 06:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การ์ตูนกับเด็กของคู่กันค่ะ  ครูอิงเองก้ใช้ประโยชน์จากการ์ตูนในการทำผลงานต่าง ๆ อยู่เสมอ

ขอบคุณสำหรับภาพการ์ตูนจากบันทึกนี้ ขออนุญาตนำไปใช้กับเด็ก นะคะ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท