การทำ case study


1.  การศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี คืออะไร ?

การศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี คือ  กระบวนการศึกษานักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างละเอียดต่อเนื่อง โดยใช้เทคนิควิธีการที่หลากหลาย ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล  เพื่อหาสาเหตุของปัญหาอันจะนำไปสู่การดำเนินการให้ความช่วยเหลือ  ส่งเสริม  และพัฒนานักเรียน  ให้สามารถปรับตัว  และดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

2.  นักเรียนคนใดที่ครูควรศึกษาเป็นรายกรณี ?

นักเรียนที่ครูควรศึกษาเป็นรายกรณี

*  นักเรียนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม  ด้านอารมณ์  ด้านการปรับตัว  ด้านการเรียน 

  และด้านสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น เป็นต้น

*  นักเรียนปัญญาเลิศ และนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะทาง

3.  ประโยชน์ของการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณีคืออะไร?

  3.1 ประโยชน์ต่อนักเรียน

*  นักเรียนได้รับความช่วยเหลือ ส่งเสริมและพัฒนาตามศักยภาพสามารถปรับตัว

  และดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

3.2 ประโยชน์ต่อครู

*  ครูรู้จักและเข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล  โดยเฉพาะนักเรียนที่ต้องได้รับความเอาใจใส่

  เป็นพิเศษ  ทำให้ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น นำไปสู่การวางแผน และให้ความช่วยเหลือ

  นักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

4.  การศึกษานักเรียนเป็นรายกรณีมีความเหมือน และแตกต่างจากประวัตินักเรียน

  /ระเบียนสะสม  อย่างไร ?

    การศึกษานักเรียนเป็นรายกรณีกับประวัตินักเรียนมีความเหมือนกัน คือ ข้อมูลในส่วนที่เป็นข้อมูลที่ปรากฏจริงของนักเรียน  ส่วนที่ต่างกัน  คือ  ประวัตินักเรียน/ระเบียนสะสมเป็นการรวบรวม  และสะสมข้อมูลที่ปรากฏจริงของนักเรียนครอบคลุมถึงประวัติครอบครัว ประวัติสุขภาพ  ผลการเรียน  และข้อมูลอื่น ๆ  เกี่ยวกับนักเรียนซึ่งมีการบันทึกสะสมไว้ตั้งแต่นักเรียนเข้าโรงเรียนจนจบการศึกษา  ส่วนการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณีมีข้อมูลที่ปรากฏจริงซึ่งส่วนหนึ่งได้จากประวัตินักเรียน/ระเบียนสะสม เติมต่อด้วยข้อมูลปัจจัยที่ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมของนักเรียนอย่างละเอียดต่อเนื่อง โดยใช้เทคนิควิธีการที่หลากหลายในการรวบรวมและ วิเคราะห์ข้อมูลถึงสาเหตุของปัญหา  เพื่อวางแผนการให้ความช่วยเหลือ  ส่งเสริม  พัฒนา การติดตามผล  และให้ข้อเสนอแนะ

5.  ครูมีแนวทางอย่างไรในการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี ?

    การศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี  เริ่มต้นด้วยการระบุสาเหตุที่ศึกษานักเรียนเป็นรายบุคคล  ตามด้วย

การรวบรวมข้อมูลที่มีความชัดเจนถูกต้อง  แม่นยำ  ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงที่ผ่านมากับข้อมูลปัจจุบัน จนสามารถระบุสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้นักเรียนอยู่ในสภาวะที่ต้องได้รับความใส่ใจ  ช่วยเหลือ  ส่งเสริม  หรือพัฒนาเป็นพิเศษ  แล้วจึงวางแผนการให้ความช่วยเหลือ  ติดตามผล และให้ข้อเสนอแนะ ในทุกขั้นตอนครูต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบจนสามารถดำเนินการช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือพัฒนานักเรียนได้  ความหนักเบาของปัญหานักเรียนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ครูต้องคำนึงถึงในการให้ความช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายกรณี ปัญหาบางปัญหาสามารถแก้ไขได้โดยครูที่ปรึกษา บางปัญหาต้องการครูแนะแนวในการให้การปรึกษา ส่วนกรณีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือเฉพาะด้านอาจต้องส่งต่อให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง  เช่น  จิตแพทย์ นักจิตวิทยา  หรือนักสังคมศาสตร์ เป็นต้น

6.  อะไรคือสิ่งที่ครูควรคำนึงถึงในการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี ?

     ครูที่ศึกษานักเรียนเป็นรายกรณีควรปฏิบัติ  ดังนี้

    1.  การศึกษาต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียนผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง  ข้อมูลที่ได้ต้องใช้เพื่อการช่วยเหลือนักเรียน เท่านั้น

    2.  ก่อนการศึกษาครูต้องได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ปกครองและนักเรียน นอกจากนี้  การดำเนินการต่าง ๆ  และผลการดำเนินการต้องแจ้งให้ผู้ปกครองและนักเรียนทราบ

    3.  การได้มาซึ่งข้อมูลต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้ข้อมูล  ปราศจากการข่มขู่  และไม่ขัดต่อศีลธรรม

    4.  ผู้ปกครองทรงไว้ซึ่งสิทธิในการขอดูข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับนักเรียนในปกครอง  และทรงไว้ซึ่งสิทธิในการขอตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลหรือบันทึกต่าง ๆ  ปรับเปลี่ยนข้อมูลให้ตรงตามข้อเท็จจริงในกรณีที่พบว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

    5.  ครูต้องปกปิดข้อมูลของนักเรียนที่ศึกษารายกรณีเป็นความลับ  ห้ามเปิดเผยแก่ผู้ที่ไม่มีส่วน

เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือนักเรียน  ยกเว้นแต่ได้รับการยินยอมจากนักเรียนหรือผู้ปกครอง  หรือคำสั่งศาล  และในกรณีที่จะนำเสนอในทางวิชาการต้องปกปิด  ชื่อ นามสกุล  และรายละเอียดของนักเรียนที่อาจจะถูกอ้างอิงได้

    6.  หากปัญหาของนักเรียนยุ่งยากและซับซ้อนมากเกินไป  ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ  หรือส่งตัวนักเรียนไปรับการช่วยเหลือ  โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากนักเรียนและผู้ปกครอง

    7.  ไม่ควรนำผลการศึกษาพฤติกรรมของนักเรียนคนหนึ่ง  ไปอธิบายหรือทำนายพฤติกรรมของ นักเรียนคนอื่น  เพราะนักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างระหว่างบุคคล


1.  ข้อมูลอะไรบ้างที่ครูควรศึกษาและรวบรวม ?

vข้อมูลส่วนตัวและครอบครัว

vข้อมูลสุขภาพกายและสุขภาพจิต

vข้อมูลด้านการเรียน

vข้อมูลด้านสังคม

vความสนใจ  งานอดิเรก และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ

vเป้าหมาย และความคาดหวังในอนาคต

vความภาคภูมิใจ  ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิต

2.  วิธีใดบ้างที่ครูควรใช้ในการรวบรวมข้อมูล ?

  การสังเกต เป็นการเฝ้าดูพฤติกรรมต่าง ๆที่นักเรียนแสดงออก เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกนึกคิด 

ความเชื่อ  ทัศนคติ  การมองโลกของนักเรียน  เป็นต้น

  การสังเกตควรสังเกตอย่างต่อเนื่องโดยเว้นระยะตามความเหมาะสม จนได้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และในการสังเกตนั้นควรสังเกตโดยไม่ให้นักเรียนรู้ตัว  สังเกตในหลาย ๆ สถานการณ์  บันทึกผลหลังสังเกต

โดยแยกเขียนข้อคิดเห็น  และข้อเสนอแนะออกจากพฤติกรรมที่สังเกตพบ

  การสัมภาษณ์  เป็นการสนทนาอย่างมีเป้าหมายเพื่อหาข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ  ของนักเรียน  แรงบันดาลใจ  ความปรารถนา  ความวิตกกังวล  ครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เล่าเรื่องราวมากที่สุด และสังเกตอากัปกิริยาของนักเรียนขณะฟังและตอบคำถาม  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจพฤติกรรมของนักเรียนยิ่งขึ้น

  ก่อนเริ่มต้นการสัมภาษณ์ครูควรตั้งวัตถุประสงค์  เตรียมข้อคำถามเพื่อใช้ในการสัมภาษณ์  และนัดหมายนักเรียนล่วงหน้า  ในการดำเนินการสัมภาษณ์ครูควรเริ่มต้นสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง เพื่อให้นักเรียนรู้สึกไว้วางใจ  แล้วจึงสัมภาษณ์ตามประเด็นคำถามที่เตรียมไว้  หลังการสัมภาษณ์ควรบันทึกผลไว้ทุกครั้ง

  การใช้แบบสอบถาม  เป็นการใช้ชุดคำถามหรือข้อความเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่ครูต้องการทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นๆ  คำถามส่วนมากเกี่ยวข้องกับความคิดเห็น ทัศนคติหรือความคิดเห็นของผู้ตอบ เช่น สอบถามความคิดเห็น  ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ  การปรับตัว  อุปนิสัยในการเรียน  การรับรู้เกี่ยวกับเพื่อน  เป็นต้น

 

  ครูควรเลือกใช้  หรือสร้างแบบสอบถาม  ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูลของนักเรียนเพื่อให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ตรงประเด็นปัญหา

  การเขียนอัตชีวประวัติ  เป็นการให้นักเรียนเขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองในด้านต่างๆ  ทำให้เข้าใจพื้นฐานครอบครัว  นิสัย  ความใฝ่ฝัน  และทัศนคติที่มีต่อตนเองและสภาพแวดล้อมของนักเรียนยิ่งขึ้น ซึ่งครูควรให้นักเรียนเขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองโดยอิสระหรือให้เล่าเรื่องราวตามข้อคำถามที่ครูกำหนด

  ในการเขียนอัตชีวประวัติครูควรสร้างความคุ้นเคยกับนักเรียนจนนักเรียนเกิดความไว้วางใจ  ควรบอกวัตถุประสงค์ก่อนให้นักเรียนเขียน  และไม่ควรเข้มงวดกับความถูกต้องด้านภาษาและไวยากรณ์

  การเยี่ยมบ้าน  เป็นการไปพบปะผู้ปกครอง  และบุคคลในครอบครัวของนักเรียน  รวมทั้งสังเกต

สภาพแวดล้อมและชุมชน ทำให้ให้ครูทราบสภาพความเป็นอยู่ รวมทั้งความสัมพันธ์ของนักเรียนกับสมาชิกในครอบครัว

  ในการไปเยี่ยมบ้านนั้นครูควรนัดหมายล่วงหน้า  เตรียมศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของนักเรียน ระมัดระวังในการสื่อสาร  สร้างสัมพันธ์ภาพโดยการให้เกียรติ  ใช้คำพูด คำถาม และกิริยาอันเหมาะสม หลังจากการเยี่ยมบ้านครูควรบันทึกข้อมูลที่ได้จากการเยี่ยมบ้าน

  ระเบียนสะสม  เป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลของนักเรียนในด้านต่าง ๆ  ตั้งแต่เริ่มศึกษาจนจบการศึกษาโดยใช้เทคนิควิธีการที่หลากหลายในการเก็บรวบรวมข้อมูล

  ในการจัดทำระเบียนสะสมควรจัดทำให้เป็นปัจจุบัน  จัดเก็บในที่ที่เหมาะสม  ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนักเรียน

  แบบทดสอบทางจิตวิทยา   เป็นเครื่องมือที่สร้างและใช้โดยผู้ชำนาญการเฉพาะทาง  ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยา  ครูควรขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้แบบทดสอบที่ต้องการ  สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ การวิเคราะห์และแปลผลซึ่งต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ  ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้แบบทดสอบมากกว่า 1 แบบทดสอบ  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียด  และครอบคลุมเกี่ยวกับนักเรียน

  ในการรวบรวมข้อมูลนักเรียน  ครูควรใช้เทคนิควิธีการที่หลากหลายโดยเลือกใช้ให้เหมาะกับข้อมูลที่ต้องการเก็บ  และควรบันทึกวัน เวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น ๆ กำกับไว้ด้วยทุกครั้ง

3.  ครูควรรวบรวมข้อมูลจากแหล่งใดบ้าง ?

  1. นักเรียนที่ครูศึกษาเป็นรายกรณี

  2. ผู้ปกครอง และบุคคลในครอบครัว

  3. ครูประจำชั้น/ครูที่ปรึกษา  ครูประจำวิชา  ครูแนะแนว  ครูผู้สอน ฯลฯ

  4. เพื่อนนักเรียน

  5. แหล่งเก็บข้อมูลของนักเรียน เช่น  ระเบียนสะสม  ประวัติจากโรงพยาบาล  ฯลฯ

  6. จิตแพทย์  นักจิตวิทยา  และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

  ครูควรเก็บข้อมูลจากหลายแหล่ง  เพื่อตรวจสอบ และยืนยันข้อเท็จจริงของข้อมูล

4.  ครูควรใช้เวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลนานเท่าใด ?

  ระยะเวลาที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลนักเรียนที่ศึกษารายกรณีนั้นไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน  แต่ขอเสนอแนะว่าควรอยู่  ระหว่าง 1 – 3 เดือน  แล้วแต่ระดับความยากง่ายของปัญหา  ซึ่งครูควรพิจารณาตามความเหมาะสม

5.  หลังจากได้ข้อมูลแล้วครูจะดำเนินการกับข้อมูลอย่างไร ?

  หลังจากที่ครูรวบรวมข้อมูลของนักเรียนจากหลายแหล่ง หลายวิธีการแล้ว  ครูควรดำเนินการ ดังนี้

  1. สังเคราะห์ข้อมูลของนักเรียนเป็นหมวดหมู่  ซึ่งประกอบด้วยรายการต่าง ๆ  ดังนี้

-  ข้อมูลส่วนตัวและครอบครัว

-  ข้อมูลด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต

-  ข้อมูลด้านการเรียน

-  ข้อมูลด้านสังคม

-  ความสนใจ งานอดิเรก และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ

-  เป้าหมายและความคาดหวังในอนาคต

-  ความภาคภูมิใจ  ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิต

2. นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และวินิจฉัยปัญหา   เพื่อระบุที่มาของพฤติกรรมหรือสาเหตุของปัญหา

ในบางกรณีครูอาจจัดประชุมรายกรณี (Case Conference) โดยขอความร่วมมือจากครูแนะแนว ครูประจำชั้น/ครูที่ปรึกษา  ครูประจำวิชา  ครูผู้เกี่ยวข้อง  หรือผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และวินิจฉัยปัญหา


1.  ครูควรช่วยเหลือ  ส่งเสริม  และพัฒนานักเรียนอย่างไร ?

  หลังจากครูทราบถึงที่มาของพฤติกรรมและสาเหตุของปัญหาแล้ว  ก่อนดำเนินการให้ความช่วยเหลือ  ครูและนักเรียนควรร่วมมือกันตั้งเป้าหมาย และวางแผนการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนา  เพื่อให้เป็นระบบและมีทิศทางที่ชัดเจน  ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนา 

อาจดำเนินการได้หลายรูปแบบตามลักษณะของพฤติกรรมและปัญหา  ดังนี้

กรณีที่ 1 พฤติกรรมและปัญหาที่ไม่ยุ่งยาก/ไม่ซับซ้อน

หากพฤติกรรมและปัญหาของนักเรียนเป็นปัญหาที่ครูสามารถให้ความช่วยเหลือได้  ให้วางแผนดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยมีแนวทางในการดำเนินการ  ดังนี้

1. การปรับพฤติกรรม  โดยการให้กำลังใจ  การชี้แนะ  การทำสัญญาเงื่อนไข  การควบคุมตนเอง  และการทำตามตัวแบบที่นักเรียนยอมรับ  เป็นต้น

2. การให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่นักเรียน  เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง และให้ข้อมูลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลให้นักเรียนเกิดปัญหา หรือพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของนักเรียน

3. การเสนอแนะให้ผู้เกี่ยวข้องจัดสภาพการณ์บางอย่างให้เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน  เช่น  ขอความร่วมมือพ่อแม่  หรือครูผู้เกี่ยวข้อง  ปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับนักเรียน  หรือปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะกับศักยภาพของนักเรียน

4. การให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิด เจตคติ และพฤติกรรม  ให้นักเรียนเห็นคุณค่าในตนเอง เกิดความมั่นใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

กรณีที่ 2 พฤติกรรมและปัญหาที่ยุ่งยาก/ซับซ้อน

หากพฤติกรรมและปัญหาของนักเรียนเกินความสามารถของครูที่จะช่วยเหลือได้ให้ดำเนินการ  ดังนี้

1.  ส่งนักเรียนไปรับการช่วยเหลือจากครูแนะแนว  หรือคณะกรรมการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของสถานศึกษา

2.  ส่งต่อผู้เชี่ยวชาญนอกสถานศึกษา เช่น ศูนย์แนะแนว  เขตพื้นที่การศึกษา โรงพยาบาลจิตเวช  สถาบันสุขวิทยาจิตเด็กและวัยรุ่น ศูนย์บำบัดยาเสพติด  ศูนย์การศึกษาพิเศษ  มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ เป็นต้น

สำหรับสถานศึกษาที่มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน  ครูควรนำข้อมูลการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณีเสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของสถานศึกษา  เพื่อรายงานความก้าวหน้า และร่วมกันวิเคราะห์ถึงที่มา หรือสาเหตุของปัญหา  และช่วยกันเสนอแนะแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนานักเรียน  โดยกำหนดด้วยว่า  ผู้เกี่ยวข้องคนใดควรให้ความช่วยเหลือในเรื่องใด และอย่างไร เช่น เพื่อนสนิท ครูที่เกี่ยวข้อง พ่อแม่ หรือผู้ปกครองและญาติ  เป็นต้น

2.  การติดตามผลการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณีควรทำอย่างไร ?

การให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนานักเรียนดังกล่าวข้างต้น  ผู้ศึกษาควรเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงานและติดตามผลตามประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.  นักเรียนได้ทำตามแผนที่วางไว้หรือไม่

2.  การดำเนินการให้ความช่วยเหลือประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายเพียงใด

3.  การให้ความช่วยเหลือมีปัญหาอุปสรรคใดเกิดขึ้นบ้าง

4.  มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นหรือไม่

5.  จำเป็นต้องให้แนวทางปรับเปลี่ยนวิธีการให้ความช่วยเหลือใหม่หรือไม่

6.  เรื่องอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร

  ในการติดตามผลนั้น นอกจากจะทำให้การช่วยเหลือนักเรียนมีประสิทธิภาพแล้ว  ยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ  ส่งเสริม และพัฒนานักเรียนรายต่อไปได้ด้วย

3.  ครูมีวิธีการติดตามผลการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณีอย่างไร ?

  1.  การสังเกต

  2.  การสัมภาษณ์

  3.  การใช้แบบสอบถาม

4.  หลังจากติดตามผลแล้วครูควรให้ข้อเสนอแนะกับใคร หรือไม่อย่างไร ?

  หลังจากการติดตามผลแล้ว  ครูควรให้ข้อเสนอแนะแก่บุคคลต่าง ๆ  ดังต่อไปนี้

  1.นักเรียนที่ครูศึกษาเป็นรายกรณี  ครูควรให้ข้อเสนอแนะแก่นักเรียนเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง

  2.ผู้ที่เกี่ยวข้อง  ครูควรให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ปกครอง ครูประจำชั้น ครูประจำวิชา เพื่อนนักเรียน  ในการร่วมมือกันช่วยเหลือ ส่งเสริมหรือสนับสนุนนักเรียนให้มีการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง

รายงานการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี  เป็นเอกสารที่สรุป และรายงานผลการศึกษา  ช่วยเหลือ  ส่งเสริม และพัฒนานักเรียนต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ

1.  สาระที่ควรมีในรายงานการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณีประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

1.  ชื่อนักเรียน ระดับชั้นที่กำลังศึกษา

2.  ผู้ศึกษา  (ครูที่ปรึกษา/ครูประจำชั้น/รูแนะแนว)

3.  ระยะเวลาในการศึกษา

4.  สาเหตุของการศึกษา

5.  เครื่องมือและเทคนิคที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล

6.  ข้อมูลที่ได้จากการสังเคราะห์ข้อมูล

-  ข้อมูลส่วนตัวและครอบครัว

-  ข้อมูลสุขภาพ (สุขภาพกาย/ สุขภาพจิต)

-  ข้อมูลด้านการเรียน

-  ข้อมูลด้านสังคม

-  ความสนใจ งานอดิเรก และประสบการณ์ในด้านต่างๆ

-  เป้าหมายและความคาดหวังในอนาคต

-  ความภาคภูมิใจ  ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิต

7.  การวิเคราะห์และวินิจฉัยปัญหา

8.  การช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนา

9.  การติดตามผล

10.  ข้อเสนอแนะ

2.  รายงานการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณีที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร ?

1.  กำหนดปัญหาหรือสิ่งที่ศึกษาให้ชัดเจน

2.  สังเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์และวินิจฉัยปัญหาได้อย่างตรงประเด็น

3.  อธิบาย หรือบรรยายลักษณะเด่นและด้อยของนักเรียน  รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

4.  ข้อเสนอแนะต้องเฉพาะเจาะจงและสามารถปฏิบัติได้

  เพื่อให้เห็นภาพรายงานการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี  ให้ศึกษาตัวอย่างการเขียนรายงานการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี  ดังต่อไปนี้


ตัวอย่างการเขียนรายงานการศึกษานักเรียนเป็นรายกรณี

 (แบบสมบูรณ์)

1.  ชื่อนักเรียนที่ศึกษา/ชั้นที่กำลังศึกษา

  นายชาย  สุขใจ (นามสมมุติ)  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

2.  ผู้ศึกษา

  นางสาวทวีพร  เพิ่มสุโข  (ครูประจำชั้น)

3.  ระยะเวลาในการศึกษา

  วันที่  16  มิถุนายน  2548  ถึงวันที่  17  กันยายน  2548  รวมเวลา  3  เดือน

4.  สาเหตุของการศึกษา

  ไม่สนใจเรียน และก่อกวนเพื่อนขณะเรียน

5.  เครื่องมือและเทคนิคที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล

  5.1  ระเบียนสะสม

  5.2  การสังเกต

  5.3  การสัมภาษณ์

  5.4  การให้การปรึกษา

  5.5  แบบสอบถามใครเอ่ย

  5.6  แบบสำรวจเจตคติที่มีต่อตนเอง

  5.7  แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์

  5.8  การเยี่ยมบ้าน

6.  ข้อมูลที่ได้จากการสังเคราะห์ข้อมูล

  6.1  ข้อมูลส่วนตัว

เกิดวันที่  15 พฤศจิกายน  2531  ปัจจุบันอายุ 16 ปี เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ศาสนาพุทธ มีผิวขาว รูปร่างสูง  ส่วนสูง  175 ซ.ม. น้ำหนัก  60  กิโลกรัม  ปัจจุบันอาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ได้ค่าใช้จ่ายมาโรงเรียนวันละ 40 บาท บ้านอยู่ใกล้โรงเรียน ไม่เคยได้รับทุนการศึกษา ไม่เคยหางานพิเศษทำ มีเพื่อนสนิทในห้องหลายคน ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าบ้างบางครั้งถ้าเข้าสังคมกับเพื่อน ชอบขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็ว  เคยประสบอุบัติเหตุรถล้มอย่างแรง

  6.2  ข้อมูลครอบครัว

บิดาชื่อนายอ้วน  สุขใจ  (นามสมมุติ)  อายุ  47  ปี  จนชั้นประถมศึกษา  อาชีพเปิดร้านซ่อมรถ และบริการรับ – ส่ง นักเรียนอนุบาลใกล้บ้าน  รายได้ประมาณ  6,000 บาท/เดือน  มารดาชื่อนางชม  สุขใจ  (นามสกุล)  อายุ  40  ปี จบชั้นประถมศึกษา ช่วยสามีดูแลกิจการ และช่วยบริการรับส่งนักเรียน มีพี่น้อง 3 คน เป็นผู้ชายทั้งหมด ชายเป็นลูกคนกลาง ครอบครัวมีสมาชิก  5 คน คือ ชาย พ่อ แม่ พี่ชายและน้องชาย  ความสัมพันธ์ในครอบครัวอบอุ่น มีการทะเลาะกันบ้าง ที่อยู่อาศัยเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ค่อนข้างเก่า คนที่ชายไว้ใจมากที่สุดคือยาย แต่เสียชีวิตเมื่อต้นเดือนกันยายน

  6.3  ข้อมูลสุขภาพ

  1)  สุขภาพกาย  เป็นคนสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว  ช่วงปิดภาคเรียนชั้น ม.3  เคยถูกแทงที่ใกล้ราวนมเนื่องจากขับรถรวดเร็ว เสียงดัง ทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ

  2)  สุขภาพจิต  เป็นคนสนุกสนานร่าเริง  จากการทำแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)  พบว่า  มีความรับผิดชอบ  และการควบคุมตนเองอยู่ในระดับต่ำ

  6.4  ข้อมูลด้านการเรียน

  ผลการเรียนเมื่อจบชั้น ป.6  อยู่ในเกณฑ์พอใช้  เคยเป็นนักกีฬาของโรงเรียน  ผลการเรียนเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ 1.41  ขณะเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นมีพฤติกรรมขาดเรียน  หนีเรียน  ไม่นำสมุด  หรืออุปกรณ์การเรียนมาเป็นประจำ  และเมื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  ได้ผลการเรียนเฉลี่ย 0.99

  6.5  ข้อมูลด้านสังคม

  1) ทางบ้าน  ชายไม่ค่อยสนิทกับพี่น้อง  จะคุยด้วยเมื่อจำเป็น  มักเอาแต่ใจตนเอง  บิดามารดามักจะตำหนิและเปรียบเทียบกับพี่ชายเสมอทำให้ชายรู้สึกน้อยใจ  ไม่ชอบอยู่บ้าน มักเที่ยวเตร่กับเพื่อน ๆ  กลับบ้านดึกเป็นประจำ ไม่เชื่อฟังคำตักเตือนของบิดามารดา

2) ทางโรงเรียน  ชายเป็นคนสนุกสนาน มีเพื่อนสนิทในห้องประมาณ  10  คน  มักถูกครูตำหนิและตักเตือนเสมอในเรื่องความรับผิดชอบด้านการเรียน การแต่งกาย และการพูดจา

6.6  ความสนใจ  งานอดิเรก  และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ

  1)  ชายมีความสนใจเกี่ยวกับการแข่งรถ  การเที่ยวเตร่ และการคบเพื่อนต่างเพศ

  2)  งานอดิเรกชอบขับรถเล่น และเล่นกีฬาฟุตบอล

  3)  ประสบการณ์ในด้านต่างๆ เคยเป็นตัวแทนนักกีฬาของโรงเรียนเข้าแข่งขันในระดับกลุ่ม    โรงเรียน เคยฝึกซ่อมเครื่องรถยนต์กับบิดาช่วงปิดภาคเรียน

6.7  เป้าหมาย และความคาดหวังในอนาคต

  1)  อยากเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถ

  2)  อยากมีบ้านเป็นของตนเอง

6.8  ความภาคภูมิใจ  ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิต

  1)  ความภาคภูมิใจ

       เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน

  2)  ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิต

       พ่อแม่ไม่รัก

7.  การวิเคราะห์และวินิจฉัยปัญหา

  นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำมาตลอด  เนื่องจาก

7.1  ขาดแรงกระตุ้น และกำลังใจจากครอบครัว  ทำให้นักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียน และหันไปสนใจกิจกรรมอื่น ๆ ทดแทน

7.2  นักเรียนมีพฤติกรรมการเรียนที่ไม่เหมาะสม  เช่น ไม่ตั้งใจเรียน  ก่อกวนชั้นเรียน ขาดความรับผิดชอบในการส่งงานที่ได้รับมอบหมาย  ไม่นำอุปกรณ์การเรียนมาเรียน

8.  การช่วยเหลือ  ส่งเสริม  และพัฒนา

  1.  ผู้ศึกษาให้การปรึกษาแก่นักเรียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียน

  2.  ผู้ศึกษาพูดคุยกับผู้ปกครอง เพื่อทำความเข้าใจในการสื่อสารกับนักเรียนและเสริมสร้างกำลังใจ

  3.  ผู้ศึกษาขอความร่วมมือกับผู้สอนในการปรับพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน

9.  การติดตามผล

  1. จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองของนักเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนเมื่ออยู่ที่บ้าน  พบว่า นักเรียนเริ่มมีพฤติกรรมการเรียนที่ดีขึ้น  แต่การเที่ยวเตร่และกลับบ้านดึกยังคงเดิม

  2.  จากการให้การปรึกษา พบว่า นักเรียนให้ความร่วมมือดีในการตอบคำถาม และได้นำวิธีการต่างๆ  ไปใช้เพื่อแก้ปัญหาของตน

  3.  จากการสังเกตและสัมภาษณ์ครูผู้สอนพบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมการเรียนดีขึ้นมีความรับผิดชอบ ต่อตนเอง  สังเกตจากการนำสมุดงานในรายวิชาต่างๆมาให้ดูพบว่านักเรียนทำงานเรียบร้อยพอใช้ แม้ว่าจะยังไม่ครบทุกวิชา แต่ก็ถือว่าได้ปรับปรุงตนเองด้านความรับผิดชอบได้ในระดับหนึ่ง และจากการสอบถามเพื่อน ๆในห้องยอมรับว่านักเรียนพยายามปรับตัวดีขึ้น

  4.  จากการสัมภาษณ์ชายพบว่า พ่อแม่ยังคงเปรียบเทียบพฤติกรรรมของชายกับพี่น้องอยู่

10.  ข้อเสนอแนะ

  1.  เนื่องจากนักเรียนถูกเลี้ยงดูแบบตามใจมาตั้งแต่เล็ก  ไม่เคยถูกฝึกให้รับผิดชอบงาน  ต้องการอะไรทางบ้านจะหามาให้  เนื่องจากทางบ้านมีฐานะพอที่จะดูแลได้  ซึ่งมีส่วนทำให้นักเรียนขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง  ดังนั้น พ่อแม่ควรให้เวลาและเอาใจใส่นักเรียนมากขึ้นโดยการพูดคุย  และมอบหมายงานบ้านที่นักเรียนพอจะทำได้  ให้กำลังใจเมื่อนักเรียนทำได้สำเร็จ  รวมทั้งคอยติดต่อประสานงานกับครูในโรงเรียนอย่างใกล้ชิดทั้งในเรื่องการเรียนและความประพฤติ

  2.  ครูแนะแนวควรหาโอกาสพูดคุยกับนักเรียน  คอยให้กำลังใจและสนับสนุนในด้านต่างๆ เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบกิจกรรมกลุ่มหรือจัดโปรแกรมเพื่อฝึกให้นักเรียนรับผิดชอบต่อตนเอง และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนดูแลตนเองอย่างมีคุณภาพ

  3.  ครูประจำวิชาควรช่วยดูแล  สังเกต  กระตุ้น  และจูงใจให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในห้อง  โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความสามารถ  มอบหมายงานให้รับผิดชอบและชื่นชมเมื่อทำอะไรได้สำเร็จ ไม่ควรตำหนิการกระทำของนักเรียนต่อหน้าเพื่อนให้เกิดความอับอาย แต่ใช้การตักเตือนเป็นส่วนตัวกับนักเรียน  และไม่ให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

  4.  ครูประจำชั้นมีความสำคัญมากในการที่จะช่วยเหลือนักเรียนเนื่องจากเป็นบุคคลที่ใกล้ชิด และได้รับความไว้วางใจ  ดังนั้นครูประจำชั้นควรทำหน้าที่ในการประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด  โดยขอความร่วมมือจากครูแนะแนว  ครูผู้สอน  และครอบครัวในการแก้ปัญหา

ภาคผนวก

  ข้อมูลที่ควรนำมาใส่ในภาคผนวก  ผู้ศึกษาควรนำข้อมูลดิบที่เก็บรวบรวมได้จากเครื่องมือต่างๆ  เช่น บันทึกการสังเกต  บันทึกการสัมภาษณ์  บันทึกการให้การปรึกษา  บันทึกการเยี่ยมบ้าน ฯลฯ  โดยปกปิด 

ชื่อ – สกุล  และรายละเอียดของนักเรียนที่อาจถูกอ้างอิงได้  และนำข้อมูลที่ได้มาสรุป  ดังนี้

ตัวอย่าง

การสรุปข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมด้วยเครื่องมือต่างๆ

1.  ระเบียนสะสม  จากการศึกษาข้อมูลจากระเบียนสะสม  สรุปข้อมูลได้  ดังนี้

ข้อมูลส่วนตัว

  ภูมิลำเนาเดิมเป็นคน  จังหวัดนครราชสีมา อายุ  16  ปี  ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นบ้านของตนเอง  ค่อนข้างเก่า  ได้ค่าใช้จ่ายมาโรงเรียนวันละ  40  บาท  บ้านอยู่ใกล้โรงเรียน  ไม่เคยได้รับทุนการศึกษา  ไม่เคยหารายได้พิเศษทำ  มีเพื่อนสนิทในห้องหลายคน  ไม่สูบบุหรี่  ดื่มเหล้าบ้างบางครั้งถ้าเข้าสังคมกับเพื่อน  ชอบขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็ว  เคยประสบอุบัติเหตุรถล้มอย่างแรง

ข้อมูลครอบครัว

  บิดาอายุ  47  ปี  วุฒิการศึกษาจบชั้นประถมศึกษา  อาชีพเปิดร้านซ่อมรถและบริการรับ-ส่ง  นักเรียนอนุบาลใกล้บ้าน  รายได้ประมาณ  6,000 บาท/เดือน  มารดาชื่อนางงาม  สุขใจ  (นามสมมุติ)  อายุ 40 ปี  จบชั้นประถมศึกษา  ช่วยสามีดูแลกิจการซ่อมรถและช่วยบริการขับรถรับ – ส่ง  ชาย มีพี่น้อง 3 คน  เป็นผู้ชายทั้งหมด  ชายเป็นลูกคนกลาง  พี่ชายเรียนชั้น ม. 6  น้องชายเรียนชั้น ป. ขณะนี้มีสมาชิกในครอบครัวมี 5 คน  คือ ตนเอง  บิดา  มารดา พี่ชาย  และน้องชาย  ความสัมพันธ์ในครอบครัวอบอุ่นแต่มีทะเลาะกันบ้าง  ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นบ้านไม้  2 ชั้น  ค่อนข้างเก่า  สมาชิกที่ไว้ใจมากที่สุดคือยาย (เสียชีวิตเมื่อต้นเดือนกันยายน  2547)

ข้อมูลสุขภาพ

  ทางกาย  เคยรถล้มอย่างแรงและเคยถูกแทงใต้ราวนม

  สุขภายจิต  ควบคุมตนเองไม่ค่อยได้

ข้อมูลการเรียน

  จบมัธยมศึกษาตอนต้น 3 จากโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์  ผลการเรียนสะสม  1.41

2.  การสังเกตและการบันทึกการสังเกต

คำสำคัญ (Tags): #case study
หมายเลขบันทึก: 530564เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2013 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2013 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะอาจารย์กับการทำ case study ในนักเรียน ในการทำงานด้านสาธารณสุข(โรงพยาบาลจิตเวช) ได้ดูแลเด็ก อายุเพียง 10ขวบ ที่มีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง ในฐานะผู้ดูแลด้านสุขภาพจิตเห็นว่ามีความต้องการที่จะต้องวางแผนการดูแลร่วมกับครู เพราะมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน เช่น เพื่อนที่รังแกด้วยความรุนแรง การเรียน เพื่อน การสื่อสารบอกความต้องการเพื่อขอความช่วยเหลือ   การจูงใจในการเรียน เยอะไปหมด หากมีการศึกษารายกรณี จะช่วยให้ทีมผู้ดูแลมีความเข้าใจ ในปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่เฉพาะมากขึ้น

คงมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท