ความรู้เรื่องหอบหืดในเด็ก


ความรู้เรื่องโรคหอบหืดในเด็ก
จัดทำโดย
หน่วยโรคระบบหายใจ  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
เนื้อหา :  อ.นพ.ไพศาล  เลิศฤดีพร
จัดรูปเล่ม:  เมตตา  ขำอินทร

โรคหอบหืดคืออะไร

       โรคหอบหืดเป็นโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดลมของผู้ป่วยตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากกว่าภาวะปกติ ทำให้หลอดลมของผู้ป่วยหดเกร็ง มีขนาดตีบแคบลง และมีอาการบวม เนื่องจากมีการอักเสบ รวมทั้งจะมีการสร้างเสมหะมากกว่าปกติ

        อาการจับหืด คือ มีอาการหอบ ไอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจขัด เสียงหายใจมีเสียงดังหวีด อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นๆ หายๆ และเป็นเรื้อรัง

        อาการจับหืดมักเกิดในตอนกลางคืน หรือเมื่อมีการสัมผัสกับสิ่งที่แพ้หรือระคายเคือง

        เมื่อเด็กอยู่ในภาวะปกติหรือเมื่อได้รับการรักษาแล้ว เด็กจะดูเหมือนเด็กปกติทั่วไป และอาจตรวจไม่พบอาการผิดปกติเลยก็ได้

สาเหตุของโรค

       1. พันธุกรรม โรคหอบหืดไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรงเสมอไป แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการหืดจับร่วมกับมีประวัติโรคภูมิแพ้หรือหอบหืดในครอบครัว ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคนี้

       2. สิ่งกระตุ้นต่างๆ อาจเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นบ้าน ตัวไรฝุ่น ละอองซากแมลงสาบ เกสรดอกไม้ ละอองเชื้อรา ขนหรือสะเก็ดรังแคผิวหนังสัตว์เลี้ยง อาหารบางชนิด ควันบุหรี่ ควันพิษจากสิ่งแวดล้อม หรือการเป็นหวัด

       3. การออกกำลังกายอย่างหักโหม

       4. การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์

       5. การเปลี่ยนแปลงด้านอากาศ เช่น เวลาใกล้ฝนตก อากาศเย็นจัดและแห้งแล้ง

ผลของโรคหอบหืดในเด็ก

       ในเด็กที่มีอาการไม่มาก จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อชีวิตประจำวัน การใช้ยาเพื่อควบคุมอาการอาจจะมีความจำเป็นเฉพาะเวลาที่มีอาการจับหืดเท่านั้น

       ส่วนในเด็กที่มีอาการของโรคหอบหืดที่มีอาการรุนแรงและเป็นบ่อยๆ จะมีผลกระทบต่ออารมณ์ จิตใจ การเรียน และการดำรงชีวิตประจำวันได้มาก อาจต้องขาดเรียนบ่อย ทำให้ผู้ป่วยกลัวเรียนไม่ทันเพื่อนๆ อาจถูกห้ามเล่นกีฬาหรืองดกิจกรรมการเล่นบางอย่าง อาจทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง

        ดังนั้นเด็กที่เป็นโรคหอบหืดจึงควรได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อเนื่องจากแพทย์ ทีมงาน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง คุณครู

ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีอาการหอบ

       1. ถ้ามีอาการหอบในช่วงกำลังวิ่งเล่น หรือมีอาการเหนื่อย ควรหยุดเล่นหรือออกกำลังกายทันที

       2. สงบสติอารมณ์ อย่ากลัวหรือตกใจจนเกินไป

       3. หายใจเข้าอย่างปกติ และหายใจออกทางปาก โดยห่อปากขณะเป่าลมหายใจออก ค่อยๆ เป่าลมหายใจออกอย่างช้าๆ ทีละน้อยให้นานมากที่สุด

       4. สูดยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว อย่างถูกต้องตามวิธีการ

       5. ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ

       6. ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลาที่แนะนำตามแนวทางการดูแลรักษาที่บ้านควรรีบพบแพทย์

ผู้ป่วยโรคหอบหืดควรปฏิบัติตัวอย่างไร

       1. หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ จำให้ขึ้นใจว่าตัวเองแพ้อะไร และต้องรู้ว่าตนเองต้องใช้ยาอะไรเวลามีอาการจับหืด ควรรู้จักชื่อของยาที่ใช้ประจำ

       2. หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่

       3. ควรดูแลสุขภาพให้ดี กินอาหารให้ครบหมู่ ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้มีอาการหวัดเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ซึ่งจะทำให้อาการโรค

       4. ทำจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส ขจัดความกังวล อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงมากๆ จะทำให้มีอาการจับหืดได้

       5. เด็กที่มีอาการไอหรือจับหืดอยู่ ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด กินของเย็นจัด เพราะอาจจะทำให้อาการไอแย่ลงได้

       6. กินหรือใช้ยาตามที่แพทย์ประจำแนะนำ อย่าหยุดยาเองหรือซื้อยามากินเองโดยไม่รู้จักยา และควรมาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง

ที่มา : http://www.thaipedlung.org/mustknow_dr_phaisal.php

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 528551เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2011 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2011 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท