ปกิณกะคดีควาย :นายฮ้อยยุคสุดท้าย (๓)


การเดินทางด้วยกองเกวียนคาราวานสินค้าแบบอีสานจะมีเหตุการณ์สำคัญที่น่าตื่นเต้นเหมือนกับหนังคาวบอยตะวันตกเหมือนกัน กล่าวคือ มีเจอภัยธรรมชาติ โรคนะบาดทั้งในคนและในสัตว์ บางครั้งสัตว์ก็แตกตื่น มีความขัดแย้งในกองเกวียนอยู่บ้างแต่ก็ไม่ถึงรุนแรงเพราะจะเชื่อฟังผู้ใหญ่ในขบวนหรือหัวหน้ากองคาราวาน ส่วนเรื่องชิงรักหักสวาทในขบวนจะไม่มีเพราะเป็นผู้ชายล้วนๆจะมีบ้างเรื่องชู้สาวตามเส้นทางที่กองเกวียนเดินผ่าน แต่เรื่องนี้บางคณะจะเข้มงวดมาก มีข้อห้ามไม่ให้ลูกขบวนไปยุ่งเกี่ยวเลยก็มี แต่เรื่องของชายหญิง เป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อชายต่างถิ่นเจอหญิงต่างถิ่นถ้าศรศิลป์กินกันอะไรมันก็กั้นไม่ได้

สิ่งที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของคณะกองเกวียนคือ การปล้น การจี้ หรือการลักขโมย เรื่องนี้ทางกองเกวียนคาราวานจะมีการป้องกันตัวอย่างดี ตามเส้นทางก็จะต้องผูกมิตรกับคนในท้องถิ่น ในคณะก็จะมีการติดอาวุธไปด้วยตามสมควร เพื่อป้องกันตัว เวลาพักแรมที่ไหนก็จะต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ลากเกวียนมาล้อมเป็นวงกลมจนชิดกันคนจะอยู่ด้านในวงล้อมของเกวียนมีเว้นทางออกเพียงทางเดียว มีการอยู่เวรยามเพื่อระวังเหตุและเรียบร้อยตลอดคืน จนผ่านคืนนั้นไปได้ถึงรุ่งสางทุกคนก็จะโล่งอกไปตามๆกัน เนื่องจากช่วงกลางวันจะไม่ค่อยมีปัญหาการจี้ปล้น

สำหรับนายฮ้อยที่ยิ่งใหญ่คือนายฮ้อยวัว นายฮ้อยควาย ที่ได้กล่าวถึงตั้งแต่ต้นนั้น ถือว่าเป็นผู้กุมเศรษฐกิจของชาวอีสานจริงๆ เพราะการผลิตของคนอีสานในสมัยโบราณจะเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ เช่นการทำนาข้าวเอาไว้กิน เอาไว้ใช้ในการทำบุญ ทำทานตามประเพณี หรือแบ่งปันตามลูกหลานผู้ขัดสน เหลือกินปีนี้ก็เก็บเอาไว้ปีหน้า ปีโน้น เผื่อน้ำท่วมหรือฝนแล้ง จะได้ไม่อดกิน ถ้ามีเหลืออีกก็จะนำไปแลกสิ่งของอื่นที่ยังขาด  เช่น นำไปแลกปลาร้า พริก ยาสูบ หรือฝ้าย แต่ส่วนมากมีแต่คนที่บ้านอื่นที่น้ำท่วม หรือฝนแล้งขาดแคลนข้าว จะนำสิ่งของอื่นมาแลกข้าว เพราะถือว่าข้าวเป็นสิ่งของที่จำเป็นและสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

ที่ว่าเป็นการผลิตเพื่อยังชีพเนื่องจากว่าไม่มีการมุ่งทำเพื่อขายเป็นเงินตรา การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก็เพื่อที่จะทอผ้าในครอบครัว หรือใช้ตามประเพณี การปลูกพืชผัก เพื่อกินหรือและเปลี่ยนกับสิ่งอื่นเท่านั้น ไม่ค่อยได้ขายเป็นเงินสักเท่าใด ถึงแม้จะมีขายบ้างก็เป็นเงินเล็กน้อย พอได้ใช้จ่ายค่าหยูกยา หรือไว้ทำบุญทำทานเท่านั้น เหลือจากกินจากทาน (ตามความเชื่อที่ติดเป็นวัฒนธรรมของคนอีสาน) ก็จะมีนายฮ้อยรวบรวมไปขายตามที่กล่าวถึงแล้วนั้นแต่ก็จะเป็นตัวเงินตกถึงครัวเรือนไม่มากมายสักเท่าใด

สำหรับสินค้าที่เป็นวัวควายแล้วจะถือว่าเป็นสินค้าที่นำเงินเข้าสู่หมู่บ้าน เข้าสู่ระดับครัวเรือนอย่างเป็นกอบเป็นกำ แม้ว่าจะได้ปีละครั้งก็ตามที เนื่องจากชาวชนบทในภาคอีสานจะเลี้ยงวัวควายกันแทบทุกครัวเรือน โดยเฉพาะควายจะเลี้ยงชนิดที่ขาดไม่ได้ เพราะทุกครัวเรือนทำนาข้าว  การทำนาต้องใช้แรงงานควายอย่างเดียวล้วนๆ (นอกจาแรงงานคน) การเลี้ยงควายก็ไม่ยุ่งยาก มีหญ้า มีฟางเต็มทุ่ง เต็มท่า ถึงยามทำนาที่เลี้ยงก็เปลี่ยนไปเลี้ยงตามโคก ตามป่า ตามดอน มีหญ้าและพืชในธรรมชาติมากมายที่ควายกินได้ ควายตัวผู้ ตัวเมียปล่อยเลี้ยงร่วมกัน ก็ผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ (ยกเว้นควายตัวผู้จำนวนหนึ่งจะถูกตอน เพื่อทำให้เชื่อง ไม่คึกคะนอง สะดวกในการบังคับใช้งาน) แต่ละปีจะมีควายตกลูกมาก เพราะควายให้ลูกดก ตัวเมียที่สมบูรณ์จะให้ลูกได้ทุกปีๆละหนึ่งตัว เมื่อสิ้นหน้านา ก็จะมีควายเพิ่มขึ้นในหมู่บ้านทุกปี จำเป็นจะต้องขายออกไปบ้าง บางส่วนก็จะถูกฆ่าเป็นอาหารโดยเฉพาะ ในช่วงมีการจัดงานประเพณีจะมีการฆ่าวัวควาย เพื่อเป็นอาหาร ยิ่งในงานกินดอง หรืองานแต่งงานจะขาดไม่ได้ ถ้ามีงานดังกล่าวชาวบ้านจะตื่นเต้นกันเป็นพิเศษ เพราะจะได้กินลาบก้อย ซอยแซ่ ใส่ดี ใส่เพี้ยขมๆ

พูดถึงการฆ่าวัวควายเพื่อเป็นอาหารก็ใคร่จะขยายความอีกนิดหนึ่ง คือ คนอีสานนิยมกินเนื้อวัว แต่ถ้าจำเป็นหาวัวไม่ได้ ก็จะมีการฆ่าควาย ซึ่งนานๆจะมีสักครั้ง ในสมัยก่อนการกินเนื้อวัว เนื้อควายของคนอีสานจะไม่ได้กินบ่อยนัก หรือเรียกว่าไม่ได้กินเป็นประจำ มีการมีงาน (จัดงาน) ที หรือมีการเอาบุญประเพณีทีจึงจะมีการหาวัว ควายมาเชือดแล้วแบ่งปันกันไปเป็นส่วนๆ ซึ่งเรียกว่าการแบ่งภูด ตามส่วนที่สั่งจองว่าใครจะเอากี่ภูด หรือกี่ส่วนๆละกี่บาท เพื่อนำไปทำอาหารต่อไป ส่วนใหญ่คนอีสานจะมีอาหารประเภท ปลา กบ เขียด เป็นหลัก หน้าแล้งก็อาศัยปลาร้าที่หมักไว้ในไหประจำทุกครัวเรือน นอกจากนั้นจะกินผักตามฤดูกาล และอาศัยสัตว์หรือแมลงอื่นๆ มากินเพื่อเป็นอาหารโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ เช่น แมงแคง กุดจี่ แมงกีนูน แย้ กิ้งก่า จิ้งหรีด หอยขม และโอกาสพิเศษก็จะมีการนำเป็ดไก่ที่เลี้ยงไว้มาเชือดต้มแกง อ่อม ย่าง หรือลาบ กินกันสักครั้ง

 

เรื่องการขายควายของคนอีสานทำให้มีเงินเข้าหมู่บ้านมากนั้น โดยที่มีนายฮ้อย อาสาที่จะไล่ต้อนควาย จากหมู่บ้านไปขายยังต่างจังหวัดไกลๆ เช่นที่จังหวัดสระบุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี หรือไปไกลทางเหนือและชายแดนพม่า ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้า เพราะควายจะซื้อขายกันเองในทางภาคอีสานไม่ค่อยได้ราคา เพราะครัวเรือนจะเลี้ยงอยู่แล้ว ตกลูกมาทุกปีประกอบกัน คนอีสานไม่ชอบกินเนื้อควาย ต่างจากวัวซึ่งมีการซื้อขายกันเป็นประจำในท้องที่ เมื่อมีนายฮ้อยเอาไปขายให้ จึงเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์หลายฝ่าย เจ้าของควายได้ขายควาย นายฮ้อยมีกำไร คนในภาคอื่นได้ซื้อควายในราคาเป็นธรรมไปใช้แรงงาน หรือนำไปใช้เป็นอาหาร โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเลี้ยง การที่นายฮ้อยจะได้ควายไปขายที่อื่นนั้น มีทั้งการซื้อขาดกันไปเลย และอาจจะมีการมอบให้นำไปขาย ได้เงินกลับมาค่อยมาจ่ายกัน ถ้าเกิดเคราะห์กรรมถูกปล้นจี้ หรือ ล้มตายกลางทางก็จะรับเคราะห์กรรมร่วมกัน แต่จะต้องซื่อสัตย์ต่อกัน ซึ่งเรื่องนี้คนอีสานถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

 

เมื่อนายฮ้อยผ่านวิบากกรรมต่างๆในช่วงไล่ต้อนควายไปขาย ก็จะนำเงินสดเดินทางกลับ ถ้าเป็นพวกที่ไปขายแถบจังหวัดสระบุรี ขากลับก็จะนำเงินขึ้นรถไฟกลับ  แล้วเดินทางต่อโดยทางอื่นไปยังภูมิลำเนาของตนเอง เมื่อไปถึงก็จะนัดจ่ายเงินแก่เจ้าของควายที่ค้างกันเอาไว้ ทีนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว มีผู้มาแสดงความยินดีมาก จัดบายศรีสู่ขวัญ เชือดวัวกินเลี้ยงกันเอิกเริกเลยทีเดียว

การเดินทางของนายฮ้อยควาย จะคล้ายๆกับพวกนายฮ้อยเกวียน มีการเตรียมการก่อนออกเดินทาง พิธีกรรม เส้นทางการเดินทาง ระยะเวลา และกิจกรรมระหว่างเดินทางคล้ายกันมาก ต่างกันเพียงแต่ตัวสินค้าเท่านั้นเอง

ปัจจุบันก็ยังมีพวกนายฮ้อยวัว นายฮ้อยควายอยู่แทบทุกหมู่บ้านในภาคอีสาน แต่การรวบรวมวัวควายเดินทุ่งไล่ต้อนจำนวนมากๆรอนแรมไปขายอย่างสมัยก่อน ไม่มีอีกแล้ว เนื่องจากการคมนาคมสะดวกสบาย มีถนนหนทางเชื่อมถึงกันทุกภูมิภาค ประกอบกับยานพาหนะจำพวกรถบรรทุกก็มีมาก สามารถที่จะบรรทุกได้ทีละมากๆ การเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่งก็ไปได้รวดเร็ว

จากการไล่ต้อนวัว ควายไปขาย ก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ระยะหลังๆในราว ๔๐ - ๕๐ ปีมาแล้ว จะมีนายฮ้อยบางพวกรวบรวมวัวควายจากจังหวัดที่ไม่มีทางรถไฟผ่าน เช่น อุบลฯ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ไล่ไปยังสถานีรถไฟบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แล้วเหมารถตู้รถไฟบรรทุกต่อไปยังจังหวัดสระบุรี พอขายหมดก็นำเงินขึ้นรถไฟกลับ

 

สำหรับการนำวัว ควาย บรรทุกรถยนต์ จะมีมาเมื่อประมาณ ๓๐๔๐ ปีมานี้ โดยพวกนายฮ้อยจะเร่หาซื้อวัว ควาย ตามหมู่บ้านตำบลต่างๆ โดยตีราคากันเป็นตัวๆ ถ้าตกลงกันได้ก็จ่ายเงินเลยหรืออาจจะจ่ายส่วนหนึ่งมัดจำเอาไว้ก่อน ถึงเวลารวบรวมจะนำรถมาบรรทุกถึงบ้าน หรือให้คนมาจูงไปรวบรวมเพื่อเตรียมนำขึ้นรถอีกที จึงค่อยจ่ายส่วนที่เหลือ  มีอยู่บ้างเหมือนกันที่นำวัว ควายไปขายก่อน ได้เงินจึงนำมาชำระเจ้าของทีหลัง วิธีนี้จะใช้เฉพาะคนที่รู้จักกันดีและไว้เนื้อเชื่อใจกัน หรือไม่ก็จะมีการให้ราคาที่สูงกว่าปกติ

การซื้อขาย วัว ควายในสมัยปัจจุบันนี้ นิยมซื้อขายกันในตลาดนัด วัว ควาย หรือ ตลาดนัดโค กระบือ ซึ่งจะมีมาได้ประมาณ ๒๐ ปีมานี้ เมื่อมีคนตั้งตัวเป็นผู้จัดการ หรือ เจ้าของตลาดนัด จัดที่ทางให้กว้างขวาง มีที่ขึ้นลงสัตว์ มีร่มเงา มีพื้นที่เพียงพอสำหรับผูกสัตว์ได้มากๆ ก็จะประกาศให้ชาวบ้านทั่วไป หรือ เครือข่ายพ่อค้า (นายฮ้อย) ได้รู้ทั่วกันว่าจะเปิดการซื้อขาย วัว ควาย เป็นปฐมฤกษ์ในวันไหน และจะมีทุกๆวันไหน เช่น ทุกวันพุธ หรือ ทุกวันเสาร์ อย่างนี้เป็นต้น เพื่อเป็นการนัดหมายไปในตัว เมื่อมีตลาดนัดใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไรมากนัก ผู้ที่นำสัตว์มาขายส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรเจ้าของวัวควาย  นำวัว ควายของตนเองเข้ามาค้าขาย เมื่อขายได้ เจ้าของตลาดนัดจะหักค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกัน ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่ต้องจ่าย ผู้ที่มาซื้อจะมีทั้งพวกที่ซื้อไปขายต่อ หรือ พวกเกษตรกรที่ต้องการซื้อวัว ควาย ไปเลี้ยงขยายพันธุ์ หรือใช้แรงงานต่อไป หรืออาจจะเป็นพวกมาซื้อไปเพื่อเชือดในการจัดงานประเพณีหรือการเลี้ยงแขกคนในงานต่างๆ


เจ้าของตลาดนัดนอกจากจะมีรายได้จากการเก็บค่าสถานที่หรือค่าธรรมเนียมจากผู้ที่ขาย วัว ควายได้แล้ว ยังมีรายได้จากการขายน้ำ เครื่องดื่ม อาหาร สำหรับคนขายยา ขายหญ้า ฟาง และอุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ต่างๆด้วย

ในปัจจุบันนี้ ตลาดนัดวัว ควาย พัฒนาไปมาก พวกที่นำสัตว์มาขายมักจะเป็นนายฮ้อยรายย่อยที่รวบรวม วัว ควายจากหมู่บ้านตำบลต่างๆ ในละแวกนั้นก็มี  หรือข้ามจังหวัดมาก็มี ส่วนพวกที่มาซื้อจะเป็นพ่อค้ารายใหญ่ เป็นเจ้าของกิจการโรงงานลูกชิ้นโดยตรง หรือเป็นพ่อค้าที่มีธุรกิจเขียงเนื้อในภาคต่างๆ นำรถบรรทุกสิบล้อมาจอดรอ ตั้งแต่ก่อนวันเปิดตลาดนัดเลย พอซื้อได้ครบก็จะขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์จากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ ซึ่งจะมีการป้องกันโรคตามระเบียบ ที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้ จึงจะอนุญาตให้ออกเดินทางได้

จากการที่มีธุรกิจค้าวัว ควายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน การขนส่งทำได้ง่าย จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ  เช่น วัว ควายลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาการควบคุมโรคเป็นไปด้วยความยากลำบาก และปัญหาอาชญากรรมในตลาดนัด เป็นต้น

 

จากส่วนหนึ่งในผลงาน ควายกับฅน ของ เรืองศักดิ์ ละทัยนิล ที่ตั้งใจทำขึ้นด้วยความสำนึกในคุณค่า และแรงศรัทธาที่มีต่อ ควายไทย

 


หมายเลขบันทึก: 52708เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2006 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ในสมัยโบราณ
  • วัว ควาย มีบุญคุณกับชาวนาค่ะ
  • ขอบคุณข้อมูลดีๆ (เสมอ) ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท