"มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ" กับการเป็น "มหาวิทยาลัยสาธิต"


   ผมได้อ่านงานเขียนใน b นี้ แต่ไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ ไว้ ทั้งที่ความคิดบางอย่างเกิดขึ้นกับผม พร้อมกับการเชื่อมโยงไปถึงความคิดอื่นที่เคยคิดไว้...ประจวบกับความเห็นของคุณ "ธณัญชัย" ในที่เดียวกัน จึงขอบันทึกความคิดในเวลานี้ไว้ในที่นี้  ดังต่อไปนี้

   หลายปีก่อน "ราชภัฏ" คือ "วิทยาลัยครู" / "โรงเรียนฝึกหัดครู" ทราบมาว่าเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนครู/อาจารย์ โดยนโยบาย หลักสูตร ฯลฯ จะรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง คล้ายกับเป็นเครือข่ายแตกกิ่งก้านสาขาทุกภูมิภาคที่เชื่อมโยงถึงกันโดยมีหน่วยงานกลางเป็นศูนย์รวม ทราบมาจากอาจารย์เก่าแก่ว่า สมัยเป็นแบบศูนย์รวมนั้น "ราชภัฏ" จะมีความเหนี่ยวแน่น รู้จักกันทั่ว เพราะมีกิจกรรมหรืออะไรอื่นๆที่สัมพันธ์ถึงกัน(ดูเหมือนจะเด่นทางด้านสังคมท้องถิ่น)

   เมื่อ "ราชภัฏ" เป็นอิสระในการบริหารจัดการในฐานะ "มหาวิทยาลัย" หลายแห่งพยายามที่จะลอกคราบของคำว่า "ราชภัฏ" ออกไป ความคิดส่วนหนึ่งอาจจะรู้สึกว่า "ด้อย" เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและใหญ่ๆของประเทศไทย แต่สุดท้ายก็คงต้องรักษาไว้ซึ่ง "ราชภัฏ"

   "ราชภัฏ" หลายแห่ง พยายามบริหารจัดการองค์กร/โครงสร้างหน่วยงานราชการ ให้เหมือนมหาวิทยาลัยใหญ่ บางแห่งทำได้เพียง "ภาพ" ของโครงสร้าง เช่น การบริหารยังคงเป็นแบบรวมศูนย์มากกว่ากระจายอำนาจอย่างอิสระ การโยกย้ายบุคลากรจากหน่วยงานหนึ่งไปสู่หน่วยงานหนึ่งโดยฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยไม่ใช่ของของหน่วยงานนั้นๆ อำนาจในการใช้เงินรายได้ของหน่วยงานย่อยขึ้นกับการตัดสินใจของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย เป็นต้น หลายคนมองว่า คนในราชภัฏฯสับสนในตัวเอง โดยเฉพาะการ "กระหาย" เปิดหลักสูตรเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋า ผู้เขียนเคยทำงานวิจัยร่วมกับคนในมหาวิทยาลัยใหญ่บางแห่ง เคยได้ยินมาเต็มสองหูว่า "หลักสูตรในมหาวิทยาลัยราชภัฏ หมาเดินผ่านก็จบได้" และเมื่อบุคลากรของมหาวิทยาลัยบางแห่งบางคนเอ่ยถึงบุคลากรของราชภัฏ เขามักจะสั่นศีรษะและไม่อยากทำงานร่วมด้วย ผู้เขียนเคยไปสมัครงานในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่เพื่อจะทำงานใกล้บ้าน แต่สิ่งที่ได้ฟังคือ "ทำไมไม่ไปสมัครงานที่ราชภัฏ" เมื่อเดือนก่อน บุคลากรท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ เมื่ออาจารย์ทราบว่ามาจากราชภัฏ ท่านก็สั่นศีรษะ สื่อภาษาให้บุคลากรท่านนี้ต้องเก็บไว้ในใจว่า "ฉันผิดด้วยหรือที่อยู่ราชภัฏ" ทำให้ต้องมานั่งคิดว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับราชภัฏ เริ่มตั้งแต่...

  ๑) การพยายามที่จะใช้คำว่า "มหาวิทยาลัย" แทน "สถาบัน"

  ๒) ความพยามยามที่จะไม่ใช้ชื่อว่า "ราชภัฏ"

  ๓) การแบ่งแยกชั้นทางสังคมของบุคลากรภายใน

  ๔) การบริหารจัดการงานระดับ "มหาวิทยาลัย" (คืออย่างไร)

  ๕) ความอ่อนด้อยทางสังคม

  ๖) ...ฯลฯ

   จริงอยู่ อาจารย์ที่ทำงานใน "ราชภัฏ" ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของไทย เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐมากกว่าเอกชนหลายเท่า หลายคนเรียนจบจากต่างประเทศ(แต่บางคนยอมขายทรัพย์สินชดใช้เงินให้ราชภัฏฯเพื่อไปทำงานในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่) แต่ราชภัฏหลายแห่งยังคงร่อแร่

  ร่อแร่อย่างไร ขอเชื่อมโยงถึงหัวข้อใน b ที่อ้างถึง "ความมั่นคงในการทำงานกับความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย" ขณะนี้บุคลากรในราชภัฏจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ ข้าราชการ และ พนักงาน(ลูกจ้าง)ของมหาวิทยาลัย ถ้าถามว่า "ความมั่นคงในการทำงานของท่านสัมพันธ์กับความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอย่างไร" เชื่อว่า ทั้งสองกลุ่มจะตอบต่างกัน

  มีอยู่ครั้งหนึ่ง เป็นการเสนอชื่อเพื่อสรรหาเป็นนายกสภาฯ - อธิการบดี บางคนโดยเฉพาะบุคลากรกลุ่มข้าราชการบางท่านให้ความเห็นว่า เรื่องอะไรจะเอาคนนอกเข้ามาเป็น เอาคนในดีกว่า เพราะเข้าใจวัฒนธรรม(ขอใช้คำนี้แทนการยอมรับสิ่งที่มีที่เป็นจนเคยชิน)ขององค์กรดีแล้ว หากเอาคนนอกเข้ามา เขาจะไม่รู้จักเรา บางคนบอกว่าไม่อยากเหนื่อย ขณะที่บุคลากรกลุ่มพนักงานบางคนให้ความเห็นว่า เอาคนนอกดีกว่า ด้วยเหตุว่า จะได้พัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวไปข้างหน้าโดยเร็ว และน่าจะเอาจริงเอาจังมากกว่า นี่อาจเป็นตัวอย่างของการตอบปัญหาที่ต่างกัน แต่ทำให้เกิดข้อกังขาว่า "มันเกิดอะไรขึ้นในราชภัฏ" ด้วย

   จากคำตอบที่ท่านอาจารย์หมอให้ไว้มี เป้าหมาย วิธีการ และกระบวนการอยู่ด้วย ถ้านำมาใช้ในราชภัฏฯ โดยเฉพาะบางแห่งที่ยังสับสนในตัวเองอยู่ เพราะยังไม่รู้จะไปทางไหนดี ทั้งที่เพื่อท้องถิ่นเหมือนกัน แนวคิดเรื่อง "มหาวิทยาลัยสาธิต" น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง โดยการที่ราชภัฏบางแห่ง หากยอมรับว่าตนก้าวไม่ทันจริงๆก็คงต้องมีพี่เลี้ยง อย่างเช่น ราชภัฏที่ผมทำงานอยู่(เป็นการยกตัวอย่างเท่านั้น) อาจมีพี่เลี้ยงคือ มหิดล (ฮิฮิ) หรือ ธรรมศาสตร์ก็ได้เพราะอยู่ใกล้กัน(แต่ไม่น่าจะดี ควรจะแตกต่างเพื่อทางเลือกของประชาชนและหลายหลากของท้องถิ่น) แต่คงสร้างงานในระดับล่าง ขณะที่พี่เลี้ยงเล่นระดับโลก เด็กตาดำๆที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษมาเรียนที่มหาวิทยาลัยสาธิต ส่วนเด็กเก่งภาษาอังกฤษก็ไปเรียนที่พี่เลี้ยง(ยกตัวอย่างเท่านั้น ฮิฮิ)

  หลายคนอาจมองว่า เป็นการลดระดับราชภัฏหรือไม่ ผู้เขียนมองว่า เป็นการขยับตัวมากกว่า หลายปีก่อน มหาวิทยาลัยใหญ่บางแห่งของไทย แปลงตำราภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยให้คนไทยได้เรียนกัน มหาวิทยาลัยเล็กเรียบเรียงตำราภาษาไทยเหล่านั้นให้เป็นตำราในมหาวิทยาลัยเล็ก(เพราะไปเรียนมาจากอาจารย์เหล่านั้น) การที่เราเป็น "สาธิต" คือการเขียนตำราเองไม่ใช่ในฐานะแปลงและเรียบเรียง โดยมีพี่เลี้ยงระดับโลก(ขณะที่เขียนนี้มีความคิดแวบอารมณ์ขันเข้ามาว่าต่อไปมหาวิทยาลัยก็คงเป็นแบบ "ระดับเหนือโลก" แน่ๆ อย่า..อย่าเพิ่งเลยเถิด เหนือโลกที่ว่าคือ "โลกุตตระ")

  อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยใหญ่ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเล็กก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องมีเช่นกัน นาย ก.อาจสอบได้เหรียญทอง ขณะที่นาย ข.ไม่ติดฝุ่นเหรียญทอง นาย ข.อาจเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยเล็ก ทำงานระดับภูมิภาค นาย ก.อาจเรียนในมหาวิทยาลัยใหญ่ ทำงานระดับโลก แต่ทั้งนาย ก.และข.ก็ทำงานเหมือนกัน ตามศักยภาพของตน ถ้าเอาเข้าจริง เราไม่รู้ว่า นาย ก.หรือ นาย ข.กันแน่จะอยู่ใกล้ "โลกุตตระ" ที่สุด(ถ้าไม่มีทุกข์จะดับทุกข์ไม่ได้)

   แต่เอาเข้าจริง คงไม่มีราชภัฏใดยอมเป็น "มหาวิทยาลัยสาธิต" หรอกกระมัง

หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นข้อเขียนบันทึกความคิด ไม่ควรนำไปใช้อ้างอิงใดๆ และหากใครมาพบเข้า ขออย่าได้คิดเป็นจริงเป็นจังใดๆ ขอความสุขสงบจงมีแด่ทุกท่าน

  

  

หมายเลขบันทึก: 526682เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2013 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท