อาหารไม่ย่อย


อาการท้องอืดหรือท้องเฟ้อ หรืออึดอัดในท้องหลังอาหาร มักเรียกกันว่า “อาหารไม่ย่อย” ส่วนใหญ่รักษาให้หายได้โดยไม่ต้องใช้ยา

อาการท้องอืดหรือท้องเฟ้อ หรืออึดอัดในท้องหลังอาหาร มักเรียกกันว่า “อาหารไม่ย่อย” ส่วนใหญ่รักษาให้หายได้โดยไม่ต้องใช้ยา

โปรดศึกษาจากกรณีทั้งสามนี้  


กรณีที่หนึ่ง

ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศลกษัตริย์ผู้ครองแคว้นโกศลมีปกติเสวยจุ เฉพาะข้าวสุกก็เท่ากับที่หุงจากข้าวสารหนึ่งทะทาน เสวยแล้วก็ทรงอึดอัด วันหนึ่งเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่วัดเชตวัน พระผู้มีพระภาคมีพระเมตตาประทานภาษิตพระคาถาแด่พระเจ้าปเสนทิโกศลบทหนึ่ง มีความว่า 

มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ

รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา

ย่อมมีเวทนาเบาบาง

เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน

พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สดับพระคาถาแล้วก็ตรัสเรียกสุทัสสนมาณพซึ่งยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์มารับสั่งว่า “เจ้าจงเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วจงกล่าวในเวลาเราบริโภคอาหาร อนึ่ง เราจะให้นิตยภัตแก่เจ้าวันละ 100 กหาปณะทุกวัน” แสดงว่าพระเจ้าประเสนทิโกศลเข้าพระทัยในประเด็นสำคัญของพระคาถาว่าอยู่ที่ “สติ” จึงทรงหาคนช่วยเตือนพระสติ

กรณีที่หนึ่งนี้แสดงให้เห็นว่า “อาหารไม่ย่อย” เป็นกันมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยพุทธกาล และสาเหตุก็เหมือนปัจจุบันนี้คือการ “รับประทานอาหารมากเกินไป” และคนโบราณก็เหมือนคนปัจจุบันคือมักจะเผลอ แต่ถ้ามี “คนข้างๆ” คอยช่วยเตือนสติก็ไม่ต้องใช้ยา   

อนึ่งการ “รับประทานอาหารมากเกินไป” ยังมีโทษอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าอาการ “อาหารไม่ย่อย” โปรดสังเกตพระคาถาจะเห็นว่า การรู้จักประมาณในโภชนะนอกจากจะทำให้เวทนาเบาบาง (หายอึดอัด) แล้ว ยังทำให้แก่ช้าและอายุยืน (เนื่องจากไม่อ้วน) พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทำได้สำเร็จ ในระยะหลังท่านเสวย “ข้าวสุกหนึ่งทะนาน” แทนที่ “ข้าวสุกที่หุงจากข้าวสารหนึ่งทะนาน” นอกจากจะทรงหายอึดอัดแล้ว ยังมีพระชนมายุยืนยาวถึงแปดสิบพรรษา


กรณีที่สอง

คุณวิภา สุภาพสตรีสูงวัย มีโรคประจำตัวหลายอย่างที่มักตามมากับอายุ ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และโรคกระดูกพรุน แต่ทุกโรคก็ควบคุมได้ดี รำคาญแต่เรื่องท้องอืดท้องเฟ้อหลังอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมื้อเย็นจะอืดมากจนถึงเวลานอน ตื่นนอนเช้าใหม่ๆ เป็นช่วงเวลาที่ท้องสบายที่สุด รับประทานอาหารได้ อร่อยดี และน้ำหนักไม่ลด เมื่อคุณวิภาหยิบยาขึ้นมาอวด ปัญหาก็เริ่มคลี่คลาย ยาป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 1 เม็ด ยาลดความดันโลหิตสามขนาน รวม 6 เม็ด ยาลดไขมัน 1 เม็ด ยาเบาหวานสองขนานรวม 6 เม็ด ยาแคลเซียม 2 เม็ด ยาบำรุงกระดูกอ่อนอีก 1 เม็ด วิตามินรวม 1 เม็ด วิตามินบีรวม 3 เม็ด รวมทั้งสิ้น 21 เม็ด (ยังไม่รวมยาบำรุงอื่นๆที่ลูกหลานซื้อมาฝากเป็นครั้งคราว ซึ่งมากเกินกว่าจะใส่กระเป๋ามาได้หมด)

คุณวิภาได้คำแนะนำไปสองข้อ คือ ข้อหนึ่ง ยาหลังอาหารทุกชนิด ซึ่งเดิมเคยรับประทานหลังอาหารทันทีบ้าง หลังอาหาร 15 นาทีบ้าง ให้ย้ายไปหลังอาหารหนึ่งชั่วโมงทั้งหมด (ในเวลาดังกล่าวจะยังคงมีอาหารรองรับอยู่ในกระเพาะอย่างเพียงพอ) เนื่องจากกว่าจะรับประทานยาครบทุกเม็ด คุณวิภาต้องดื่มน้ำสองแก้ว (ให้ลดลงเหลือหนึ่งแก้ว) หากดื่มขณะที่กระเพาะมีอาหารมากอยู่แล้ว ย่อมไปเบียดกันในกระเพาะ ทำให้กระเพาะอาหารตึงเกิดความรู้สึกอึดอัดแบบที่เรียกว่าท้องอืดท้องเฟ้อ แต่หลังอาหารหนึ่งชั่วโมงอาหารออกจากกระเพาะไปประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว เมื่อจำเป็นต้องดื่มน้ำหนึ่งแก้ว ก็ไม่ทำให้กระเพาะอาหารตึงจนเกินไปนัก จึงไม่เกิดอาการ ข้อสอง ไม่ต้องหายาอะไรมาแก้ท้องอืดท้องเฟ้ออีก (ยามากอยู่แล้ว) หนึ่งสัปดาห์ต่อมา คุณวิภาโทรศัพท์มาบอกว่า ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นท้องก็ไม่อืดอีกแล้ว  

กรณีที่สองนี้ จึงเป็นเรื่องของโลกยุคปัจจุบันโดยแท้

(หมายเหตุ ในกรณีที่อาการอาหารไม่ย่อยเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้ยาตัวใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะ ควรตรวจสอบกับแพทย์ผู้ให้ยาว่าเกี่ยวข้องกับยาหรือเปล่า)


กรณีที่สาม

คุณบอย นักธุรกิจหนุ่มใหญ่ บ่นว่าหลังอาหารมื้อกลางวันและมื้อเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมื้อเย็น อิ่มอาหารได้สักพักจะจุกแน่นท้อง กว่าท้องจะสบายก็ต้องกว่าสองชั่วโมงผ่านไปแล้ว เป็นเช่นนี้มาร่วมสองเดือน ถึงเวลาก็หิว รับประทานอาหารได้ อร่อยดี และน้ำหนักขึ้นเล็กน้อย อย่างอื่นก็สบายดี ไปหาหมอมาแล้ว ได้รับการตรวจด้วยการส่องกล้องด้วยซ้ำแต่ก็ไม่เจออะไร ได้ยามารับประทานก็ไม่หาย เปลี่ยนยาใหม่ก็ยังไม่หาย

ระยะ 2-3 เดือนมานี้ ธุรกิจของคุณบอยขยายตัวงานเพิ่มขึ้น จึงรับประทานอาหารกลางวันที่โต๊ะทำงานเพื่อไม่ให้เสียเวลา และขณะรับประทานอาหารเย็นก็คุยกันเรื่องงานอีกนั่นแหละ เรื่องที่คุยก็คือเรื่องที่มีปัญหา แม้จะรับประทานอาหารเท่าปกติ แต่กระเพาะอาหารของคนที่ใช้ความคิดไม่ได้เตรียมตัวเต็มที่ไว้ต้อนรับอาหาร กระเพาะจึงตึงตัวกว่าปกติทำให้เกิดอาการไม่สบาย อึดอัด แน่นเฟ้อ จุกเสียด หรือปวด เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ชั่วโมง อาหารออกจากกระเพาะไปมากจนความตึงลดลงอาการก็หายไป แล้วก็กลับเข้าวงจรเดิมในวันต่อมา  

คุณบอยได้รับคำแนะนำสองข้อ ข้อหนึ่งเป็นวิธีแก้ขัด คือให้ลดปริมาณอาหารมื้อกลางวันและมื้อเย็นลงประมาณร้อยละ 25 ลดปริมาณน้ำดื่มหลังอาหารด้วย และป้องกันการหิวด้วยอาหารว่างสองมื้อในเวลาสายและเวลาบ่าย ควรเป็นของเหลว เช่น นมเปรี้ยวหรือน้ำผลไม้ ข้อสองต้องแก้ที่ต้นเหตุ อย่าให้เวลาอาหารกับเวลาทำงานทับซ้อนกัน หนึ่งสัปดาห์ต่อมาคุณบอยบอกว่าสบายดี หกเดือนต่อมาก็ยังสบายอยู่ หลายปีต่อมาก็ยังสบาย

กรณีที่สามนี้ ก็เป็นเรื่องของโลกยุคปัจจุบันอีกเหมือนกัน

             สรุปว่า ถ้ามีอาการท้องอืดหรือท้องเฟ้อที่เรียกว่า “อาหารไม่ย่อย” ควรสำรวจตนเองสามประการว่า หนึ่ง รับประทานอาหารมากไปหรือเปล่า รวมทั้งกรณีตั้งใจรับประทานผักผลไม้มากๆเพื่อให้ถ่ายคล่องๆ (ควรทดลองลดปริมาณลง) สองดื่มน้ำมากไปหลังอิ่มอาหารหรือเปล่า (เลื่อนไปดื่มน้ำมากในเวลาอื่น) และสาม เวลาอาหารทับซ้อนกับเวลาทำงานหรือเปล่า (ก็ทำให้ไม่ทับซ้อนกันเสีย)

หมายเหตุ

หาก “อาหารไม่ย่อย” จริงๆ อาหารเหล่านั้นลำไส้ไม่อาจจะดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ คนก็จะขาดอาหาร อาการสำคัญคือน้ำหนักลด และถ่ายอุจจาระมากขึ้น (อาหารที่ลำไส้ดูดซึมไม่ได้ย่อมถูกขับออกมาเป็นอุจจาระ) ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องไปโรงพยาบาล


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

13 มีนาคม 2556


หมายเลขบันทึก: 522277เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2013 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูล

เลี่ยงไปกินผัก อาหารที่มีเส้นใยจะช่วยได้ใช่ไหมครับ

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

ขอบคุณที่สนใจครับ

อาหารจะทำให้ท้องอืดหรือไม่ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยครับ คือ ปริมาณ และประเภทอาหาร

ด้านปริมาณ ไม่ว่าจะเป็นอะไรหากมากเกินไปแม้แต่น้ำเปล่าถ้ามากพอก็อืดครับ แต่หายเร็ว เพราะเป็นประเภทที่ออกจากกระเพาะได้เร็ว 

ด้านประเภทอาหาร ในปริมาณเท่ากัน อาหารที่เป็นไขมันอืดสุดครับ เพราะจะอยู่ในกระเพาะนานสุด ประเภทโปรตีนรองลงมา ข้าวและคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนรองลงมาอีก ประเภทผักอืดน้อยกว่าครับ แต่ก็ระวังถ้ามื้อเดียวผักมากไปก็ได้เรื่องครับ ดังที่ได้เตือนผู้ที่รับประทานผักผลไม้มากๆเพื่อให้ถ่ายสะดวก (เพราะมากเกินไป) พูดเป็นภาษาวิชาการก็ว่า แต่ละมื้อหนึ่งถึงสองหน่วยกำลังเหมาะ หนึ่งหน่วยของผักผลไม้คือ 100 กรัม (หนึ่งขีด) หรือผักสดหนึ่งถ้วย (8 oz.) หรือผักสุกครึ่งถ้วย ผลไม้หนึ่งลูก (ขนาด ส้ม กล้วย แอปเปิล เป็นต้น) ผลไม้ขนาดใหญ่ก็กะขนาดหนึ่งถ้วย  

ขอบคุณมากคะคุณหมอได้ความรู้เพิ่มมากเลยค่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท