ประสบการณ์จากก้าวที่พอดี


ถ้าเราใช้ความรัก ความเข้าใจ ลูกจะเติบโตได้อย่างที่เราเองก็คาดไม่ถึง


วันที่ ๘ มี.ค. ๕๖  คุณครูช่วงชั้นที่ ๒  ได้จัดกิจกรรมเปิดบ้านให้คุณพ่อคุณแม่ของนักเรียนชั้น ๓ ที่สนใจในเรื่องราวของ วิถีชีวิต จิตวิญญาณ และกระบวนการเรียนรู้ของช่วงชั้นที่ ๒” ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน หลังจากที่คุณครูนำเสนอจบลง ก็มาถึงช่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ปกครองรุ่นพี่ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง


คุณพ่อสมคิด โรจน์ชีวิน  พบว่าเมื่อลูกขึ้นช่วงชั้นที่ ๒ ลูกแฝดทั้งสองคนคือปิงปองและปันปัน  มีความสามารถในการเรียนรู้และการสื่อสารดีขึ้น  การอ่านจับประเด็นดีขึ้น  และเริ่มมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีกรอบชัดเจนขึ้น 


คุณแม่กนกวรรณ  จินดากุล  ลูกสาวอยู่เพลินพัฒนามาตั้งแต่อายุ ๒ ขวบ ทุกอย่างเป็นไปตามที่โรงเรียนบอกเอาไว้ว่าเด็กเพลินในวัยต่างๆ จะเป็นอย่างไร  เมื่อขึ้นช่วงชั้นที่ ๒ น้องเฟลอร์  เริ่มมีกฏระเบียบมากขึ้น มีความรับผิดชอบในตนเองมากขึ้น  เขาจะเปลี่ยนจากเด็กเล็กๆ เป็นเด็กที่เติบโตขึ้นทั้งทางร่างกาย และการคิดการพูด สามารถดูแลกิจวัตรของตนเองได้ดีทั้งที่บ้านและโรงเรียน สามารถปรับตัวอยู่กับเพื่อนๆ ที่มีความแตกต่างกันได้ดี


เมื่อก่อนคุณแม่เป็นคนดูแลลูกละเอียด  หลังจากที่มาฟังวันเปิดบ้านช่วงชั้นที่ ๒ ที่จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ก็กังวลว่าลูกจะทำไม่ได้  คุณแม่ก็เริ่มปรับตัวโดยการทำใจแข็งๆ และเปลี่ยนตัวเองใหม่ จากที่คอยทำให้ มาเป็นคอยช่วยคอยฟัง คอยช่วยเหลือ คอยถาม แล้วก็นำไปสู่การแสดงความคิดเห็น ในบางเรื่องที่เขาทำไม่ได้เราก็จะทำด้วยกัน  หลังจากนั้นก็นั่งดู ถึงเขาจะทำได้หรือไม่ได้บ้างคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำใจ เพราะเขาโตแล้ว 


เห็นชัดว่าลูกดูแลตัวเองได้มากขึ้น และทำอะไรได้มากขึ้น  จนในทีสุดเขาสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตนเอง  ในช่วงนี้เด็กๆ จะโตขึ้นและสนใจเรื่องของเพศตรงข้ามมากขึ้น  บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ให้ดูละครมากขึ้น  สรรพนามที่ใช้ก็เริ่มเปลี่ยน คำศัพท์แปลกๆ เริ่มเข้ามา  วันหนึ่งแม่ได้ยินเด็กผู้ชายคุยกันก็ตกใจว่าเด็กโรงเรียนนี้เป็นอย่างนี้ด้วยหรือ แล้วก็จำได้ว่าเด็กทั้งสองคนนี้เป็นเพื่อนลูกเรา  เขาหันมายิ้มให้เรา คงเพราะเห็นหน้าเราตกใจ แล้วบอกว่า “ไม่มีอะไรหรอกครับ พอดีผมกับเพื่อนชอบพูดเล่นกันน่ะครับ”  แล้วเขาพูดกับเรามีคำว่าครับด้วยนะคะ  รับรองว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนจะได้เจอแบบนี้แน่ 


อีกอย่างในฐานะที่เป็นพ่อแม่  ควรเป็นผู้ฟังที่ดี  ทั้งเรื่องสุข  สบายใจ เรื่องทุกข์ใจ  เขาก็จะเล่าให้ฟัง  เมื่อฟังเขาเล่าแล้ว เราก็ค่อยถามลูกว่ารู้สึกอย่างไร  อะไรถูก  อะไรผิด บางครั้งก็เล่าเรื่องที่เกี่ยวกับเพื่อนในห้องให้ฟังว่ามีเพื่อนทะเลาะกันเพราะชอบเพื่อนผู้ชายคนเดียวกัน  พอลูกพูดเสร็จก็จะเป็นช่วงทองที่เราจะแนะนำสิ่งที่ดี  สิ่งที่ควร  ไม่ควร  ให้ลูกได้คิด ค่อย ๆ ถามค่อย ๆ ดู  เพื่อชี้แนะแต่ไม่ได้ชี้นำ  เด็กในวัยนี่มีความคิดเป็นของต้วเอง  เช่น  การบ้านที่เป็นการเขียน การประมวลความรู้  สรุปความรู้  แม่เห็นแล้วอยากช่วย  แต่ลูกไม่ให้ช่วย  พอลูกให้อ่านแม่ก็แนะนำให้เปลี่ยนคำ แต่ลูกบอกว่านี่ไม่ใช่ภาษาของเด็ก  วันนี้ลูกอาจไม่แก้  แต่เขาจะกลับไปแก้วันหลัง 


ในด้านการเรียนรู้ก็มีการเปลี่ยนแปลง  กลับไปถึงบ้านหยิบการบ้านมา แล้วก็เดินดูว่าในบ้านนี้มีหนังสืออะไรบ้างหยิบเอาใช้หมด  บางครั้งลูกทำงานถึง  ๓  ทุ่มยังไม่ยอมนอน  บางทีนั่งทำถึง  ๔  ทุ่ม  วัยนี้เป็นวัยที่ลูกจะเชื่อครู  แม่พูดไม่เชื่อ  เพราะครูบอกมาว่าต้องทำให้ดีก็เลยต้องพยายามทำให้ดี


การเรียนภาษาอังกฤษในชั้น ๔  การบ้านไม่มี  คำศัพท์ไม่ต้องท่อง  แต่เขาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองตามที่คุณครูบอกไว้เลย  แม่แค่ดูว่าลูกทำอะไร  อยู่มาวันหนึ่ง  ลูกบอกว่าวันนี้จะแต่งนิทานภาษาอังกฤษ  แม่คิดในใจว่าถามไวยากรณ์ยังตอบไม่ได้เลยแล้จะแต่งนิทานได้อย่างไร แต่ลูกแอคทีฟ  เธอทำได้ เชื่อไหมคะว่าลูกเดินไปหยิบดินสอมาเขียนแบบที่คำไหลลื่นออกมาจากข้างในหัว  เขียน ๆๆๆ  แล้วก็หันมาบอกว่าจบแล้วค่ะคุณแม่  แม่ขออ่าน  ก็พบว่าเขาเขียนได้  อ่านแล้วรู้เรื่อง  มีตัวละครคือตัวเองและหมาที่รัก  ถามว่าไวยากรณ์ถูกไหม ก็ไม่ถูกเป๊ะ  แต่มีการลำดับความได้ชัดเจน มีความกล้าที่จะเขียน  ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้ไวยากรณ์เป๊ะๆ  แต่ลูกก็กล้าที่จะทำแล้วลูกก็ทำได้ 


ในด้านครู  ครูมีระเบียบกฏเกณฑ์  ไม่ดูแลแบบเด็กเล็ก  ปล่อยให้รับผิดชอบตัวเอง โดยที่ครูจะคอยช่วยประคอง  ให้โอกาส  แล้วรอให้ทุกคนค่อยๆ เติบโตด้วยการฝึกความรับผิดชอบ  ด้วยการสั่งงานด้วยวาจาโดยไม่มีจดหมายน้อยกำกับเหมือนเมื่อตอนอยู่ช่วงชั้นที่ ๑  เด็กๆ ต้องจำด้วยตัวเองว่าแต่ละคนมีหน้าที่อะไร  ต้องทำอะไรบ้าง


พอขึ้นชั้น  ๔  ลูกจะไปภาคสนาม  ๔  ครั้ง  พ่อแม่ห่วงลูกมาก  แต่ขอให้วางใจ  ทำใจ  ปล่อยให้ลูกได้ไปเผชิญ  ฝึกการเตรียมของ  จัดกระเป๋าเอง  ใช้เป้ขนของเอง  เวลาไปภาคสนามแต่ละครั้งก็เหนื่อย  แต่ลูกได้ความรู้แล้วยังแฝงความสนุกมาด้วย  ข้อดีอีกข้อคือ ตอนที่ลูกกลับมา แล้วเราได้กอดเขา  ลูกจะรู้เลยว่าแม่รักลูกมากเพียงใดเมื่อลูกต้องห่างออกจากอกแม่ไป


ถ้าเราใช้ความรัก  ความเข้าใจ  ลูกจะเติบโตได้อย่างที่เราเองก็คาดไม่ถึง  เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนจะได้เห็นลูกเติบโต


คุณพ่อสมคิด  ฟังมาถึงตรงนี้บางท่านคงเบาใจ บางท่านมั่นใจ แต่บางท่านคงเหวอ  พ่อมีลูกแฝดสองคน คนหนึ่งไปตามนั้น แต่คนหนึ่งไปคนละเรื่อง  คนหนึ่งนิ่งๆ ตั้งใจ ช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร  อีกคนฉลาดแต่สมาธิไม่ดี  ในที่สุดแล้วคนช้าทำได้ดีกว่า  อย่าตกใจถ้าลูกเราจะไม่กลับมาเล่าอะไรเลย ที่ผ่านมาก็จะถามจากน้องเฟลอร์เอา  พ่อจะใช้เพื่อนลูกที่เป็นเด็กผู้หญิงเป็นจุดอ้างอิง  เพราะลูกเราเป็นเด็กผู้ชายก็จะไม่เล่าอะไรเลย  อยากแนะนำให้พ่อแม่ทำความรู้จักกันไว้  สไตล์การเรียนรู้ของแต่ละคนก็ต่างกัน บางทีเราก็งงว่าทำไมเมื่อวานทำไม่ได้ พอมาอีกวันหนึ่งกลับทำได้ ก็ต้องดูที่ความแตกต่างของเด็กแต่ละคนด้วย


พัฒนาการเรื่องการอ่านเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด ตอนแรกไม่มีการอ่านสรุปแล้วเขียนครับ จะตัดแปะข้อมูลเอา  รู้สึกว่าลูกผมจะงานไม่เยอะทำแป๊บเดียวเสร็จ  เพราะแค่เอาเนื้อความมาต่อกันก็เสร็จแล้ว  แต่ทำไมเห็นเฟลอร์เขามีงานมากจัง  บางทีเราก็ทำอะไรให้มากก็ไม่ดี  ก็ให้เขาเป็นไปตามสภาพ ให้เขาได้ทำและได้อ่าน บางทีก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง


ในเทอมต้นๆ ลูกอ่านได้ แต่ตอบในประเด็นความเข้าใจไม่ได้  พอมาปลายปีในช่วงท้ายๆ เริ่มก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น  และเขียนความเข้าใจของเขาออกมาได้เอง  ไม่ต้องตกใจว่าลูกของเราจะทำได้หรือไม่ได้  เพราะเด็กแต่ละคนต่างกัน ไม่ต้องเท่าคนอื่นก็ได้  อาจมีคนทำได้ลูกเราก็อาจจะทำไม่ได้ ก็เก็บเอาไว้เป็นจุดอ้างอิง


อยากให้เบาใจจากตัวอย่างของลูกผมว่า  คนที่เรียนรู้ได้ดีคือลูกคนที่ช้ากว่า  ลูกคนที่เร็วจะทำเฉพาะสิ่งที่ทำได้เท่านั้น  ส่วนที่เหลือจะไม่ยอมทำ  ต่างจากอีกคนที่มีความพยายามมาก กีฬาเล่นไม่เป็นแต่ก็จะเล่น แพ้มาตลอด  จากที่เพื่อนไม่ส่งลูกให้ เพราะส่งให้แล้วก็ทำเสีย จนวันนี้เพื่อนส่งลูกให้แล้วเล่นได้แล้ว  ใครมีลูกที่เร็วอย่าภูมิใจนักเพราะเขาก็ต้องมีความเฉพาะ  บางอย่างที่เขาไม่ได้ก็ต้องช่วยให้เขาทำได้  ถ้าใครมีลูกที่เรียนช้าก็อย่าเพิ่งท้อใจ แต่เราต้องสร้างให้เขามีความพยายาม


ผมเห็นว่าจุดแข็งของโรงเรียนผมทำไม่ได้ แต่จุดอ่อนที่มีผมแก้ไขได้  เนื้อหาวิชาสาระบางอย่างที่สอนส่วนใหญ่แล้วจะออกในทางกว้าง  เมื่อเจอกับญาติพี่น้องคนอื่นๆ ก็อาจจะแตกต่างกัน  ผมมองว่าเราปิดช่องนี้ได้ไม่ยาก  แต่แนวทางกระบวนการคิดและกระบวนทัศน์แบบเพลินพัฒนา  เราจะสามารถสอนลูกได้หรือไม่ เรื่องนี้ทุกคนต้องถามตัวเอง



หมายเลขบันทึก: 522186เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2013 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2013 18:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท