ชีวิตที่พอเพียง: ๑๗๖๗. ทำไมหลักสูตรจึงเฟ้อ


หลักสูตรเฟ้อ เพราะเราจัดการศึกษาแบบ teacher-centered ไม่ใช่ learner-centered และคิดผลงานอาจารย์ตามการทำหน้าที่สอน การมีวิชาสอนจึงเป็นความอยู่รอดของอาจารย์ ความอยู่รอดของอาจารย์ อยู่ที่วิชาไม่ได้อยู่ที่ผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษา


          เช้าวันที่ ๗ ก.พ. ๕๖ ผมไปนั่งฟังการนำเสนอเรื่อง บทบาทสภามหาวิทยาลัยกับการกำกับการจัดการศึกษา: การอนุมัติการเปิดสอนหลักสูตรการศึกษา”  ในหลักสูตรธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา รุ่น ๑๔   มี ศ. ดร. ปทีป  เมธาคุณวุฒิ เป็นวิทยากร

          ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ในหลักสูตรท่านหนึ่งถามว่า ทำไมหลักสูตรจึงมีมากมายเกินไป 

          วิทยากรตอบว่า เพราะเป็นเสรีภาพทางการศึกษาของอาจารย์  ใครมีความรู้อะไรก็อยากเปิดวิชาของตน    ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง 

          คำตอบของผมคือ เพราะเราอยู่ในกระบวนทัศน์การศึกษาของศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙   คือยึดมั่นกับ วิชา ยังไม่เคลื่อนสู่กระบวนทัศน์แห่งศตวรรษที่ ๒๑ คือเน้นการเรียนรู้ และการฝึกทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษา   ซึ่งหมายถึง เปลี่ยนจุดเน้นจากวิชาไปสู่นักศึกษา 

          หลักสูตรเฟ้อ เพราะเราจัดการศึกษาแบบ teacher-centered  ไม่ใช่ learner-centered  และคิดผลงานอาจารย์ตามการทำหน้าที่สอน การมีวิชาสอนจึงเป็นความอยู่รอดของอาจารย์  ความอยู่รอดของอาจารย์ อยู่ที่วิชาไม่ได้อยู่ที่ผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษา 

          อาจารย์จึงชอบเป็นเจ้าของหลักสูตร/รายวิชา  มากกว่าทำงานเน้นที่การเรียนรู้ของนศ.  ให้บรรลุการพัฒนาอย่างบูรณาการรอบด้าน ทั้งด้านปัญญา  สังคม  อารมณ์  จิตวิญญาณ  และทักษะวิชาชีพ

          คำตอบของผมคือ หลักสูตรเฟ้อเพราะโครงสร้างของมหาวิทยาลัยล้าหลัง  เป็นโครงสร้างแห่งศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙

          เราต้องการการออกแบบโครงสร้างของมหาวิทยาลัยเสียใหม่  ให้เป็นโครงสร้างแห่งศตวรรษที่ ๒๑



วิจารณ์ พานิช

๗ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 522151เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2013 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2013 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยถูกมองในแง่ลบจากสังคมอยู่ไม่น้อย สำหรับคำถามนี้ผู้คนในแวดวงมหาวิทยาลัยโดยส่วนใหญ่อาจจะตอบได้ทันทีว่าสาเหตุที่หลักสูตรเฟ้อเพราะหลักสูตรโดยเฉพาะหลักสูตรพิเศษต่างๆ เป็นแหล่งรายได้ของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งปัจจุบันค่าสอนรายชั่วโมงในหลักสูตรต่างๆ นั้นถือว่าไม่น้อยทีเดียว

จากคำตอบของวิทยากรและอาจารย์หมอวิจารณ์ทำให้ได้เห็นว่าการมองในแง่บวกในปัญหานี้ก็มีเช่นเดียวกัน และแนวทางในการแก้ปัญหาไม่ว่าจากมุมบวกหรือลบก็ไปในทิศทางเดียวกันคือ "เปลี่ยนโครงสร้างของมหาวิทยาลัยเสียใหม่" ครับ

แล้วการเปลี่ยนโครงสร้างนั้นที่จริงเริ่มต้นง่ายๆ จากจุดที่สังคมเข้าใจผิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรพิเศษต่างๆ เพื่อหารายได้จากการสอน นั่นคือโดยการให้หลักสูตรพิเศษต่างๆ ไม่จ่ายค่าสอน (เหมือนกับหลักสูตรปกติ) ก็น่าจะทำให้ปัญหาเรื่องหลักสูตรเฟ้อเพลาลงไปได้มาก จะเหลือเฉพาะหลักสูตรที่เกิดจาก "เสรีภาพทางการศึกษาของอาจารย์ ใครมีความรู้อะไรก็อยากเปิดวิชาของตน" ตามที่วิทยากรตอบเท่านั้นจริงๆ ครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่อาจารย์เหล่านั้น(บางคน) จะเอาชื่อฝากไว้ที่มหาวิทยาลัยเพิียงเพื่อติด logo แล้วท่านก้อนร่อนไปสอนตามมหาวิทยาลัยเอกชนต่อไป ต้องพัฒนาระบบคัดสรรอาจารย์ และให้เงินเดือนอาจารย์ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพด้วย จะเป็นประโยชน์ทุกภาคส่วน ที่สำคัญอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการ 60ปีที่มีความสามารถ น่าจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้วยค่ะ


  • พิมพ์แล้ว ๒๐ บรรทัด แต่ลบดีกว่า เพราะความคิดของผมไม่เป็นระบบระเบียบ
  • สั้นๆครับ หลักสูตรเฟ้อ เพราะต้องเปิดหลักสูตรครับ ซึ่งผมก็ยอมรับว่า เฟ้อจริงๆ บางวิชาอยู่ในหลายหลักสูตร
  • การไม่จ่ายค่าสอนพิเศษ สุดท้ายก็ต้องหาโอกาสหารายได้อื่นๆอยู่ดีครับอาจารย์ กรณีค่าครองชีพไม่เพียงพอ เกิดจากที่เราต้องการไม่หยุดครับ
  • ผมว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในมหาวิทยาลัยเก่านั้น ดูจะยาก เพราะต้องเปลี่ยนนิสัยคน แต่การสร้างมหาวิทยาลัยใหม่ และสร้างวัฒนธรรมใหม่ น่าจะง่ายกว่ากระมังครับ ปัญหาวัฒนธรรมใหม่คือ คนที่เข้าไปติดกับของเก่ามาหรือไม่
  • ขอบคุณอาหารสมองเช่านี้ครับผม

ผมเขียนความเห็นแบบขำๆ tongue-in-cheek เท่านั้นครับ ผมว่าเรื่องนี้ "กวน" มาตั้งแต่คนถามคำถามแล้วครับ ท่านวิทยากรท่านก็คิดเร็วตอบเลี่ยงไปได้ ส่วนคำตอบ อ.หมอวิจารณ์นั้นเข้าขอบแต่ไม่เข้าเป้า ผมเดาว่าทั้งสามท่านตั้งแต่ผู้ถามถึงผู้ตอบและผู้ถ่ายทอดรู้คำตอบที่ถูกต้องหมด

สำหรับผม ด้วยอารมณ์นึกสนุกเพราะเล่นส่งลูกเข้าเท้ากันขนาดนี้ ผมจึงขอยิงประตูเองครับ

ถ้าให้ตอบจริงๆ ก็คือ ปัญหานี้เราควรเลิกเลี่ยงและอ้อมค้อมกันได้แล้วครับ การศึกษาปัจจุบันนั้นกลายเป็น entertainment business ไปแล้ว เราก็ยอมรับความจริงไม่ควรจะเขินกันอยู่ แล้วก็เล่นกันให้เต็มที่ไปเลยครับ

ส่วนถ้าต้องการเรื่องวิจัยก็ตั้งสถาบันวิจัยแยกต่างหาก แล้วใครที่ทำงานในสถาบันวิจัยแล้วเที่ยวไปสอนพิเศษอีกนั้นไล่ออกเลย ง่ายนิดเดียวครับ

หลักสูตรระดับประถมยิ่งอาการหนักค่ะ การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นรากแก้วของชีวิต  รากแก้วที่ไม่แข็งแรงจะหวังให้ลำต้นเจริญเติบโต ผลิดอก ออกผลได้งดงามตามศักยภาพได้อย่างไร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท