งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู


                                                                    งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู

                                                        นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง) 

เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรืองานเวชกรรมฟื้นฟู จัดว่าเป็น 1 ใน 4 พันธะกิจทางการแพทย์ ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก (ได้แก่ ส่งเสริมสุขภาพ - ป้องกันโรค - รักษาโรค - ฟื้นฟูสมรรถภาพ) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Rehabilitationmedicine หรือ Physical medicine and rehabilitation (PM&R) หรือ Physiatry (อ่านว่า ฟิส-ซาย-เอ-ตรี้) ก็ได้

งานเวชศาสตร์ฟื้นฟูเอง ก็คือการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ (Medicalrehabilitation) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆด้านของการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งหมด ขึ้นกับบุคคลนั้นต้องการให้ฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านใด ณ ที่นี้ ยกตัวอย่างการฟื้นฟูด้านอื่นๆ เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ (Vocationalrehabilitation) การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการศึกษา (Educational rehabilitation) เป็นต้น งานเวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นงานที่ท้าทายและเป็นที่รู้จักสนใจในวงกว้าง เนื่องจากสามารถบ่งบอกถึงการเอาใจใส่จากภาครัฐได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ป่วยที่มีรับการฟื้นฟูนั้น ย่อมเป็นผู้พิการ หรือ ผู้ที่มีสมรรถภาพทางร่างกายไม่ดีนัก แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ในประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรนัก ทั้งในระดับนโยบาย ระดับโรงพยาบาล และในประชาชนทั่วไป

คำจำกัดความ เป็นการบริการทางการแพทย์ชนิดหนึ่ง เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ประเมิน รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้วยวิธีการใช้ยา การทำหัตถการ การใช้เครื่องมือ การออกกำลังกายจำเพาะ การให้คำแนะนำทางการแพทย์ การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือหรือทดแทน หรือวิธีการอื่นๆ อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันการเป็นซ้ำหรือภาวะแทรกซ้อนให้กับบุคคลทั่วไป และผู้ป่วยที่มีความพิการหรือสมรรถภาพเสื่อมถอย ทั้งทางร่างกาย ทางสติปัญญา ทางการเรียนรู้ ทางการสื่อความหมาย และทางจิตใจ โดยใช้บุคลากรที่เกี่ยวข้องจากหลายๆสาขา ร่วมกันให้การรักษาและฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมศักยภาพที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยนั้นๆ ให้สามารถดำรงชีวิตในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมได้ เพื่อให้เป็นภาระต่อคนรอบข้างและสังคมให้น้อยที่สุด อีกทั้งยังช่วยสร้างชื่อเสียง (เช่น เป็นนักกีฬา) หรือพัฒนาประเทศต่อไปได้ตามความสามารถ

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู ประกอบไปด้วยบุคลากรหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟู  นักกายภาพบำบัด  นักกิจกรรมบำบัด นักกายอุปกรณ์ และช่างกายอุปกรณ์ นักอรรถบำบัด หรือนักแก้ไขการพูด สังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ (นักสังคมสงเคราะห์คลินิก) นักจิตวิทยาคลินิก นักเวชศาสตร์การกีฬาหรือนักสันนาการอื่นๆ โภชนากรคลินิก แพทย์แผนไทยประยุกต์ บุคลากรด้านอื่นๆ เช่น แพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น ๆ, ผู้เชี่ยวชาญทางการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ (ให้การฟื้นฟูด้วยการฝึกอาชีพ) , วิศวกรด้านการฟื้นฟูทางการแพทย์, ครูอาจารย์ด้านการศึกษาพิเศษ เป็นต้น

การรักษาและฟื้นฟูด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู ยกตัวอย่าง เช่นการตรวจ รักษา และฟื้นฟูผู้ป่วยและผู้พิการทางกายและการเคลื่อนไหว ทั้งผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลและผู้ป่วยนอก (ไป-กลับ)  การตรวจสภาพเส้นประสาท ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ ด้วยวิธีการทางไฟฟ้าวินิจฉัย (ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นในตรวจ) หรือเรียกว่า ELECTRODIAGNOSTIC STUDY การรับผู้ป่วยทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูไว้นอนในโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ (ในกรณีที่มีหอผู้ป่วย หรือเตียงเฉพาะ) การรักษาเฉพาะที่ต่างๆ เช่น การฉีดยาเฉพาะที่เพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ (Local antispastic agent injection) การฉีดยาเฉพาะจุดเพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อ (Myofascial pain release injection)  การฉีดยาเข้าข้อต่อหรืออวัยวะต่างๆเพื่อลดการอักเสบ (Anti-inflammatory agentinjection) เป็นต้น

การตรวจสมรรถภาพ ประเมิน รักษา ฟื้นฟู และป้องกันการเป็นซ้ำ แก่ผู้ป่วยที่มีความผิดปรกติทางการเคลื่อนไหว ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นในภายหลัง เช่น อัมพาตครึ่งซีกจากโรงหลอดเลือดสมอง (Cerebral vasculardisorder)  อัมพาตจากภาวะไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury)  ความผิดปรกติทางการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมภายหลังสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic braininjury) เป็นต้น

การตรวจประเมิน รักษา และฟื้นฟู ผู้ป่วยที่มีโรคหรือความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อ และข้อต่อ รวมถึงผู้ป่วยหลังการผ่าตัดทางออร์โธปิดิคส์ (กระดูกและข้อ) อีกด้วย  การตรวจประเมินการทำงานของระบบควบคุมการถ่ายปัสสาวะส่วนล่าง (ตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะลงมา) ด้วยเครื่องยูโรพลศาสตรN (Urodynamic study) และให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการถ่ายปัสสาวะซึ่งมีความผิดปรกติจากการควบคุมด้วยระบบประสาท (Neurogenic bladder dysfunction) ให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการถ่ายอุจจาระซึ่งมีความผิดปรกติจากการควบคุมด้วยระบบประสาท (Neurogenic bowel dysfunction) การตรวจประเมิน และออกเอกสารรับรองความพิการ สำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวชนิดต่างๆ การตรวจประเมิน และสั่งการรักษาด้วยกายอุปกรณ์เทียม (Prostheses หรือคืออวัยวะเทียมนั่นเอง) สำหรับผู้พิการแขน-ขาขาด (Limb amputation) การตรวจประเมิน และสั่งการรักษาด้วยด้วยกายอุปกรณ์เสริม (Orthoses หรือคือเครื่องประคองร่างกายชนิดต่างๆ) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เช่น ปวดหลังที่บั้นเอว, เส้นเอ็นมือขาด, ข้อเท้าตก เป็นต้น การตรวจประเมิน รักษา และกระตุ้นพัฒนาการ (Early intervention) สำหรับผู้ป่วยเด็กกลุ่มต่างๆที่มีความพิการ (Child disabled) เช่น มีปัญหาพัฒนาการช้า มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว หรือพิการทางสมอง เป็นต้น

การตรวจประเมินหาสาเหตุ และรักษาฟื้นฟูสภาพ แก่ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด (Pain) ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การฉีดยาคลายจุดเจ็บปวดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ (Triggerpoint injection) การทำกายภาพบำบัด การฝังเข็ม (Acupuncture) การออกกำลังแบบต่างๆ (อาทิ การยืดกล้ามเนื้อ, การออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นต้น) การฉีดยาเข้าข้อ เป็นต้น

การตรวจประเมิน รักษา และให้การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหัวใจ (Cardiac rehabilitation) ประเภทต่างๆ (เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ลิ้นหัวใจรั่ว ) ทั้งก่อนและหลังการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหรือสวนหัวใจ การตรวจประเมิน รักษา และให้การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคทางปอด (Pulmonaryrehabilitation) กลุ่มต่างๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD ซึ่งมักเกิดจากการสูบบุหรี่) เป็นต้น

การตรวจประเมิน รักษา และฟื้นฟูผู้ที่บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือนักกีฬาที่บาดเจ็บ รวมถึงการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เพื่อเพิ่มสมรรถภาพแก่นักกีฬาอีกด้วย (Sport clinic)

การตรวจประเมิน รักษา ฟื้นฟู และป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือการกลับเป็นซ้ำ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น การประชุมและให้ปรึกษาระหว่างทีมผู้รักษา กับผู้ป่วย/ผู้พิการและญาติ (Teammeeting) การฟื้นฟูนอกสถานพยาบาล เช่น การฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องที่บ้าน (Home-basedrehabilitation) หรือ ในชุมชน (Community-based rehabilitation) เป็นต้น ฯลฯ

เวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทย ในอดีต เคยมีการจัดตั้งสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่อมาถูกระงับโครงการไป และได้มีงานกายภาพบำบัดขึ้นมาทดแทน ต่อมาเมื่อเกิดสงครามเวียดนามขึ้น ทางราชการได้เล็งเห็นว่าสมควรจะมีแพทย์ทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง โดยการส่งแพทย์ไปเรียนต่อยังต่างประเทศและเปิดแผนกขึ้นมาในโรงพยาบาลของทหาร และของมหาวิทยาลัยต่างๆภายหลังเมื่อจึงมีการจัดอัตราแผนกเวชกรรมฟื้นฟูในโรงพยาบาลส่วนภูมิภาคต่างๆขึ้น โดยจัดให้มีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู งานกายภาพบำบัด งานกิจกรรมบำบัด และงานกายอุปกรณ์ แต่เนื่องจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกิจกรรมบำบัดในประเทศไทยมีจำนวนไม่มากนักและศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลไม่เท่ากัน จึงทำให้ในบางจังหวัดยังไม่มีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกิจกรรมบำบัด อีกทั้งการจัดหอผู้ป่วยเฉพาะทางเวชกรรมฟื้นฟูมีได้เพียงแค่ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษา ฟื้นฟู และให้คำแนะนำได้ ในโรงพยาบาลของรัฐระดับโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยต่างๆ โรงพยาบาลของทหารและตำรวจบางแห่ง ที่มีการให้บริการ นอกจากนี้ในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง และในโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลอำเภอ) บางโรง อาจมีการเปิดบริการงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูอีกด้วย อนึ่ง แต่ละโรงพยาบาล อาจมีบุคลากร และ/หรือ ชนิดของการรักษาและฟื้นฟูต่างๆไม่เท่ากัน ขึ้นกับรูปแบบและศักยภาพของโรงพยาบาลนั้น

เวชศาสตร์ฟื้นฟูในต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหนึ่งที่มีชื่อเสียงทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีแพทย์ที่ทำงานด้านนี้อยู่มาก สถานพยาบาลมีชื่อเสียงในอเมริกา เช่น โรงพยาบาลเด็กแห่งเมาเท็นไซด์ (Children's Specialized Hospital in Mountainside) ที่มลรัฐ New Jersey, สถาบันเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งชิคาโก (Rehabilitation Instituteof Chicago หรือ RIC) ของมหาวิทยาลัย Northwestern ที่เมือง Chicago, โรงพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งชาติแห่งวอชิงตัน (National Rehabilitation Hospitalin Washington) , ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งชาติแลนโชลอสซามิกอส (Rancho Los AmigosNational Rehabilitation Center) ที่มลรัฐ California เป็นต้น

นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกา ยังมีการอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูในหลายสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น เมโยคลินิก (Mayo Clinic) , สถาบันเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งชิคาโก (RIC) , โรงพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟู สปาลดิ้ง (Spaulding Rehabilitation Hospital) ของโรงเรียนแพทย์ฮาวาร์ด (Harvard Medical School)  มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐวอชิงตัน (University of Washington)  มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐมิชิแกน (University ofMichigan) เป็นต้น

ส่วนในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ ก็มีแพทย์ปฏิบัติงานด้านนี้ และมีการเปิดการอบรมเช่นกัน ซึ่งในแต่ละประเทศได้กำหนดระยะเวลาการอบรมไม่เท่ากัน อาจเป็น 3 ปี 4 ปี หรือ 5 ปี ตามแต่นโยบายของแต่ละประเทศ (เช่น มาเลเซียกำหนดไว้ 4 ปี เป็นต้น


หมายเลขบันทึก: 522082เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท