ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน


                                                   ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

                                                   นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ค่อนข้างจะเป็นคำที่คลุมเครือและเป็นนามธรรม จึงต้องขอยกคำจำกัดความมาจากองค์การอนามัยโลกให้เข้าใจกันก่อน ได้นิยามคำว่าความมั่นคงทางอาหารไว้ว่าเป็นภาวะที่ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียง โดยปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการและรักษาสุขภาพและชีวิตที่ดีได้ไม่ว่าเวลาใด โดยทั่วไป หลักของความมั่นคงทางอาหารจะรวมไปถึงทั้งสิทธิทางกายภาพและเศรษฐกิจที่สามารถเข้าถึงอาหารที่ได้ตรงตามความต้องการทางโภชนาการ ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นอาหารที่สร้างความพึงพอใจด้วย ความมั่นคงทางอาหารมีปัจจัยหลัก 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ความสามารถในการหาอาหารมาได้ (มีอาหารอย่างเพียงพอสม่ำเสมอ) การเข้าถึงอาหาร (มีแหล่งทรัพยากรเพียงพอที่จะหาอาหารได้) และการใช้อาหาร (มีความรู้และวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากสารอาหาร รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งน้ำและสุขอนามัยอย่างเหมาะสม)พื้นที่ที่เสี่ยงภัยขาดแคลนอาหาร  ปรากฏว่าพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง ความเสี่ยงสูงที่สุด ส่วนประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงที่มีความเสี่ยงต่ำ

ในประเทศที่ร่ำรวยต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศทางเครื่องบินหรือเรือข้ามน้ำข้ามทะเลกว่าจะมาถึงท้องถิ่น (ในอเมริกาเหนืออาจจะเป็นปัญหานี้มากกว่ายุโรป) การขนส่งทั้งหมดต้องพึ่งพิงพลังงานราคาถูก เข้าถึงได้ และมีปริมาณมหาศาล หากไม่มีปัจจัยเหล่านี้ ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้กระทั่งในประเทศยากจนที่ความสามารถในการหาอาหารมาได้ การเข้าถึง และการใช้ประโยชน์จากอาหารไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาที่เร่งด่วนนัก แต่ระบบทั้งหมดก็ล้วนขึ้นอยู่กับการใช้พลังงานจำนวนมากอยู่ดี ส่วนประเทศที่ยากจนปัญหาความมั่นคงทางอาหารจะแตกต่างออกไป ได้แก่ ความสามารถที่จะผลิตอาหารอย่างพอเพียงบนที่ดินด้วยความยั่งยืน การครอบครองที่ดินของเกษตรกร การส่งเสริมให้ใช้สารเคมีหรือเครื่องจักรเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้เกินระดับที่เหมาะสม มากกว่าจะคำนึงถึงความยั่งยืนทางระบบนิเวศ รายได้เริ่มต้นของประชากรอยู่ในระดับต่ำทำให้ไม่สามารถซื้อหาอาหาร การทุ่มตลาดจากประเทศที่ร่ำรวยที่ตัดกำลังเกษตรกรท้องถิ่นไม่ให้ขายสินค้าได้ ประกอบกับความกดดันที่จะต้องเลือกขายผลผลิตก่อนที่จะเก็บให้ตัวเองได้บริโภคอย่างพอเพียง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เรื่องที่เชื่อมโยงประเทศร่ำรวยและยากจนไว้ด้วยกันคือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ปริมาณพลังงาน และการบริโภคน้ำอย่างไม่ยั่งยืนในหลายๆ ประเทศ เหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร แม้ว่าดูจากตอนนี้ ประเทศร่ำรวยจะมีเงินทุนแก้ปัญหาไปได้ระยะหนึ่ง แต่ประเทศยากจนยังไม่มีแผนแก้ปัญหาได้

ปัญหาการเข้าถึงแหล่งน้ำ ส่วนหนึ่งเกิดจากวิธีการใช้น้ำที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน เนื่องจากเกษตรกรพยายามจะทดน้ำจำนวนมากเพื่อเพิ่มผลผลิต บ้างมาจากสาเหตุที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ปริมาณน้ำฝนและหิมะละลายเปลี่ยนไป เช่นเหตุการณ์เหล่านี้ การทดน้ำเพื่อการเกษตรอย่างไม่คำนึงถึงปริมาณในช่วงก่อนฤดูมรสุมที่ประเทศอินเดียส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนในฤดูมรสุมลดลง แสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปในทันทีจะยืดเวลาที่ลมมรสุมจะพัดผ่านมหาสมุทร ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำลดลง พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปโดยเน้นการกินเนื้อสัตว์มากขึ้น ส่งผลให้ในเอเชียมีการผันน้ำมากขึ้น และปริมาณน้ำลดลง หากไม่มีการจัดการน้ำที่ดี การพัฒนาสุขภาพและโภชนาการก็จะเป็นปัญหา เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันได้เกิดขึ้นแล้วที่แอฟริกา (พื้นที่ 1 ใน 4 ของทวีปประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง) และในตะวันออกกลาง เมืองซาน่าประเทศเยเมน มีแนวโน้มที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของโลกที่ไม่มีน้ำ ส่วนเมืองเอเดนก็เกิดปัญหาจลาจลเนื่องจากการขาดแคลนน้ำมาแล้ว

วิธีสร้างความมั่นคงทางอาหาร อย่างพื้นฐานที่สุด (แนะนำสำหรับประเทศร่ำรวย) บริโภคอาหารที่มาจากหลากหลายแหล่งที่มา ทั้งทางกายภาพและลักษณะการผลิต สนับสนุนสินค้าท้องถิ่น และบริโภคอาหารตามฤดูกาล เปลี่ยนจากการกินอาหารที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการผลิตมาเป็นกินอาหารอินทรีย์และอาหารที่มีวิธีการผลิตที่ยั่งยืน หลีกเลี่ยงอาหารจากการทำเกษตรที่ต้องใช้พลังงานฟอสซิล (แม้กระทั่งการผลิตอาหารอินทรีย์อย่างไม่คำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่ก็สร้างความเสี่ยงทางอาหารเช่นกัน) ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาการจัดการน้ำ พิจารณาถึงประเทศที่การเข้าถึงน้ำอยู่ในระดับต่ำ ไม่ว่าที่ใดในโลกลดการใช้พลังงานและการปล่อยของเสียเพื่อป้องกันผลกระทบอันเลวร้ายของสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงหันมาใช้การขนส่งที่ใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

ตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน เป็นการศึกษาตัวชี้วัดของครัวเรือนและชุมชนในชนบท งานศึกษา พบว่า บริบทที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน มีหลากหลายมิติ การให้ความหมายความมั่นคงทางอาหารของชุมชน มิได้มีเพียงความหมายในด้านการมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอเท่านั้น แต่ได้เกี่ยวพันในประเด็นด้านสิทธิ และการเข้าถึงฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนการเข้าถึงระบบอาหารทั้งในท้องถิ่น และในระบบห่วงโซ่อาหารของสังคม รวมทั้งมีมิติของความมีเสถียรภาพและความยั่งยืน ของระบบอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของครัวเรือนและชุมชนในปัจจุบันและอนาคตการวัดความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชนนั้น นอกจากจะมีตัวชี้วัดในด้านภาวะโภชนาการหรือสถานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ดังที่ปรากฏในตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว

ตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปีเป็นพื้นฐาน ได้เน้นไปที่การพึ่งตนเองด้านอาหารทั้งในระดับครัวเรือน และชุมชน และให้ความสำคัญกับมิติในด้านสิทธิและการเข้าถึงระบบอาหาร ซึ่งประกอบด้วยสิทธิและการเข้าถึงฐานทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรชายฝั่งและทะเล สิทธิและการเข้าถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ทั้งที่ดิน แหล่งน้ำและพันธุกรรมพืชและสัตว์ สิทธิในทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงระบบการค้าอาหาร ซึ่งมีมิติที่หลากหลาย ทั้งมิติเศรษฐกิจครัวเรือนเพื่อการพึ่งตนเองที่เน้นการกระจายผลผลิตอาหารของชุมชน และระบบการกระจายอาหารของสังคมเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอาหารมิติด้านรายได้ของครัวเรือนเพื่อให้สามารถเข้าถึงอาหารในระบบตลาดโดยเน้นที่จะให้มีแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลาย นอกจากรายได้จากภาคการเกษตรรวมทั้งการเข้าถึงคุณภาพอาหาร ที่มีมิติทั้งด้านความปลอดภัยด้านอาหาร คุณภาพทางโภชนาการ ซึ่งมิได้วัดภาวะโภชนาการเพียงอย่างเดียวแต่วัดจากกระบวนการผลิตของครัวเรือน และชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดนโยบายด้านการตลาด และมาตรฐานอาหารของสินค้าที่ขายในท้องถิ่นรวมทั้งการสร้างความรู้ในระบบอาหารท้องถิ่นของชุมชน และภาวะสุขภาพของคนในครัวเรือนและชุมชนและสิทธิในทางวัฒนธรรมและการพัฒนาที่จะดำรงระบบอาหารของชุมชน การสำรองอาหารและการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารของครัวเรือนและชุมชน ตัวชี้วัดความเสี่ยง ความเปราะบาง และศักยภาพของชุมชน เป็นตัวชี้วัดที่จะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืน ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตด้านอาหาร ความเสี่ยงและความเปราะบางจะสะท้อนบริบทที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน ทั้งที่เป็นปัจจัยจากภายนอก เช่นภัยพิบัติอันเกิดจากธรรมชาติ หรือในภาวะสงคราม และปัจจัยจากภายในคือ สัดส่วนการพึ่งตนเองด้านอาหารที่ลดลง และการประเมินศักยภาพของชุมชนทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน ที่จะตอบสนองต่อวิกฤติและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือสำหรับการวางแผนการพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือนและชุมชนในอนาคต

จากการประเมินสถานะความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชนตามตัวชี้วัดที่กำหนดขึ้นนี้ พบว่า ยังมีความไม่มั่นคงทางอาหารของชุมชนในหลายมิติ โดยเฉพาะในด้านสิทธิและการเข้าถึงระบบอาหาร ในขณะที่ศักยภาพของชุมชนในบางชุมชนยังดำรงการช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหาภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร ข้อเสนอจากการศึกษาครั้งนี้ จึงครอบคลุมทั้ง การใช้เครื่องมือตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหารสำหรับการประเมินสถานภาพความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชนและประเทศ การให้ความสำคัญกับการรับรองสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงฐานทรัพยากรอาหารของชุมชน การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการมีส่วนร่วมในระบบห่วงโซ่อาหาร และระบบการกระจายอาหารของชุมชนและสังคมรวมทั้งนโยบายที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือนและชุมชน เช่นนโยบายการใช้ที่ดิน เพื่อการปลูกพืชพลังงานและอาหาร นโยบายการจัดการน้ำของรัฐ นโยบายด้านป่าไม้ ที่ดิน เป็นต้น


หมายเลขบันทึก: 522076เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2013 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท