deawche
เดี่ยวเช คมสัน deawche หน่อคำ

ชีวิตดั่งนิยายของโชติ แพร่พันธุ์


ชีวิตดั่งนิยายของโชติ แพร่พันธุ์

(พ.ศ.๒๔๓๒-๒๔๕๐) ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปราช (น้อย เทพวงศ์) บุตรพญาพิมพิศาลราชา เจ้าเมืองแพร่เดิมที่ถึงแก่กรรม เป็นเจ้าเมืองแพร่ นามว่า "เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์" ในปี ๒๔๔๒ พระเจ้าอยู่หัวประกาศยกเลิกเมืองประเทศราชและทรงแต่งตั้งให้พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่) เป็นข้าหลวงสำเร็จราชการแทนพระองค์ประจำเมืองแพร่เป็นคนแรก
  ในอตีดการสื่อสารที่ห่างไกลกัน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน นำมาสู่การก่อความไม่สงบ เจ้านายฝ่ายเหนือหนุนหลังให้เกิดการจราจลขึ้นเมื่อ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ โดย "พกาหม่อง" เงี้ยวที่หนีมาจากเมืองเชียงตุงกับพวก ได้ทำการยึดศาลากลางกวาดเงินในพระคลังไปทั้งหมด (๕๖,๙๑๐ บาท เศษ ๓๗ อัฐ) พระยาไชยบูรณ์พยายามต่อสู้ แต่สู้ไม่ได้ จึงหนีไป แต่ภายหลังถูกจับ และถูกตัดหัวที่ร่องกวางเคา ตำบลห้องกาด (คือร่องคาว ซึ่งเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ในปัจจุบัน) พกาหม่องหลังจากบุกปล้นเมืองแพร่ได้ง่ายๆ ก็พาพวกบุกปล้นเมืองอุตรดิตถ์ เมืองลำปางต่อไป ในที่สุดก็ถูกตำรวจเมืองลำปางยิงตายพร้อมกับพรรคพวก ๓๐ คน ที่วัดป่ารวก เมื่อ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๕ เมืองแพร่จึงกลับมาอยู่ในปกครองของไทยดังเดิม ส่วนเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ หนีไปอยู่เมืองลาว
  เมื่อเมืองแพร่สงบลงแล้ว คุณหญิงเยื้อนภรรยาพระยาไชยบูรณ์ ได้นำเจ้าบัวไหลชายาเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ พร้อมกับเจ้าอินแปง(บางแห่งเขียนว่าอินทรแปลง)บุตรชายคนเดียวของอดีตเจ้าเมืองแพร่ (เจ้าอินแปงเป็นบุตรคนเล็ก มีพี่ ๖ คน เป็นหญิงทั้งหมด) เข้าถวายตัวต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระองค์ทรงรับเจ้าอินแปงไว้ในฐานะ "บุตรบุญธรรม" อยู่ในวังดำรงสถิต 
  เจ้าอินแปงได้สนิทสนมกับหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นต้นห้องของหม่อมเฉี่อย (พระมารดาของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล) ชื่อว่า "จ้อย" และแอบลักลอบได้เสียกันจนจ้อยตั้งครรภ์ ในช่วงนั้นเจ้าอินแปงสำเร็จการศึกษา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้เจ้าอินแปงกลับไปดูสมบัติที่เมืองแพร่ส่วนจ้อยเกรงอาญาวัง เลยหนีไปอยู่กับคุณนายจันทร์ผู้ดูแลโรงเลี้ยงเด็กของพระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีย์ภิรมย์ และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งให้ชื่อว่า "โชติ" (ภายหลังเมื่อโชติจะเข้าโรงเรียน จ้อยได้พาโชติมาเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อขอประทานนามสกุล ซึ่งได้ประทานนามสกุลให้ว่า "แพร่พันธุ์"

(พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๕๖) แม่จ้อย ได้ให้กำเนิดบุตรชาย ณ ตอนเช้าวันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๗ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ให้ชื่อว่า "โชติ" แทนชื่อ "อินทรเดช" ตามที่พ่อตั้งไว้ให้ ชีวิตวัยเด็กของโชติต้องระหกระเหินเร่ร่อนไปตามทิฐิมานะของแม่ ที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือใดๆ จากเจ้าอินแปงตลอดรวมถึงวงศาคณาญาติของเจ้าอินแปงด้วย และแม้เมื่อเจ้าอินแปงได้ถึงแก่กรรมและได้จัดพิธีฌาปณกิจที่เมรุวัดสระเกศ (ตอนโชติอายุ ๑๓ ปี) จ้อยก็ให้ลูกสาบาน ไม่ยอมให้ไปเผาศพบิดา 

โชติ แพร่พันธุ์ หรือ ยาขอบ หรือ เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 เป็นบุตรของเจ้าอินแปง เทพวงศ์ เชื้อสายเจ้าเมืองแพร่ มารดาชื่อจ้อย เป็นต้นห้องของหม่อมเฉื่อยในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ชีวิตในวัยเด็กมีความยากจน มารดาได้นำมาฝากเจ้าคุณบริหารนครินทร์ช่วยอุปการะ โชติ แพร่พันธุ์ เข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ยาขอบได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงม้าและขี่ม้ามาตั้งแต่เล็กๆ เนื่องด้วยมารดาได้เข้าไปอยู่ในอุปการะ ของ หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล ณ วังสำเพ็ง และทรงมีคอกม้าส่วนพระองค์ขณะที่ยาขอบศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ยาขอบได้เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงกับ อาจารย์ประจำชั้นคือ ครูถนิม เลาหะวิไล อย่างรุนแรง โดยครูถนิม ได้ถามว่า ธรรมะคืออะไร ยาขอบได้ตอบคำถามครูว่า ธรรมะคือคุณากร! เมื่อยาขอบถูกลงโทษจึงได้คิดถือโกรธแค้นเคือง วันต่อมาจึง ปลดหมวกของครูลงพื้น แล้วได้เหยียบย่ำสมใจ จึงเป็นเหตุที่ทำให้ยาขอบต้องออกจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ตั้งแต่นั้นมา

ยาขอบ ได้หนีออกจากบ้านของพระยาบริหารนครินทร์ ในวันที่ได้รับเงินค่าเล่าเรียน ๔๐บาท และได้ใช้เดินทางเร่ร่อนไปเรื่อยๆ จนเงินหมดจึงเริ่มทำงานชิ้นแรก คือ รับจ้างจูงวัวจากหัวลำโพงไปถนนตก ได้ค่าแรง ตัวละสลึง แต่ทำได้ไม่กี่เที่ยวก็เลิก จากนั้นไปอาศัยอยู่กับอาแท้ๆ แถวศาลาแดง ชื่อจีบ มีอาชีพเป็นเจ้าสำนักทรงเจ้าเข้าผี โดยยาขอบมีกิจวัตรประจำวันคืออ่านหนังสือประโลมโลกย์ให้เขาฟัง และเคยถูกบังคับให้เป็นคนทรงด้วย แต่ด้วยที่ยาขอบเห็นเป็นอาชีพหลอกลวง จึงได้หนีออกมาไปนอนเร่ร่อนตามคอกม้ากับบรรดาเด็กขี่ม้าที่ชอบใจกันต่อมาได้มีโอกาสดูแล ฝึกซ้อมจนสามารถขี่ม้าแข่งได้ด้วยตนเอง เวลาที่ว่างจากการซ้อมแข่งม้า ก็ไปวิ่งวัว วิ่งรอกว่าวจุฬากลางทุ่งศาลาแดงและวนเวียนไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ หลังโรงเรียนเลิกแล้วที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ พอเล่นเสร็จก็กลับไปสู่คอกม้า ต่อมา ม.ล.ต๋อย, ม.ล.ต้อย และ ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้เคยได้ร่วมชั้นเรียนเดียวกัน จึงขออนุญาตบิดา มารดา ให้นายโชติ แพร่พันธุ์ ยาขอบ ในวัย ๑๓ปีกว่าๆ เข้าไปอยู่ที่บ้านด้วย


  เมื่อชีวิตที่เคยชินกับการโลดโผนสนุกสนานไปตามอารมณ์นั้นต้องมาอยู่ในกรอบบ้านที่เป็นระเบียบ ชีวิตสงบเงียบ ยาขอบจึงเริ่มเบื่อหน่าย จึงขอออกจากบ้านหลังนั้นมา จนวันหนึ่ง เดินอยู่ที่ถนนเจริญกรุงตอนล่าง ถึง ริมฝั่งแม่น้ำ ยาขอบได้ยินคนแจวเรือจ้างพูดถึงเรื่องฝากตัวบุตรไปไว้ในอุปการะของพระยาพิทักษ์ภูบาล ซึ่งกำลังจะตามเสด็จ องค์ล้นเกล้ารัชกาลที่๖ ไปบางประอิน ยาขอบจึงเห็นว่าการที่จะได้ตามไปบางประอินนั้น จะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับองค์ล้นเกล้า จึงขอติดตามสมัครไปด้วยเป็นเด็กรับใช้พระยาพิทักษ์ภูบาล โดยเมื่อพระยาพิทักษ์ภูบาล ได้ทราบว่ายาขอบเคยอยู่กับพระยาบริหารนครินทร์ มาก่อน จึงรับไว้ทันที ซึ่งณะนั้นยาขอบมีอายุประมาณ ๑๕-๑๖ ปีด้วยความเฉลียวฉลาด คล่อแคล่ว ทำให้ได้รับความเมตตาใช้สอยอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง มีหน้าที่เขียนตามคำบอกและอ่านหนังสือให้เจ้าคุณฟัง เช่น เรื่องขุนช้าง ขุนแผน อิเหนา พระอภัยมณี ราชาธิราชและเกร็ดพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก เลียดก๊ก เป็นต้น (การอ่านหนังสือมากทำให้มีความรู้จนสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพเป็นนักเขียนที่มีชื่อ )

เมื่ออายุได้ ๑๗ปีเต็มซึ่งต้องไปขึ้นทะเบียนทหาร พระยาพิทักษ์ภูบาลจึงนำตัวไปเป็นสารวัตรทหาร สำหรับติดตามรับใช้ต่อไป ครั้นในสมัยรัชกาลที่๗ ประเทศไทยประสบภาวะเศรษฐกิจ อันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ของโลกถดถอยลงจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระยาพิทักษ์ภูบาล ได้ถูกดุลออกจากราชการ มาประกอบอาชีพ ค้าขาย ซึ่งยาขอบได้ช่วยอยู่ระยะหนึ่งจึงได้ลาออกมา
  ในขณะที่เร่ร่อนอยู่นั้น ยาขอบบังเอิญได้ไปพบกับครูถนิม เลาหะวิไล ครูเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ที่ยาขอบได้เคยมีการโต้เถียงอย่างรุนแรง จนต้องออกจากโรงเรียนครูถนิม เลาหะวิไล ได้นำยาขอบไปฝากเข้าทำงานที่ ร้านพร้อมภัณฑ์ของคุณพร้อม วีระสัมฤทธิ์ ซึ่งกำลังออกหนังสือการเมืองรายสัปดาห์ชื่อ"สยามรีวิว"โดย ครูถนิม เลาหะวิไล เป็นบรรณาธิการ ยาขอบมีหน้าที่เขียนตามคำบอกของคุณพร้อม วีระสัมฤทธิ์ ที่มีสุขภาพไม่ดีในอัตราค่าจ้างเดือน ละ ๑๕ บาท แต่ทำงานอยู่ได้แค่ ๑๒ วัน ยาขอบหยุดงานไปโดนไม่ลา จึงถูกให้ออกจากงานจากนั้นได้ไปขอทำงานที่หนังสือพิมพ์ธงไทย ของเพื่อนคือ เฉวียง เศวตะทัต ในฐานะผู้สื่อข่าว ซึ่งนับว่าเป็นโอกาส ครั้งแรกที่ได้เขียนหนังสือ และได้มีส่วนรายงานข่าวแบบใหม่เหมือนวรรณกรรมข่าว จนเป็นที่พอใจมากของผู้เป็นบรรณาธิการ แต่หนังสือพิมพ์ธงไทย ก็ต้องปิดตัวเองลงเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ ขณะนั้นยาขอบมีอายุได้ ๒๐ปี
  หลังตกงานได้มีมิตรผู้ใหญ่พาไปฝากทำงานที่ห้างขายยาเพ็ญภาค ในระหว่างนั้นยาขอบก็ยังคบหากับเพื่อนโรงเรียนเทพศิรินทร์ที่ได้เป็นนักเขียนหลายคนแล้ว เช่น ศรีบูรพา - กุหลาบ สายประดิษฐ์, เฉลียง เศวตะทัต, ป่วน บูรณศิล ปิน, สด กูรมะโรหิต, เปลื้อง ณ นคร เป็นต้นในปีพ.ศ.๒๔๗๒ ศรีบูรพา- กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้จัดตั้งคณะนักเขียนสุภาพบุรุษ ออกหนังสือสุภาพบุรุษรายปักษ์ มีคราวหนึ่งครูอบ ไชยวสุ หรือ ฮิวเมอร์ริสต์ มีเหตุจำเป็นไม่สามารถส่งต้นฉบับเรื่องตลกประจำเล่มได้ ศรีบูรพา ได้เห็นว่ายาขอบ เป็นผู้มีอารมร์ขันอยู่มาก จึงเคี่ยวเข็ญให้เขียนเรื่องมาลงแทน พร้อมกับได้ตั้งนามปากกาให้ว่า “ยาขอบ”
  นามปากกา "ยาขอบ" นี้ เลียนแบบมาจากนักเขียนเรื่องตลกชาวอังกฤษที่ชื่อ เจ.ดับบิว.ยาค็อบ ทำให้เกิดงานประพันธ์ ชิ้นแรกขั้นในนามยาขอบ ชื่อเรื่องว่า จดหมายเจ้าแก้วขณะที่ยาขอบทำงานอยู่ที่ห้างขายยาเพ็ญภาค เป็นปีที่ ๕ นั้น ก็ต้องลาออกเพราะว่าเกิดไปมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับน้องสาวสุดที่รักของนายห้า คือ คุณจรัส ซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของยาขอบ จนมีบุตรคือ นายมานะ แพร่พันธุ์ ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บ้านเมืองรายวัน ต่อมานั้นยาขอบได้มีภรรยาอีกหลายคนคือ คุณสงวนศรี, คุณชลูด, คุณประกายศรี ศรุตานนท์

ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ เมื่อออกจากงานที่ห้างขายยาเพ็ญภาค ก็ได้ไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน ชื่อว่า สุริยา และได้เริ่มต้นเขียนอมตนิยายปลอมพงศาวดารเรื่องยอดขุนพล ในนามยาขอบ ที่นี่ โดยยาขอบได้อาศัยเค้าเรื่องจาก พงศาวดารเพียง ๘ บรรทัด แต่เขียนได้ไม่นานหนังสือพิมพ์สุริยาก็ปิดกิจการลง
ต่อมาเมื่อนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ไปทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ยาขอบได้ถูก กำหนดให้เขียนเรื่องยอดขุนพลต่อไปอีก ต่อมา นายมาลัย ชูพานิช ได้เปลี่ยนชื่อเรื่องให้ใหม่เป็นผู้ชนะสิบทิศ โดยเริ่มพิมพ์ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๕ จนจบภาคหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๖ และลง พิมพ์ต่อเนื่องได้ ๔ ปี ก็หยุดอีกครั้ง ต่อมาจึงไปต่อตอนที่หนังสือพิมพ์สยามนิกร ยังไม่ทันจบก็ต้องหยุดอีก และหยุดลงจนยาขอบได้เสียชีวิตลง
  แม้นวนิยายผู้ชนะสิบทิศ ที่ยาขอบประพันธ์ยังไม่จบลง แต่ผู้ชนะสิบทิศที่ยาขอบได้เสกสรรค์นี้ ได้รับความนิยมจากผู้อ่านมากที่สุด มาทุกยุคทุกสมัย และ ผู้ชนะสิบทิศนี้ เป็น บทประพันธ์ที่ทำให้ ชื่อของยาขอบ ติดตรึงอยู่บนฟากฟ้า ทำเนียบนักประพันธ์ไทยไปตลอดกาลอย่างไรก็ตามยังคงมีหลักฐานปรากฏไว้ว่า ยาขอบได้เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก แล้วพิมพ์จำหน่ายเป็นเล่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑ ชื่อ มารหัวใจ โดยใช้นามปากกาว่า กฤษณา และเริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ อารมร์ โดยใช้นามจริง ลงในหนังสือช่วยกาชาด เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๕ นอกจากนั้ยังมีบทประพันธ์พวกเรื่องแปล ร้อยกรอง สารคดี บทความ และอื่นๆอีกมากมายยาขอบเป็นคนที่ ชอบดื่มสุราอย่างหนัก แต่เวลาจะเขียนเรื่องนั้นยาขอบจะไม่ดื่มสุราเลย แต่จะสูบบุหรี่จัด และพิถีพิถันในงานเขียนทุกเรื่อง โดยเขียนหวัดแกมบรรจง ใช้หมึกสีน้ำเงินลงบนกระดาษสีชมพู และมุมระดาษทุกแผ่นจะต้องมีชื่อ ยาขอบ อยู่ด้วย

ฟาดหัว:ผู้ชนะสิบทิศเขียนมาจากพงศาวดารที่โชติมีโอกาสได้อ่านเพียง 8 บรรทัดเท่านั้น แต่ความเป็นอัจฉริยะทางวรรณกรรมกลับถ่ายทอดได้อย่างหลากอรรถรส มากถึง 8 เล่ม

ขอบคุณข้อมูลจาก: http://kanchanapisek.or.th/kp8/culture/pre/pre242.html, ในวิกิพีเดีย, http://www.thaipressasso.com/asso/chairman5.htm, http://61.19.32.121/banlu/yakuob.htm, มหาวิทยาลัยนเรศวรความรู้เกิดจากการอ่าน10112552beeman2009


หมายเลขบันทึก: 521627เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท