ชีวิตที่พอเพียง: ๑๗๖๔. ชีวิต“คุณอำนวย”เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์


เวลานี้การศึกษาไทยไม่ว่าระดับใดเอาใจใส่เพียงด้าน “ปัญญาศึกษา” ไม่สนใจด้าน“จิตตศึกษา”ซึ่งจะช่วยพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ไปด้วย การเรียนรู้แบบใหม่ที่เรียกว่า“การเรียนโดยกระทำ” (Active Learning) จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ครบทั้ง ๔ ด้าน หากครูโค้ชเป็น


          เช้าวันที่ ๖ ก.พ. ๕๖  ผมไปประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่เหมาะสม ในศตวรรษที่ ๒๑  ครั้งที่ ๕  ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เป็นการประชุมที่ช่วยให้เห็นลู่ทางปฏิรูปการเรียนรู้ของวิชาชีพสุขภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

          เป้าหมายที่สำคัญคือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการเรียนรู้จากของศตวรรษที่ ๒๐  ไปสู่กระบวนทัศน์ของศตวรรษที่ ๒๑  หรืออาจเรียกว่าเปลี่ยนจาก Science - Based HRH Education  ไปเป็น Systems-Based HRH Education  (HRH = Human Resources for Health)

          คือเน้นที่ตัวความรู้ไม่ได้เสียแล้ว  ต้องเน้นที่ทักษะที่จำเป็น (สำคัญ) สำหรับออกไปทำงานในระบบสุขภาพของประเทศนั้น  ย้ำคำว่า “ของประเทศนั้น”  คือไม่ใช่ผลิตตามๆกันตามมาตรฐานโลก  ต้องผลิตเพื่อประเทศนั้นๆ  เพราะค่าใช้จ่ายในการผลิตร้อยละ ๙๐ (หรือกว่า) มาจากภาษีอากรที่เก็บจากประชาชนของประเทศนั้นๆ 

          พูดง่ายๆว่า  การศึกษา (ของวิชาชีพสุขภาพ) ต้องรับใช้ระบบ (สุขภาพ)  ต้องวิเคราะห์ว่าการทำงานในระบบสุขภาพของประเทศ ต้องการทักษะสำคัญอะไรบ้างสำหรับวิชาชีพนั้น  แล้วจัดการศึกษาของวิชาชีพนั้นให้ตรงความต้องการ

          การศึกษาต้องเป็นแบบ Outcome-Based Education  โดยที่กำหนด Learning Outcome จากความต้องการของระบบสุขภาพ  ไม่ใช่กำหนดโดยฝ่ายวิชาการโดยเอาองค์ความรู้ของวิชาชีพนั้นเป็นหลัก

          คือต้องเปลี่ยนจากการผลิตบุคลากรสุขภาพ แบบเน้นsupply push  ไปเป็นเน้นdemand pull  

          การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน หากใช้วิธีการที่ถูกต้องจะสนุกทั้งครูและศิษย์  เกิดการเรียนรู้และทักษะได้ไม่ยาก  แต่ถ้าใช้วิธีการที่ผิดก็จะทุกข์ยากทั้งครูและศิษย์  เพราะขยันเพียงไรก็ไม่สำเร็จเรียนไม่ไหว  ความรู้มันมากเหลือเกินเรียน/สอนไม่ทัน  ได้หน้าลืมหลังรู้วิชาท่องได้ตอบได้แต่พอไปเจอสถานการณ์จริงทำไม่ได้แก้ปัญหาไม่ได้  เป็นการเรียนที่ชีวิตรันทดทั้งศิษย์และครู 

          ที่ร้ายยิ่งกว่าคือจะได้บัณฑิตที่แล้งน้ำใจ  ไม่เข้าใจคนอื่นไม่รักผู้อื่นไม่มีจิตสาธารณะเห็นแต่แก่ตัวเอง  สื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้  ทำงานกับคนอื่นวิชาชีพอื่นไม่เป็น  ไม่มั่นใจตนเองและเคารพคนอื่นไม่เป็น 

          การเรียนรู้แบบใหม่ที่เรียกว่า Transformative Learning คือคำตอบ  ซึ่งวิธีการเรียนรู้จะเปลี่ยนไปจากเน้นการสอนเป็นเน้นการเรียน  เน้นการเรียนทั้งของศิษย์และการเรียนของครู  ใช้หลัก“เรียนโดยลงมือทำ (และคิด)” (Learning by Doing) 

          ครูเปลี่ยนจากทำหน้าที่สอนหรือสั่งสอน  ไปทำหน้าที่โค้ชหรือ  “คุณอำนวย”  อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้โดยการลงมือทำให้แก่ศิษย์

          เนื่องจากศตวรรษที่ ๒๑ ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เปลี่ยนแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้  รวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน จริงกับเท็จอยู่ด้วยกัน  บัณฑิตจึงต้องฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตน  ต้องฝึกทักษะการเรียนรู้ทักษะคาย (หรือปลดปล่อย) ความรู้ชุดเดิมที่ผิดหรือล้าหลัง  และทักษะเรียนความรู้ชุดใหม่  แล้วนำความรู้ชุดใหม่ (ซึ่งในหลายกรณีเป็นการเปลี่ยนในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์)  เอาไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ตนเอง หน่วยงาน ชุมชน หรือสังคม  นี่คือทักษะ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (Change Agent)  ที่จริงการฝึกทักษะในย่อหน้านี้ต้องทำตั้งแต่ชั้นอนุบาล หรือชั้นเด็กเล็กตามระดับพัฒนาการของเด็ก  และฝึกเรื่อยไปตลอดชีวิต 

          Transformative Learning (เรียนรู้บูรณาการ) คือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการครบทั้ง ๔ ด้าน ไปพร้อมๆกันหรือในเวลาเดียวกัน  ไม่แยกกันเรียนคือด้านสติปัญญา  สังคมอารมณ์และจิตวิญญาณ

          เวลานี้การศึกษาไทยไม่ว่าระดับใดเอาใจใส่เพียงด้าน “ปัญญาศึกษา”  ไม่สนใจด้าน“จิตตศึกษา”ซึ่งจะช่วยพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ไปด้วย  การเรียนรู้แบบใหม่ที่เรียกว่า“การเรียนโดยกระทำ” (Active Learning) จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ครบทั้ง ๔ ด้าน หากครูโค้ชเป็น 

          การเรียนโดยการกระทำ จะมีผลให้เกิดการเรียนรู้บูรณาการหรือไม่ก็ได้  ขึ้นกับว่าครูโค้ชเป็นหรือไม่ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องยากคือหลังเรียนโดยทำกิจกรรมเสร็จต้องมีการทำ reflection หรือ AAR  ทักษะชวนนศ. ทำ reflection มีความสำคัญมาก  และครู/อาจารย์ต้องฝึกต้องเรียนรู้อยู่ตลอดไป

          ครู/อาจารย์จึงต้องรวมตัวกัน เพื่อเรียนรู้ร่วมกันด้านการทำหน้าที่โค้ช  ซึ่งรวมทั้งการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่จะจัดให้แก่ศิษย์  การทำ reflection ร่วมกันเพื่อเรียนรู้Transformative Learning ในฐานะครู/อาจารย์  การรวมตัวกันเรียนรู้ของครูนี้เรียกว่าPLC (Professional Learning Community) หรือLesson Study

          ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วและรุนแรงเช่นปัจจุบัน (และอนาคต)  การเปลี่ยนแปลงในระดับกระบวนทัศน์มาเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ  ทักษะในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ตนเอง และเอื้ออำนวยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้คนรอบข้าง (และในสังคม) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผมกำลังเรียนรู้   



วิจารณ์  พานิช

๗  ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 521626เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การรวมตัวกันเรียนรู้ของครูPLC (Professional Learning Community) หรือLesson Studyเป็นเรื่องสำคัญมากประทับใจในปณิธานของคุณหมอ ดิฉันโชคดีที่มีโอกาสเข้าร่วมครู  plc มหาสารคามที่ท่านดร.ฤทธิไกร ไชยงาม

กำลังขับเคลื่อนท่านมีความมุ่งมั่นและมีความสุขในการทำงาน ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าได้รับพลังจากท่านด้วยถึงแม้จะเป็นส่วนเล็กๆของโครงการก็จะทำด้วยใจให้เกิดประโยชน์กับเด็กพิเศษเรียนร่วมที่ดูแลอยู่  จะดูแลเขาด้วยใจสัมผัสด้วยกายผสมจิตศึกษาให้เข้มข้นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท