ท่าทีแบบพระเซ็นเมื่อถูกเข้าใจผิด


มีคนโพสต์ข้อความว่า การเข้าใจผิดมักเกิดจากใครบางคน "ไม่อธิบาย" และใครบางคน "ชอบคิดไปเอง" 

ผมได้แสดงความเห็นไปว่า น่าจะเอา "คิดไปเอง" (ฟุ้งไปเอง) ขึ้นก่อน ส่วนจะ "อธิบาย" หรือจะปล่อยให้เข้าใจผิดอย่างนั้นต่อไป ขึ้นกับความกรุณาของผู้ถูกเข้าใจผิดเองว่าจะอธิบายหรือไม่ เพียงไร เมื่อไร

แสดงความเห็นไปแล้วจึงนึกถึงนิทานเซ็นที่เคยอ่านนานแล้วเรื่องหนึ่งขึ้นมา

เรื่องมีอยู่ว่า ลูกสาวชาวบ้านผู้มีฐานะดีคนหนึ่งไปรักกับหนุ่มยากจน ต่อมาเกิดตั้งครรภ์ไม่กล้าบอกพ่อแม่ กลัวไม่ได้รับการยอมรับ จึงบอกไปว่าท้องกับพระในวัดนิกายเซ็นใกล้หมู่บ้าน คิดว่าพ่อแม่ไม่กล้าทำอะไรรุนแรงกับพระ

พ่อแม่จึงไปชี้หน้าด่าพระ ให้รับผิดชอบเลี้ยงดูบุตรสาวเป็นภรรยา ท่านฟังอย่างสงบ ไม่ตอบโต้ เมื่อพ่อแม่สาวด่าจนพอใจแล้ว ท่านเพียงกล่าวว่า "อ้อ...อย่างนั้นเรอะ" แล้วก็จัดที่จัดทางให้นางได้อาศัยอยู่ในวัดโดยไม่มีอะไรกัน ท่านก็บำเพ็ญภาวนาของท่านต่อไป

ฝ่ายชาวบ้านทราบเรื่องก็พากันมารุมด่าพระรูปนี้ ท่านก็ฟังอย่างสงบ ไม่ตอบโต้ใดๆ เมื่อชาวบ้านด่าจบแล้ว ท่านกล่าวว่า "อ้อ...อย่างนั้นเรอะ" แล้วก็บำเพ็ญภาวนาของท่านต่อไป

ต่อมา สาวคนนั้นคลอดลูกหน้าตาไม่เหมือนพระ แต่ไปเหมือนแฟนหนุ่มตัวจริง จึงไปสารภาพกับพ่อแม่ พ่อแม่เห็นหลานแล้วเกิดความเอ็นดู รับหนุ่มยากจนเข้าบ้านมาเป็นเขยช่วยทำมาหากินแบบเลยตามเลย แล้วก็ไปขอโทษพระที่วัดพร้อมเล่าความจริงให้ฟัง ท่านก็ฟังอย่างสงบจนจบ แล้วกล่าวว่า "อ้อ...อย่างนั้นเรอะ"

ชาวบ้านทราบความจริงก็พากันมาขอโทษพระด้วย ท่านก็ฟังอย่างสงบจนจบ แล้วก็กล่าวกับชาวบ้านว่า "อ้อ...อย่างนั้นเรอะ" - จบ

ท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสอ่านเรื่องนี้แล้ว คิดอย่างไรกันบ้างครับ?

หมายเลขบันทึก: 520993เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท