กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๑๖) : ฝึกใจให้เป็นกวี (๒)



กิจกรรมชวนกันเขียนอุปมาโวหารในช่วงบ่าย  ครูกานท์เริ่มด้วยการยกตัวอย่างคำอุปมาโวหารแบบต่าง ๆ จากนั้นให้เด็ก ๆ ทดลองยกตัวอย่างอุปมา  จากนั้นจึงให้เวลาให้เด็ก ๆ สร้างสรรค์ผลงานอุปมาด้วยตนเอง  แล้วอออกมาอ่านผลงานการเขียนนั้น ๆ งานนี้ใครออกมาอ่านได้รางวัลเป็นลายเซ็นของครูกานท์  ปรากฏว่าเด็ก ๆ เข้าแถวกันออกมาอ่านผลงานกันยาวเหยียดชนิดไม่ต้องให้ครูคอยกระตุ้นให้ออกมานำเสนอเหมือนตอนที่อยู่โรงเรียนเลย  ผลงานที่ออกมาเขียนคำอุปมากันหลากหลาย คนละไม่ต่ำกว่า ๑๐ บททีเดียว  ถึงขนาดครูกานท์ต้องขอให้คัดลอกอุปมาที่เด็ดที่สุดของตนเองคนละ ๑ บท มอบให้ครูกานท์เก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย


ตัวอย่างคำอุปมาบางส่วนที่เด็กๆ คิดขึ้น

เอ๋ย    ความทุกข์เหมือนความมืด ยิ่งเดินในที่มืดก็ยิ่งกล้า  ความรักที่ครูมีให้ เหมือนสายธารที่ไหลรินไม่มีวันหมด

อุ่น   ความพอเพียงก็เหมือนกับแม่น้ำ  ถ้าประหยัดเกินไปก็ไม่มีน้ำใช้  แต่ถ้าฟุ่มเฟือยน้ำก็ท่วม

เดล   ความซื่อสัตย์คือสายรุ้ง ที่พามุ่งสู่ทางดี ความหลงใหลในทางที่ผิด เปรียบดั่งยาเสพติดและสุรา

ปั้น   แม่เหมือนหลังคา  ที่คอยบังฝน

ปัน (ญ.) ๓ /๒   รักของแม่เสมือนลูกคลื่นในทะเลที่ไม่มีวันหมด

   

หลังจากฝึกฝนการเขียนคำอุปมาแล้ว ครูกานท์ให้การบ้านก่อนเด็ก ๆ ไปจะไปรับประทานอาหารเย็นกัน  ก็คือ หากใครอยากให้ครูกานท์เซ็นต์ลายเซ็นต์ลงในหนังสือ “ไม้ตะปูและหัวใจ” จะต้องเลือกท่องจำบทประพันธ์ในหนังสือให้ได้อย่างน้อย ๑ บท  ครูกานท์จะเซ็นต์ให้  งานนี้ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับคุณครูนะคะ  ถ้าอยากได้ลายเซ็นต์ครูกานท์ก็ต้องมาท่องจำบทประพันธ์กับครูกานท์เอาเอง  คราวนี้คุณครูจึงต้องเร่งอ่านเร่งจำ เพื่อจะได้ลายเซ็นของครูกานท์มาประทับลงบนหนังสือของตัวเองกันยกใหญ่เลย  เด็ก ๆ เมื่อเห็นคุณครูท่องก็เริ่มหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน มาท่องกันบ้าง ไม่มีการยอมแพ้ครูกันเลย  ครูตั๊กมองแล้วก็อดยิ้มไม่ได้....รู้สึกวันนี้จะยิ้มได้ทั้งวันเชียวนะ


หลังจากรับประทานอาหารเย็นเสร็จครูกานท์พาท่องบทกลอนจากหนังสือ  ไม้ตะปูและหัวจใจ  ไปพร้อมกัน ไม่นานเลย เด็ก ๆ ก็สามารถจับหลักและท่องตามได้อย่างรวดเร็วและไพเราะจริง ๆ


จากนั้นครูกานท์และครูก้อย ชวนเด็ก ๆ เขียนบันทึกตามคำบอกกัน....โดยครูกานท์จะพาเด็ก ๆ เขียนจากคำบอกของครูกานท์ก่อน เพื่อเป็นการยกตัวอย่างให้เด็ก ๆ ได้รู้จักกลวิธีและรูปแบบการเขียน ครูกานท์  ครูก้อย บอกว่า ครูควรจะให้ตัวอย่างเด็กก่อน  เพื่อเด็กจะรู้ว่างานเขียนที่ดีเป็นอย่างไรสรุปได้ว่า  พวกเรากินครูกันซะอิ่มแปร้  ก่อนแยกย้ายไปเข้านอน


เช้าวันรุ่งขึ้น  ครูก้อยรับอรุณเด็ก ๆ ด้วยเพลงอาศรมร่มรัก  แล้วพาเด็ก ๆ กินครูเพื่อซึมซับความงามของคำกันตั้งแต่ ๖ โมงเช้า  เมื่อกินครูไปซักระยะ  ครูก้อยพาเด็ก ๆ นั่งหลับตาเบา ๆ เปิดประสาทรับรู้ทางหู เพื่อฟังเสียงยามเช้า แล้วเราก็ค่อย ๆ เคลื่อนขบวนพากันเดินอย่างสงบไปตามทางเดินเข้าสู่ไร่อ้อย ท่ามกลางบรรยากาศ  อันร่มรื่น ครูก้อยเล่าตำนวนภูเขาวงพาทย์  จากนั้นครูกานท์พาเด็ก ๆ เขียนบทประพันธ์ยามเช้า  โดยครูกานท์กำหนดวรรคแรกให้ว่า  “ฉันยืนอยู่กลางไร่อ้อย จากนั้นเด็ก ๆ และคุณครูก็หามุมของตัวเองเขียนบทประพันธ์  เพื่อล่าลายเซ็นต์ครูกานท์  บรรยากาศตอนนี้เด็กๆ ก้มหน้าก้มตาเขียนกันใหญ่เขียนกันไม่เลิกจนตะวันโด่งเลย ผลงานก็ออกมาน่ารักน่าอ่านทีเดียว


กิจกรรมต่อไปที่เด็ก ๆ เรียนรู้การเขียนกลอนหัวเดียว จากครูก้อย  ครูก้อยเริ่มจากการเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง ถึง ๓ เรื่อง คือ ต้นไม้วิเศษ  ฟันหนูอยู่ไหน  และ ภูเขามหาสนุก  จากนั้นให้เด็ก ๆ สังเกตหาฉันทลักษณ์  จากนั้นเล่าอีกหนึ่งเรื่อง คือ ช้างน้อยอยากบิน  โดยหยุดที่คำสุดท้ายในแต่ละบทให้เด็ก ๆ เติมคำเอง 

 

เมื่อเด็กๆ เข้าใจลักษณะของกลอนหัวเดียวกันแล้วก็เริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองกันเลย


ตัวอย่างผลงานของ แชมป์ กฤชณัฐ  กุลวานิช  (๓/๒)

           ทุ่งสักอาศรม     มาเดินสุขใจ

               เสียงลมเสียงไม้        กิ่งไม้พืชพันธุ์

               ครูก้อยครูกานท์         พาดูนกกา

               เพลิดเพลินจริงหนา    อยากมาทุกวัน

จากนั้นครูกานท์ครูก้อยพาเด็ก ๆ กอดต้นสัก  ฟังเสียงหัวใจต้นสัก  รักต้นสัก แล้วเขียนบันทึก เป็นกิจกรรมสุดท้าย

 

                   ก่อนอำลาทุ่งสักอาศรม..ครูตั๊กได้ยินคำพูดสั้น ๆ แต่ลึกซึ้งกินใจจากครูกานท์ว่า 

                                 “เพลินพัฒนา...........เด็กดีงาม........ครูก็ดีงาม....”


หมายเลขบันทึก: 520369เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2013 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2013 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท