Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

คุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนตามทฤษฎีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ


แพรภัทร ยอดแก้ว. (2555). คุณลักษณะพลเมืองอาเซียน. เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) . คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

ในฐานะที่อาเซียนเป็นองค์การที่มีกฎหมายรองรับเป็นองค์การระดับภูมิภาค ดังนั้น แนวคิดทฤษฎีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การจึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการสร้างเสริมคุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนได้อีกทางหนึ่ง  ซึ่งจะได้กล่าวถึงเป็นประเด็นตามลำดับ ดังนี้

  3.1  ความหมายของพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ  พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การนั้นจัดเป็นพฤติกรรมทางบวกของคนในองค์การที่ผู้บริหารทุกองค์การต้องการให้เกิดขึ้นกับองค์การของตน
จากการศึกษาและค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ
(Organizational Citizenship Behavior-OCB) พบว่า มีผู้ศึกษาและให้ความหมายของคำว่า
พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ไว้หลายท่าน ดังนี้

  Organ (1991: 275) ให้ความหมายว่า หมายถึง พฤติกรรมการให้ความร่วมมือที่สมาชิกมีให้แก่องค์การ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นองค์การไม่ได้ร้องขอและไม่ใช่การบังคับให้ทำ รวมทั้งไม่ได้รับรองว่าจะให้ผลตอบแทนใดๆโดยแบ่งออกเป็น 5 ด้านได้แก่ พฤติกรรมการให้ความช่วยเหลือ (Altruism) พฤติกรรมความสุภาพอ่อนน้อม(Courtesy)
พฤติกรรมความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา (Sportsmanship) พฤติกรรมการให้ความร่วมมือ (Civic Virtue) และพฤติกรรมความสำนึกในหน้าที่ (Conscientiousness)


  Borman และ Motowidlo (1993 อ้างถึงใน Niehoff, 2001: 4) กล่าวว่า พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การนั้น ควรเป็นพฤติกรรมที่สนับสนุนองค์การ สังคม และสภาพแวดล้อมทางจิตวิทยา

 

  Van (1995 อ้างถึงใน Niehoff, 2001: 4) ให้ความหมายว่า เป็นพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การและ/หรือเป็นการตั้งใจที่จะทำประโยชน์ให้แก่องค์การ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำเอง และพฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นเหนือความคาดหวังที่องค์การต้องการหรือคาดหวังไว้


  Newstrom และ Davis (1997: 265) ให้ความหมายว่า พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ
หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลที่ปฏิบัติโดยสมัครใจในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จในองค์การ

 

  Moorhead และ Griffin (2001: 108) ให้ความหมายว่า พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ
หมายถึง พฤติกรรมของบุคคลในการสร้าง สนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดผลทางบวกต่อองค์การ

 

  จากความหมายของคำว่า พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ดังกล่าวข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ หมายถึง เป็นพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การและ/หรือเป็นการตั้งใจที่จะทำประโยชน์ให้แก่องค์การ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกในองค์การตั้งใจจะทำเอง และพฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นเหนือความคาดหวังที่องค์การต้องการ หรือคาดหวังไว้และเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคม ความร่วมมือภายในองค์การ
ปฏิบัติตนด้วยความเต็มใจเพื่อองค์การ ช่วยสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จในองค์การ



  3.2 ความสำคัญของพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การต่อการเป็นพลเมืองอาเซียน  ในฐานะที่อาเซียนเป็นองค์การหนึ่งพลเมืองอาเซียนจึงต้องตระหนักในการเป็นสมาชิกที่ดีของอาเซียนเพราะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต้องความก้าวหน้าของอาเซียน  สอดคล้องกับ Smith et al. (1983: 653) ที่กล่าวไว้ว่า “พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การมีความสำคัญต่อองค์การ เพราะเปรียบเสมือนตัวหล่อลื่นเครื่องจักรทางสังคมในองค์การ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้
สามารถทำให้บุคคลจัดการสิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดีในสถานการณ์ที่ต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

  ดังนั้น การส่งเสริมพัฒนาให้พลเมืองอาเซียนเข้าใจเกี่ยวกับการมีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การจึงเป็นสิ่งสำคัญโดยจักต้องเข้าใจองค์ประกอบของพฤติกรรมนั้นแล้วนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ความสำเร็จขององค์การนั่นเอง  



  3.3 ลักษณะพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ในแนวคิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การนั้น
Williams และ Anderson (1991 อ้างถึงใน James และคณะ, 2002: 93-108) ได้แบ่งแนวคิด เกี่ยวกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การออกเป็น 2 รูปแบบ คือพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การที่มุ่งสู่บุคคล
(Organizational Citizenship Behavior Directed Toward Individuals-OCB-I) เป็นพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์เฉพาะหน้าต่อบุคคล เช่น การช่วยเหลือผู้อื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับงานหรือปัญหาในงาน เป็นต้น
และพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การที่มุ่งสู่องค์การ (Organizational Citizenship Behavior Directed Toward Organization-OCB-O) เป็นพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การโดยทั่วไป ซึ่งจากรูปแบบของพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การนี้อาจจำแนกพฤติกรรมได้ 5 ลักษณะ (Greenberg และ Baron, 1997: 371) ดังนี้



  3.3.1 พฤติกรรมการให้ความช่วยเหลือ (Altruism) เป็นพฤติกรรมการให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเมื่อมีโครงการที่ยาก สับเปลี่ยนวันหยุดให้กับเพื่อนร่วมงาน อาสาที่จะช่วยเหลืองาน

 

  3.3.2 พฤติกรรมความสำนึกในหน้าที่ (Conscientiousness) เป็นความตั้งใจที่จะทำงานเหนือกว่าความต้องการในงานที่น้อยที่สุด เชื่อฟังกฎระเบียบ ตรงต่อเวลา ไม่ขาดงาน ไม่ใช้เวลาในการปฏิบัติงานไปใช้ในเรื่องส่วนตัว


  3.3.3 พฤติกรรมการให้ความร่วมมือ (Civic Virtue) เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมกับวิถีชีวิตขององค์การ เช่น การให้ความสนใจเกี่ยวกับการประชุมด้วยความสมัครใจ อ่านประกาศต่างๆ มากกว่าที่จะขว้างทิ้งไปในเรื่องแจ้งให้ทราบทั่วไป อ่านบันทึก เก็บข้อมูลใหม่ๆ


  3.3.4 พฤติกรรมความอดทนอดกลั้น (Sportsmanship)เป็นการสมัครใจหรือยินดีที่จะยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการบ่น และการมีพฤติกรรมตามคำกล่าวที่ว่า “ยิ้มและอดทนในการทำงาน ไม่ค้นหาสิ่งที่ผิดพลาดขององค์การ”

 

  3.3.5 พฤติกรรมการคำนึงถึงผู้อื่น (Courtesy) เป็นพฤติกรรมที่มุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลในการทำงาน เช่น ไม่ใช้อารมณ์เมื่อเกิดความขัดแย้ง ไม่ทำให้การทะเลาะเบาะแว้งขยายออกไป เมื่อมีการถกเถียงหรือยั่วยุจากบุคคลอื่น

 

  3.4  คุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนโดยประยุกต์จากพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ  จากพฤติกรรมตามแนวคิดพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การข้างต้นนั้น อาจประยุกต์เป็นคุณลักษณะของพลเมืองอาเซียนในฐานะที่อาเซียนเป็นองค์การและพลเมืองอาเซียนเป็นสมาชิกขององค์การได้ ดังนี้


  3.4.1 มีน้ำใจเอื้ออาทรระหว่างกัน  พลเมืองอาเซียนจะต้องเป็นผู้มีน้ำใจเอื้ออาทร คือ มีจิตพร้อมที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน ในฐานะเป็นสมาชิกองค์การเดียวกัน คุณลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดภราดรภาพระหว่างกัน ซึ่งจะมีผลดี เช่น เมื่อมีปัญหาผิดพลาดหรือขัดแย้งใดๆ ก็สามารถให้อภัยกันได้ หรือเมื่อสมาชิกประเทศไทยประสบภัยต่างๆ ก็มีน้ำใจช่วยเหลือกัน เป็นต้น 


  3.4.2 สำนึกในหน้าที่ในฐานะเป็นพลเมืองอาเซียน  กล่าวคือ พลเมืองอาเซียนจะต้องมีความสำนึกในหน้าที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การนี้ โดยเฉพาะการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน  เช่น ในด้านเศรษฐกิจ พลเมืองอาเซียนต้องประกอบอาชีพด้วยความสุจริตไม่ทำลายความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจในขณะเดียวกันต้องมีความสามารถที่หลากหลายส่งเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้องค์การได้  ในด้านการเมืองและความมั่นคง พลเมืองอาเซียนต้องทำหน้าที่เป็นผู้รักษาสันติภาพให้องค์การ
ไม่ปฏิบัติตนให้เกิดความเดือดร้อน วุ่นวาย บั่นทอนความมั่นคงของอาเซียน เป็นต้น


  3.4.3 มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนา พลเมืองอาเซียนต้องทำหน้าที่สร้างสรรค์พัฒนาร่วมกัน 
เพราะพลเมืองอาเซียนทุกคนย่อมได้รับผลทั้งทางบวกและทางลบของการเป็นประชาคมอาเซียนด้วยกัน
เรียกว่า
“ร่วมชะตากรรม” เดียวกัน เพราะฉะนั้น จะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนา ตลอดถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในกฎบัตรอาเซียนซึ่งทุกข้อไม่อาจบรรลุได้หากขาดการมีส่วนร่วมของพลเมืองอาเซียน เป็นต้น 
โดยหลักการสำคัญของการมีส่วนร่วมคือ
“ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” การขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นในประชาคมอาเซียน พลเมืองอาเซียนจะต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยสำนึกแห่งการมีส่วนร่วมด้วยเสมอ คุณลักษณะเช่นนี้จะก่อให้เกิด “พลังสามัคคี” ที่จะส่งผลให้เกิดสันติสุขที่ยั่งยืนได้


  3.4.4  มีความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์  ด้วยเหตุผลด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความแตกต่างทางสังคม ความแตกต่างทางการเมืองการปกครองและความแตกต่างอื่นๆ อีกมากมายของพลเมืองอาเซียน รวมทั้งการที่ต่างก็พยายามสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข็งขันด้านต่างๆ  เหล่านี้ย่อมเป็นโอกาสที่จะนำไปสู่สถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากันได้เสมอ ซึ่งอาจนำมาสู่ความขัดแย้งกันและความผิดพลาดระหว่างกัน เป็นต้น  เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆก็ตามที่บั่นทอน ทำลายสันติสุขในการเป็นพลเมืองอาเซียนด้วยกัน สมาชิกขององค์การนี้จะต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์นั้นๆ เสมอ จากนั้นก็ค่อยๆ หาทางออกที่ดีที่สุด มีผลกระทบในทางลบต่อกันให้น้อยที่สุดเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นมิตรและความเป็นหนึ่งเดียวกัน คุณลักษณะเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยความเป็นมิตร ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่เป็นศรัตรูคู่อริกันนั่นเอง


  3.4.5 คำนึงถึงผู้อื่นเสมอ เนื่องจากการกระทำต่างๆ ของพลเมืองอาเซียนทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ย่อมมีผลกระทบตามลักษณะความเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ ส่งผลถึงผู้อื่นด้วยเสมอ เพราะฉะนั้น การจะกระทำสิ่งใดจำเป็นที่ผู้กระทำในฐานะเป็นส่วนหนึ่งขององค์การนี้จะต้องคำนึงถึงผู้อื่นด้วย  ซึ่งอาจจะแบ่งลักษณะการคำนึงถึงผู้อื่นเป็น 4
ลักษณะ ได้แก่

 

  1) การคำนึงถึงผู้อื่นโดยการระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อผู้อื่นไม่ทำลายสันติสุขของผู้อื่น


  2) การคำนึงถึงผู้อื่นโดยการยุติสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อผู้อื่นที่เป็นอยู่  หยุดการกระทำที่บั่นทอนสันติสุขของผู้อื่น


  3) การคำนึงถึงผู้อื่นโดยการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในทางบวกต่อผู้อื่น ส่งเสริมสันติสุขของผู้อื่น


  4) การคำนึงถึงผู้อื่นโดยการรักษาสิ่งที่ดีงามที่มีอยู่ให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง ส่งเสริมความยั่งยืนของสันติสุขของผู้อื่น



  การศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะของพลเมืองอาเซียน โดยอาศัยแนวคิดพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การดังกล่าวมา เป็นแนวทางหนึ่งที่จะพัฒนาประชาชนในประชาคมอาเซียน ให้เป็นสมาชิกที่ดีของอาเซียนได้ เพราะภายในประชาคมอาเซียนนั้น ประชาชนทุกคนถือเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศ อาเซียนก็เปรียบเสมือนทีมขนาดใหญ่ ที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน
ดังนั้น สมาชิกทีมหรือสมาชิกขององค์การก็ควรปฏิบัติตนให้เป็นสมาชิกทีมที่ดี และเป็นสมาชิกองค์การที่ดีด้วย




หมายเลขบันทึก: 520126เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2013 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2013 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท