ปราณี, ปรานี, ปาณี


ศัพท์ภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาสันสกฤตส่วนใหญ่จะคงรูปเดิมเอาไว้ หรือเปลี่ยนแปลงก็เพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่เราจึงทราบว่ามาจากคำใด นับว่าสะดวกแก่นักศึกษาที่จะค้นหาต้นตอ ที่มาของคำศัพท์ แต่ไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้ทั่วไปนัก เพราะมีคำพ้องคำคล้ายมากมายเหลือเกิน


อย่างคำว่า ปราณี, ปรานี, ปาณี นักปราชญ์ราชบัณฑิตท่านใช้กันมาอย่างนี้ โดยมีที่มาและความหมาย ดังนี้

  • ปราณี หมายถึง  ผู้มีชีวิต มนุษย์ สัตว์โลก
  • ปรานี  หมายถึง  เอ็นดู สงสาร เห็นใจ เช่น เมตตาปรานี ปรานีปราศรัย
  • ปาณี   หมายถึง  มือ เช่น สุปาณี ผู้มีมือดี (มีฝีมือ)

สามคำนี้ ความหมายไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย แต่รูปคำคล้ายกัน หลายท่านจึงมักจะสับสน


ปราณี

   ว่ากันว่า ปราณี มาจากคำว่า ปราณ (สันสกฤตอ่านว่า ปรา-นะ, ไทยอ่านว่า ปราน, ป ควบ ร)

  • "ปราณ" หมายถึง ลมหายใจ
  • คำว่า "ปราณ" ยังแยกออกได้อีก
  • มาจากรากศัพท์ "อัน" (อนฺ an) แปลว่า หายใจ
  • เติมอุปสรรค "ประ" (ปฺร pra) ข้างหน้า อัน => ปราน (ปฺรานฺ) แปลว่า หายใจ, มีชีวิต, (ลม)พัด

    (ทีนี้ก็เติมเสียงท้าย อ เข้าไป พร้อมกับยืดเสียงสระข้างหน้า เป็นปราณ (prana) เป็นคำนาม หมายถึง ผู้มีการหายใจ ผู้มีลมหายใจ)

    ในภาษาสันสกฤต ศัพท์เดิมนั้นไม่ใช่ ปราณี แต่เป็น ปราณิน (ปฺราณินฺ) เมื่อนำมาใช้เป็นประธาน เอกพจน์ ได้รูปเป็น ปราณี

    ปราณิน มาจาก ปราณ โดยเติมเสียง อิน(แปลว่า ผู้มี...)

    (ดังนี้ ปฺราณ + อินฺ=> ปฺราณฺ(ลบอะทิ้ง) + อินฺ => ปฺราณินฺ)

    โปรดสังเกต คำนี้ใช้ น หนู เพราะ มี ร อยู่ข้างหน้า, คำสันสกฤตส่วนใหญ่ ถ้ามี ร อยู่ข้างหน้า เสียงนอข้างหลังมักจะเป็นณ เณร (นี่อธิบายแบบทั่วไป ไม่ได้ใช้หลักไวยากรณ์แบบเคร่งครัด เผื่อท่านที่รู้ไวยากรณ์สันสกฤตมาอ่านแล้วอาจจะงง ว่าทำไมผมอธิบายอย่างนี้)

    คำว่า ปราณี ไม่มีใช้ในศัพท์ทั่วไป นอกจากชื่อเฉพาะ เช่น ชื่อบุคคล นามสกุล


ปาณี, ปาณิ

  คำว่า ปาณี, ปาณิ ในภาษาสันสกฤตใช้ว่า ปาณิ (เพศชาย)

  • ปาณิ ไม่ได้เกี่ยวกับลมหายใจ แต่เป็นศัพท์พื้นฐาน แปลว่า มือ
  • แต่บางท่านบอกว่าแยกได้อีก มาจากรากศัพท์ ปัณ (ปณฺ pan) แต่ความหมายอาจไม่ตรงนัก
  • ปัทมปาณิ แปลว่า ผู้ที่มือถือดอกบัว (พระนามพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร, พระพรหม, พระวิษณุ)
  • วัชรปาณิ ก็ผู้ถือสายฟ้า(พระอินทร์)
  • อสิปาณิ แปลว่า ผู้ถือดาบ
  • จักรปาณิ, จักรปาณี ผู้ถือจักร (พระนารายณ์)
  • คำนี้ใช้ ณ เณร และไม่เกี่ยวกับ ปราณี..

  ปาณี ไม่มีใช้ในศัพท์ทั่วไป นอกจากชื่อเฉพาะ เช่น ชื่อบุคคล นามสกุล ทำนองเดียวกับ ปราณี


ปรานี

   คำนี้เราใช้กันมาก แต่ท่านเขียน น หนู เช่น อันความกรุณาปรานี...

   ดูตามหลักเรื่องเสียงแล้ว ถ้ามี ร ข้างหน้า หนู ตามมาจะบวชเณร, แต่คำนี้หนูไม่ยอมบวช จึงไม่น่าจะเป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤต อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากภาษาเขมร

   ท่านเล่าว่าในภาษาเขมรเขียนว่า ปฺรณี (อ่านว่า ปรอ-เน็ย) แต่แปลว่า เมตตา เอ็นดู ตรงกับที่เราใช้ (แต่ไม่ตรงกับ ปราณี ที่แปลว่า ผู้มีชีวิต)  นักปราชญ์สมัยโบราณคงกลัวจะสับสนจึงแปลง ณ เป็น น เสีย, จะได้ไม่พ้องกับ ปราณีข้างบน

   ดังนั้น ปรานี ที่หมายถึง เมตตา เอ็นดู จึงใช้ น หนู ด้วยประการฉะนี้...


สรุป

  • ปราณี   ผู้มีชีวิต สัตว์โลก 
    • ภาษาสันสกฤต, ปราณิน (รูปประธานใช้ ปราณี)
    • ภาษาบาลี, ปาณี (แต่เราไม่ใช้ตามบาลี)
  • ปรานี    เมตตา เอ็นดู  อาจมาจากภาษาเขมร
  • ปาณี     มือ ฝ่ามือ 
    • ภาษาสันสกฤต ปาณิ
    • ภาษาบาลี       ปาณิ

 

 


คำสำคัญ (Tags): #ปราณี#ปรานี#ปาณี
หมายเลขบันทึก: 519176เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2013 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2013 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ครับ ขอบคุณที่ให้ความรู้ ผมก็เคยเขียนผิดบ่อยๆ ครับ

ตัวเองใช้ผิดอยู่เรื่อยค่ะ และเดี๋ยวนี้เริ่มเห็นคนอื่นใช้ผิด...

จำได้ว่าเคยเขียน "ปราณี" และคุณครูมาทักในบันทึก ก็ยังงงๆ ไม่ค่อยรู้เรื่อง หลังๆ ฉุกใจมาค้นดูจึงได้รู้ความหมายที่ต่างกัน

ขอบคุณมากค่ะ บันทึกนี้ทำให้เข้าใจที่มาที่ไปแล้วค่ะ

สวัสดีครับ คุณเครื่องหมาย ? คำถามเดี่ยว

รูปศัพท์คล้ายๆ ชวนให้สับสนครับ 


สวัสดีครับ คุณหยั่งราก ฝากใบ

ถ้าได้อ่านที่มา จะทำให้จำแม่นขึ้นกว่าเดิมครับ ;)


  • ขอขอบพระคุณ ที่ช่วยกรุณา เพิ่มแสงสว่าง ในศัพท์ภาษา...แสนสับสน  ให้จำง่ายขึ้น ครับ

ขอบคุณนะคะที่ทำให้รู้ความหมาย(ชื่อปราณีมีความหมายที่ดีที่พ่อและแม่ตั้งให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท