วันแห่งความรัก...... จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทยตามแนวพุทธ


วันแห่งความรัก...... จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทยตามแนวพุทธ

  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปีจะเป็นแห่งความรักของผู้คนที่มีความเลื่อมใส มีความศรัทธาในศาสนาคริสต์ หรือผู้คนทั่วโลกที่ไม่ได้เป็นคริสตศาสนิกชน ก็มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในวันแห่งความรักไปทั่วโลก ไม่เว้นแต่พุทธศาสนิกชนของชาวไทย เมื่อวันแห่งความรักเวียนมาถึงของทุกปี ก็จะมีการประชาสัมพันธ์ตามสื่อสารมวลชนต่าง ๆ  มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่หน่วยงานหรือองค์กรนั้น ๆ จะจินตนาการขึ้นมาให้เข้ากับบรรยากาศวันแห่งความรัก ในทางพระพุทธศาสนาได้ให้ความหมายของความรักไว้ว่า

1. มัตตาอัปปมัญญา หมายถึง ความรักใคร่กิริยาที่รักใคร่ มีจิตใจที่เท่าเทียมกันในสัตว์ทั้งหลายทั่วๆ กัน

2. สิเนหะ หรือ สิเนหํ หมายถึง ความรัก ความมีเยื่อใย หรือความห่วงใย

3. เปมะ หรือ เปมํ หมายถึง ความรัก ความชอบใจที่เกิดจากความรู้สึก หรืออารมณ์รักที่

เกิดขึ้นในใจ

4. ปิโย หมายถึง น่ารัก ประพฤติควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่ง

ได้และปลอดภัย

5.ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ ความชอบใจ ความยินดี ความต้องการ ความรักใคร่

ความรักตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์  กล่าวไว้ว่า ความรักแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ[1]

 1. ความรักที่อยากได้เขามาทำให้ตัวเราเป็นสุข ความรักแบบนี้ต้องได้ต้องเอา ซึ่งอาจจะทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ หรือต้องมีการแย่งชิงกัน คนทั่วไปที่มีชีวิตอยู่กับความชอบใจ ไม่ชอบใจ ยังไม่ได้ขัดเกลาจิตใจ จะมีความรักประเภทนี้ก่อน แต่เมื่อความเป็นมนุษย์พัฒนาขึ้น ก็จะมีความรักที่แท้จริงในข้อต่อไปมากขึ้น คือ

2. ความรักที่อยากเห็นเขามีความสุข พออยากเห็นเขาเป็นสุข ก็อยากทำให้เขาเป็นสุข พอทำให้เขาเป็นสุขได้ ฉันก็เป็นสุขด้วย เหมือนพ่อแม่อยากเห็นลูกมีความสุข พอทำให้ลูกเป็นสุขได้ ตัวเองก็เป็นสุขด้วย จึงเป็นความรักที่พร้อมจะให้และสุขด้วยกัน

  ความรักที่พึงประสงค์ คือความรักประเภทที่ 2 ซึ่งเป็น ความรักแท้ ได้แก่ ความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข เวลานี้เรามีวันแห่งความรัก แต่ไม่รู้ว่าเป็นรักประเภทไหน รักจะได้เอาเพื่อตนเอง หรือรักอยากให้เขาเป็นสุข ก็ไปพิจารณาให้ดี

  คู่ครองที่ดี ที่จะเป็นคู่ร่วมชีวิตกันได้ นอกจากกามคุณแล้ว ควรมีคุณสมบัติและประพฤติตาม

หลักธรรมของคู่ชีวิต(คู่สร้างคู่สม) ที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้อง กลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันไดัยืดยาว เรียกว่า สมชีวิธรรม 4 ประการ คือ

  1. สมสัทธา มีศรัทธาสมกัน เคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชา แนวความคิด ความเชื่อถือ หรือหลักการต่าง ๆ ตลอดจนแนวความสนใจอย่างเดียวกัน หนักแน่นเสมอกัน หรือปรับเข้าหากัน ลงกันได้

  2. สมสีลา มีศีลสมกัน มีความประพฤติ ศีลธรรมจรรยา มารยาท พื้นฐานการอบรม พอเหมาะสอดคล้องไปกันได้

  3. สมจาคะ มีจาคะสมกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารี ความมีใจกว้าง ความเสียสละ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น พอกลมกลืนกัน ไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน

  4. สมปัญญา มีปัญญาสมกัน รู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง

  ระดับของความรักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ[2]

  1. ความรักตนเอง เป็นความรักในตนเอง เป็นการทำประโยชน์เพื่อตนเอง เช่นขยัน

ขันแข็ง อดทนอดกลั้นต่อความลำบากในการทำการงานเป็นต้น

  2. ความรักผู้อื่น เป็นความรักที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น มารดาบิดารักลูก ครูเมตตาต่อศิษย์

เพื่อนรักเพื่อน

  3. ความรักแบบเมตตา เป็นความรักที่อยากให้ผู้อื่นมีความสุข และสามารถพัฒนา

เป็น “เมตตาอัปปมัญญา” ได้โดยใช้หลักพรหมวิหาร 4

  ความรักในทางพระพุทธศาสนามีการอนุวัตรตามความเป็นไปในสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็น

ความรักแบบสากล (Universal love) คือ ความเมตตา ความปรารถนาดี ความเห็นอกเห็นใจ

เป็นความรักที่หวังดี ปรารถนาดีต่อบุคคลอื่นอย่างจริงใจ มองทุกคนเป็นเพื่อน และไม่ต้องการ

สิ่งตอบแทน [3]ซึ่งเป็นความรักที่เสมอในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

วรรณะทั้ง 4 คือ กษัตริย์ แพศย์ พราหมณ์ ศูทร เมื่อออกบวชยอมทิ้งสกุลเดิมมาเป็นศากยบุตร

(ตระกูลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) เปรียบเหมือนมหาสมุทรที่มีแม่น้ำสายเล็กๆ ไหลมารวมกัน

เช่น คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่มหาสมุทรทั้งสิ้น ดังนั้นไม่ว่าวรรณะใดเมื่อออก

บวชมารวมกันย่อมเรียกว่า [4]สมณะเชื้อสายศากยบุตร4จากคำตรัสของพระสัมมาพุทธเจ้าดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนามีความรักให้กับทุกคนไม่เลือกชนชั้นและมีความเสมอภาค นอกจากนี้

ยังสอดคล้องกับสังคมอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป ความรักที่บริสุทธิ์เป็นความรักที่สวยงามที่มนุษย์ทุกเพศทุกวัยต้องการปรารถนาที่จะได้มาครอบครองหรือต้องการที่จะแบ่งปันความรักความปรารถนาดี ความสันติสุข และความมีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่อาศัยอยู่ร่วมโลกใบนี้ตลอดไป.



[1]ธรรมนูญชีวิต. พระพรหมคุณาภรณ์.

[2] นางสาวณัฐมาขันติธรรมกุล.

วิทยานิพนธ์สาขาวิชาพระพุทธศาสนา,

บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2553.

[3] ๓พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), วาเลนไทม์สู่วาเลนธรรม, (กรุงเทพมหานคร : บริษัทสหธรรมิกจำกัด, 2548), หน้า15.

[4] ๔วิ.จู. (ไทย) ๗/๓๘๕/๒๘๓.


หมายเลขบันทึก: 518682เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2013 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2013 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันมากครับอาจารย์นี่ก็ใกล้จะถึงวันวาเลนไทม์แล้วครับ


สุขสันต์วันแห่งความรักด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท