สองวันกับการเป็นกรรมการกลางการสอบ O-net ปีการศึกษา 2555


แบบสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน เป็นการวัดผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดสอบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ซึ่งจัดสอบให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทุกๆ ปีการศึกษา

          ด้วยโรงเรียนเป็นสนามสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือเรียกย่อๆ ว่า O-net บทบาทของตนเองคือกรรมการกลางประจำสนามสอบที่มีหน้าที่เตรียมเอกสาร  วัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง   ในวันสอบทำหน้าที่จ่ายแบบทดสอบและกระดาษคำตอบ  ดูแลความเรียบร้อยของกระดาษคำตอบและข้อสอบในช่วงเวลาส่งกลับ  ตลอดจนการจัดเก็บเอกสาร ข้อสอบและแบบทดสอบส่งศูนย์สอบซึ่งห่างจากโรงเรียนประมาณ 12 กิโลเมตร
           วันแรกของการสอบช่วงเช้ามี 2 วิชาคือ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย  ช่วงบ่ายเป็นวิชาภาษาอังกฤษ ในส่วนของนักเรียนปัญหาที่พบเบื้องต้นคือ นักเรียนจำนวน 19 คน (2% ของผู้เข้าสอบทั้งหมด) ไม่นำบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรนักเรียนมา ซึ่งเหตุผลหลักของเด็กๆ คือ "บัตรหาย"  (จำได้ว่าตอนกิจกรรมหน้าเสาธงครูนกได้ย้ำเรื่องนี้แล้ว  หลายคนแก้ปัญหาแต่หลายคนปล่อยให้ปัญหาเดินมาหาตนเอง) ซึ่งแก้ไขโดยการให้นักเรียนกรอกแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุญาตเข้าสอบ  ต่อมาคือนักเรียนทำเสร็จก่อนเวลาแต่ตามกติกาต้องให้นักเรียนอยู่ในห้องสอบจนหมดเวลา (ในส่วนตัวมองเห็นเจตนาดีของคนออกกฏกติกาว่า ต้องการให้นักเรียนที่ทำเต็มความสามารถและมุ่งมั่นมีสมาธิ เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่เมื่อออกจากห้องสอบส่งเสียงดัง)  และปัญหาที่ตามคือ ปัญหาสุขภาพคือมีนักเรียนป่วยในลักษณะปวดศีรษะ  (แก้ปัญหาคือส่งพบครูพยาบาลเพื่อดูแลเบื้องต้น)  ในส่วนของครูคุมสอบ   ครูหลายท่านมาจากโรงเรียนทำให้ไม่คุ้นเคยสถานที่เนื่องจากมีการสอบในชั้นที่ 6 (6ห้อง)  ชั้นที่ 5 (12 ห้อง) และชั้นที่ 3 (3 ห้อง)  ต่อมาคือครูมีอายุมากขึ้นทำให้การตรวจสอบการระบายกระดาษคำตอบในบางจุดถูกหลงลืมเช่น การระบายรหัสชุดข้อสอบ แต่พบห้องหนึ่งไม่เกินสองแผ่น  และปัญหาที่เกิดจากกรรมการกลางคือการเข้าใจในแบบฟอร์มต่างๆที่ต้องใช้ประกอบ  และการเตรียมการสำหรับนักเรียนที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรนักเรียน  อีกทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ต้องใช้เ่ช่น คลิปเสียบกระดาษ คัตเตอร์  เชืองฟาง (อยากบอกว่า พี่ที่ดูแลในจุดนี้เศรษฐกิจพอเพียงจนทำให้ดูอัตคัตเกินไป)  และต่อมาคือในการตรวจกระดาษคำตอบกรรมการบางท่านตรวจละเอียด ส่วนบางท่านตรวจไม่ละเอียดเพราะความไม่เข้าใจในงาน  แต่ที่ประทับใจคือ คณะกรรมการสังเกตการณ์ ซึ่งได้แต่งตั้งเป็นปีแรกตามแนวปฏิบัติของสทศ. ทำให้มีฝ่ายช่วยตรวจสอบ ตรวจทานความถูกต้องและความเีรียบร้อยได้อย่างมากมาย และขอชืนชมคณะสังเกตการณ์จำนวน 4 ท่านซึ่งมาจาก 2 โรงเรียนทำงานด้วยใจเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงาน  ในส่วนของหน่วยงานหลักที่จัดทำข้อสอบ  พบความบกพร่อง 2 จุดคือ บรรจุจำนวนข้อสอบขาดไป 1 ชุดในรายวิชาที่ 3 และความสัมพันธ์ระหว่างกระดาษคำตอบกับแบบทดสอบในบางชุดและบางข้อของรายวิชาที่ 2 อันนี้ครูนกไม่ขอวิพากษ์

           วันที่สองของการสอบช่วงเช้าเป็นวิชาวิทยาศาสตร์  สังคมศึกษา และช่วงบ่ายเป็นชุดข้อสอบที่ประกอบด้วย ศิลปะ  สุขศึกษา และการงานฯ  ในส่วนของนักเรียนจำนวนนักเรียนที่ไม่นำบัตรประจำตัวนักเรียนหรือบัตรประชาชนมีเพียง 2 ราย  และนักเรียนทำในบางรายวิชาเสร็จก่อนเวลาทำให้เกิดสภาวะว่างงานในห้องสอบ  และมีนักเรียนป่วย 2 รายคือปวดศีรษะ ซึ่งเกิดในรายวิชาแรกเลยทำให้ต้องมีการส่งตัวไปนอนพักที่ห้องพยาบาลหลังจากสอบเสร็จวิชาแรกเพื่อให้ได้พักก่อนจะถึงเวลาสอบรายวิชาที่สองและโชคดีที่นักเรียนมีเวลาเกือบชั่วโมงในการพัก  ในส่วนกรรมการคุมสอบวันนี้ความผิดพลาดในส่วนของกระดาษคำตอบลดน้อยลง แต่พบว่าห้องใดที่พลาดก็มักจะเกิดเหตุซ้ำๆ  ส่วนของกรรมการกลางวันนี้ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่มีจุดต้องปรับเรื่อง "การตรวจทานความผิดผลาด" ซึ่งควรให้เกิด 0 เปอร์เซ็นต์  ในส่วนของคณะกรรมการสังเกตการณ์ได้ปรับแนวบางอย่างเช่น แยกจุดรับกระดาษคำถาม และคำตอบทำให้ระบบทวนสอบเข้มแข็งขึ้น และสกัดความผิดพลาดได้ดีขึ้น
              หลังจากสอบเสร็จครูนกได้สอบถามเด็กๆ ว่า "เป็นอยางไรทำข้อสอบได้หรือไม่"  หลายเสียงตอบว่า  "พอทำได้ครู"  มีส่วนน้อยจะตอบแบบมั่นใจ  และเด็กๆ บอกว่า ตอนติวเตรียมสอบ Onet ข้อสอบยากกว่านี้ งานนี้คงต้องรอฟังผลการสอบ O-net ว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ครู โรงเรียน และหน่วยงานภายนอกคาดหวังหรือไม่คือ คะแนนสูงขึ้นจากปีก่อนทุกรายวิชา และเพิ่มขึ้น 5%
              ในมุมมองส่วนตัวคะแนน O-net เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินว่า นักเรียนเก่งเพียงใด อย่างไร  แต่สิ่งที่ครูตัวเล็กๆ คาดหวังคือ นักเรียนเป็นคนดี มีความสุขอยู่ในสังคม  และมีจิตใจแบ่งปันต่อผู้อื่น ส่วนคะแนนการสอบเป็นเพียงใบเบิกทางไปสู่อนาคตที่ต้องการแต่ยังไม่สามารถทำให้คำว่า "เก่ง ดี และมีสุข" ก้าวขนานกันไปได้ เรื่องนี้ต้องติดตาม วิเคราะห์ และแก้ไขกันต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #O-net ปีการศึกษา 2555
หมายเลขบันทึก: 518336เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2013 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2013 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท