วิถีไทยที่สนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย "ลักษณะวิถีไทย ที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนหมู่บ้าน" คัดลอกจากหนังสือ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร


ชุมชนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายอยู่ทั่วประเทศ มีความสำคัญและมีความหมายต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของความเป็นประเทศ ความเป็นชุมชนท้องถิ่นที่ปกครองกันเองได้นี้เอง คือชุมชนประชาธิปไตยที่ควรได้รับการสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ลักษณะวิถีไทย ที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนหมู่บ้าน

ชุมชนไทยดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นชุมชนเกษตร เป็นชาวนา ซึ่งมีระบบความเชื่อ จิตสำนึกโน้มเอียงสนับสนุนความผูกพันภายใน มีการพึ่งตนเองและมีการปกครองตนเอง การพอยังชีพทางเศรษฐกิจ และมีเอกลักษณ์ของชุมชนหมู่บ้าน ความเชื่อพื้นฐานของชาวบ้านคือ ความเชื่อในบรรพบุรุษ จึงมีการนับถือ "ผี"บรรพบุรุษ คือ ผีปู่-ย่า-ตา-ยาย และนับถือพุทธศาสนา ลักษณะชุมชนไทยมีความหลากหลายในระดับท้องถิ่นที่ยังคงวัฒนธรรมย่อยและภาษาถิ่นเอาไว้ได้ โดยที่วัฒนธรรมย่อยและภาษาถิ่นเหล่านี้ก่อให้เกิดผลรวมของความเป็นไทย ซึ่ง ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ให้ทัศนะว่า "ชุมชนอันหลากหลาย คือ จุดสุดยอดของพัฒนาการมนุษย์ ไม่ใช่รัฐ" ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ  ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา  ว่า "ชุมชนเป็นแหล่งรวมของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และชุมชนหมู่บ้านคือสถาบันเก่าแก่ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เป็นสถาบันที่เป็นพื้นฐานที่สุดของสังคม ลักษณะสำคัญของชุมชนท้องถิ่นไทย คือ  ความเป็นชุมชนที่มีความเป็นสถาบันที่พึ่งตัวเองได้ มีศักดิ์ศรี มีถิ่นฐาน มีประวัติศาสตร์ และมีวัฒนธรรม" ซึ่งสอดคล้องกับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ให้ความเห็นว่า "ชุมชนไทยแต่โบราณได้มีการปกครองตนเองอยู่ก่อนแล้วที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ในหมู่บ้านของคนไทยนั้น ในอดีตมีการเอาปัญหาส่วนรวมมาถกเถียงพูดคุยกันในที่ประชุมหมู่บ้านเป็นประจำ โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้เรียกประชุม และมีลูกบ้านจำนวนมากเข้าร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออกแก้ปัญหาให้กับส่วนรวม ตัวอย่างเช่น  หลังการอภิปรายและถกเถียงกันเสร็จแล้ว ก็มีข้อสรุปว่าหมู่บ้านนี้ต้องการบ่อน้ำ หมู่บ้านนี้ต้องการถนน วิธีแก้ปัญหาแบบไทยแท้แต่โบราณก็คือ การรวมกำลังคนไปขุดบ่อน้ำ และทำถนนด้วยกันเอง เรียกได้ว่าทั้งหมู่บ้านไปช่วยกันทำงาน ให้ส่วนรวม  บางคนก็ออกแรง  บางคนก็ทำกับข้าวไปเลี้ยงผู้ออกแรงและมีการพูดคุยกัน ร้องเพลงให้กำลังใจกันไป แต่กล่าวได้ว่าทุกคนมีงานทำเพื่อส่วนรวมกันหมด นี่คือจิตวิญญาณประชาธิปไตยชนิดที่ประชาชนปกครองคนเอง"  ลักษณะวิถีชุมชนไทยนี้ ถือเป็นพัฒนาการสุดยอดของชุมชนที่ใช้คุณธรรมและจิตใจที่เสียสละในการแบ่งปันทุกข์สุขเพื่อส่วนรวม เป็นประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นในชุมชนโดยคนในชุมชนนั่นเอง

ความเป็นชุมชนหมู่บ้านอันเป็นลักษณะไทยมาแต่โบราณ การรวมตัวของคนที่อยู่ในชุมชนมีลักษณะการพึ่งพากันเสมือนญาติ การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นสังคมเอื้ออาทร มีการแบ่งปันและการเสียสละ เป็นสังคมที่มีแต่ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ซึ่งยังพบเห็นได้ในสังคมชนบท  ดังจะเห็นจากการแบ่งปันความสุขที่หากบ้านใดมีอาหารหรือทำอาหารอะไรก็จะตักแบ่งใส่ชามไปให้เพื่อบ้านใกล้เคียง และบ้านอื่นๆนั้นก็จะตักอาหารใส่ชามกลับคืนมาให้ เป็นการแบ่งปันความสุขแก่กันและกันในชุมชน และหากมีเรื่องทุกข์ร้อนในชุมชนก็จะมีการแจ้งข่าวให้ทุกคนได้รับรู้ โดยการตีกลองที่วัดก็จะดังไปทั่วหมู่บ้าน หรือการตีระฆังก็จะมารวมตัวกันที่วัด หรือทุกวันนี้อาจพัฒนาเป็นเสียงตามสายของหมู่บ้าน หรือวิทยุชุมชน เพื่อบอกข่าวเล่าเรื่องสารทุกข์สุกดิบให้แก่คนในชุมชนได้รับทราบ สร้างการรวมตัวและการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แก่ชุมชนไทยมากขึ้น

ด้วยความสำคัญของชุมชนที่เป็นรากฐานของประเทศหรือรัฐนี่เอง ประเทศไทยจึงได้ให้การพิทักษ์ ปกป้องชุมชน โดยมีรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐  ได้รับรองสิทธิของชุมชนไว้อย่างชัดเจน เพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนให้มีความสามารถที่จะพึงตนเองได้อย่างยั่งยืน

การรับรองสิทธิของชุมชน ทำให้เรื่องของชุมชนท้องถิ่นมีความหมายและมีคุณค่า ไม่ให้ถูกละเลย และให้ชุมชนสามารถบริหารจัดดการท้องถิ่นของตนได้เอง ซึ่งเป็นการสนับสนุนความคิดว่าชุมชนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายอยู่ทั่วประเทศ มีความสำคัญและมีความหมายต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของความเป็นประเทศ ความเป็นชุมชนท้องถิ่นที่ปกครองกันเองได้นี้เอง คือชุมชนประชาธิปไตยที่ควรได้รับการสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

หมายเลขบันทึก: 517572เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2013 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...... ชุมชนเป็น "ฐานราก" อันสำคัญของประเทศ ของชุมชน ของสังคม และของประเทศไทยนะคะ .... ฐานรากดี .... สิ่งดีดีก็จะเกิดกับประชาชน "คนไทย" ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

ขอบคุณครับ ต้องยกเครดิกให้กับคุณทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้เรียนหนังสือที่ผมคัดลอกมาลงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท