ความมักง่าย...


การทำงานของเราก็เหมือนกัน ที่เราเป็นโยม เป็นฆราวาส จิตใจของเรามันหยาบ มันไม่ประณีต มันมักง่าย เรามาอยู่ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เราต้องเปลี่ยนตัวเอง เป็นคนละเอียด ประณีต เป็นคนฉลาด ไม่ใช่เป็นคนเซื่อง ๆ ซึม ๆ คิดอะไรก็ไม่เป็น


พระพุทธเจ้าท่านสอนเราทุก ๆ คนอย่าเป็นคนมักง่าย อย่าเป็นคนง่าย ๆ ให้เราเป็นคนละเอียดประณีต...


ส่วนใหญ่ใจเรามันร้อนทำอะไรก็มักง่าย ทำอะไรทำแบบลวก ๆ ทำอะไรไม่รอบคอบไม่สุขุม ถ้าคนใดมักง่ายอย่างนี้อนาคตมันก็มีปัญหา “สิ่งเหล่านี้มันส่งออกมาจากจิตจากใจของเรา...” 

ไม่ว่าเราจะทำอะไรตั้งใจทำให้มันดี ๆ เดินไปบิณฑบาตก็ให้ตั้งใจเดินให้มันดี ๆ นั่งสมาธิก็ให้ตั้งใจนั่งให้มันดี ๆ สวดมนต์ก็ตั้งใจสวดให้มันดี ๆ เราล้างบาตรล้างภาชนะต้องตั้งใจล้างให้มันสะอาดให้ประณีต ภาชนะที่ใช้ทานอาหารกันต้องตั้งใจล้างให้มันดี ๆ ให้มันสะอาด ถ้าเราเช็ดแล้วตั้งตากแดดไว้ถึงเวลาเก็บก็ต้องเก็บ 

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราปล่อยปะละเลย ถ้าใครปล่อยปะละเลยคนนั้นก็บาป เพราะเป็นคนไม่ละเอียดรอบคอบ 

อย่างผ้าจีวรของเรามันชุ่มเหงื่อ พระพุทธเจ้าท่านให้เราผึ่งแดดให้แห้ง แห้งแล้วก็ต้องรีบเก็บ บาตรเราเวลาเช็ดเราก็ต้องผึ่งแดด เมื่อแห้งก็ให้รีบเก็บ ถ้าเราไม่เก็บไม่เอื้อเฟื้อ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเราทำผิด ต้องอาบัติแล้ว ถ้าเป็นโยมเราก็ผิดศีลแล้ว


อย่างผ้าจีวรของเรานี้ ท่านให้เรารักษาอย่างดี อย่างละเอียด อย่างประณีต ไม่ปราศจากผ้า ถ้าใครไม่ดูแลไม่รักษาให้ดี ปล่อยให้ขาด ไม่ดูแลเอาใจใส่ เป็นคนไม่รับผิดชอบ ปล่อยให้ผ้าอยู่นอกหัตบาท ท่านปรับอาบัติปาจิตตีย์...

พระพุทธเจ้าท่านเมตตาสอนเราให้เป็นคนละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่ขี้เหนียว ให้เรารักษาของที่มีอยู่ไม่ให้เสียหายชำรุดทรุดโทรมเร็ว อย่างที่อยู่ที่นอนของเรา รอบ ๆ กุฏิของเรา มันต้องสะอาด ถ้าใครไม่ดูแลรับผิดชอบให้ดี อย่างดี พระรูปนั้นเณรผู้นั้นก็ทำผิดแล้ว

เรามันคนโง่ คนหลง คนไม่ฉลาด... พระพุทธเจ้าท่านคิดให้เราทุกอย่าง เราเพียงแต่มาประพฤติปฏิบัติตาม

การทำงานของเราก็เหมือนกัน ที่เราเป็นโยม เป็นฆราวาส จิตใจของเรามันหยาบ มันไม่ประณีต มันมักง่าย เรามาอยู่ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เราต้องเปลี่ยนตัวเอง เป็นคนละเอียด ประณีต เป็นคนฉลาด ไม่ใช่เป็นคนเซื่อง ๆ ซึม ๆ คิดอะไรก็ไม่เป็น

ส่วนใหญ่พระเรา เณรเรา หรือว่าญาติโยมที่มาอยู่วัด ส่วนใหญ่ก็เป็นคนขี้เกียจ เรียนหนังสือก็ไม่ค่อยจะเก่ง ขี้เกียจก็ขี้เกียจ เมื่อมาอยู่ในธรรมวินัย พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนตั้งใจฝึกตัวเอง คนติดเหล้า ติดยา ติดฝิ่น ติดเฮโรอีน นิสัยไม่ดีพ่อแม่ก็ให้มาบวช เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านฝึกทุก ๆ คนเป็นคนดี เป็นคนฉลาด 

ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจนะ... ต้องกระตือรือร้น อย่าเป็นคนมักง่าย เวลาพูดก็ไม่สำรวมระวัง มันมักง่าย เวลาทำอะไรก็ทำตามความเคยชิน เพราะว่ามันมักง่าย

เราจะมักง่ายอีกต่อไปไม่ได้แล้ว... พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ให้เราเอาข้อวัตรปฏิบัติเพื่อฝึกตัวเอง อย่าได้พากันมักง่าย ถือไปว่าเป็นเรื่องธรรมดา

อย่างท่านพระอาจารย์ชาวัดหนองป่าพงท่านสอนลูกศิษย์ อย่างไม้ถูพื้นท่านไม่ให้เอาไม้ถูนะ ให้ทุกคนเอามือนั่งถูเขา ถ้าถูง่าย ๆ มันไม่ดี มันไม่ได้ฝึกตัวเองให้ละเอียดให้ประณีต เครื่องสูบน้ำอย่างนี้ท่านก็ไม่ให้ใช้ ให้ตักจากบ่อใช้เชือกชัก ดึงเอา พากันเอาไปใส่ห้องน้ำ ห้องสุขา ท่านกลัวว่าพระนี้จะเป็นพระมักง่าย ศาลานี้ไม่มีฝุ่นซักหน่อย ท่านก็ให้เราปัดกวาดเช็ดถู ให้เราทำทุกคนไม่ใช่เห็นเขากวาดถูแล้วเราก็ไม่ทำ ไม่ใช่...! เพื่อไม่ให้เราเป็นคนมักง่าย


เวลาเราอยู่กุฏิ... ท่านก็ให้เราสำรวมระวัง ให้เหมือนกับเราอยู่กับหมู่กับคณะ สำรวมระวัง ไม่ใช่ไม่มีใครเขาดูเขาเห็นก็ปล่อยให้กุฏิรกรุงรังไปหมด อย่างนั้นไม่ใช่นักประพฤตินักปฏิบัติ อย่างนั้นเป็นคนมักง่าย 


พระเรา เณรเรา โยมเรา ครูบาอาจารย์ท่านดูแล้วเรายังเป็นคนมักง่าย ไปทำศาลา ห้องน้ำห้องสุขา กุฏิหลวงพ่อฯ กุฏิครูบาอาจารย์ ที่อยู่ที่พักมันยังใช้ไม่ได้ มันยังสกปรกอยู่ 

โยมบางคนเหมือนกันนะ ไม่ว่าแต่พระแหละ ของอะไรไม่รู้อะไรต่ออะไรเต็มที่พักที่นอนไปหมด เป็นคนมักง่าย อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามันใช้ไม่ได้ มันไม่ถูก อย่าไปคิดว่าที่อยู่ที่นอนเราเป็นที่ส่วนตัว ไม่มีใครไปรู้ไปเห็นเพราะเราใช้ทุกวันอยู่ คิดอย่างนี้ไม่ถูกไม่ควร พระพุทธเจ้าท่านไม่เห็นด้วยกับเรานะ “นักปฏิบัติธรรมต้องสะอาดทั้งกายสะอาดทั้งใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง...”


โอกาสที่เรามาอยู่วัด... พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันฝึก ถ้าเราไม่ฝึกให้ละเอียดถี่ถ้วนทั้งต่อหน้าและลับหลัง เราจะไปฝึกกันที่ไหน เรื่องภายนอกมันยังมักง่าย ไม่ถี่ถ้วน เรื่องจิตเรื่องใจมันยิ่งละเอียด

เราอย่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์ต้องตั้งข้อบังคับว่า กุฏิตรงนั้นต้องทำอย่างนั้น ห้องน้ำตรงนั้นต้องทำอย่างนี้ เราอย่าให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านหนักอกหนักใจกับเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ พระเก่า ๆ โยม ๆ เก่า ๆ นี่แหละต้องทำเป็นตัวอย่าง เพื่อบอกสอนพระใหม่โยมใหม่ที่เขามาปฏิบัติ

คำว่าเรียบง่ายนี้หมายถึงว่าเรียบร้อยนะ ละเอียดประณีต ลึกซึ้งนะ...


พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอนเรื่องการใช้จีวร สีจีวรให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้เรามักง่าย นุ่งห่มให้เป็นปริมณฑล ไม่ให้ต่ำเกินไปไม่ให้สูงเกินไป ถ้าฝนไม่ตกก็ให้ห่มจีวรซ้อนผ้าสังฆาฏิออกไปบิณฑบาต เพื่อให้เราเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน ไม่เป็นคนมักง่าย 

คนมักง่ายเขาว่าเป็นคนไม่อยากทำก็อยากกินอยากฉัน... สมัยทุกวันนี้ญาติโยมประชาชนก็ปลูกผักผลไม้ไม่เป็นแล้ว มักง่าย มีแต่ซื้อเขาอย่างเดียว บ้านก็ไม่ต้องเช็ดต้องถู ผ้าก็ไม่ซักแล้ว ต้องมีคนรับใช้ นี้ไม่ถูกแล้ว เราไม่ได้เสียสละเลย 

เรามันเห็นแก่ตัว เห็นเขาหิ้วของพะรุงพะรังเราก็นั่งเฉย เห็นแก่ตัว คิดว่าจะไปแต่พระนิพพาน เราเห็นแก่ตัว มักง่าย จะไปพระนิพพานได้อย่างไร? เวลาหลวงพ่อแจกกล้วยก็แย่งกันเลย คิดว่าจะเอาแต่เรื่องกล้วย ๆ ... 

พระพุทธเจ้าท่านขอบคุณขอบใจที่เราได้เสียสละ ยืดเส้นยืดสาย... 

คนขี้เกียจมักง่ายเหมือนพระจันทร์ข้างแรมมีแต่จะมืดจะดับ อยู่ที่บ้านใครก็ไม่ชอบไม่รักไม่นับถือ อยู่ที่วัดก็ไม่มีใครเขาชอบเขารักเขานับถือ เวลาปาก คำพูด ชอบพูดอวด ชอบคุย รู้มาก เพราะคนมันมีปมด้อย 

พระพุทธเจ้าท่านให้เราสมาทานในใจของเราทุก ๆ คน ว่าเราจะเป็นคนไม่มักง่าย ไม่มองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรากำลังทำอยู่ เพื่อเราจะได้ฝึกจิตใจ  

เราฝึกไปปฏิบัติไปได้ปี ๒ ปี ๓ ปี คนที่อยู่รอบ ๆ ข้าง เพื่อนเก่า ๆ ที่มาเจอเรา จะรู้ทันทีเลยว่าเราเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ว่าเราไม่มักง่าย ปิดรูรั่วรูโหว่ ถ้าเราไม่ฝึก ยิ่งแก่ไปเรื่อย ๆ ยิ่งฝึกยาก ไม้อ่อนมันดัดได้ไม้แก่มันดัดไม่ได้...

ต้องดัดตัวเองจึงจะได้ดี เพราะปล่อยให้ตัวเองมักง่ายมาหลายปี ชีวิตเราจะได้ดีมันก็เสียท่าเลยนะ เพราะเราประมาท เช่นเราเสียทีคิดจนปวดหัวจึงรู้ตัว “อย่าให้สิ่งที่ไม่ดีมันอยู่กับเรานาน เราต้องเปลี่ยนแปลง...”


พระพุทธเจ้าท่านให้เราเห็นทุกข์เราก็ไม่เห็น ถ้ายังไม่เห็นเราก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าไว้ก่อน อย่าเอาแต่ทิฐิมานะอัตตาตัวตน เดี๋ยวเราจะทำเหมือนทีฆนขพราหมณ์...

สมัยพุทธกาลตอนพระสารีบุตรจะบรรลุธรรม พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมให้กับทีฆนขะพราหมณ์ (พราหมณ์ผู้มีเล็บยาว) ที่กำลังฟังธรรมอยู่

พระพุทธเจ้าท่านสนทนาธรรมเรื่องตัวของทีฆนขะพราหมณ์ว่า “ของสิ่งไหนข้าพเจ้าชอบ ข้าพเจ้าก็จะเอา สิ่งไหนข้าพเจ้าไม่ชอบ ข้าพเจ้าก็ไม่เอา” พราหมณ์บอกกับพระพุทธเจ้าอย่างนี้

พระพุทธเจ้าตรัสถามตอบว่า 

ความแก่พราหมณ์ชอบไหม...? พราหมณ์ตอบว่าไม่ชอบ  

ความเจ็บไข้ได้ป่วยพราหมณ์ชอบไหม...? พราหมณ์ตอบว่าไม่ชอบ 

ความตายพราหม์ชอบไหม...? พราหมณ์ตอบว่าไม่ชอบ

พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรุปว่า “สิ่งที่พราหมณ์ไม่ชอบ พราหมณ์ก็จะได้ทั้งหมด...”

พระสารีบุตรกำลังนั่งพัดอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ได้ฟังก็เข้าใจ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ 

เราจะเอาความชอบความไม่ชอบไม่ได้หรอกนะ... ความชอบไม่ชอบมันสุดโต่ง มันไม่ชอบธรรมไม่ใช่วินัย มันเป็นอัตตาตัวตนของเรา 

คุณหมอเขาให้ยาคนไข้ เขาให้เราทานตามอาการของโรค คนไข้บางคนก็อยากให้มันหายเร็วก็ไปทานเยอะ เมื่อไปทานเยอะก็ต้องมีปัญหาเยอะ บางคนก็ว่าหมอให้เยอะ เขาให้ทาน ๒ เม็ดก็ไปทานเม็ดเดียว โรคภัยไข้เจ็บมันก็ไม่หาย คนที่เป็นแพทย์ผ่าตัด เขาไม่ผ่าญาติตัวเอง ไม่ผ่าพ่อแม่ เพราะใจมันมีอคติ มันรักมันหลงมันเสียศักยภาพ  เขาต้องให้หมอคนอื่นผ่าคนไข้จึงจะปลอดภัย 


จิตใจของเราก็เหมือนกัน ธรรมะของพระพุทธเจ้าดีมาก ประเสริฐมากแต่ก็มองไม่เห็น มองเป็นของธรรมดา ถ้าองค์นั้นไม่ปฏิบัติดีไม่ปฏิบัติชอบ ถึงพูดดีพูดถูกต้องมันก็รับไม่ได้ ทั้งที่เป็นธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เราไปติดในตัวบุคคล 

ธรรมะที่ท่านตรัสไว้ดีแล้วมันประเสริฐ ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติเรานั้นได้ผลแน่นอน 

ให้เราเน้นเข้ามาหาความละเอียด ความไม่มักง่ายนี้แหละสำคัญ เพราะเป็นธรรมะโอวาทที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสครั้งสุดท้ายว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความประมาทให้ถึงพร้อมเถิด...”

การประพฤติปฏิบัติของเราตั้งอยู่ในความประมาท ถึงแม้เราว่าเราไม่ประมาทแต่สิ่งที่เราแสดงออกมาถือว่าเราเป็นคนประมาท จึงเป็นคนมักง่ายมองข้ามธรรมวินัยที่ละเอียดประณีตที่จะได้มาฝึกหัดดัดจิตใจ...


พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

ค่ำวันจันทร์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 517148เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2013 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2013 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบันทึกดีๆ นะคะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท