วิถีไทยที่สนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย คัดลอกจากหนังสือ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร


.สังคมไทยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นข้อดีของสังคมไทยมีและกลายเป็นจุดแข็งทำให้สังคมไทยมีวิวัฒนาการมาได้อย่างยาวนาน

ข้อดีที่สังคมไทยมีและกลายเป็นวิถีไทยที่มีจุดแข็งทำให้สังคมไทยมีวิวัฒนาการมาได้อย่างยาวนาน แม้ระบอบประชาธิปไตยจะล้มลุกคลุกคลานมาตลอดถึง ๘๐ ปีแล้ว ซึ่งสิ่งที่เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไปรวมทั้งสังคมไทยมีหลายประการควรที่คนไทยจะได้หาทางศึกษาและนำมาพิจารณาเพื่อให้เป็นจุดแข็งที่ส่งเสริมการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น คือ

๑.สังคมไทยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา

สำหรับสังคมไทย แม้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาพุทธ จึงนับว่าพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของวิถีชีวิตของคนไทย ทั้งความคิดและปฎิบัติมาช้านาน วัฒนธรรมและจริยธรรมล้วนมีที่มาจากคำสั่งสอนของพุทธศาสนา แต่สังคมไทยก็ไม่ปิดกั้นการนับถือศาสนาอื่น การให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาจึงเป็นจุดแข็งและเป็นสังคมเปิดที่พร้อมอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและความเชื่อของผู้อื่น

ดร.วิชัย ตันศิริ ได้เขียนไว้ในหนังสือ วัฒนธรรมพลเมือง ถึงความสำคัญของพุทธศาสนากับสังคมว่า ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่มีความแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ที่มีขันติธรรม และเชื่อในเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ มองโลกแบบผู้รักสันติภาพ จึงอยู่ร่วมกับศาสนาอื่นๆได้โดยไม่มีความขัดแย้ง เพราะพุทธศาสนาไม่ได้เน้นการเปลี่ยนศาสนาของผู้อื่น การสอนพุทธศาสนามีแต่บวกกับบวกในสังคม อันที่จริงความสุขของสังคมไทยนั้น มีรากฐานมาจากคำสอนของพุทธศาสนา

ด้วยพื้นฐานดังกล่าวจึงทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะพิเศษที่เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถปฎิบัติศาสนกิจได้ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่ตนมีความเชื่อและศรัทธาได้ แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของสังคมไทยจะนับถือศาสนาพุทธก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นรากฐานความคิด ความเชื่อดั้งเดิมของสังคมไทยส่วนใหญ่นั้น เป็นปรัชญาที่เชื่อในเหตุผลตามหลักวิทยาสตร์ มองโลกแบบผู้รักสันติภาพ และไม่เน้นการบังคับหรือเปลี่ยนศาสาสนาผู้อื่น สังคมไทยจึงเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพที่อยู่ร่วมกันอยากหลากหลายทั้งศาสนาภาษา และวัฒนธรรม อีกทั้งพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ แม้จะทรงนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ทรงดำรงตนเป็นองค์อุปถัมภกของทุกศาสนาที่อยู่ในประเทศไทย

รัฐธรรมนูญไทยนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ก็ได้ให้การรับรองไว้ในหมวด ๓ มาตรา ๓๗ "บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฎิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ  หรือปฎิบัติตามพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฎิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน"

การให้เสรีภาพในการมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากความเชื่อความศรัทธาของแต่ละศาสนา จึงนับว่าเป็นคุณค่าสำคัญที่สังคมไทยมีและเกื้อหนุนต่อวิถีประชาธิปไตยอีกด้วย และหากคนไทยส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาจะสามารถนำแก่นของศาสนาไปปรับใช้กับชีวิตในทางการเมืองที่ยอมรับความแตกต่างทางความคิด เคารพต่อผู้อื่น มองโลกแบบผู้รักสันติ มีเหตุผล รักในความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเสมอกันก็จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องทำร้ายกัน และละเมิดต่อกัน

กล่าวสำหรับศาสนาพุทธที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือนั้น เป็นคุณค่าสากลที่สังคมยอมรับมานาน คุณค่าปรัชญาชาวพุทธเป็นคุณค่า-คุณธรรมร่วมอยู่เหนือชาติ ภาษา ที่มิได้ไปทำลาย กดขี่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในทางตรงข้าม กลับเสริมให้โอกาสคนในสังคมได้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและยั่งยืน พุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมที่มีขันติธรรมสูงต่อความแตกต่างหลากหลาย และยอมรับว่าความแตกต่างอาจดำรงอยู่ควบคู่ได้แม้จะเป็นคู่ตรงข้าม ไม่มีการแบ่งแยกเด็ดขาด ไม่ตัดตอน และไม่เชื่อในความเด็ดขาดสมบูรณ์ ในทางสังคมการเมือง วัฒนธรรมพุทธเน้นความเสมอภาคระหว่างปัจเจกบุคคล เน้นมนุษยชาติ ความมีเหตุผล คุณธรรม ความดี ไม่เบียดเบียน ทางสายกลาง คือ พอดี รู้จักพอ หลักของศาสนาและจริยธรรมนี้จึงกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้คู่คุณธรรม ซึ่งสะท้อนอยู่ในวิถีของคนไทยที่สืบต่อกันมา ดังจะเห็นได้ว่าความเป็นชุมชนไทยนั้น ศาสนาจะอยู่คู่กับบ้านและโรงเรียน  คือ บ้าน วัด และโรงเรียน เป็นลักษณะวิถีไทยที่ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

(โปรดอ่านตอนต่อไปในบันทึก "ลักษณะไทย ที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนหมู่บ้าน" )

หมายเลขบันทึก: 517018เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2013 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท