เด็ก ม.4 คมกริบ ปากกล้า ที่ลุงป้าน้าอาพี่น้องต่้องอ่าน (จากต้นฉบับเรื่อง “แฟรงค์ เนติวิทย์”เด็ก ม.4 จุดไม้ขีดไฟ วิพากษ์ความล้มเหลวระบบการศึกษาไทย)


"แน่นอนครับ ที่เขาบอกกัน “Child Center” ผมว่าเป็น “ควาย Center” มากกว่า"

ครู อ.สวาท จันทร์ทะเล ท่านแนะเนำผมไว้ให้ในเฟซบุ๊ค  จึงตามไปก็อปมา ขยายผล เพราะคิดว่าควรแก่การรับฟังเด็กเก่งยุคใหม่ว่าเขาคิดกันอย่างไร ผมจะเขียนข้อคิดความเห็นของผมไว้ด้วยเครื่องหมายนี้  *****กกกกกกก*****

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เวทีทัศน์แฟรงค์ เนติวิทย์”เด็ก ม.4 จุดไม้ขีดไฟ วิพากษ์ความล้มเหลวระบบการศึกษาไทย

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2013 เวลา 06:00 น. เขียนโดย โชติวิทย์ สีดามาตย์ หมวด เวทีทัศน์

"...ปัญหาคือสังคมเราเน้นการแก่งแย่งชิงดีกันมากไป นักเรียนไม่มีอิสระภาพทางความคิด การแสดงความคิดเห็น เพราะวัฒนธรรมของเราบางทีเป็นวัฒนธรรมแบบเผด็จการอยู่กลายๆ.."

*****ลึกๆ ของการแข่งขันกัน  ก็คือ  ทุนนิยม  ใครมีทุนมาก ก็รวย  รวยแล้วหลายคนก็ดูดี มีกินมีใช้ฟุ่มเฟือย ใครเห็นก็อยากเอาอย่าง รวยแล้วทำได้ทุกอย่าง ทำผิดกฎหมายก็ยังหนีได้

ใคร ๆ จึงอยากรวย จึงต้องแข่งกันเรียนพิเศษ สอบแข่ง  แย่งชิงกันก็กลายเป็นพฤติกรรมถาวรเพราะระบบทุนนิยมสอนให้แย่งกัน  หากรู้ไม่เท่าทันเพราะโรงเรียนไม่ได้สอนเรื่องทุนนิยม และสังคมนิยมที่ต้องไปคู่กันอย่างลงตัว คนก็แข่งขันกัน จนโกงกันได้ ขายยาเสพติด จนอาจทำให้สังคมสลาย ตายกันทั้งข้อง*****

 “แฟรงค์” นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 4 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ บรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร ผู้ริเริ่มกลุ่มต่างๆ อาทิ ชมรมปรีดีเสวทัศน์ จุลสารปรีดี กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท หนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย และผู้เขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้อภิวัฒน์การศึกษาไทย เพื่อเป็นการเปิดมุมมองแนวความคิดของเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความตระหนักในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ที่ตนเองพึงจะได้รับ นำไปสู่การกล้าตั้งคำถาม โต้แย้งต่ออำนาจที่ถูกกดทับ และเปลี่ยนแปลงในที่สุด

******เด็กเก่งอย่างนี้ หายาก  กล้าคิด กล้าทำ กล้าเขียน  ที่ผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ที่เข้าใจช่วยกันลุ้นให้คิดให้ทำ ****

สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) สนทนากับ "เขา" เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2556

Q : หลังจากมีการเคลื่อนไหวจนนำไปสู่เรื่องการยกเลิกทรงผม(เกรียน) ตามที่ได้ผ่านสื่อต่างๆ มีกระแสตอบรับอย่างไรบ้าง ?
A : ถ้าเพื่อนในห้องเข้าใจ ไม่มีปัญหา ส่วนเพื่อนนอกห้องไม่รู้ แต่ก็มีสายตาแปลกๆ ด้านผู้ใหญ่ก็มีรองผู้อำนวยการเรียกไปคุยวันแรกที่ไปออกรายการ เขาบอกว่า “พูดน่ะดี แต่ต้องวางท่าทีให้ดีกว่านี้” หลักๆ มีเท่านี้ พูดประมาณ 1 ชั่วโมง ผมก็อัดเทปไว้แล้วเอามาฟังต่อ รวมๆ ถือว่าดีนะ ไม่ได้มีท่าทีต่อต้านความคิดเห็นของเราเลย  ส่วนใหญ่อาจารย์ท่านอื่นจะไม่ค่อยพูดกับผมตรงๆ หรอก เขาคงไปคุยกันเงียบๆ อะไรแบบนี้

******เด็กที่มีความมั่นใจสูง จะแนะนำอะไร  ต้องมั่นใจว่าแกศรัทธาเราไว้เป็นทุน  มิฉะนั้น เสียเวลาเปล่ากับการแนะนำ แถมแกจะไม่ชอบเราอีก  สู้เสริมแรง หรือเน้น จุดดีจุดเด่นของแก จะดีกว่า วันหลังวันหน้า แกจะได้มาปรึกษา หรือ ถามเราอีก******

Q : อะไรคือจุดเริ่มต้นของการร่างจดหมายถึง รมต.กระทรวงศึกษาธิการ ?
A : ผมเห็นท่านเพิ่งรับตำแหน่งใหม่ๆ และท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างดีกว่าคนอื่นๆ ที่ผ่านมา เรื่องที่เขียนถึงท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา ถือว่าโชคดีด้วย เพราะสื่อไปโหมกระแสเรื่องนี้ ที่จริงผมเคยเขียนถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลายข้อมาก ได้รับจดหมายกลับมาครับ แต่ก็ไม่มีสื่อเล่นอะไรครับ เหมือนไม่ได้อะไร

******การที่ใครสักคนไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่  เขียนจดหมายถึงผู้ยิ่งใหญ่ได้ คงต้องมุ่งมั่น เพื่อให้ได้อะไรที่อยู่ในใจ และเห็นว่าจะพึ่งใครไม่ได้แล้ว  จึงคิดทำ หากคนใกล้ชิด ที่คิดทำช่วย ไม่ได้ดังใจ ก็ต้องหาทางออก ก็เป็นทางหนึ่งที่ดี ที่จะทำให้ได้อะไรมาดังใจ และไม่ทำให้ใครเสียอะไร*******

Q : ส่วนตัวมองว่าการศึกษาของไทยเรามีปัญหา ?
A : แน่นอน ปัญหาคือสังคมเราเน้นการแก่งแย่งชิงดีกันมากไป นักเรียนไม่มีอิสระภาพทางความคิด การแสดงความคิดเห็น เพราะวัฒนธรรมของเราบางทีเป็นวัฒนธรรมแบบเผด็จการอยู่กลายๆ ซึ่งมันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่หลัง 6 ตุลาฯ 

****วัฒนาธรรมแบบเผด็จการในที่นี้น่าจะหมายถึง การเชื่อฟังผู้ใหญ่ ทำตามผู้ใหญ่ เช่น  พ่อแม่ ครู ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ที่คิดว่าถ้าทำตามที่ตัวเองคิดแล้วดี ถูกต้อง ดื้อ ไม่ทำตามเมื่อไหร่ก็จะไม่พอใจ และไม่ได้แสดงเหตุผลให้เป็นที่เข้าใจ หรือ ก็ไม่ได้ถามไถ่ถึงเหตุผลของความดื้อรั้น  เด็กส่วนใหญ่รับได้ หรือไม่ ก็ ดื้อเงียบ เก็บกด ไม่แสดงออก ผู้ใหญ่แสดงออกเชิงต่อต้านเมื่อไรจึงเกิดความขัดแย้ง  เมื่อเห็นบ่อยเข้าจึงทำให้รู้สึกว่าเผด็จการ*****


A : เรายังเน้นทฤษฎีการท่องจำในห้องเรียนมากไป จริงๆ มันต้องกว้างกว่านี้ การเรียนรู้มันต้องครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติ ตอนนี้เราคิดว่าการเรียนหนังสือคือการนั่งในห้องเรียน และการเรียนในห้องเรียนสำคัญที่สุด ซึ่งผมคิดว่ามันไม่จริงเลย ยกตัวอย่างวิชาสังคมศึกษา ผมคิดว่าผมเรียนวิชาสังคมฯ แล้วผมได้ความตื้นมากกว่าลึก ผมทำนิตยสารปาจารยสาร ผมสนุก ผมไปสัมภาษณ์ลูกพระยาพหลฯ , ลูกอ.ปรีดีฯ ผมคิดว่ามันได้ความรู้มากกว่าที่คุณต้องไปท่องในตำราด้วยซ้ำ ที่ผมจะบอกคือเราควรเรียนรู้ให้กว้างๆ ของเรานี่เรียนกันมากถึง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่ก็เข้ากับตำราโบราณที่ว่า กว้างแต่ตื้น” รู้นิดเดียวเท่านั้นเอง ไม่มีความเป็นเลิศ

****ก็เห็นด้วยกับแฟรงค์ เหมือนกัน ว่าเด็กของเราเรียนกว้าง และตื้น  เป็นการเรียนที่อาจเรียนว่าไม่ได้เรียนรู้ คือ รู้เพื่อไปสอบ สอบเสร็จก็ลืม เพราะที่เรียนไม่ได้เอาไปทำ นำไปใช้  เด็ก ๆ ถ้าได้เรียนสังคมศึกษา ตามที่แฟรงค์พูดมา ก็รับรองได้ว่าจำยาว จำไม่ลืม จำประทับใจ ที่จะนำกระบวนการได้ความรู้นั้นมาไปใช้ต่อไปได้อีก หากอ่านแล้วจำ แล้วนำไปสอบ ความจำก็อาจจบลงตรงที่สอบเสร็จ  มีให้เห็นอยู่บ่อยที่เด็ก ๆ อยู่บ้านเป็นเด็กเก่ง พอไปโรงเรียนไม่เก่งอะไรสักอย่าง เพราะหลักสูตรต้องการให้เด็กรู้  เด็กเก่งไปเสียทุกอย่าง เด็กจึงเมาเรียน จนไม่รู้ว่าเก่ง อะไร  และก็เรียนไป เรียนไปตามที่หลักสูตรสั่ง ครูนำมาสอน*****

Q : วิชาใดที่มีปัญหาบ้าง ?
A : แทบทุกวิชา ทุกอย่างไม่มีการตั้งคำถาม ยกตัวอย่างวิชาวิทยาศาสตร์ที่เราเน้นไปในทางตำรา ทางทฤษฎี จนลืมจิตใจของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงคุณต้องมีการสังเกต ตั้งคำถาม และกล้าที่จะหักล้างวิทยาศาสตร์ด้วย บางทีเราเห่อวิทย์มากไป ไสยศาสตร์ก็คลั่งสุดโต่งไป

*****ก็เห็นด้วยกับแฟรงค์*****

Q : ที่เคยพูดกันว่าเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แสดงว่าเขาโกหก ?

A : แน่นอนครับ ที่เขาบอกกัน “Child Center” ผมว่าเป็น “ควาย Center” มากกว่า

  ****พูดซะเจ็บ  เจ็บแล้วต้องจำสำหรับหลายคนที่สอนโดยใช้ใบงาน ให้เด็กอ่านเด็กทำตาม ทำไม่ได้ก็ลอกส่งครู แถมทำให้สวยหรู เพื่อครูจะได้เอาใส่แฟ้มโชว์ ถ้าทำกันอย่างนี้ เด็กเขาว่า ควายเซนเตอร์ ก็น่าจะเหมาะสมแล้ว แต่ก็โทษครูไม่ได้  อาจจะต้องโทษตัวใหญ่ ๆ ที่จะเพิ่มตำแหน่ง  เพิ่มเงินเดือนให้ครู ด้วยผลงานทางวิชาการที่ต้องมีหลักฐานมาแสดง*******

มีต่อตอนที่ 2 ครับ


หมายเลขบันทึก: 516929เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2013 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2013 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

So, we know, our children know but Ministry of Education (and schools) keep on doing what they think best. Our children are saying they want more (freedom to learn what they want and how much) educators to listen (and learn too) to their view their thoughts - because they are more involved in education than any of us.

What are teachers saying? Teachers are to be respected or revered. Teachers mean well and try their best to shape children lives. Be grateful for what gifts are given to you. (How dare you ask for what you want? How would you know what good for you? You ungrateful brats!) 

This kid says ...นักเรียนไม่มีอิสระภาพทางความคิด การแสดงความคิดเห็น เพราะวัฒนธรรมของเราบางทีเป็นวัฒนธรรมแบบเผด็จการอยู่กลายๆ... I agree with him.

แฟรงค์ เนติวิทย์”เด็ก ม.4 จุดไม้ขีดไฟ วิพากษ์ความล้มเหลวระบบการศึกษาไทย

(ตอนที่ 2)

Q : “รัฐสวัสดิการ” มีความสำคัญมากน้อยขนาดไหนต่อเรื่องการศึกษา ?
A : สำคัญที่สุด เพราะพลเมืองต้องมีเวลา เห็นได้ว่าพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ก็ไม่ได้อยู่กับนักเรียน ต้องก้มหน้าก้มตาหาเงิน นักเรียนมีปัญหาเพราะส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญ รัฐต้องเอาใจใส่พวกนี้ รวมถึงคนทำงานกรรมกรทั้งหลาย เพราะการที่มีรัฐสวัสดิการทำให้คนไม่ต้องหมกมุ่นไปกับการหาเงินมากเกินไป มีความเสมอภาค สามารถมีเวลาหาความรู้ สันทนาการ มันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ ในส่วนของเรื่องการศึกษา ทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาตามความสามารถโดยได้รับทุนการศึกษาฟรีและมีคุณภาพ

*****ม.4  พูดได้อย่างนี้ ยังกะนักการเมืองใหญ่ เด็กไทยถ้าจะให้ได้เหมือนฟรงค์  จะสอนกันอย่างไรดี****

Q : ในโรงเรียนเรามีการเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมอะไรบ้าง ?
A : ก็ทำบ้าง แต่ไม่ได้ทำแบบสุดขั้วนะ ผมทำกับอาจารย์อีกหลายคนที่มีความคิดดีๆ จริงๆ อาจารย์จำนวนมากมีความคิดดีๆ เยอะเลย แต่เสียดายไม่มีพวก อาจารย์บางคนเคยพูดกับผมว่า เขาโต้แย้งกับผู้บริหาร แต่เขาไม่มีพวก ก็ต้องถอยซิ เพราะคนอื่นเขาไม่เอาด้วย เพราะกลัว เห็นไหมว่าระบบมันสอน มันสอนให้ทุกคนกลัวหมด อาจารย์ก็เคยเป็นนักเรียน และก็ถูกสอนให้กลัว ให้จำนนแบบนี้ ฉะนั้นอำนาจนิยมมันยังกดทับให้เห็นอยู่

**** น่าจะถูกของแฟรงค์จริงๆ ตอนที่เป็นครูหนุ่ม ผมจะพูด อภิปราย เห็นอะไรไม่ดีไม่งานในโรงเรียน ก็จะพูดโดยไม่มีคำว่ากลัว แต่สมัยเมื่อตั้งแต่ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา  จากการสังเกตครู หนุ่ม ๆ  จะเงียบ ไม่พูด ไม่คุย ไม่ชอบอภิปราย  ต้องส่งไมค์ให้ถึงจะพูด*****


A : ผมคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งมาตั้งแต่ตอนอยู่ชั้น ม.2 พออยู่ ม.3 ผมเริ่มวิจารณ์มากเลย จนขึ้น ม.4 คิดว่าจะวิจารณ์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องลงมือทำอะไรซักอย่างให้มันเกิดขึ้นในโรงเรียน ตอนแรกก็ไปขอเป็นกรรมการนักเรียน แต่เขาไม่ให้(หัวเราะ) จริงๆ เขาต้องให้เราเป็น เพราะเราอยากทำงาน เราอาสาเข้าไปทำงาน ช่างมัน ผมไม่เป็นก็ได้เรื่องนี้มันไม่ใช่ปัญหา

*****การเป็นกรรมการนักเรียน กรรมการห้องเรียน เป็นโอก่าสที่ดีของเด็ก ๆ  ที่จะได้เรียนรู้เองโดยครูไม่ต้องสอนโดยตรง ส่วนหนึ่งในชีวิตของผม ที่กล้าที่จะพูด จะทำอะไรก็แน่ใจว่าการทำกิจกรรมนักเรียนนักศึกษา ช่วยให้กล้า ทำให้เข้าใจการอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติต่อกันในสังคม ได้ดีจนเอาตัวรอดมาได้*****


A : ส่วนที่ทำอยู่ตอนนี้ก็มีกองทุนสะพรั่งพร้อมรัฐสมุด เพราะมีอาจารย์ท่านหนึ่งกำลังจะเกษียณ และท่านเคยเป็นที่ปรึกษาผม โดยกิจกรรมที่เราทำก็เน้นไปในการสร้างความงามผ่านศิลปะให้กับโรงเรียน ให้นักเรียนส่งภาพเข้าประกวด เพราะเดี๋ยวนี้โรงเรียนส่วนมากนักเรียนยังขาดสุนทรียภาพ อย่างโรงเรียนเรามีห้องดูหนัง-ฟังเพลง แต่เสียดายว่ามันไม่เคยมีการจัดเสวนา ซึ่งผมเห็นว่ามันควรจะมี เราก็ทำและจัดโครงการนี้กันมา 4-5 ครั้งแล้ว โดยเป็นการเสวนาเกี่ยวกับหนัง วิจารณ์วรรณกรรมอะไรแบบนี้

***** เด็กกล้า  ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม ในระดับที่วิจารณ์ได้  เป็นเด็กที่ไม่ธรรมดา มั่นใจว่า  แฟรงค์ เป็นคนเก่ง คนดี ที่ละเอียดอ่อน  เรื่องของวรรณกรรม เป็นเรื่องสำคัญ

บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว  สดุ้งแล้วเหลวแลชะแง้หา

เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา  ประคองพาขึ้นไปบนบรรพต (ไม่แน่ใจว่าเขียนถูก)

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์  มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด” ****

วรรณกรรมเป็นทองของภาษา จะเข้าใจต้องตีความคิดวิเคราะห์ถึงจะเข้าใจ ถ้าวิจารณ์ได้ก็น่าจะได้ทั้งความเก่งและความดี ทราบจากลูกหลานว่าในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยดังของอเมริกา เขาบังคับให้นักศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรียนวรรณกรรม เพราะคิดว่ามันทำให้สมองปราดเปรื่องเรื่องภาษาที่จะนำมาใช้ในการคิดเขียนทำ

การที่แฟรงค์ เขาบอกว่า  ได้เสวนาวิจารณ์วรรณกรรม นี่ก็ถือว่า  เก่ง และดี*****

Q : มีใครที่มีความคิดไปในแนวทางเดียวกับเราบ้างไหม ?
A : ก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับการพัฒนา รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้บางทีทัศนะของเขาก็จะตกหล่นไปเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะสังคมแวดล้อมด้วย สังคมเดี๋ยวนี้มันไม่เอื้อกับการเรียนรู้ 

*****ในประเด็นนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยกับแฟรงค์ สังคมเดี๋ยวนี้เอื้อมาก ขึ้นอยู่กับว่าอยาก หรือไม่อยาก  หรือ แรงจูงใจที่จะเรียน หรือ ในโรงเรียนยังรู้อะไรกว้าง ๆ ไม่รู้ลึกบางอย่างที่สำคัญ ๆ เช่น  การพัฒนากระบวนการการของโรงเรียนให้เด็กเก่ง ดี เช่นเดียวกับแฟรงค์ ตามที่แฟรงค์กล่าว  *****

 : มองสังคมอย่างไรในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ ?
A : สังคมเราไปเน้นบังคับคนที่ตัวหน้าที่มากเกินไป คือเป็นสังคมแบบที่เรียกว่าเป็นแนวดิ่ง คือผู้มีอำนาจก็สั่งมา คุณก็ทำตามหน้าที่ไป สิทธิของคุณก็ไม่เสมอเท่ากัน สังคมแนวดิ่งจะเป็นแบบนี้ ส่วนสังคมอื่นๆ ที่ดีแล้ว เช่นสังคมในยุโรป ซึ่งไม่ได้ดีจริงๆหรอก ก็เป็นแนวราบ คือคุณต้องมีศักดิ์ศรีเท่ากัน คุณมีหน้าที่ของคุณก็จริง แต่สิทธิ เสรีภาพก็สำคัญด้วย แต่ของเรามันเป็นลำดับชั้นเลยไม่พัฒนาเสียที

**** ผมเห็นด้วยกับแฟรงค์ เคยเห็นจิ้งจอกจ่าฝูง  บอกว่าเงินหลวงที่ให้มาร่วมกันทำงาน เป็นเงินของมัน ลูกน้องทั้งหลายโดนคำขู่แยกเขี้ยวก็สยบ  แต่เจ้าจิ้งจอกพวกนี้อยู่ได้ เพราะมันเอาใจนายใหญ่ของมันเก่ง  เด็กอย่างแฟรงค์มองออก เข้าใจว่าผู้ใหญ่บางคนที่พบเห็นเป็นกันอย่างไร*****

ต่อตอนที่ 3

แฟรงค์ เนติวิทย์”เด็ก ม.4 จุดไม้ขีดไฟ วิพากษ์ความล้มเหลวระบบการศึกษาไทย

(ตอนที่ 3)

Q : Freedom of speech สำคัญไหม ?
A : สำคัญนะ แต่บางทีผมก็มีการตั้งคำถามต่อแนวคิดนี้เหมือนกัน คือการที่เราพูดได้อย่างเดียวเขาเรียกว่าเรามีสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองอย่างเต็มที่ แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องทางเศรษฐกิจ ทุกคนต้องมีความเสมอภาคกันในทางเศรษฐกิจ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญมากกว่า เหมือนที่ อ.ปรีดีฯ เคยกล่าวไว้ ตอนนี้เราพูดอย่างเดียวคือเรื่องสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง แต่เราลืมพูดถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ในมุมเศรษฐกิจ

**** ในมือถือของเรา มีคนเอาเบอร์ของเราไปแล้วส่งอะไรเข้ามา ทั้งที่เราไม่เคยต้องการ  …หวยออนไลน์มีให้เล่นได้ทุกเวลา  ในมือถือส่งเข้ามาให้ทาย ให้ลุ้น ให้แสดงความคิดเห็นพร้อมบอกว่ามีรางวัล  เข้าไปในมือถือของเด็ก ๆ  อะไรขึ้นคงนึกกันออก  ในทีวีก็เช่นกันมีทุกวันบอกว่าให้กด SMS เข้าไป  นี่เรื่องเล็ก ๆ  เรื่องใหญ่ ๆ เช่น ที่ดินทำกิน คนที่ออกกฎหมาย ไม่ได้ออกกฎหมายให้คนสามารถทำกินได้ ในที่ว่างๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นเจ้าของประเทศ  น้ำก็เช่นกัน  ภาคอีสานที่แห้งแล้งเคยคิดจะทำให้มีน้ำมากๆ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะคนออกกฎหมาย คนทำไม่ใช่ชาวบ้าน สิทธิทางเศรษฐกิจ หรือ สิทธิมนุษยชน จึงยังเหลื่อมล้ำอยู่อีกมากมาย  ต้องให้เด็ก ม.4 ออกมาทวงหา ก็อย่าว่าเด็ก ต้องยกย่องเสียด้วยซ้ำ ที่นำออกมาพูดถึงสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจ อันเป็นสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่ง******

Q : ส่วนตัวให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมขนาดไหน ?
A : ช่วงหลังมาอ่านหนังสือเกี่ยวกับสายนี้เยอะมาก ก็เลยคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด มากกว่าเรื่องอะไรทั้งหมด การศึกษายังต้องหันมามองเรื่องนี้ สิ่งแวดล้อมที่ดีคุณจะต้องเลิกแข่งขัน คุณแข่งขันกันทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกฝังให้นักเรียนมีทัศนคติทางความรุนแรง เป็นการเบียดเบียนกัน ซึ่งในทางศาสนาพุทธหรือทุกศาสนาแทบไม่มีในเรื่องนี้เลย หรือแม้กระทั่งพวกไม่มีศาสนาก็เช่นเดียวกัน การทำลายสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อทุกคนในโลก

Q : เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม ตอนนี้มีแผนทำอะไรบ้าง ?
A : ตอนนี้ผมคิดจะทำสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียน เพราะมันยังไม่มี บางทีเราต้องเปลี่ยนให้มันเป็นรูปธรรม กำลังจะนัดประชุมกับอาจารย์ในเครือข่าย

Q : คิดว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมเขาตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากน้อยขนาดไหน ?
A : ส่วนใหญ่ทำเป็นเล่นมากกว่า คือคุณไปอ่านหนังสืออะไรเนี่ย ถุงผ้าลดโลก...มันไม่จริง คุณต้องไปเปลี่ยนตัวโครงสร้างตัวระบบ ไปเปลี่ยนตัวสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ พวกบริษัท โรงงานต่างๆ ที่ปล่อยมลพิษ นี่! เราต้องไปเน้นกันเรื่องนี้ ไม่ใช่เราเป็นคนดี เป็นปัจเจกบุคคล แล้วช่วยโลกได้ มันพินาศไปก่อน

*****การไปเปลี่ยนระบบก็ทำไป  แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ก็ต้องตระหนักร่วมกันไป เพราะสักวันเมื่อเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นเจ่าของโรงงานเมื่อไรก็จะได้ไม่คิดทำลายสิ่งแวดล้อม*****

A : ผมไม่ค่อยได้ไปทำกับพวก กรีน พีซ (Green Peace) เท่าไหร่ แต่เคยไปร่วมกับองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) กรณีที่บริษัทเชลล์ไปทำน้ำเสียในแม่น้ำไนเจอร์ ก็ไปหนเดียวเท่านั้น

Q : เรื่องศาสนามีมุมมองอย่างไร ?
A : บางทีผมก็เบื่อนะ อย่างการสวดมนต์ที่โรงเรียนผมก็ปฏิเสธแล้วเดี๋ยวนี้ ผมก็ไม่สวดมนต์ ไม่ไหว้พระ แต่ถามว่าผมมีความนับถือไหม ส่วนลึกก็มีความนับถือในศาสนา แต่ผมเห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องศาสนาเลย ผมแค่ปฏิเสธศาสนาก็โดนกล่าวหาว่าผมเป็นคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรมก็มี แต่ผมก็ชอบนะ ชอบเวลาที่มีคนแสดงความเขลาออกมา

***** การปลูกฝังศาสนา เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ความปรารถนาดีของผู้ใหญ่อาจกลายเป็นความประสงค์ร้าย หากเด็กฉลาดปฏิเสธ ที่จะประกอบพิธีกรรม  ซึ่งโรงเรียนโดยทั่วไป ก็จะเน้นที่พิธีกรรม สวดมนต์  ไปวัด  แล้วไม่ได้ปัญญาอะไรกลับมา

ยิ่งพ่อแม่ไม่มีเวลาพาไปวัดตั้งแต่เด็กๆ บ่อยๆ  ก็ยากที่จะซึมซับ  โตไปหน่อยไปเห็นศาสนาอื่นไปวัดแล้วสนุก ร้องเพลง ดีดกีตาร์ กลับมาก็อาจเปลี่ยนศาสนาได้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ต้องใช้ปัญญา ถ้ามาเล่นแต่พิธีกรรม จึงอาจลงท้ายด้วยการกระทำอย่าง แฟรงค์ คือปฏิเสธการสวดมนไหว้พระ*****


A : อย่างล่าสุดที่โรงเรียนเขาก็มีไป V-Star ไปอะไรเนี่ย แต่ผมยังไม่เคยโดนบังคับไปไง พวกกิจกรรมทางศาสนาแบบนี้ แต่ถ้าผมโดนก็คงปฏิเสธ เพราะผมไม่นับถือวัดธรรมกาย ผมไม่นับถือพวกนี้เลย พวกคณะวัดธรรมกายที่เป็นสัทธรรมปฏิรูป เน้นไปทางวัตถุนิยม ทางจิตวิญญาณ แล้วทำไมคุณไม่มีสมองคิดกันล่ะเรื่องแบบนี้ ผมเคยคุยกับอาจารย์เรื่องนี้ อาจารย์บอกเห็นด้วย แต่ให้ทำยังไง ภาครัฐเขาสั่งมา

****แฟรงค์ เขาเป็นเด็กตรงไปตรงมาเหมือนชื่อ คิดว่าไม่มีมีประโยชน์ใดแอบแฝง  แต่ผู้ใหญ่ ครูใหญ่  บางคนที่เคยเจอ เคยบอกผมว่า พาไปแล้วได้เที่ยวฟรี อยู่ดีๆ มีคนมาชวนก็เอาเด็กไปสองคันรถ  หากรอให้พาเด็กไปเข้าวัด แล้วเลยไปพัทยาเอง ไม่มีเงินที่จะพาไปได้  เขาไม่ได้คิดอะไรมากเหมือนแฟรงค์ ทั้ง ๆ ที่เป็นถึงครูใหญ่ ****

Q : อยากฝากอะไรถึงการศึกษา ?
A : ความหวังมันอยู่ที่นักเรียนและครู ปัญหาพวกนี้ต้องกลับมาทบทวน ทั้งเรื่องความคิด การตั้งคำถาม มากกว่าจะไปเชื่อตามผู้นำอย่างเดียว ยุคนี้มันไม่ใช่ยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยแล้ว นี่คือยุคที่พวกเราทุกคนมีสิทธิ์ มีเสียงเท่าเทียมกัน ดังนั้นเราต้องมีความกล้าหาญในทางคุณธรรม ต้องกล้าออกมาพูด และพร้อมที่จะรับฟังเสียงด่าอย่างมีขันติธรรม เพราะตอนนี้สังคมเราไม่ค่อยมีขันติธรรม อย่างที่ผมออกมาพูดอะไรนิดหนึ่งเนี่ย ก็มีเสียงสะท้อนถึงความบัดซบของสังคมไทยได้เลย ที่ไปออกรายการพูดไม่ถึง 20 นาที โดยที่ไม่ได้โจมตีใครเลย เขาก็กลัวกันมาก มีการตั้งแฟนเพจออกมาโจมตีผมเยอะแยะ แต่ผมก็ถือคติ No Hate No Enemy ไม่เกลียดใครไม่มีศัตรู ดังนั้นเราจะไม่มองคนอื่นเป็นศัตรู แต่ถ้าเขาอยากมองเราเป็นศัตรูก็ไม่เป็นไร

****ยอมรับเด็กคนนี้คมจริงๆ อ่านแล้วชื่นใจ  ประเทศไทยต้องฝากไว้กับคนอย่างนี้  ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องอ่านทวนสักสามรอบแล้วนำไปคิดในหลายประเด็น

-  เชื่อผู้นำอย่างเดียว  คงหมายถึง พวกผู้อำนวยการ  หัวหน้าหน่วยงาน  ก็อย่าได้เชื่อให้มากนัก เพราะบางคน ใช้ไม่ได้จริง ซึ่งผมท่านก็เห็นอยู่บ้าง ฟอร์มดี มีสายสะพายที่เลวก็มีเยอะ

-  ความกล้าทางจริยธรรม  ต้องไม่กลัวที่จะสู้กับความไม่ถูกต้อง  โดยเฉพาะความขี้โกงของนายเลวในหน่วยงาน

-  พร้อมรับฟังคนอื่น อย่าได้สวน ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ค่อยคิดค่อยเจรจา

-  No Hate No Enemy ไม่เกลียดใครไม่มีศัตรู ในการแก้ปัญหาใด ๆ ตามที่แฟรงค์บอกไว้*****

Q :ต่อมุมมองคนยุคใหม่ ตระหนักในปัญหาการคอร์รัปชั่นด้วยไหม ?
A : แน่นอน เรื่องคอร์รัปชั่นมันไม่ดีแน่ แต่ปัญหาของเราคือโครงสร้างสังคมเรามันรุนแรง มันเอื้อต่อการคอร์รัปชั่น มันเป็นการกดขี่กัน ดังนั้นพวกที่มันมีอำนาจก็จะกดขี่ผู้อื่นด้วยการคอร์รัปชั่น ไม่มีสัจจะ เพราะมันเริ่มจากความกลัว ไม่กล้าหาญที่จะพูดความจริง ดังนั้นก็เลยต้องกะล่อน แล้วก็รับเงินรับทอง โกงไปเรื่อย

****โกงในประเทศไทยมีตัวอย่างให้เห็น  โกงอุปกรณ์ทางการศึกษา โกงข้าว จนปัจจุบันทำให้รู้สึกว่าประเทศมีอยู่สองฝ่ายสำคัญคือฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายรอเป็นรัฐบาล  แล้วผลัดเปลี่ยนกันทำดี และชั่วปนกัน ทั้งด้วยเจตนา หรือไม่เจตนา  ความหวังของสังคมไทยก็คือ ฝ่ายศาล ที่ต้องเข้ามาจัดการกับพวกโกง  ซึ่งก็อาจช้าหน่อย  แต่ถ้าคนไทยไม่ตกอยู่ในความกลัว เหมือน  ที่แฟรงค์เสนอไว้ ระบบหรือตัวอย่างเลว ๆ  แค่ไหน สักวันก็คงสยบได้เหมือนกัน*****

Q :เรียกได้เต็มปากไหมว่าเราเป็น “ขบถ” ?
A : ก็อาจจะเรียกได้ แต่ก็คงไม่ทั้งหมด เพราะผมยังเรียนหนังสืออยู่ ถ้าสุดโต่งก็คงลาออกไปแล้ว (หัวเราะ)

*****หลานแฟรงค์ เธอสุดยอดมาก  ขอฝากประเทศไทยไว้กับเธอด้วยคน*****


สำนักข่าวอิศรา

ขอขอบคุณสำนักข่าวอิศรา  ที่นำมาให้อ่านครับ


ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยอ่าน ที่เขียนนี้ส่วนหนึ่งก็ต้องการบอกว่าสบายดี                                                              ด้วยเน็ตที่มียังไม่ค่อยลงตัว ใช้วายควายพ็อคเก็ต ก็ชัาเหลือเกินครับ จึงไปป้วนเปี้ยนเล็กๆน้อยๆ จึงอยู่ใน fb ในชื่อ lechat yaboon ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท