ข้อสังเกตการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนให้แก่ชาวไทยภูเขา


ข้อสังเกตการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนให้แก่ชาวไทยภูเขา

18 มกราคม 2556

ผู้เขียนเคยร่วมดำเนินการโครงการจัดทำทะเบียนบุคคลบนพื้นที่สูง ที่ ำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ (กะเหรี่ยง) ประมาณปี ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นเขตติดต่อ อำเภอท่าสองยาง และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และ ดำเนินการลงสัญชาติไทยให้แก่ชาวไทยภูเขา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน (แม้ว, เย้า, ตองเหลือง) ประมาณปี ๒๕๓๗ - ๒๕๓๘ ซึ่งเป็นเขตป่าเขาติดต่อ อำเภอบ้านหลวง และอำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ทั้งสองกรณีผู้เขียนต้องเดินเท้า (รถโฟร์วีลไปถึงทางเท่าที่ไปได้) เข้าไปนอนค้างแรมในป่าเขาหลายวัน โดยใช้ถุงนอน นอนค้างคืนตามบ้านเรือนของชาวเขา กลับออกมาพื้นราบก็ตัวดำ มีหนวดเครา เหมือนทหารที่ไปลาดตระเวนรอนแรมในป่าหลายวัน แล้วกลับเข้าฐาน

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินการลงสัญชาติไทยในทะเบียนให้แก่ชาวไทยภูเขา (กลุ่มชาวเขา ๙ เผ่า) ในระดับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการดำเนินการ เพราะหากดำเนินการผิดพลาดบกพร่อง ก็จะไม่ได้อนุมัติ และอาจมีการแอบอ้างสวมตัวบุคคลได้ ซึ่งเป็นความผิดวินัย และความผิดทางอาญา

(ชาวเขา ๙ เผ่า คือ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า มูเซอ ลีซอ อีก้อ ลัวะ ขมุ และถิ่น ส่วนเผ่าอื่น ๆ ไม่ถือว่าเป็นชาวเขา เช่น เผ่าตองเหลือง ซึ่งจะเป็น “บุคคลบนพื้นที่สูง")

ผู้เขียนมีข้อสังเกตจากประสบการณ์การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้

๑. ชาวเขามักมีลูกมาก หลายคน วันเดือนปีเกิด จะจำไม่ได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ต้องไล่เรียงลำดับกันพอสมควร หากมีทะเบียนชาวเขาของกรมประชาสงเคราะห์ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ไม่มีเด็ก เพราะสำรวจไว้ก่อนแล้ว

๒. ชาวเขาเผ่าเย้า หรือเมี่ยน (ชาวเหนือเรียกว่า ย้าว – ออกเสียงขึ้นนาสิก) จะเป็นชาวเขาที่ค่อนข้างสะอาด มีการอาบน้ำเหมือนคนพื้นราบ มีการรับวัฒนธรรมจากจีนมาก มีการบันทึกหนังสือเป็นภาษาจีน สาว ๆ จะสวย ส่วนชาวเขาที่ค่อนข้างสกปรก (มาก) คือ เผ่าตองเหลือง หรือ มลาบรี (ชาวเหนือเรียกว่า ผีตองเหลือง) จะไม่อาบน้ำ ตัวเหม็นมาก มักเป็นลูกจ้างแรงงานของชาวแม้ว ไม่มีนามสกุล ผู้ชายจะเอาลูกสาวเป็นเมียด้วย (จากการสอบสวนชื่อพ่อชื่อแม่ ไล่เรียงดูทำให้ทราบ)

๓. จากข้อ ๒ ฉะนั้น ชาวเย้าจะมีวันเดือนปีเกิดของบุตรหลาน และของตนค่อนข้างชัดเจน (บางทีเป็นปฏิทินจีน) ส่วนเผ่าอื่น แล้วแต่การสอบสวนไล่เรียง

๔. ชาวเขาบางรายมีชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) หรือมีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว แต่บุตรไม่มีชื่อ เนื่องจากเกิดมาภายหลัง และไม่ได้แจ้งการเกิด หรือไม่มีหลักฐานการเกิด ทำให้การดำเนินการลงสัญชาติไทยค่อนข้างสับสน (ในส่วนของเจ้าหน้าที่) เพราะในการวินิจฉัยเรื่องสัญชาติในสมัยนั้น ค่อนข้างยุ่งมาก เพราะ อยู่ในช่วงของ พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 13 หน้า 3 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535)และ พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 42 หน้า 94 วันที่ 8 เมษายน 2535)

๕. จากข้อ ๔ ในกรณีที่มารดามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) บุคคลประเภท ๓ หรือ ประเภท ๕ ว่าเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่บิดายังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน และบุตรที่เกิดในประเทศไทย ยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน กรณีเช่นนี้ตามหลักต้องดำเนินการขอแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลาของบุคคลสัญชาติไทย แต่การหาพยานหลักฐานและพยานบุคคลมายื่นยันค่อนข้างยาก เพราะเกิดบนดอย ในป่าเขา เจ้าหน้าที่จะให้ลงรายการสัญชาติไทย ไปพร้อม ๆ กับบุคคลอื่น ๆ โดยไม่ใส่ใจพิจารณาในประเด็นนี้ เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่วินิจฉัยในเรื่องนี้ ตีความเอาง่าย ๆ ว่า บุตรไม่ได้สัญชาติไทยไม่ว่ากรณีใด ๆ เนื่องจากบิดาเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยและได้รับการผ่อนผันฯ ตามมาตรา ๗ ทวิ แต่กรณีที่ไม่ปรากฏบิดาดังกล่าว บุตรกลับได้สัญชาติไทย ("ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็น ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้า เมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น"

(มาตรา ๗ ทวิ เพิ่มโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕))

หมายเหตุ มติ ครม. เมื่อ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๔ เห็นชอบให้บุคคลที่เกิดในประเทศไทย ได้สัญชาติไทยโดยไม่จำกัดห้วงเวลาในการเกิด (เฉพาะบุคคลบนพื้นที่สูง)

http://www.tobethai.org/autopage2/file/ThuFebruary2011-15-12-16-006.pdf


๖. จากข้อ ๔ ในกรณีที่บิดามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) บุคคลประเภท ๓ หรือ ประเภท ๕ ว่าเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่มารดายังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน และบุตรที่เกิดในประเทศไทย ยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน กรณีเช่นนี้ตามหลักจะดำเนินการขอแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลาของบุคคลสัญชาติไทย ต้องปรากฏว่าบิดาและมารดาได้จดทะเบียนสมรสกันแล้ว ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ เพราะชาวเขาอยู่บนดอยจะไม่ได้จดทะเบียนสมรส และก็จดทะเบียนสมรสไม่ได้ด้วย เพราะมารดาไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรที่จะจดทะเบียนสมรสได้ ฉะนั้น เจ้าหน้าที่จะถือว่าบุตรไม่ได้สัญชาติไทยตามบิดา เพราะบิดาเป็นบิดาที่มิชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะให้ลงรายการสัญชาติไทย ไปพร้อม ๆ กับบุคคลอื่น ๆ เช่นกัน

๗. ประเด็นปัญหาตามข้อ ๕ ข้อ ๖ มีว่า ชาวเขาบางคน โดยเฉพาะผู้ที่รู้หนังสือ หรือผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ (เช่นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) บิดาจะไปแจ้งเกิดบุตรเอาสูติบัตร (ท.ร.๑) ไว้โดยให้ชาวเขาที่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรเป็นบิดามารดาบุตร หรือใช้วิธีอื่น ๆ เช่นให้ผู้อื่นที่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรรับสมอ้างแจ้งเกิดเป็นบุตรแทน ทั้ง ๆ ที่บางทีมารดายังไม่ได้สัญชาติไทย ทำให้รายการบุคคลต่าง ๆ สับสน สอบสวนแล้วพบความบกพร่องทางทะเบียนมากมาย ทำให้เจ้าหน้าที่หงุดหงิด ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร

๘. บางรายตรวจพบว่า มีบุตรบางคนมีชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ว่ามีสัญชาติไทยตามบิดาหรือมารดาไปแล้ว เช่น พี่คนก่อน ๆ แต่น้องเกิดภายหลังยังไม่มีชื่อ ซึ่งหากพิจารณาตามข้อ ๕ และ ข้อ ๖ ตามที่เจ้าหน้าที่เข้าใจ จะไม่ได้สัญชาติไทย ทำให้เจ้าหน้าที่สับสนมาก และอาจมองว่าเป็นความผิดพลาดทางทะเบียนราษฎร กรณีนี้เจ้าหน้าที่จะให้ลงรายการสัญชาติไทย ไปพร้อม ๆ กับบุคคลอื่น ๆ เช่นกัน

๙. กรณีตามข้อ ๔ - ๘ จะพบในกรณีของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมากที่สุด เพราะชาวกะเหรี่ยงบางคนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ว่ามีสัญชาติไทย เป็นบุคคลประเภท ๓แล้วตั้งแต่ ท.ร.๑๔ รุ่นปี พ.ศ.๒๕๑๕ (ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ – ๒๕๒๖)

๑๐. กรณีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงอาจมีกะเหรี่ยงจากฝั่งประเทศพม่าเข้ามาปะปน เมื่อก่อนผู้เขียนคุยกับชาวบ้าน(ปี ๒๕๓๑-๒๕๓๔) ได้ความว่า จะมีชาวกะเหรี่ยงทั้งจากฝั่งพม่าและฝั่งไทยค้าวัว มีการต้อนวัวมาจากฝั่งพม่า เข้ามาขายในฝั่งไทย บางทีมีทหารกะเหรี่ยงเข้ามาด้วย (ไม่ได้มารบ แต่มาหาญาติหรืออื่น ๆ และบางรายมีว่ากะเหรี่ยงฝั่งไทยไปเป็นทหารกะเหรี่ยงฝั่งพม่า) โดยเดินรอนแรมมาตามป่าเขา ถึงอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ (ข้อเท็จจริงอำเภออมก๋อยไม่ติดชายแดนประเทศพม่า จะมีอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนคั่นอยู่ แต่ภูมิประเทศแถบนี้จะเป็นภูเขา ป่าทึบ ไม่มีถนนหนทาง ส่วนใหญ่ต้องเดินด้วยเท้าเป็นหลักจะลำบากมากในช่วงฤดูฝน

๑๑. ปัจจุบันปัญหาในลักษณะนี้ คงลดน้อยลง เพราะกรณีตามข้อ ๔ หากมารดามีสัญชาติไทย บุตรก็จะได้สัญชาติไทยทันที โดยไม่ต้องพิจารณาดูว่าบิดาเป็นต่างด้าวผ่อนผันเข้าเมืองชั่วคราว ฯ หรือไม่

อ้างอิง

ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนให้แก่ชาวไทยภูเขา พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๙

ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วย การพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. ๒๕๔๓

http://www.tobethai.org/newsite/sites/default/files/Law-18.pdf

โครงการการให้สัญชาติไทยแก่ชาวเขาภายใน ๑ ชั่วโมงเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชินี" ระหว่างวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗ - ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๗ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=10&s_id=15&d_id=15

“การได้สัญชาติไทยของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย" http://www.gotoknow.org/posts/510683

“ชาวเขา" http://www.mhsdc.org/interest1.htm

หมายเหตุ ข้อมูลนี้อาจจะเก่าไปหน่อย แต่ปัจจุบันในเขตทุรกันดาร อย่างอำเภออมก๋อย ก็ยังแย่อยู่ ข้อมูลบางอย่างน่าจะยังใช้ได้อยู่

หมายเลขบันทึก: 516757เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2013 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท